โรคต้อหิน

โรคต้อหินเป็นความผิดปกติที่เกิดจากการเสื่อมของขั้วประสาทตา ทำให้การมองเห็นเสื่อมลงจนตาบอดในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษา

ภาพด้านบนเป็นภาพที่ได้จากจากการตรวจจอประสาทตา. ขั้วประสาทตาปกติจะเห็นเป็นวงกลมสีส้มสว่าง มีเส้นเลือดแตกแขนงออกมาอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่มีความเสื่อมจากต้อหิน, ขั้วประสาทตาจะมีอาการเว้าตัว (cupping) เห็นเป็นวงออกสีขาวด้านใน และมีเส้นเลือดที่มีลักษณะผิดปกติ

การแบ่งประเภทของต้อหิน

  • ต้อหินแบบมุมเปิด (Open-angle glaucoma) มีลักษณะจำเพาะคือมีการสูญเสียการมองเห็นรอบนอกของลานสายตา ตามด้วยการสูญเสียการมองเห็นกลางลานสายตา ต้อหินแบบมุมเปิดมักเกิดร่วมกับภาวะความดันในลูกตาสูงขึ้นแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกราย
  • ต้อหินแบบมุมปิด (Angle-closure glaucoma) เกิดจากมุมของช่องด้านหน้าลูกตา (anterior chamber) แคบลงหรือปิดทำให้การระบายน้ำในลูกตาขัดข้องและเกิดภาวะความดันในลูกตาสูงซึ่งส่งผลให้เกิดการทำลายขั้วประสาทตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้อหินแบบมุมปิดอาจเกิดขึ้นแบบเรื้อรังซึ่งจะไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็นในระยะแรกหรือแบบเฉียบพลันซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นทันทีคือตาแดงและปวดตาอย่างรุนแรง ต้อหินแบบเฉียบพลันต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไม่ให้ตาบอดอย่างถาวร
  • ต้อหินทั้งแบบมุมเปิดและมุมปิด สามารถแบ่งตามสาเหตุออกเป็นต้อหินปฐมภูมิคือต้อหินที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และต้อหินทุติยภูมิคือต้อหินที่เป็นผลตามมาจากการอักเสบในลูกตา, การได้รับบาดเจ็บที่ลูกตา, ผลข้างเคียงของยาบางชนิดเช่น สเตียรอยด์, หรือโรคร่วมบางอย่าง
  • โรคต้อหินในทารกและเด็กสามารถพบได้ประปรายซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด         

อาการของโรคต้อหิน

กรณีที่ผู้ป่วยเป็นต้อหินแบบมุมปิดชนิดเฉียบพลัน (Acute angle-closure glaucoma) ผู้ป่วยจะมีอาการจากความดันลูกตาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้แก่อาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นแสงเป็นวงรอบดวงไฟ(Halos), ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน

แต่ในกรณีที่ความดันลูกตาค่อยๆเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลยจนกระทั่งการเสื่อมของขั้วประสาทตาดำเนินไปมากซึ่งจะทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยบกพร่องลงโดยมีการมัวรอบนอกของลานสายตาและลานสายตาแคบเข้ามาเรื่อยๆจนนำไปสู่การตาบอดในที่สุด

การวินิจฉัยโรคต้อหิน

จักษุแพทย์จะทำการตรวจตาอย่างละเอียด ประกอบด้วย

  1. การวัดสายตา
  2. การตรวจม่านตา
  3. การวัดความดันในลูกตา
  4. การตรวจด้วย slit-lamp เพื่อตรวจช่องด้านหน้าของลูกตา
  5. การตรวจลานสายตา
  6. การขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตาและขั้วประสาทตา
  7. การตรวจพิเศษทางจักษุวิทยาอื่นๆตามความเหมาะสม

การรักษาโรคต้อหิน

การรักษาโรคต้อหินมีตั้งแต่การใช้ยาควบคุมความดันลูกตา, การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser peripheral iridotomy , Selective laser trabeculoplasty) หรือการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำในตา (Trabeculectomy) ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ผลการรักษาและการทำนายโรคต้อหิน

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษาโรคต้อหินคือการได้รับการวินิจฉัยโรคและรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะหากขั้วประสาทตาถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาเป็นปกติได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นต้อหินเฉียบพลันควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อการนินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการใดๆก็ควรรับการตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยบุคคลทั่วไปแนะนำให้ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ในปัจจุบันสามารถตรวจโรคต้อหินอย่างละเอียดโดยเครื่องสแกนวิเคราะห์ขั้วประสาทตา ( Optical Coherence Tomography ) เครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา (Fundus Photography) และเครื่องตรวจลานตา (Visual field test) ทำให้สามารถตรวจพบต้อหินได้ตั้งแต่แรกเริ่มส่งผลให้การรักษาได้ผลดี

ข้อควรระวังในผู้ป่วยที่มีเป็นต้อหินชนิดมุมตาแคบ

ผู้ป่วยต้องระมัดระวังการใช้ยาเนื่องจากยาหลายชนิดเช่น ยาแก้เมารถเมาเรือ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยาต้านซึมเศร้าหรือยาทางจิตเวชบางชนิดอาจส่งผลกระตุ้นให้เกิดอาการต้อหินรุนแรงเฉียบพลันได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20831, 20832

 

PI-EYE-04/Rev.1

ตับอักเสบจากไวรัส

ภาวะตับอักเสบอาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง, แต่สาเหตุที่พบบ่อยของตับอักเสบทั้งในชาวไทยและประชากรในประเทศอื่นทั่วโลกคือตับอักเสบจากไวรัสซึ่งมีหลายชนิดและก่อให้เกิดการอักเสบได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้  ที่สำคัญคือตับอักเสบจากไวรัสบางชนิดทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้แก่ตับแข็งและมะเร็งตับ

ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบมี 5 ชนิดดังนี้    

  1. ไวรัสตับอักเสบ A ติดต่อทางปากโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อและสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย เชื้อไวรัสตับอักเสบ A ทำให้เกิดตับอักเสบชนิดเฉียบพลันแต่เมื่อรักษาหายแล้วไม่มีอาการเรื้อรังตามมา และมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้
  2. ไวรัสตับอักเสบ B ไวรัสชนิดนี้ติดต่อทางเลือด, สารคัดหลั่ง, จากมารดาสู่ทารกในครรภ์, และทางเพศสัมพันธ์ (การถ่ายทอดเชื้อเหมือนไวรัสเอดส์)  ดังนั้นผู้ที่ถูกเข็มที่ปนเปื้อนเลือดตำ, ถูกสารคัดหลั่งกระเด็นเข้าตา, หรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน, ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสชนิดนี้เมื่อติดเชื้อแล้วอาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการเฉียบพลันแล้วหายไป และจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังตามมา โดยพบว่าหากยิ่งติดเชื้อที่อายุน้อยเท่าไหร่โอกาสเกิดสภาะตับอักเสบเรื้อรังที่ส่งผลให้มีตับแข็งหรือตับวายก็ยิ่งมีมากขึ้น พบว่าประมาณ 15-20% ของผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส B มีภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับเกิดขึ้น ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งในประเทศไทยกำหนดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกรายต้องได้รับตั้งแต่แรกเกิด จึงทำให้อุบัติการณ์ของโรคไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยลดลงไปมาก
  3. ไวรัสตับอักเสบ C  : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C เป็นปัญหาทั่วโลกเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันไวรัสตัวนี้ได้ ช่องทางการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C คล้ายกับไวรัสตับอักเสบ B ได้แก่ การถูกเข็มที่ปนเปื้อนเลือดติดเชื้อตำ, การปนเปื้อนเลือดผู้ติดเชื้อเข้าทางบาดแผล, หรือการมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C มีโอกาสสูงที่จะเป็นตับอักเสบเรื้อรังตามมา (75-85%) ซึ่งในผู้ป่วยที่เกิดตับอักเสบเรื้อรังจำนวนหนึ่งจะเกิดมะเร็งตับขึ้นภายหลังโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเช่นมีโรคเบาหวานร่วมด้วยหรือเป็นผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  4. ไวรัสตับอักเสบ D : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B อยู่แล้ว ดังนั้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ B ก็จะไม่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D
  5. ไวรัสตับอักเสบ E พบมีการระบาดเป็นช่วงๆในประเทศกำลังพัฒนาเฉพาะบางพื้นที่บนโลกโดยเป็นการติดต่อทางการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนและทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของตับคล้ายกับไวรัสตับอักเสบ A

อาการและการดำเนินโรคของโรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส

โดยภาพรวมการติดเชื้อตับอักเสบแบ่งเป็นระยะเฉียบพลัน และระยะเรื้อรังขึ้นกับชนิดของเชื้อไวรัส

ตับอักเสบแบบเฉียบพลัน:มีอาการต่อไปนี้

  • ไข้ต่ำๆ
  • เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
  • ปวดท้อง
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • ดีซ่าน(ผิวหนังและตาขาวมีสีออกเหลือง)

ตับอักเสบแบบเรื้อรัง:
ในช่วงต้นมักไม่ค่อยมีอาการแสดงที่ชัดเจนแต่ตรวจพบได้จากค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น  หากภาวะตับอักเสบเป็นอยู่นานจนมีการเสียหายของเนื้อตับก็จะมีอาการแสดงของการทำงานที่บกพร่องตับเช่น อาการอ่อนเพลีย, มีน้ำในช่องท้อง, ดีซ่าน, เลือดออกง่าย

รายละเอียดของตับอักเสบจากไวรัสแต่ละชนิด

ตับอักเสบจากไวรัส A 

อาการของไวรัสตับอักเสบ A เป็นแบบเฉียบพลัน ระยะเวลาของการเจ็บป่วยเป็นได้ตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์จนถึงหลายเดือนและโรคจะหายไปเองโดยไม่มีอาการเรื้อรังหรือการเสื่อมของตับตามมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการที่รุนแรงมากนัก ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีโรคตับชนิดอื่นอยู่แล้วหรือเป็นผู้ที่มีการติดเชื้อ HIV

ตับอักเสบจากไวรัส B

2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเนื่องจากไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการอาจมีเป็นแบบเฉียบพลันในระยะสั้นๆ 2-3 สัปดาห์แล้วหายได้แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรง 

สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือทารกที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ B และเกิดการติดเชื้อไวรัสบีที่อายุน้อยๆไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตามจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดตับอักเสบเรื้อรังในภายหลัง ยิ่งถ้าการติดเชื้อเกิดเมื่ออายุน้อยมากเช่นกรณีติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกแรกเกิดจะมีโอกาสถึง 90% ที่ทารกรายนั้นจะเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังตามมา ซึ่งต่างจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ในวัยผู้ใหญ่ที่จะเกิดตับอักเสบเรื้อรังตามเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น และตามสถิติพบว่า 25% ของผู้ที่เป็นตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส B ตั้งแต่วัยเด็กเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ดังนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ B จึงเป็นเรื่องจำเป็นและมีประโยชน์

ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ในมารดาตั้งครรภ์ที่ไปฝากครรภ์ทุกรายรวมถึงการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ B แก่ทารกแรกเกิดทุกราย (และการให้อิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันแบบทันทีแก่ทารกในกรณีตรวจพบว่ามารดาเป็นพาหะ) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา. แนวทางการปฏิบัตินี้ทำให้อุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยต่ำลง แต่อย่างไรก็ดีผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 ควรได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและฉีดวัคซีนหากตรวจพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน

ตับอักเสบจากไวรัส C

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ในระยะเฉียบพลันมักไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก แต่ปัญหาสำคัญคือประมาณ 50% ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C จะมีภาวะตับอักเสบเรื้อรังตามมาภายหลัง ซึ่งในระยะแรกก็มักจะไม่มีอาการใดๆแต่เมื่อเวลาผ่านไป 10-20 ปี ร้อยละ 15-30  ของผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรังจะเกิดตับแข็งตามมา

การตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C แม้ไม่มีอาการจึงมีประโยชน์เนื่องจากปัจจุบันนี้มียาต้านไวรัสตับอักเสบ C ชนิดรับประทานซึ่งได้ผลดีมากในการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C  (กำจัดเชื้อได้ 90%) ฉะนั้นหากตรวจพบการติดเชื้อตั้งแต่ต้นในขณะที่ยังไม่มีอาการตับเสื่อมเกิดขึ้นและให้การรักษาด้วยยาให้การติดเชื้อหมดไป จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตับแข็งและตับวายตามมาในภายหลัง

การวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากไวรัส

ทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อนำไปทำการทดสอบที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด เช่น แอนติบอดี้ (Antibodies), การตรวจหาสาร RNA ของไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด, การตรวจ Genotype เพื่อระบุชนิดของไวรัสตับอักเสบ และการตรวจอื่น ๆ เช่นการตรวจค่าการทำงานของตับ, การตรวจโครงสร้างเนื้อตับด้วยอัลตราซาวด์ เป็นต้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับจะเป็นผู้พิจารณาส่งตรวจตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การรักษา

ตับอักเสบจากไวรัส A, ซึ่งผู้ป่วยมีอาการแบบเฉียบพลันเป็นการรักษาตามอาการเพื่อให้ร่างกายกำจัดเชื้อให้หมดไปเองเนื่องจากไม่มียาที่จำเพาะต่อไวรัสตับอักเสบ A   ผู้ป่วยควรดูแลร่างกายให้แข็งแรง, หลีกเลี่ยงความเครียดและการตรากตรำ, พักผ่อนมากๆ, รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง, หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายเองได้ภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์

ตับอักเสบจากไวรัส B 

ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ส่วนหนึ่งไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ (เป็นพาหะ) ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบ B ที่มีอาการแบบเฉียบพลันจะให้การรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเกินกว่า 95% อาการของโรคในระยะเฉียบพลันจะหายได้เอง  ประเด็นสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั้งกรณีเป็นพาหะและกรณีหลังหายจากโรคระยะเฉียบพลันคือแพทย์จะต้องติดตามโรคว่ามีภาวะตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ กรณีที่มีตับอักเสบเรื้อรังแพทย์อาจพิจารณาสั่งยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคและต้องมีการตรวจติดตามสภาวะของตับอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจาก 15-25% ของผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ B จะมีโอกาสเกิดตับแข็งหรือมะเร็งตับได้

ตับอักเสบจากไวรัส C 

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C มักไม่ค่อยแสดงอาการและมีโอกาสสูงที่จะเป็นตับอักเสบเรื้อรังตามมา (75-85%)  ในกรณีที่ตรวจพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัส C จะมีการใช้ยาต้านไวรัสรูปแบบรับประทาน (Direct Acting Antivirus : DAA) ต่อเนื่อง 12-24  สัปดาห์ ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีมาก สามารถกำจัดการติดเชื้อได้มากกว่า 90% ของผู้ป่วย  ดังนั้นการตรวจคัดกรองตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส C และให้การรักษาแต่เนิ่นก่อนที่จะมีความเสื่อมของตับจึงเป็นประโยชน์ในการป้องกันการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ

ตับอักเสบจากไวรัส D

มีรายงานการวิจัยการใช้ยารักษาโรคตับอักเสบ D ชนิดเรื้อรังแต่ยังไม่เป็นที่รับรองโดยองค์การอาหารและยา แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B อยู่แล้วเท่านั้น, จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่และพบไม่บ่อย

ตับอักเสบจากไวรัส E 

ยังไม่มีการรักษามาตรฐานของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ E ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นมักหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ

กลุ่มไวรัสตับอักเสบที่ติดต่อทางปาก ได้แก่ ตับอักเสบชนิด A และ E 

  1. ล้างมือบ่อยๆทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ, ก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร
  2. ดื่มน้ำสะอาด รบประทานอาหารที่สุกและสะอาด
  3. รักษาสุขอนามัยของร่างกาย
  4. รับวัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบ A 

กลุ่มไวรัสตับอักเสบที่ติดต่อช่องทางอื่นๆ ได้แก่ ตับอักเสบชนิด B, C และ D 

  1. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยใช้ถุงยางอนามัย
  2. ระมัดระวังไม่ให้ถูกเข็มเปื้อนเลือดตำ เช่น ในการสักร่างกาย, หรือการใช้เข็มสำหรับฉีดยา
  3. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งและอาจก่อให้เกิดบาดแผล ร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน อุปกร์ทำเล็บ
  4. รับวัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบ B

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับโรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20801, 20802 

PI-GIC-10

แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น  (Peptic ulcer)

สาเหตุที่พบบ่อยอย่างหนึ่งของอาการปวดท้องเรื้อรังคือโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Peptic ulcer อ่านว่า เป๊ปติค อัลเซ่อร์) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรคกระเพาะ” คืออาการปวดท้องที่เกิดจากการมีแผลเกิดขึ้นในผนังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้มีอาการ ปวดท้อง, จุกเสียด, แน่นท้อง,ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บางรายที่เป็นมากอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารทำให้มีถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

สาเหตุ

  • การติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นโดยเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Helicobactor pylori (เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี) หรือชื่อย่อ H.pylori (เอช. ไพลอรี) ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นพบว่ามีเชื้อตัวนี้มากถึง 50%
  • เชื้อ H.pylori ทำให้เกิดแผลในเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้จากหลายกลไก เช่น การทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุ,ทำให้ความแข็งแรงของชั้นเยื่อบุลดลงเยื่อบุกระเพาะและลำไส้เล็กจึงถูกกัดกร่อนโดยกรดในกระเพาะอาหาร และตัวเชื้อโรคเองกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้นกว่าปกติ
  • การใช้ยา(drug use) ยาที่เป็นสาเหตุมากที่สุดของโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นคือยากลุ่ม NSAIDs (ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) ซึ่งเป็นยาที่มักใช้ลดอาการปวดกระดูกสาเหตุรองลงมาเป็นยากลุ่มอื่นๆเช่น สเตียรอยด์, แอสไพริน, ยาต้านอาการซึมเศร้า ประเภท SSRIs (selective Serotonin Reuptake Inhibitors), ยาเสริมสร้างเนื้อกระดูกเช่น alendronate (Fosamax) เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยง (Risk factors)

พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารฯเพิ่มขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้นและการหายของโรคเป็นไปได้ยากขึ้น ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นในผู้ที่มีการติดเชื้อ H.pylori อยู่แล้ว
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร, ระคายเคืองเยื่อเมือกที่ปกคลุมเยื่อบุทางเดินอาหาร, และทำให้เยื่อบุเสียสภาพ
  • ความเครียดเรื้อรัง ส่งผลทำให้ปริมาณกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
  • การรับประทานอาหารเผ็ดจัด ทำให้ระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น

แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • เลือดออกในทางเดินอาหาร
    • การตกเลือดเฉียบพลันคือมีเลือดออกปริมาณมากอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดมากทันทีจนอาจมีอาการหมดสติหรือช็อคได้ 
    • เลือดออกเรื้อรังคือการมีเลือดออกจากแผลในทางเดินอาหารในปริมาณน้อยๆแต่เป็นอยู่นานเรื้อรังซึ่งมักทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ร่วมด้วย 
  • การทะลุของแผลในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหารส่วนต้น (Perforated peptic ulcer)
    กรณีที่ผู้ป่วยเป็นแผลในกระเพาะอาหารมานานหรือแผลมีขนาดใหญ่และลึกอาจทำให้เกิดการทะลุของผนังกระเพาะอาหารได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและเฉียบพลันเป็นกรณีที่ต้องทำการผ่าตัดเร่งด่วน 

การวินิจฉัยโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น

  1. การทดสอบเชื้อ H.pylori แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจการติดเชื้อ H.Pylori ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายด้วยการตรวจลมหายใจ (Breath test) 
  2. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร (Endoscopy) คือการตรวจโดยใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อยาวทำจากไฟเบอร์ออพติกสอดเข้าไปในปากผ่านหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารเพื่อตรวจดูแผลหรือความผิดปกติใดๆ ของผนังด้านในของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารมีข้อดีคือแพทย์สามารถเห็นรอยโรคโดยตรงทำให้ได้การวินิจฉัยที่แน่ชัดและสามารถประเมินความรุนแรงของโรคได้ อีกทั้งในกรณีที่พบแผลในเยื่อบุทางเดินอาหารหรือความผิดปกติเช่น ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาและตรวจหาเชื้อ H.pylori 
  3. การเอ็กซเรย์ทางเดินอาหารส่วนต้นโดยการกลืนสารทึบรังสี (Barium swallow or upper GI series) เป็นวิธีการตรวจแบบดั้งเดิม โดยสารทึบรังสี(contrast media) ที่กลืนลงไปเคลือบด้านในของทางเดินอาหารจะทำให้เห็นขอบเขตของผิวด้านในทางเดินอาหารจากภาพเอ็กซเรย์ ซึ่งหากมีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นก็จะสามารถวินิจฉัยได้ แต่ในปัจจุบันการตรวจนี้แทบไม่มีที่ใช้แล้วยกเว้นในบางกรณีเช่นการตรวจหลังการผ่าตัดตัดต่อกระเพาะลำไส้ 

การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น

  1. การลดสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น การลดและการหยุดใช้ยาที่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร, การหยุดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ลดความเครียด งดอาหารรสเผ็ดจัด 
  2. การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ H.pylori ในผู้ป่วยที่พบว่ามีเชื้อตัวนี้อยู่. การกำจัดเชื้อมีประโยชน์ทำให้แผลหายเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาสั่งยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยรับประทานต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์ ร่วมกับการใช้ยาลดกรดเพื่อกำจัดเชื้อ H.pylori 
  3. ยาลดกรดซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างกรดได้ดีทำให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นสมานตัวได้เร็วคือยาลดกรดกลุ่ม  PPI (Proton Pump Inhibitor)  ผู้ป่วยควรรับประทานยาลดกรดต่อเนื่องตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ตามที่แพทย์สั่งยา(ผู้ป่วยแต่ละรายอาจใช้ระยะเวลาในการรักษาโรคต่างกัน) 

การดำเนินโรคและผลการรักษา

การใช้ยาลดกรดร่วมกับการกำจัดเชื้อ H.pyloriและการลดและกำจัดปัจจัยเสี่ยงในผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นให้ผลการรักษาที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการกำจัดเชื้อ H.pylori ได้หมดจดจะมีอัตราการหายของแผลมากกว่า 90%  อัตราการกลับเป็นซ้ำใหม่ของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นในปีแรกหลังการรักษาพบได้ 5-30% ขึ้นกับปัจจัยสำคัญคือการติดเชื้อ H.pylori ว่ายังคงมีอยู่หรือไม่และการกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆเช่นการใช้ยา NSAIDs และยาตัวอื่นๆที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร, การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20801, 20802

PI-GIC-14

error: Content is protected !!