ระยะเวลางดประทานอาหารก่อนผ่าตัด

ผู้ป่วยที่จะเข้าผ่าตัดจะได้รับการระงับความรู้สึกเพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดในระหว่างผ่าตัด  กรณีที่เป็นการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายผู้ป่วยจะต้องมีการงดรับประทานอาหารทางปากก่อนการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสำรอกอาหารและสำลักเข้าปอด

  • ระยะเวลางดประทานอาหารก่อนผ่าตัดขึ้นกับชนิดของอาหารดังนี้

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ แผนกห้องพักฟื้น โรงพยาบาลพระรามเก้าหมายเลข
โทรศัพท์ 1270 ต่อแผนกห้องพักฟื้น 12430

PI-PAU-06

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนบนทำหน้าทีควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อรอบดวงตาทำให้สามารถหลับตาได้เป็นปกติ และส่วนล่างทำหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อรอบปากทำให้การเคลื่อนไหวของปากเช่นการยิ้ม, การห่อปาก เป็นไปตามปกติ  และยังมีแขนงย่อยๆไปยังเยื่อแก้วหูและต่อมรับรสที่ลิ้น ดังนั้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จึงมีส่วนในการรับเสียงและรับรสด้วย

หากมีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ข้างใดข้างหนึ่งก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของการเคลื่อนไหวของใบหน้าครึ่งหนึ่ง ได้แก่ หลับตาข้างหนึ่งได้ไม่สนิท, มุมปากข้างหนึ่งตก, มีน้ำไหลจากมุมปากเมื่อดื่มน้ำ รวมถึงมีการลดลงของการได้ยินและการรับรสด้วย

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy ได้ชื่อมาจากแพทย์ชาวสก็อต Sir Charles Bell ซึ่งเป็นผู้บรรยายลักษณะกายวิภาคทางระบบประสาทของโรคนี้ไว้ในที่ราชสมาคมแห่งลอนดอนในปี ค.ศ. 1821

ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/ca/CharlesBell001.jpg

  สาเหตุ

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy เกิดจากการอักเสบ บวม หรือถูกกดทับ ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบได้ในสตรีตั้งครรภ์, ผู้ป่วยเบาหวาน, มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือต่อมน้ําเหลือง, ผู้ติดเชื้อไวรัส เอดส์ (HIV) และกลุ่มผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง

การวินิจฉัยโรค

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy วินิจฉัยได้จากประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยอายุรแพทย์ระบบประสาทร่วมกับการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy แยกจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้อย่างไร

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy จะไม่มีอาการอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาการอ่อนแรงของแขนขา ส่วนโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการอื่นทางระบบประสาทร่วมด้วยหลายอย่าง เช่น อัมพาตหรือแขนขาอ่อนแรง, ความผิดปกติของการพูด, สูญเสียการทรงตัว, อาการสับสนหรือไม่รู้สึกตัว

การรักษา

อาการของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน สําหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอาจหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อช่วยลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาทซึ่งจะช่วยทําให้อาการดีขึ้นได้เร็ว 

แต่การให้ยาสเตียรอยด์มักต้องใช้ยาในขนาดสูงทําให้ได้รับผล ข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ, แสบท้องจากกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้น, หิวบ่อย, น้ําหนักตัวเพิ่มหรือบวมที่ใบหน้าและในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงและควบคุมได้ยาก ส่วนการทํากายภาพโดยการใช้ ไฟฟ้ากระตุ้นหรือการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ป่วยในบางรายได้ 

การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่กระจกตาเนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรค Bell’s palsy มีอาการหลับตาได้ไม่สนิทและกระพริบตาไม่ได้จึงทำให้ตาแห้งและเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตาอย่างสม่ำเสมอและใส่แว่นหรือที่ครอบตาเพื่อป้องกันอันตรายต่อกระจกตา

ระยะเวลาในการหายของโรค

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นมากใน 2 สัปดาห์แรก และประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะหายสนิท และส่วนที่เหลืออาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ใน 3-6 เดือน แต่ในรายที่เส้นประสาทมีปัญหาอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือ งูสวัด อาการมักจะไม่หายสนิท โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy โอกาสน้อยที่เป็นซ้ําอีก หากผู้ป่วยที่เป็นซ้ําหลายครั้งแพทย์จะหาสาเหตุเพิ่มเติม

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

65-069

PI-MED-42

โรคปวดประสาทใบหน้า Trigeminal neuralgia

หมายถึงอาการปวดบริเวณใบหน้าที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันตามแนวของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 หรือที่มีชื่อเรียกในศัพท์แพทย์เรียกว่าเส้นประสาทไตรเจมินัล อาการปวดจากโรคนี้มีลักษณะพิเศษคือมีอาการปวดแปลบๆคล้ายถูกไฟฟ้าช็อตและมักจะปวดมากขึ้นเวลาเคี้ยว พูด หรือสัมผัสเบาๆ ที่ผิวหน้า มักพบเป็นมากที่แขนงที่สองของเส้นประสาทไตรเจมินัลซึ่งอยู่บริเวณโหนกแก้ม ขากรรไกรบน รวมถึงเหงือกและฟัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแก้ม,ขากรรไกร,เสียวที่เหงือกและฟัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยครั้งแรกโดยทันตแพทย์

เส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า หรือ เส้นประสาทไตรเจมินัล มีแขนงย่อย 3 เส้น ได้แก่  

  • แขนงที่หนึ่ง (Opthalmic branch – V1) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณรอบตา,หน้าผากและศีรษะด้านบน  
  • แขนงทีสอง (Maxillary branch – V2) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณแก้มและขากรรไกรบน
  • แขนงที่สาม (Mandibular branch – V3) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณขากรรไกรล่าง

  สาเหตุ

โรคปวดประสาทใบหน้ามักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทไตรเจมินัลตรงทางออกของเส้นประสาทซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการหย่อนตัวของเส้นเลือดแดงในบริเวณนั้นตามอายุ การกดทับเส้นประสาททำให้มีการนำกระแสประสาทมากขึ้นคล้ายกับไฟฟ้าลัดวงจร

ในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการปวดประสาทใบหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมให้ละเอียด เช่นการทำ CT scan เพื่อหาสาเหตุของโรค เช่น เนื้องอก, หรือ โรคปลอกประสาทเสื่อม(multiple sclerosis) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆร่วมด้วยเช่น หน้าชา ปากเบี้ยว, ไม่ได้ยินเสียง

การดำเนินโรค

การดำเนินโรคอาจเป็นได้หลายแบบ เช่น มีอาการปวดติดต่อกันเป็นเดือนหรือปีแล้วจากนั้นก็ไม่มีอาการเป็นปีจากนั้นเริ่มปวดใหม่ หรือในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการปวดต่อเนื่องกันไปตลอด ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดมากขึ้น ได้แก่ การอดนอน ความเครียด เป็นต้น

การรักษา

การรักษาทางยา  ยาที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Carbamazepine (Tregretal), Trileptal (Oxycar- bazepine), Phenytoin (Dilantin), Baclophen (Lioresal) และ Gabapentin (Neurontin) ยาออกฤทธิ์โดยการลดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติทำให้อาการปวดลดลง ผลข้างเคียงของยาที่อาจพบได้ มีง่วงซึม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเกลือแร่ผิดปกติ 

การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาโดยการผ่าตัดใช้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา การผ่าตัดมีหลายวิธี การเลือกวิธีการผ่าตัดขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดประสาทไตรเจมินัลมีดังนี้

  1. การผ่าตัด Microvascular Decompression Surgery เป็นการผ่าตัดที่ต้องมีการผ่าเปิดกระโหลก เพื่อแยกเส้นเลือดและจัดให้เส้นเลือดไม่ไปกดทับเส้นประสาทไตรเจมินัล วิธีนี้เป็นทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดและผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัดใหญ่และการใช้ยาสลบเนื่องจากได้ผลการรักษาที่ดี อาการปวดจะดีขึ้นโดยทันทีหลังผ่าตัด 90-95% ทำให้ผู้ป่วยสามารถหยุดยาแก้ปวดได้  ส่วนข้อเสียคือการมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ, และภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเช่น การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทซึ่งทำให้หน้าชาหรือหน้าเบี้ยว,หรือสูญเสียการได้ยิน
  2. การตัดรากประสาท (Nerve root ablation :Rhizotomy) โดยการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปยังรูที่ฐานกะโหลก (Foramen ovale) ภายใต้การนำทางด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อทำลายรากประสาทที่ปมประสาทไตรเจมินัลด้วยความร้อนที่สร้างจาก radiofrequency, หรือสารกลีเซอรอล, หรือการกดด้วยบอลลูน
  3. การใช้ Gamma knife (stereotactic radiosurgery)เป็นเครื่องมือชนิดพิเศษที่ใช้รังสีที่เป็นลำแสงขนาดเล็กจำนวนหลายร้อยเส้นพุ่งเป้ารวมศูนย์ไปที่จุดรอยโรคที่่มีขนาดเล็ก วิธีนี้จะมีความแม่นยำสูงและลดการทำลายเนื้อเยื่อปกติรอบๆ ข้อดีของวิธีนี้คือไม่มีบาดแผลและใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นเพียง 1-2 วัน ส่วนข้อเสียของวิธีนี้คือใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าที่อาการปวดประสาทลดลง

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-43

หวานเกินไป..อันตรายต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ปริมาณน้ำตาลที่เติมในอาหารไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งหมายถึงเด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 4 ช้อนชา/วัน ส่วนวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา/วัน

จากการสำรวจของกรมอนามัยและสสส.พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 3 เท่า และพบว่าสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงอะไร

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงน้ำตาลที่ไม่ได้มีอยู๋ตามธรรมชาติในอาหารชนิดนั้นๆแต่ถูกเติมเข้าในระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งรวมถึงน้ำตาลทราย(ซูโครส), น้ำตาลเด็กซ์โตรส, น้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง, และน้ำตาลจากน้ำผลไม้เข้มข้น

การได้รับน้ำตาลปริมาณมากๆต่อเนื่องมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นโรคอ้วน, โรคเบาหวานชนิดที่ 2,  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต


อาหารที่มีน้ำตาลสูง

อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่คนนิยมกันได้แก่เครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม, กาแฟหรือช็อคโกแลตเย็น, ชาไข่มุก, ขนมหวานทั้งเบเกอรี่และขนมไทย, โดนัท, ไอศกรีม เนื่องจากการได้รับน้ำตาลปริมาณสูงต่อเนื่องทำให้เกิดโรคกลุ่ม NCD หลายโรคดังที่ได้กล่าวแล้ว ดังนั้นในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มคุณควรใส่ใจต่อปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับโดยการอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อและก่อนรับประทาน และพยายามลดปริมาณน้ำตาลที่เติมเข้าไปให้น้อยลง เช่น การดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มชนิดอื่นเพื่อฝึกไม่ให้ติดรสหวาน, การดื่มกาแฟและชาโดยไม่เติมน้ำตาล, ลดปริมาณขนมหวาน, ลดการกินของว่างนอกมื้ออาหาร, ไม่เติมน้ำตาลลงในอาหาร

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-46

English topic

ลดเค็มลดโรค

การกินเค็มเกินไปทำให้ปริมาณโซเดียมในร่างกายสูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูง, และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NCD หลายโรค เช่น โรคหัวใจ, โรคเส้นเลือดสมอง, และโรคไตวายเรื้อรัง ปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัมซึ่งเท่ากับเกลือแกงประมาณ 1 ช้อนชา แต่จากข้อมูลของ สสส. พบว่าชาวไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,400 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ควรจะเป็นมาก ดังนั้นการลดอาหารเค็มให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังหลายโรค

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุง

ปริมาณโซเดียมในอาหารไทย


การลดโซเดียม

  1. เลือกกินอาหารสดตามธรรมชาติ
  2. เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารกรุบกรอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
  3. ปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดการใช้เครื่องปรุง เช่น ไม่ปรุงเพิ่ม ลดซดน้ำซุป/น้ำแกง
  4.  ลดอาหารปิ้งย่าง –บุฟเฟต์ ,ลดปริมาณน้ำจิ้ม
  5. อ่านฉลากโภชนาการ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-47

English topic

การปฏิบัติตัวก่อนและหลังการเสริมจมูก

ก่อนผ่าตัด

  1. ตรวจร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมในการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน
  2. งดอาหารเสริมและวิตามินทุกชนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  3. ระมัดระวังอย่าให้เป็นหวัดหรือเป็นสิวที่แนวจมูก
  4. ในวันผ่าตัดให้งดแต่งหน้า งดทาเล็บมือเล็บเท้า งดต่อผม งดต่อขนตา
  5. ควรเตรียมการหยุดพักงาน 5-7 วัน หลังผ่าตัด

หลังผ่าตัด

  1. หลังผ่าตัดเสร็จแพทย์จะปิดเทปคาดจมูกไว้ 3 วัน หลังจากนั้นสามารถดึงออกได้เอง
  2. ประคบเย็นที่จมูกทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ประมาณ 5-7 วัน
  3. เวลานอนให้นอนราบหรือหัวสูงเล็กน้อย 1-2 วันแรกหลังผ่าตัด หลังจากนั้นสามารถนอนหงายหรือนอนตะแคงได้ตามปกติ
  4. หลังผ่าตัดเสร็จสามารถล้างหน้าได้ตามปกติแต่ให้สัมผัสบริเวณรอบจมูกอย่างเบามือ
  5. ใช้ยาขี้ผึ้งทาแผลในจมูก เช้า – เย็น เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์
  6. งดอาหารที่มีรสเค็ม รสเผ็ด อาหารหมักดอง ส้มตำ ของดิบและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ Alcohol เป็นเวลา 3 เดือน
  7. งดออกกำลังกาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการว่ายน้ำ อย่างน้อย 2 เดือน
  8. หลังผ่าตัดจะมีอาการบวมที่บริเวณจมูกมากในช่วง 7-14 วันแรก อาการบวมค่อยๆลดลงจนเป็นปกติภายใน 3 เดือน
  9. เนื่องจากอาการบวมในช่วงแรกอาจทำให้รูปทรงของจมูกไม่ชัดเจน ควรรอหลัง 3 เดือนไปแล้วในการพิจารณารูปทรงของจมูก

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์ผิวหนังและศัลยกรรมตกแต่ง  โรงพยาบาลพระรามเก้า  
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20901 ,  20902

PI-SPC-12

การผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางปากไร้แผลเป็น (Transoral Endoscopic Thyroidectomy Vestibular Approach  : TOETVA )

  • โรคของต่อมไทรอยด์

       ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อมีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ส่วนล่างลำคอด้านหน้า มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วนประมาณ 4:1 และก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งประมาณ 5-10% ในกรณีที่พบว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือทั้งหมดขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของต่อมไทรอยด์

  • การผ่าตัดไทรอยด์โดยส่องกล้องทางปาก

    เป็นทางเลือกหนึ่งในการผ่าตัดซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลเป็นที่ลำคอเนื่องจากแผลผ่าตัดจะอยู่ที่เยื่อบุช่องช่องปาก การผ่าตัดผ่านกล้องทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของอวัยวะต่างๆได้ชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากเป็นการมองภาพขยายขนาดบนจอภาพ นอกจากนั้นผู้ป่วยจะมีความปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าและระยะเวลาการพักฟื้นสั้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
preparation of instruments on an operating table using the laparoscopic technique
  • ผู้ป่วยที่เหมาะแก่การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น ได้แก่
    • ผลการตรวจอัลตราซาวนด์พบว่าก้อนที่ไทรอยด์มีขนาด 4-6 เซนติเมตร
    • มีผลตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าไม่ใช่มะเร็ง
    • ผู้ป่วยไม่ได้เคยรับการผ่าตัดหรือการฉายแสงที่บริเวณคอหรือคางมาก่อน
    • ผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการดมยาสลบเพื่อผ่าตัด
  • การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
  1. ก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์, ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด, ตรวจปัสสาวะ, ภาพเอกซเรย์ทรวงอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมถ้าจำเป็น
  2. การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัดเหมือนการผ่าตัดแบบผู้ป่วยในทั่วไป อ่านรายละเอียดได้จากบทความนี้ “การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดแบบผู้ป่วยใน”
  3. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสภาวะเป็นไทรอยด์เป็นพิษต้องรักษาด้วยยาจนค่าฮอร์โมนคงที่ก่อนการผ่าตัด

 หลังผ่าตัดควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. หลังผ่าตัดจะมีผ้าก๊อซกดใต้คางประมาณ 1 วัน เพื่อป้องกันเลือดคั่ง
  2. ผู้ป่วยอาจรู้สึกขัดตึงคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอหรือมีเสียงเปลี่ยนไป ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
  3. ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะและควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดเช่น พาราเซตามอลเมื่อจำเป็นได้
  4. ในวันแรกหลังผ่าตัดจะมีการให้สารละลายทางเส้นเลือด เมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ดีพอควรแพทย์จะเอาสายให้น้ำเกลือออก
  5. หลังผ่าตัดจะมีการใส่สายระบายไว้ที่คอ 1 วัน และแพทย์จะถอดสายออกให้หลังจากตรวจว่าแผลผ่าตัดปกติดี
  6. ควรหลีกเลี่ยงการไอหรือเค้นคอแรงๆ, การออกแรงมาก, การเล่นกีฬา, หรือยกของหนักหลังผ่าตัดภายใน 7 วันแรก เพราะอาจทำให้แผลผ่าตัดแยกออกได้
  7. ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้มหรือขนมปังนิ่มๆ หลีกเลี่ยงการประทานอาหารที่แข็งหรือรสเผ็ดอย่างน้อย 3 วัน
  8. การรักษาขั้นตอนต่อไปขึ้นอยู่กับผลการตรวจชิ้นเนื้อซึ่งพยาธิแพทย์จะรายงานให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดทราบภายใน 3 – 5 วัน
  9. แพทย์จะนัดตัดไหมในช่องปากประมาณ 7 – 10 วัน

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกศัลยกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-34/Rev.1

English topic

โรคริดสีดวงทวาร

     ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อยเกิดจากการบวมของเส้นเลือดดำบริเวณรอบลำไส้ตรงและทวารหนัก ทำให้มีอาการได้แก่ มีเลือดออก โดยมักเป็นเลือดสีแดงสดออกตามหลังการถ่ายอุจจาระ, อาการปวดโดยเฉพาะหากเป็นริดสีดวงทวารชนิดมีก้อนเลือดภายใน (thrombosed hemorrhoids), มีก้อนยื่นจากทวารหนัก, มีอาการคันระคายเคือง

โครงสร้างของทวารหนัก

ทวารหนักคือส่วนปลายสุดของทางเดินอาหารถัดจากลำไส้ใหญ่ เป็นทางเปิดเพื่อขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกาย

ชนิดของริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น ริดสีดวงทวารภายใน และ ริดสีดวงทวารภายนอกจากตำแหน่งของริดสีดวงที่อยู่เหนือหรือใต้ต่อเส้นที่อยู่รอบปากทวารหนักที่เรียกว่า dentate line 

ริดสีดวงทวารภายใน

เป็นริดสีดวงที่เกิดเหนือเส้น dentate line ทำให้ไม่มีอาการเจ็บปวดหรือระคายเคืองเนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณนี้ครอบคลุมโดยเส้นประสาทอวัยวะภายใน ริดสีดวงทวารภายในแบ่งออกเป็น 4 ระดับดังนี้

Grade 1 ริดสีดวงทวารไม่ย้อยลงมาต่ำกว่า dentate line ดังนั้นจะเห็นได้จากการตรวจด้วยเครื่องมือ proctoscopy ที่ใช้สำหรับตรวจทวารหนักเท่านั้น

Grade 2  ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนัก หลังถ่ายอุจจาระ

Grade 3  ริดสีดวงยื่นออกนอกขอบทวาร  ขณะถ่ายอุจจาระ และหลังถ่ายอุจจาระต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนัก

Grade 4 ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลา  ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนัก หลังถ่ายอุจจาระ ไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการบีบรัด(strangulation)

ริดสีดวงทวารภายนอก 

เป็นริดสีดวงทวารที่อยู่ต่ำกว่าเส้น dentate line ซึ่งเนื้อเยื่อบริเวณนี้จะมีเส้นประสาทจากไขสันหลังมาเลี้ยง (innervated) ซึ่งรับความรู้สึกเจ็บปวดได้ ริดสีดวงทวารภายนอกจึงมีอาการเจ็บปวดมากกว่าริดสีดวงทวารภายใน

ผู้ป่วยบางรายอาจมีริดสีดวงทวารทั้งชนิดภายในและภายนอกร่วมกันได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคริดสีดวงทวาร

เลือดออกตามหลังการถ่ายอุจจาระโดยไม่มีอาการเจ็บปวด. เลือดจากริดสีดวงทวารมักจะเป็นสีแดงสดเคลือบอยู่บนก้อนอุจจาระหรือหยดลงในโถส้วม 

ก้อนเลือดในริดสีดวงทวาร (Thrombosis) ส่วนใหญ่มักเกิดกับริดสีดวงทวารชนิดภายนอกซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงมากแต่หากเกิดกับริดสีดวงทวารชนิดภายในจะปวดน้อยกว่า

การตรวจโรคริดสีดวงทวาร

แพทย์จะถามประวัติอาการ, ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจทางทวารหนักโดยใช้เครื่องมือ proctoscopy เพื่อประเมินชนิด, จำนวน, และตำแหน่งของริดสีดวงทวารหนัก

การรักษาโรคริดสีดวงทวาร

  1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
    1.  รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยลดอาการท้องผูกและทำให้อุจจาระนุ่มลง การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยลดอาการท้องผูกและทำให้อุจจาระนุ่มลง อาหารที่มีกากใยสูงเช่น ผักและผลไม้, ข้าวซ้อมมือ, ธัญพืชต่างๆ 
    2. การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอจะช่วยกระตุ้นให้การทำงานของลำไส้เป็นปกติและลดอาการท้องผูก
    3. ดื่มน้ำให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร
    4. ไม่เบ่งหรือนั่งถ่ายนานเกินไปบนโถส้วม
    5. ลดอาหารมันและเครื่องดืมแอลกอฮอล์
  2. การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น (sitz bath) ช่วยลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนักและบรรเทาการอักเสบ
  3. การใช้ยารักษาริดสีดวงซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดอาการบวมของเส้นเลือดดำ ช่วยให้อาการบวมและปวดลดลง
  4. การฉีดก่อกระด้าง(sclerotherapy) ที่ทำให้ริดสีดวงฝ่อ เหมาะกับริดสีดวงชนิดภายในซึ่งเป็นไม่มาก
  5. การรัดหัวริดสีดวงด้วยแถบยาง (rubber band ligation) ทำให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดไป วิธีนี้เหมาะกับริดสีดวงชนิดภายในที่มีเลือดออก ให้ผลการักษาที่ดี
  6. การผ่าตัดริดสีดวง มีหลายวิธีเช่นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (conventional hemorrhoidectomy) , การผ่าตัดโดยใช้ลวดเย็บ(stapled hemorrhoidopexy) โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมตามชนิดและความรุนแรงของริดสีดวงทวาร
ลักษณะ การรักษา
1.ริดสีดวงอยู่เหนือ Dentate Line และไม่ยื่นออกมานอกขอบทวารรักษาแบบประคับประคองด้วยยา และหลีกเลี่ยงจากยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) และอาหารรสเผ็ดหรือไขมัน
2.ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนักหลังถ่ายรักษาโดยพิจารณาการทำหัตถการที่ไม่ต้องผ่าตัด ร่วมกับการใช้ยา
3.ริดสีดวงยื่นออกนอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระ และหลังถ่ายอุจจาระต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนักรักษาโดยพิจารณาการทำหัตถการที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้ามีอาการมากพิจารณาผ่าตัด
4.ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลาผ่าตัด
ตารางสรุปแนวทางการรักษาริดสีดวงทวาร

การดูแลตนเองภายหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร

  • พบแพทย์ตามนัดหมายหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปแล้วจนแผลหายสนิท
  • พบแพทย์ก่อนนัดหากมีอาการปวดหรือบวมบริเวณทวารหนัก, ถ่ายเป็นเลือดออกมาปริมาณมากโดยไม่ค่อยมีอุจจาระ, เจ็บแผลมาก, มีอาการปวดตลอดเวลา, มีหนองหรือน้ำเหลืองออกมาจากแผล, มีไข้สูง
  • แผลสามารถถูกน้ำสะอาดได้ สามารถใช้น้ำประปาล้างทำความสะอาดแผลได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเกลือ
  • ใช้สบู่อ่อนล้างทำความสะอาดแผลในเวลาเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระ และเมื่อรู้สึกเจ็บ แสบ คัน แฉะบริเวณทวารหนัก
  • ซับแผลให้แห้งเบาๆ หลังทำความสะอาด โดยใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษทิชชู่เนื้อนุ่ม อย่าเช็ดแรง จะทำให้แผลอักเสบหรือมีเลือดออกได้
  • รับประทานอาหารได้ตามปกติแต่ควรงดอาหารเผ็ด

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกศัลยกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-39/Rev.1

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)

ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุงเล็กๆอยู่ทางด้านขวาบนของช่องท้องใต้ตับ มีหน้าที่เก็บน้ำดีที่ผลิตจากตับและหลั่งน้ำดีเข้าไปในลำไส้เล็กส่วนต้นในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร

น้ำดีมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ

  1. กรดน้ำดีซึ่งสำคัญต่อการย่อยและดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมันในบริเวณลำไส้เล็ก
  2. สารหลายชนิดถูกขจัดออกจากร่างกายโดยตับผ่านทางน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กและผ่านออกไปทางอุจจาระ

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบที่อยู่ในน้ำดีซึ่งโดยมากมักเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงทำให้เกิดการตกผลึกและรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วซึ่งอาจมีขนาดแตกต่างกันได้ตั้งแต่เป็นเม็ดละเอียดคล้ายทรายจนถึงก้อนใหญ่ขนาดลูกกอล์ฟ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้แก่

  1. เพศหญิงมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าเพศชาย
  2. น้ำหนักตัวเกิน
  3. อายุมากกว่า 40 ปี
  4. รับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ
  5. ผู้ป่วยเบาหวาน
  6. ภาวะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น เช่นการตั้งครรภ์, การรับประทานยาคุมกำเนิด
  7. การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
  8. กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำ
  9. ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
  10. การใช้ยาบางอย่าง เช่นยาลดไขมันบางชนิด

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

อาการของนิ่วในถุงน้ำดีอาจเป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการใดเลยจนถึงอาการรุนแรง ดังนี้

  1. ไม่มีอาการใด : ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือทราบจากการตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
  2. อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงข้างขวาและใต้ลิ้นปี่ร่วมกับมีอาการท้องอืดแน่นท้อง โดยเฉพาะหลังกินอาหารประเภทไขมัน
  3. ถุงน้ำดีอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในถุงน้ำดีซึ่งในกรณีเฉียบพลันจะทำให้เกิดอาการไข้สูง, ปวดท้องและกดเจ็บที่ชายโครงด้านขวา, คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นสภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมต้องได้รับการผ่าตัดที่ทันท่วงที
  4. การอุดตันท่อน้ำดีกรณีที่นิ่วในถุงน้ำดีหลุดลงไปอุดตันท่อน้ำดีจะทำให้เกิดการอุดตันของการไหลของน้ำดีทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลืองและมักตามมาด้วยถุงน้ำดีอักเสบทำให้มีไข้สูง ปวดท้องมาก บางรายที่เป็นมากอาจมีถุงน้ำดีเป็นหนองหรือทำให้ตับอ่อนอักเสบซึ่งเป็นสภาวะที่รุนแรงอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เจาะเลือด และทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนซึ่งจะให้ผลแม่นยำและรวดเร็วในการวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

การรักษา

  • นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการอาจไม่จำเป็นต้องรักษาแต่แนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติ หากมีอาการที่ผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • การผ่าตัด การตัดถุงน้ำดี (cholecystectomy) เป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับนิ่วในถุงน้ำดีที่ผู้ป่วยมีอาการ ในปัจจุบันนี้การผ่าตัดถุงน้ำดีเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็ก 3-4 รอยที่ผนังหน้าท้องและใช้กล้อง laparoscope และอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กและมีด้ามยาวสอดเข้าไปทางรูเหล่านั้นเพื่อทำการผ่าตัด และนำถุงน้ำดีออกมา ส่วนส่วนการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดนั้นมีที่ใช้ในบางกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องได้ เช่น ผู้ป่วยตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สาม, ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินมาก, หรือผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนหรือโรคร่วมที่เป็นภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัดผ่านกล้อง เช่นถุงน้ำดีอักเสบอย่างรุนแรง

ข้อดีของการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้อง

  1. อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก
  2. แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่าและมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลขนาดใหญ่รวมถึงแผลเป็นก็มีขนาดเล็กกว่า
  3. ระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่า โดยผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเปิดผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานประมาณ 7-10 วัน
  4. ระยะเวลาการพักฟื้นสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ผู้ป่วยก็กลับไปทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน

ยาละลายนิ่ว

ยาละลายนิ่ว (Oral dissolution therapy) ยาละลายนิ่วคือ Ursodeoxycholic acid (Ursodiol) ใช้ได้ผลกับนิ่วบางชนิดเท่านั้นและต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานหากหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก และนิ่วในถุงน้ำดีที่พบในประชากรไทยส่วนมากมักไม่ตอบสนองในการใช้ยาละลายนิ่ว (dissolution therapy)

ถุงน้ำดีถูกตัดออกไปแล้วมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

ถุงน้ำดีเป็นที่เก็บน้ำดีไว้และทำให้น้ำดีเข้มข้น เมื่อโดนตัดถุงน้ำดีในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก น้ำดีที่สร้างจากตับยังเจือจางอยู่บ้างจึงอาจมีท้องอืดระยะแรก หลังจากนั้นเซลตับจะปรับตัวสร้างน้ำดีที่เข้มข้นใกล้เคียงกับตอนมีถุงน้ำดีอยู่ได้

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-17 / Rev.2

โรคเบาหวานและโรคไตเรื้อรัง : ภัยเงียบที่คุณอาจคาดไม่ถึง

โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุหลักที่พบบ่อยของการเกิดโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยรายงานว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยสุดท้ายที่ต้องฟอกไตมีสาเหตุจากโรคเบาหวานถึงร้อยละ 36.3 ดังนั้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีจะมีความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของไตจนเกิดโรคไตเรื้อรัง ไตวาย ซึ่งทำให้ต้องมีการฟอกไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

โรคเบาหวานนับเป็นภัยเงียบที่อันตรายเนื่องจากระยะแรกของโรคเบาหวานมักจะไม่มีอาการผิดปกติ ต่อมาเมื่ออาการเป็นมากขึ้นผู้ป่วยอาจจะมีอาการเช่นปัสสาวะมาก น้ำหนักลด หรืออาการอื่นๆที่อาจจะไม่มีลักษณะจำเพาะที่ชัดเจนทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้สังเกตตนเองและไม่เคยตรวจรักษา
ผู้ป่วยบางรายจึงมาพบแพทย์เมื่อมีการดำเนินโรคไปมากแล้วเช่น เกิดไตวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจ, ความเสื่อมของระบบประสาท เป็นต้น

โรคเบาหวาน ทำให้เกิดโรคไตได้อย่างไร

เนื้อไตประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมากที่ทำหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากร่างกาย ในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังทำให้ผนังเส้นเลือดและเนื้อไตเสื่อมสภาพทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง, ประสิทธิภาพในการกรองของเสียออกจากเลือดจึงลดน้อยลงและมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ

โรคเบาหวาน : คำแนะนำเพื่อป้องกันและชะลอความรุนแรงในการเกิดโรคไต

สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวานแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเช่นมีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว, มีน้ำหนักตัวมาก ฯลฯ ควรระวังดูแลรักษาสุขภาพ ดังนี้

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

2. ลดอาหารที่จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว, อาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว, อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ขนม ของหวาน น้ำอัดลม ชาไข่มุก กาแฟและช็อคโกแล็ตที่มีน้ำตาล

3. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี่, คะน้า, ถั่วชนิดต่างๆ, ข้าวโพด, กระเจี๊ยบเขียว ผลไม้เช่น แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง
เส้นใยในอาหาร (Dietary fiber) จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

4. คุณควรรับการตรวจสุขภาพประจำปีโดยมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและการตรวจระดับโปรตีนในปัสสาวะเพื่อตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบาหวานได้แต่เนิ่นๆ และหากตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานก็ควรรับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของผลข้างเคียง

สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว: การดูแลตนเองเพื่อป้องกันและชะลอการเสื่อมของไต

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหาร (Fasting plasma glucose) ให้ต่ำกว่า 130 mg/dl และระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้ต่ำกว่า 7 โดยการควบคุมอาหาร(ตามรายละเอียดในหัวข้อถัดไป) และการใช้ยาลดน้ำตาล

3. ลดอาหารที่จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว, อาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว, อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ขนม ของหวาน น้ำอัดลม ชาไข่มุก กาแฟและช็อคโกแล็ตที่มีน้ำตาล

4. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี่, คะน้า, ถั่วชนิดต่างๆ, ข้าวโพด, กระเจี๊ยบเขียว ผลไม้เช่น แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง
เส้นใยในอาหาร (Dietary fiber) จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

5. ควบคุมระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทเนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลให้ไตเสื่อมอย่างรวดเร็วมากขึ้น การดูแลตนเองเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตได้แก่การลดอาหารเค็มและอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง, การลดความเครียดผ่อนคลายจิตใจและร่างกายและในบางรายแพทย์อาจสั่งยาลดความดันโลหิต

6. ผู้ที่สูบบุหรี่ควรเลิกสูบบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาดเนื่องจากนิโคตินส่งผลให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นและมีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มขึ้นและอัตราการกรองของเสียจากไตลดลง

7. คุณควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องครั้งละ 30 นาที ให้หัวใจเต้นในอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง (รวม 150 นาทีต่อสัปดาห์) เพราะการออกกำลังกายช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ทำให้ระบบอวัยวะในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น. คุณควรเลือกการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ หรืออื่นๆ ที่เหมาะสมกับร่างกายและวัยของคุณ

8. คุณควรรับประทานอาหารโปรตีนให้เพียงพอ ปริมาณที่เหมาะสมของโปรตีนอย่างน้อย 0.8-1.0 กรัม ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน ดูปริมาณโปรตีนในอาหารแต่ละประเภทได้ที่นี่

9. ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจคัดกรองโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะและการตรวจวัดการทำงานของไต (Estimated glomerular filtration rate [eGFR]) อย่างสม่ำเสมอ

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า  
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12390 , 12397


PI-DMC-14

error: Content is protected !!