ความผิดปกติการนอนหลับ การนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

“นอนเยอะแต่ยังรู้สึกนอนไม่พอ ง่วงทั้งวัน”
“นอน ๆ อยู่แล้วสะดุ้งตอนกลางคืนบ่อย ๆ”
“นั่งทำงานแล้วเผลอหลับบ่อย ๆ”
“นอนตื่นมาแล้วมีรอยฟกช้ำโดยจำไม่ได้ว่าทำอะไรมา”
“หลับในระหว่างขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ”

หลาย ๆ คนอาจมีอาการเหล่านี้ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติในการนอนหลับซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ

การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

หัวใจและระบบการไหลเวียนเลือด

ในระหว่างการนอนหลับ, ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจจะลดต่ำลงกว่าในช่วงที่ตื่นเป็นการทำให้หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดได้พักผ่อน จากการศึกษาวิจัยพบว่าการนอนหลับไม่เพียงพอเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง

ระบบฮอร์โมน

การหลั่งฮอร์โมนหลายชนิดเในร่างกายเกิดขึ้นในเวลากลางคืนระหว่างการนอนหลับ การอดนอนส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเหล่านี้ซึ่งส่งให้มีการทำงานที่แปรปรวนของร่างกายและการเกิดโรคทางเมตาบอลิคหลายโรคในระยะยาว

การเผาผลาญ

การนอนไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของระบบการเผาผลาญของร่างกายซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแปรปรวนของระบบฮอร์โมนดังที่กล่าวมาแล้ว มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าการนอนหลับไม่เพียงพออย่างเรื้อรังเกี่ยวข้องกับภาวะต่อไปนี้ได้แก่

  • ความแปรปรวนของฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว เช่น Leptin, ghrelin ดังนั้นผู้ที่อดนอนเรื้อรังมักมีปัญหาเกี่ยวกับการกินเช่นกินมากเกินไปหรือไม่อยากอาหาร
  • ทำให้สมรรถภาพทางกายและสมองลดลง
  • การตอบสนองต่ออินซูลินลดลงซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน, หรือในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วก็จะทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยากขึ้น
  • ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคกลุ่ม metabolic syndrome มากขึ้น

การทำงานของสมอง

คลื่นสมองจะมีความสงบในขณะนอนหลับทำให้มีการพักตัวของเซลล์ประสาทซึ่งส่งผลดีต่อความคิดและความจำ การอดนอนจึงส่งผลในทางตรงกันข้ามคือทำให้ความสามารถในการคิดและตัดสินใจบกพร่องลง, ความจำไม่ดี

ความผิดปกติของการนอน

ความผิดปกติของการนอนที่พบบ่อยได้แก่ การนอนไม่หลับ, นอนกรน, การหยุดหายใจขณะหลับ, กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syndrome)

Sleep test or sleep study

Sleep test  (Polysomnography) คือการตรวจความผิดปกติของการนอนหลับโดยการติดอุปกรณ์หลายชนิดบนร่างกายเพื่อตรวจวัดคลื่นสมอง, ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจน, การหายใจ, คลื่นหัวใจ, การเคลื่อนไหวของขากรรไกร, การเคลื่อนไหวของแขนขา การตรวจนี้ส่วนใหญ่ทำในหน่วยความผิดปกติของการนอนหลับภายใต้การดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับและทีมนักเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนอน

sleep test คือ

การตรวจการนอนหลับ (sleep test) มีประโยชน์อย่างไร?

  1. การวินิจฉัยความผิดปกติของการนอนหลับ ปัจจุบันถือว่าการตรวจ sleep test เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานสากล (gold standard) ในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับเช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea : OSA) การกระตุกของกล้ามเนื้อระหว่างนอนหลับรวมถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ
  2. การวางแผนการรักษา แพทย์สามารถนำผลการตรวจไปวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมเช่น ใช้ผลการตรวจในการตั้งค่าความดันลมที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) เพื่อช่วยเปิดช่องทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ, หรือใช้ผลการตรวจในการเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea : OSA)
  3. การติดตามการรักษา เช่น การติดตามผลภายหลังการใช้เครื่องมือในช่องปาก (oral appliances) ในผู้ที่มีโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea : OSA)

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจ sleep test?

หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้, ท่านควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ sleep test

  • นอนกรน
  • มีความกระสับกระส่ายระหว่างนอนหลับ
  • หายใจลำบากหรือสงสัยว่ามีการหยุดหายใจเป็นพักๆ
  • ง่วงนอนช่วงกลางวันมากผิดปกติทั้งที่นอนหลับกลางคืนเป็นเวลานาน
  • ตื่นเช้าอย่างไม่สดชื่น, มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอนบ่อย ๆ
  • มีพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติ เช่น แขนขากระตุกระหว่างนอนหลับ, กัดฟัน, นอนละเมอ หรือสะดุ้งตื่น
  • นอนหลับยากหรือรู้สึกนอนหลับได้ไม่เต็มที่บ่อย ๆ มากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

การประเมินความง่วงนอนที่ผิดปกติสามารถทำได้อย่างชัดเจนด้วยแบบสอบถามที่เรียกว่า Epworth Sleepiness Scale (ESS)

ท่านสามารถคลิกทำแบบทดสอบได้ที่นี่

ตรวจการนอนหลับ

โรคหรือสภาวะที่มีความเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจ sleep test

  • ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน
  • ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะนอนหลับหรือเป็นโรคลมหลับ (narcolepsy)
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น หัวใจวาย ไตวาย ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้
ทำ sleep test

มีการตรวจวัดอะไรบ้างใน sleep test

ในการตรวจ sleep test จะมีการติดอุปกรณ์เฉพาะต่างๆสำหรับใช้บันทึกการทำงานของร่างกายขณะนอนหลับได้แก่ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด , การหายใจเข้าออกทั้งทางจมูกและทางปาก, คลื่นไฟฟ้าสมอง, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การขยับของกล้ามเนื้อตา, แขนขาและกราม, รวมทั้งบันทึกวิดีโอเพื่อสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ

เมื่อตรวจ sleep test เสร็จแล้วแพทย์จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผลการตรวจเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ พร้อมทั้งประเมินความรุนแรงของปัญหาต่างๆ เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ, ระดับออกซิเจนในเลือดขณะหลับ, พฤติกรรมที่ผิดปกติเช่นการกระตุกของขาขณะหลับ, การละเมอ, การนอนไม่หลับ และความผิดปกติของการนอนหลับอื่น ๆ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ sleep test

  1. อาบน้ำและสระผมให้สะอาดก่อนมาตรวจ sleep test อย่าใส่น้ำมันหรือครีมใด ๆ มาด้วย เพราะอาจรบกวนการติดอุปกรณ์การตรวจ
  2. งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ ในวันที่จะมาตรวจ sleep test
  3. หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวันของวันที่จะมาตรวจเพื่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ชัดเจน
  4. นำยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่ติดตัวมาด้วย (หากมีข้อสงสัยเรื่องยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ)
  5. การติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดต่าง ๆ จะใช้เวลาประมาณ 45 – 60 นาทีและทำโดยเจ้าหน้าที่ประจำห้องตรวจ Sleep test
  6. กรณีที่ท่านมีข้อสงสัยใดๆให้ติดต่อสอบถามและตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

สรุป

ปัญหาการนอนเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามเพราะปัญหาการนอนไม่ใช่มีแค่การนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอ, แต่อาจมีภาวะอื่นเช่นการหยุดหายใจขณะหลับซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ความสำคัญ เช่น โรคความดันสูง โรคหัวใจ, ความดันในปอดสูง, โรคหลอดเลือดสมอง , และสุขภาพจิตที่พร่องลง

นอกจากนั้นคุณภาพการนอนที่ไม่ดียังอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานซึ่งจะสร้างปัญหาต่อหน้าที่การงาน

ดังนั้นการตรวจ sleep test จะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติของการนอนหลับได้อย่างชัดเจนทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันผลเสียต่อสุขภาพที่อาจตามมาจากปัญหาการนอน

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มายด์เซ็นเตอร์และศูนย์นิทรารมย์

โรงพยาบาลพระรามเก้า หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อมายด์เซ็นเตอร์และศูนย์นิทรารมย์ 20921-2

PI-MIN-06

error: Content is protected !!