โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการสึกหรอและเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่เคลือบผิวข้อเข่าซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและดูดซับแรงกระแทกภายในข้อเข่า หากกระดูกอ่อนนี้เสียหายเป็นพื้นที่กว้าง, กระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนในข้อเข่าจะเสียดสีกันเองทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึด เดินลำบาก หรือบางรายก็เข่าผิดรูปโก่งงอ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทำให้เดินได้ลำบาก, ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดเข่าในขณะลุกนั่งหรือการขึ้นลงบันได

อาการเริ่มต้นของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • รู้สึกปวดเข่าขณะเดินหรือขึ้นลงบันได

เข่าบวม ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวข้อเข่าได้อย่างปกติ, รู้สึกตึงข้อเข่า, มีอาการข้อติดขัดเคลื่อนไหวไม่สะดวก

สาเหตุของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. พันธุกรรมและความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ขาหรือเข่าผิดรูป
  2. อายุและเพศ : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป, ผู้ชายอายุ 55 ปีขึ้นไป และทั้งสองเพศเมื่ออายุ 65 ปี มีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมเท่าๆ กัน
  3. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (มีดัชนีมวลกาย(BMI) มากกว่า 23 กก./ม2)
  4. การใช้ข้อเข่าอย่างหักโหมซ้ำ ๆ หรืออยู่ในบางท่าที่ต้องงอเข่ามากเกินไปเป็นเวลานานๆเช่น การคุกเข่า, นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ, นั่งขัดสมาธิ ซึ่งทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดสูงกว่าปกติ
  5. ประวัติการบาดเจ็บของข้อเข่าส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อเกิดข้อเข่าเสื่อม โดยอาจเป็นผลจาก การบาดเจ็บ ซึ่งถึงแม้ร่างกายจะมีการซ่อมแซมตัวเองหลังการบาดเจ็บแต่โครงสร้างข้อเข่าก็อาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม
  6. โรคที่มีการอักเสบของข้อเข่า เช่น รูมาตอยด์, เกาท์

การบรรเทาอาการโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. ลดการใช้งานข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ การยืนหรือเดินนานมากเกินไปและการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
  2. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนักลง
  3. ใช้สนับพยุงเข่าในรายที่ปวดเข่ามากซึ่งจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับ, ลดอาการปวด,ทำให้เดินได้ดีขึ้น
  4. ในกรณีที่ปวดเข่าข้างเดียว, การใช้ไม้เท้าจะลดน้ำหนักที่กดลงบริเวณข้อเข่าได้มาก ให้ถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด เช่น ปวดเข่าซ้ายถือไม้เท้าข้างขวา
  5. ประคบอุ่นเพื่อลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า แต่กรณีที่มีเข่าบวมต้องใช้การประคบเย็น
  6. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าและต้นขาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงซึ่งจะช่วยพยุงข้อเข่าและลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีมีอาการปวดเข่าเรื้อรังมากกว่า 1-2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีออกกำลังกล้ามเนื้อเข่า

ขณะยืนหรือเดิน น้ำหนักจะถูกส่งมาที่กล้ามเนื้อต้นขาซึ่งทำหน้าที่พยุงข้อเข่า ถ้ากล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงก็จะ

สามารถรับน้ำหนักได้มาก ทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลงอาการปวดก็จะลดลง ถ้ากล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรงรับน้ำหนักได้น้อยทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้นอาการปวดก็จะมากขึ้น

ท่านั่ง

  • นั่งตัวตรงหลังพิงพนัก ให้ส่วนของเข่าทั้งสองข้างอยู่ที่ขอบของเก้าอี้พอดี ยกขาขวาขึ้นโดยกระดกข้อเท้าไว้ขณะยกเกร็งข้อเข่าด้วย นับ 1-10 ในใจ วางเท้าลงสลับขาทำข้างละ 10 ครั้ง

หมายเหตุ กรณีที่ปวดลดลงแล้วสามารถใช้ถุงทรายถ่วงเหนือข้อเท้าเล็กน้อยเพื่อเพิ่มน้ำหนักการออกกำลังกาย

ท่านอน

  • นอนหงายนอนหงายหนุนหมอนเหยียดขาสองข้างให้ตรงแล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบโดยยกทั้งขาจากข้อสะโพก ขณะยกเกร็งข้อเข่าและกระดกเท้าข้างนั้นขึ้นด้วย นับ 1-10 แล้ววางขาลง ทำข้างละ 10 ครั้ง
  • นอนหงายหนุนหมอนเหยียดขาสองข้างใช้หมอนเล็กๆหรือผ้าขนหนูม้วนรองใต้ต้นขาข้างหนึ่งแล้วยกขาส่วนล่างขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบ โดยยกจากข้อเข่า ขณะยกเกร็งข้อเข่าและกระดกเท้าข้างนั้นขึ้นด้วย นับ 1-10 แล้ววางขาลง ทำข้างละ 10 ครั้ง
  • นอนคว่ำ -งอเข่า นอนคว่ำโดยให้ขาสองข้างเหยียดตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากข้อเข่า โดยหากพยายามพับข้อเข่าเข้ามาให้เท้าชิดสะโพกได้มากที่สุด เกร็งไว้ 5-10 วินาที แล้ววางขาลงลงทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง

หมายเหตุ กรณีที่ปวดลดลงแล้วสามารถใช้ถุงทรายถ่วงเหนือข้อเท้าเล็กน้อยเพื่อเพิ่มน้ำหนักการออกกำลังกาย

แพทย์ที่ดูแลจะเป็นผู้แนะนำและวางแผนการบริหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายท่าบริหารทั้งหมดที่ได้กล่าวมา จะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่ารวมทั้งต้นขาและน่องแข็งแรงและกระชับขึ้น สามารถทำได้วันละหลาย ๆ ครั้ง ไม่จำกัดเวลา

การได้ปฏิบัติตัวถูกต้องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจะช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าและชะลอความเสื่อมของข้อเข่าได้ อาการปวดเข่าก็จะทุเลาลง

“ในรายที่ปวดเข่ามาก…ควรใช้สนับเข่าจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับลดอาการปวดลงได้มาก”

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)

ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุงเล็กๆอยู่ทางด้านขวาบนของช่องท้องใต้ตับ มีหน้าที่เก็บน้ำดีที่ผลิตจากตับและหลั่งน้ำดีเข้าไปในลำไส้เล็กส่วนต้นในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร

น้ำดีมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ

  1. กรดน้ำดีซึ่งสำคัญต่อการย่อยและดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมันในบริเวณลำไส้เล็ก
  2. สารหลายชนิดถูกขจัดออกจากร่างกายโดยตับผ่านทางน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กและผ่านออกไปทางอุจจาระ

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบที่อยู่ในน้ำดีซึ่งโดยมากมักเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงทำให้เกิดการตกผลึกและรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วซึ่งอาจมีขนาดแตกต่างกันได้ตั้งแต่เป็นเม็ดละเอียดคล้ายทรายจนถึงก้อนใหญ่ขนาดลูกกอล์ฟ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้แก่

  1. เพศหญิงมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าเพศชาย
  2. น้ำหนักตัวเกิน
  3. อายุมากกว่า 40 ปี
  4. รับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ
  5. ผู้ป่วยเบาหวาน
  6. ภาวะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น เช่นการตั้งครรภ์, การรับประทานยาคุมกำเนิด
  7. การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
  8. กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำ
  9. ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
  10. การใช้ยาบางอย่าง เช่นยาลดไขมันบางชนิด

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

อาการของนิ่วในถุงน้ำดีอาจเป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการใดเลยจนถึงอาการรุนแรง ดังนี้

  1. ไม่มีอาการใด : ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือทราบจากการตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
  2. อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงข้างขวาและใต้ลิ้นปี่ร่วมกับมีอาการท้องอืดแน่นท้อง โดยเฉพาะหลังกินอาหารประเภทไขมัน
  3. ถุงน้ำดีอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในถุงน้ำดีซึ่งในกรณีเฉียบพลันจะทำให้เกิดอาการไข้สูง, ปวดท้องและกดเจ็บที่ชายโครงด้านขวา, คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นสภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมต้องได้รับการผ่าตัดที่ทันท่วงที
  4. การอุดตันท่อน้ำดีกรณีที่นิ่วในถุงน้ำดีหลุดลงไปอุดตันท่อน้ำดีจะทำให้เกิดการอุดตันของการไหลของน้ำดีทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลืองและมักตามมาด้วยถุงน้ำดีอักเสบทำให้มีไข้สูง ปวดท้องมาก บางรายที่เป็นมากอาจมีถุงน้ำดีเป็นหนองหรือทำให้ตับอ่อนอักเสบซึ่งเป็นสภาวะที่รุนแรงอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เจาะเลือด และทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนซึ่งจะให้ผลแม่นยำและรวดเร็วในการวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

การรักษา

  • นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการอาจไม่จำเป็นต้องรักษาแต่แนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติ หากมีอาการที่ผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • การผ่าตัด การตัดถุงน้ำดี (cholecystectomy) เป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับนิ่วในถุงน้ำดีที่ผู้ป่วยมีอาการ ในปัจจุบันนี้การผ่าตัดถุงน้ำดีเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็ก 3-4 รอยที่ผนังหน้าท้องและใช้กล้อง laparoscope และอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กและมีด้ามยาวสอดเข้าไปทางรูเหล่านั้นเพื่อทำการผ่าตัด และนำถุงน้ำดีออกมา ส่วนส่วนการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดนั้นมีที่ใช้ในบางกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องได้ เช่น ผู้ป่วยตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สาม, ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินมาก, หรือผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนหรือโรคร่วมที่เป็นภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัดผ่านกล้อง เช่นถุงน้ำดีอักเสบอย่างรุนแรง

ข้อดีของการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้อง

  1. อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก
  2. แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่าและมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลขนาดใหญ่รวมถึงแผลเป็นก็มีขนาดเล็กกว่า
  3. ระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่า โดยผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเปิดผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานประมาณ 7-10 วัน
  4. ระยะเวลาการพักฟื้นสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ผู้ป่วยก็กลับไปทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน

ยาละลายนิ่ว

ยาละลายนิ่ว (Oral dissolution therapy) ยาละลายนิ่วคือ Ursodeoxycholic acid (Ursodiol) ใช้ได้ผลกับนิ่วบางชนิดเท่านั้นและต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานหากหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก และนิ่วในถุงน้ำดีที่พบในประชากรไทยส่วนมากมักไม่ตอบสนองในการใช้ยาละลายนิ่ว (dissolution therapy)

ถุงน้ำดีถูกตัดออกไปแล้วมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

ถุงน้ำดีเป็นที่เก็บน้ำดีไว้และทำให้น้ำดีเข้มข้น เมื่อโดนตัดถุงน้ำดีในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก น้ำดีที่สร้างจากตับยังเจือจางอยู่บ้างจึงอาจมีท้องอืดระยะแรก หลังจากนั้นเซลตับจะปรับตัวสร้างน้ำดีที่เข้มข้นใกล้เคียงกับตอนมีถุงน้ำดีอยู่ได้

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-17 / Rev.2

โรคปวดศีรษะไมเกรน

PI-MED-44

โรคอุจจาระร่วง เฉียบพลัน (Acute gastroenteritis) ในผู้ใหญ่ 

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษคืออาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวันขึ้นไปและระยะเวลาที่มีอาการไม่นาน (น้อยกว่า 2 สัปดาห์) ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ปวดท้อง และบางรายอาจมีอาการที่รุนแรงได้ 

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น Norovirus, Rotavirus รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Campylobacter, Salmonella 

อากการติดเชื้อที่ทำให้เกิดท้องเสียเกิดขึ้นได้อย่างไร 

การติดเชื้อเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยเชื้ออาจปนเปื้อนในอาหารโดยตรงจากการประกอบอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือจากมือที่ไม่สะอาดที่สัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อ, และใช้มือหยิบอาหารเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ 

อาการของโรค 

  1. ท้องเสีย ถ่ายเหลว หลายครั้งต่อวัน
  2. ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน 
  3. มีไข้ ปวดศีรษะ 
  4. ปวดกล้ามเนื้อ 
  5. ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการท้องเสียรุนแรงอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งหากการขาดน้ำเป็นมากรุนแรงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้สูงอายุ 

การวินิจฉัย 

แพทย์วินิจฉัยโรคอุจจาะร่วงเฉียบพลันได้จากอาการดังกล่าวข้างต้นและร่วมกับการตรวจเชื้อในอุจจาระ ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการมากอาจมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับเกลือแร่ในเลือด,การทำงานของไต, การตรวจนับเม็ดเลือด  

การรักษา 

เนื่องจากสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส, การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การทดแทนน้ำและเกลือแร่เพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย (ให้เกลือแร่ชนิดดื่ม หรือ ให้สารละลายเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ) , การให้ยาลดอาการไข้คลื่นไส้อาเจียนและปวดท้อง  

การดูแลตนเองเมื่อท้องเสีย 

  • ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้เพียงพอ จิบน้ำทีละน้อยทุก 10-15 นาที   กรณีที่ผู้ป่วยมีท้องร่วงมากควรดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย 
  • ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม, ซุปใส, ขนมปัง, เนื้อสีขาว เช่น ปลา, อกไก่ 
  • อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีอาการท้องเสียและหลังจากหายท้องเสียแล้วประมาณ 5-7 วัน ได้แก่ 
    • อาหารรสเผ็ดรสจัด
    • ผักสดและผลไม้เนื่องจากผักผลไม้บางชนิดย่อยยากและอาจทำให้มีอาการปวดท้องหรือท้องอืด,
    • นมและผลิตภัณฑ์นม เช่น ครีม, ชีส 
    • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

อาการที่ต้องรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาล 

  • อาการหน้ามืดเป็นลมซึ่งอาจเกิดจากากรขาดน้ำรุนแรง 
  • มีไข้สูง 
  • มีเลือดปนในอุจจาระหรืออาเจียน 
  • ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง 

การป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

เนื่องจากอุจจาระร่วงเฉียบพลันเป็นโรคติดต่อโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก ดังนั้นการรักษาสุขอนามัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ การป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันสามารถทำได้โดย

  1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาดถูกสุขลักษณะ
  1. ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร, ก่อนทำอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-GIC-13

English topic

อาการเวียนหัวบ้านหมุน

อาการเวียนหัวบ้านหมุน เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยมักเกิดในผู้ใหญ่วัยทำงานขึ้นไปทั้งชายและหญิง อาการที่เป็นคือเวียนหัว, โคลงเคลงเหมือนอยู่บนเรือ, หรือบางคนอาจมีอาการหนักคือรู้สึกเหมือนสิ่งแวดล้อมรอบๆหมุนติ้วอยู่รอบตัว ผู้ป่วยมักมีคำถามว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร, จะมีผลกระทบร้ายแรงตามมาไหม และสามารถหายขาดได้ไหม

  สาเหตุของอาการเวียนหัวบ้านหมุน

อาการเวียนหัวบ้านหมุนแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ Peripheral vertigo และ Central vertigo

Peripheral vertigo

เกิดจากปัญหาในหูชั้นในซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว ระบบหูของมนุษย์ประกอบด้วยหูชั้นนอกคือใบหู,ช่องรูหูและแก้วหู หูชั้นกลางประกอบด้วยช่องแก้วหูซึ่งภายในมีกระดูกหูที่ทำหน้าที่ถ่ายโอนเสียงจากเยื่อแก้วหูเข้าสู่อวัยวะรับเสียง หูชั้นในประกอบด้วยอวัยวะ 3 ส่วนที่ทำหน้าทีรับสัญญาณเสียงและควบคุมการทรงตัวคือกระดูกรูปก้นหอย, ท่อครึ่งวงกลมสามเสี้ยว, และส่วนที่เรียกว่า vestibule

สาเหตุที่พบบ่อยของ peripheral vertigo มีดังนี้

  1. หินปูนในหูชั้นในเคลื่อนที่ (Benign paroxysmal peripheral vertigo : BPPV) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเวียนศีรษะบ้านหมุนโดยจะพบบ่อยในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป อาการที่เกิดขึ้นคือเวียนหัวบ้านหมุนเมื่อมีการขยับศีรษะเร็วๆ สาเหตุของ BPPV คือการเคลื่อนที่ของหินปูนแคลเซียมคาร์บอเนตขนาดเล็กที่เรียกว่า “โอโตโคเนีย (Otoconia)” ซึ่งเกาะตัวอยู่บริเวณหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า “ยูตริเคิล (Utricle)”ทำหน้าที่ส่งสัญญาณการทรงตัวและตำแหน่งศีรษะไปยังสมอง เมื่อคนเราอายุมากขึ้น otoconia อาจมีการกรอบแตกหลุดออกจากตำแหน่งเดิมและเคลื่อนเข้าไปอยู่ในหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า “เซมิเซอร์คิวล่าร์ แคนแนล” ซึ่งก็เป็นอวัยวะที่ส่งสัญญาณในการควบคุมการทรงตัวเช่นกันจึงไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน BPPV โดยตัวมันเองเป็นอาการที่ไม่ได้มีอันตราย ยกเว้นกรณีที่เกิดในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติการพลัดตกหกล้ม

2. โรคมีเนียร์หรือที่คนไทยเรียกว่าภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากการที่ของเหลวในหูชั้นในซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณควบคุมการทรงตัวมีปริมาณไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนและผู้ป่วยมักมีอาการเสียงกริ่งในหู (tinnitus) รู้สึกหูอื้อ, และอาจมีอาการหูดับร่วมด้วย. อาการของโรคเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและจะเป็นอยู่ไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมง

3. ความผิดปกติของหูชั้นในอื่นๆเช่นการอักเสบซึ่งส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส, การได้รับการกระทบกระเทือนของหูชั้นในเช่นการได้รับอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของการไหลเวียนน้ำเหลืองในหูชั้นใน เป็นต้น

Central vertigo

เกิดจากปัญหาในสมองเล็กส่วนหลัง(cerebellum)ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง, การใช้ยาบางชนิดเช่นยากันชัก, แอลกอฮอล์, เนื้องอก เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยอาการเวียนหัวบ้านหมุน

แพทย์จะตรวจร่างกาย, ตรวจหูและระบบประสาท, ในบางรายอาจมีการตรวจการได้ยิน, การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ขึ้นกับอาการที่ผู้ป่วยเป็น

การรักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุน

  • การรักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุนขึ้นกับสาเหตุที่เป็น กรณีที่มีสาเหตุที่ชัดเจนเช่นการอักเสบของหูชั้นในแพทย์จะรักษาที่ต้นเหตุ กรณีที่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนจะรักษาตามอาการเช่นการให้ยาแก้เวียนศีรษะ, ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • กรณี BPPV สามารถหายเองได้, ใช้ยาตามอาการ, หรือบางรายแพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการทำกายภาพบำบัดที่เรียกว่า “Epley Maneuver” ซึ่งประกอบด้วยการหมุนศีรษะและเปลี่ยนท่าในทิศทางเฉพาะเพื่อให้เศษ otoconia กลับเข้าไปอยู่ใน utricle หรือ Brandt-Daroff exercises ซึ่งผู้ป่วยสามารถฝึกได้เองที่บ้าน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • การรักษาโรคมีเนียร์(น้ำในหูไม่เท่ากัน) นอกจากการใช้ยาตามอาการแล้วอาจมีการใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับการควรลดปริมาณเกลือในอาหารซึ่งจะช่วยให้การควบคุมความดันและน้ำในหู ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่, การเลิกบุหรี่จะทำให้อาการลดลง อาหารบางอย่างอาจทำให้อาการเป็นมากขึ้นเช่น กาแฟ ช็อคโกแล็ต ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตตนเองว่าอาหารชนิดใดกระตุ้นให้มีอาการมากขึ้นและหยุดรับประทานอาหารชนิดดังกล่าว ซึ่งการรักษาโดยการใช้ยาและการปรับพฤติกรรมจะช่วยให้อาการดีขึ้นประมาณ 60% ของผู้ป่วย

คำแนะนำในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนเฉียบพลัน

  1. เมื่อเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนให้นั่งหรือนอนลงเพื่อลดความเสี่ยงในการล้ม
  2. พยายามอยู่นิ่งๆไม่ขยับศีรษะไปมาเพื่อลดการกระตุ้นระบบการทรงตัว
  3. หลับตา, หลีกเลี่ยงแสงสว่างจ้า, หลีกเลี่ยงการใช้สายตา
  4. รับประทานยา(ถ้ามี)พักนิ่งๆให้อาการลดลงแล้วจึงค่อยๆขยับเปลี่ยนท่า

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-30/Rev.1

error: Content is protected !!