ภาวะตับอักเสบอาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง, แต่สาเหตุที่พบบ่อยของตับอักเสบทั้งในชาวไทยและประชากรในประเทศอื่นทั่วโลกคือตับอักเสบจากไวรัสซึ่งมีหลายชนิดและก่อให้เกิดการอักเสบได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ ที่สำคัญคือตับอักเสบจากไวรัสบางชนิดทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้แก่ตับแข็งและมะเร็งตับ
ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบมี 5 ชนิดดังนี้
- ไวรัสตับอักเสบ A ติดต่อทางปากโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อและสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย เชื้อไวรัสตับอักเสบ A ทำให้เกิดตับอักเสบชนิดเฉียบพลันแต่เมื่อรักษาหายแล้วไม่มีอาการเรื้อรังตามมา และมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้
- ไวรัสตับอักเสบ B ไวรัสชนิดนี้ติดต่อทางเลือด, สารคัดหลั่ง, จากมารดาสู่ทารกในครรภ์, และทางเพศสัมพันธ์ (การถ่ายทอดเชื้อเหมือนไวรัสเอดส์) ดังนั้นผู้ที่ถูกเข็มที่ปนเปื้อนเลือดตำ, ถูกสารคัดหลั่งกระเด็นเข้าตา, หรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน, ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสชนิดนี้เมื่อติดเชื้อแล้วอาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการเฉียบพลันแล้วหายไป และจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งที่เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังตามมา โดยพบว่าหากยิ่งติดเชื้อที่อายุน้อยเท่าไหร่โอกาสเกิดสภาะตับอักเสบเรื้อรังที่ส่งผลให้มีตับแข็งหรือตับวายก็ยิ่งมีมากขึ้น พบว่าประมาณ 15-20% ของผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส B มีภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับเกิดขึ้น ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งในประเทศไทยกำหนดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกรายต้องได้รับตั้งแต่แรกเกิด จึงทำให้อุบัติการณ์ของโรคไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยลดลงไปมาก
- ไวรัสตับอักเสบ C : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C เป็นปัญหาทั่วโลกเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันไวรัสตัวนี้ได้ ช่องทางการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C คล้ายกับไวรัสตับอักเสบ B ได้แก่ การถูกเข็มที่ปนเปื้อนเลือดติดเชื้อตำ, การปนเปื้อนเลือดผู้ติดเชื้อเข้าทางบาดแผล, หรือการมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C มีโอกาสสูงที่จะเป็นตับอักเสบเรื้อรังตามมา (75-85%) ซึ่งในผู้ป่วยที่เกิดตับอักเสบเรื้อรังจำนวนหนึ่งจะเกิดมะเร็งตับขึ้นภายหลังโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเช่นมีโรคเบาหวานร่วมด้วยหรือเป็นผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ไวรัสตับอักเสบ D : การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B อยู่แล้ว ดังนั้นในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ B ก็จะไม่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D
- ไวรัสตับอักเสบ E พบมีการระบาดเป็นช่วงๆในประเทศกำลังพัฒนาเฉพาะบางพื้นที่บนโลกโดยเป็นการติดต่อทางการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนและทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของตับคล้ายกับไวรัสตับอักเสบ A
อาการและการดำเนินโรคของโรคตับอักเสบที่เกิดจากไวรัส
โดยภาพรวมการติดเชื้อตับอักเสบแบ่งเป็นระยะเฉียบพลัน และระยะเรื้อรังขึ้นกับชนิดของเชื้อไวรัส
ตับอักเสบแบบเฉียบพลัน:มีอาการต่อไปนี้
- ไข้ต่ำๆ
- เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
- ปวดท้อง
- ปัสสาวะสีเข้ม
- ดีซ่าน(ผิวหนังและตาขาวมีสีออกเหลือง)
ตับอักเสบแบบเรื้อรัง:
ในช่วงต้นมักไม่ค่อยมีอาการแสดงที่ชัดเจนแต่ตรวจพบได้จากค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น หากภาวะตับอักเสบเป็นอยู่นานจนมีการเสียหายของเนื้อตับก็จะมีอาการแสดงของการทำงานที่บกพร่องตับเช่น อาการอ่อนเพลีย, มีน้ำในช่องท้อง, ดีซ่าน, เลือดออกง่าย
รายละเอียดของตับอักเสบจากไวรัสแต่ละชนิด
ตับอักเสบจากไวรัส A
อาการของไวรัสตับอักเสบ A เป็นแบบเฉียบพลัน ระยะเวลาของการเจ็บป่วยเป็นได้ตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์จนถึงหลายเดือนและโรคจะหายไปเองโดยไม่มีอาการเรื้อรังหรือการเสื่อมของตับตามมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการที่รุนแรงมากนัก ยกเว้นในผู้ป่วยที่มีโรคตับชนิดอื่นอยู่แล้วหรือเป็นผู้ที่มีการติดเชื้อ HIV
ตับอักเสบจากไวรัส B
2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเนื่องจากไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการอาจมีเป็นแบบเฉียบพลันในระยะสั้นๆ 2-3 สัปดาห์แล้วหายได้แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรง
สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือทารกที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ B และเกิดการติดเชื้อไวรัสบีที่อายุน้อยๆไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตามจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดตับอักเสบเรื้อรังในภายหลัง ยิ่งถ้าการติดเชื้อเกิดเมื่ออายุน้อยมากเช่นกรณีติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกแรกเกิดจะมีโอกาสถึง 90% ที่ทารกรายนั้นจะเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังตามมา ซึ่งต่างจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ในวัยผู้ใหญ่ที่จะเกิดตับอักเสบเรื้อรังตามเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น และตามสถิติพบว่า 25% ของผู้ที่เป็นตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส B ตั้งแต่วัยเด็กเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ดังนั้นการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ B จึงเป็นเรื่องจำเป็นและมีประโยชน์
ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ในมารดาตั้งครรภ์ที่ไปฝากครรภ์ทุกรายรวมถึงการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ B แก่ทารกแรกเกิดทุกราย (และการให้อิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันแบบทันทีแก่ทารกในกรณีตรวจพบว่ามารดาเป็นพาหะ) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา. แนวทางการปฏิบัตินี้ทำให้อุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยต่ำลง แต่อย่างไรก็ดีผู้ที่เกิดก่อนปี 2535 ควรได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและฉีดวัคซีนหากตรวจพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน
ตับอักเสบจากไวรัส C
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ในระยะเฉียบพลันมักไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก แต่ปัญหาสำคัญคือประมาณ 50% ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C จะมีภาวะตับอักเสบเรื้อรังตามมาภายหลัง ซึ่งในระยะแรกก็มักจะไม่มีอาการใดๆแต่เมื่อเวลาผ่านไป 10-20 ปี ร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรังจะเกิดตับแข็งตามมา
การตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C แม้ไม่มีอาการจึงมีประโยชน์เนื่องจากปัจจุบันนี้มียาต้านไวรัสตับอักเสบ C ชนิดรับประทานซึ่งได้ผลดีมากในการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C (กำจัดเชื้อได้ 90%) ฉะนั้นหากตรวจพบการติดเชื้อตั้งแต่ต้นในขณะที่ยังไม่มีอาการตับเสื่อมเกิดขึ้นและให้การรักษาด้วยยาให้การติดเชื้อหมดไป จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตับแข็งและตับวายตามมาในภายหลัง
การวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากไวรัส
ทำได้โดยการเจาะเลือดเพื่อนำไปทำการทดสอบที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด เช่น แอนติบอดี้ (Antibodies), การตรวจหาสาร RNA ของไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด, การตรวจ Genotype เพื่อระบุชนิดของไวรัสตับอักเสบ และการตรวจอื่น ๆ เช่นการตรวจค่าการทำงานของตับ, การตรวจโครงสร้างเนื้อตับด้วยอัลตราซาวด์ เป็นต้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับจะเป็นผู้พิจารณาส่งตรวจตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษา
ตับอักเสบจากไวรัส A, ซึ่งผู้ป่วยมีอาการแบบเฉียบพลันเป็นการรักษาตามอาการเพื่อให้ร่างกายกำจัดเชื้อให้หมดไปเองเนื่องจากไม่มียาที่จำเพาะต่อไวรัสตับอักเสบ A ผู้ป่วยควรดูแลร่างกายให้แข็งแรง, หลีกเลี่ยงความเครียดและการตรากตรำ, พักผ่อนมากๆ, รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง, หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายเองได้ภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์
ตับอักเสบจากไวรัส B
ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B ส่วนหนึ่งไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ (เป็นพาหะ) ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบ B ที่มีอาการแบบเฉียบพลันจะให้การรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเกินกว่า 95% อาการของโรคในระยะเฉียบพลันจะหายได้เอง ประเด็นสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั้งกรณีเป็นพาหะและกรณีหลังหายจากโรคระยะเฉียบพลันคือแพทย์จะต้องติดตามโรคว่ามีภาวะตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ กรณีที่มีตับอักเสบเรื้อรังแพทย์อาจพิจารณาสั่งยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคและต้องมีการตรวจติดตามสภาวะของตับอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจาก 15-25% ของผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ B จะมีโอกาสเกิดตับแข็งหรือมะเร็งตับได้
ตับอักเสบจากไวรัส C
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C มักไม่ค่อยแสดงอาการและมีโอกาสสูงที่จะเป็นตับอักเสบเรื้อรังตามมา (75-85%) ในกรณีที่ตรวจพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัส C จะมีการใช้ยาต้านไวรัสรูปแบบรับประทาน (Direct Acting Antivirus : DAA) ต่อเนื่อง 12-24 สัปดาห์ ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีมาก สามารถกำจัดการติดเชื้อได้มากกว่า 90% ของผู้ป่วย ดังนั้นการตรวจคัดกรองตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส C และให้การรักษาแต่เนิ่นก่อนที่จะมีความเสื่อมของตับจึงเป็นประโยชน์ในการป้องกันการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ
ตับอักเสบจากไวรัส D
มีรายงานการวิจัยการใช้ยารักษาโรคตับอักเสบ D ชนิดเรื้อรังแต่ยังไม่เป็นที่รับรองโดยองค์การอาหารและยา แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ D จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B อยู่แล้วเท่านั้น, จึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่และพบไม่บ่อย
ตับอักเสบจากไวรัส E
ยังไม่มีการรักษามาตรฐานของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ E ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นมักหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ
กลุ่มไวรัสตับอักเสบที่ติดต่อทางปาก ได้แก่ ตับอักเสบชนิด A และ E
- ล้างมือบ่อยๆทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ, ก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร
- ดื่มน้ำสะอาด รบประทานอาหารที่สุกและสะอาด
- รักษาสุขอนามัยของร่างกาย
- รับวัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบ A
กลุ่มไวรัสตับอักเสบที่ติดต่อช่องทางอื่นๆ ได้แก่ ตับอักเสบชนิด B, C และ D
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยใช้ถุงยางอนามัย
- ระมัดระวังไม่ให้ถูกเข็มเปื้อนเลือดตำ เช่น ในการสักร่างกาย, หรือการใช้เข็มสำหรับฉีดยา
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งและอาจก่อให้เกิดบาดแผล ร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน อุปกร์ทำเล็บ
- รับวัคซีนสำหรับไวรัสตับอักเสบ B
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับโรงพยาบาลพระรามเก้า หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20801, 20802