โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE)

ในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและสาเหตุของความพิการในลำดับต้นๆของประชากรในประเทศไทยทั้งที่จริงแล้วโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งที่ป้องกันและรักษาได้หากผู้ป่วยมารับการรักษากายในเวลาที่ทันท่วงที

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

คนไทยมักรู้จักโรคหลอดเลือดสมองในชื่อของโรคอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ซึ่งเกิดได้จากสองสาเหตุคือ หลอดเลือดในสมองแตก หรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน ทั้งสองกรณีนี้จะทำให้เนื้อเยื่อสมองที่ถูกกระทบไม่ทำงาน เช่น ถ้ามีอาการในสมองบริเวณที่ควบคุมการขยับของแขนขาด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำให้แขนขาด้านนั้นขยับไม่ได้ ถ้าอาการเป็นถาวรก็จะเรียกว่าเป็นอัมพาต ถ้าเป็นชั่วคราวก็จะเรียกว่าอัมพฤกษ์นั้นเอง คล้ายๆอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Heart attack) แต่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Brain attack) แทน

โรคหลอดเลือดสมองมีอาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคหลอดเลือดในสมองจำง่ายๆด้วยตัวอักษรย่อ F.A.S.T.

  • F Face : ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่งอย่างฉับพลันหรือผู้ป่วยบางท่านอาจจะมีอาหารไหลออกจากปากระหว่างรับประทานอาหารหรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่งเนื่องจากไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าด้านที่มีอาการ
  • A Arms : ผู้ป่วยจะขยับแขนหรือขาไม่ได้โดยอาจจะเป็นเฉพาะแขนหรือขาหรือเป็นทั้งแขนและขาและส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้างขึ้น ถ้าแขนขาตกด้านใดด้านหนึ่งแสดงว่ามีความผิดปกติ
  • S Speech : ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด, พูดเหมือนลิ้นคับปากหรือบางคนมีอาการพูดไม่เป็นภาษา, หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง คนในครอบครัวอาจคิดว่าผู้ป่วยสับสน การทดสอบอาจชี้ให้ดูของง่ายๆในชีวิตประจำวันเช่น ปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไรหรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น
  • T Time : เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคหลอดเลือดสมองควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมองซึ่งจะเป็นมากขึ้นตามระยะเวลาที่นานขึ้น ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบและมาถึงโรงพยาบาลภายในสี่ชั่วโมงครึ่ง แพทย์จะสามารถให้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมอง ทำให้อาการของผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นปกติได้

ข้อสำคัญคือการเป็นโรคหลอดเลือดสมองไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทั้ง 3 อย่างของ F – A – S คืออาการหน้าเบี้ยว, แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง, หรืออาการพูดที่ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเพียงแค่อย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 อย่างก็ให้สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น

1. หลอดเลือดในสมองตีบ (Ischemic stroke)

เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงในสมองทำให้เนื้อสมองส่วนนั้นๆขาดเลือดไปเลี้ยง  ซึ่งการอุดตันของหลอดเลือดแบ่งออกเป็น 

การอุดตันทีเกิดจากก้อนเลือดที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ (Thrombosis) ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากพยาธิสภาพของผนังเส้นเลือดเช่นหลอดเลือดแข็งตัวจากไขมันในผนังเส้นเลือด,หรือการอักเสบของเส้นเลือดหรือที่เรียกว่า vasculitis  ้.ผนังเส้นเลือดที่มีพยาธิสภาพเหล่านี้ง่ายต่อการเกิดรอยฉีกขาดซึ่งจะกลายเป็นจุดกระตุ้นทำให้มีการเกาะตัวของเกล็ดเลือดเกิดเป็นก้อนเลือด

กลไกการเกิดหลอดเลือดอุดตันจาก thrombosis

การอุดตันจากก้อนเลือดที่หลุดลอยมาจากส่วนอื่น (Embolism) เช่นเป็นก้อนเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องบนขวาเนื่องจากผู้ป่วยมีหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (atrial fibrillation) หรือหลอดเลือดบริเวณลำคอที่มีภาวะหลอดเลือดแข็งตัว 

กลไกการเกิดหลอดเลือดอุดตันจาก embolism

2. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

แบ่งออกเป็น

2.1 เลือดออกในเนื้อสมอง (Cerebral hemorrhage) ซึ่งมักเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดตามอายุรวมกับความดันโลหิตสูงทำให้เส้นเลือดในสมองแตก

2.2 เลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) ซึ่งมักเกิดจากการที่มีหลอดเลือดโป่งพองผิดปกติในสมองอยู่เดิมแล้วเกิดการแตกขึ้นมาภายหลัง

สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คืออะไร

สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คือการที่ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลงทันทีแต่ต่อมาสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็วจึงไม่มีภาวะเนื้อสมองตาย อาการจะเป็นเหมือนโรคหลอดเลือดในสมองตีบแต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ 5-10 นาทีแล้วหายได้เองภายในเวลา 24 ชั่วโมง

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) มักจะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตามมาภายใน 7 วัน  ดังนั้นอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงควรมาพบแพทย์ทันทีที่มีอาการซึ่งได้แก่

– ปากเบี้ยว หรือชาบริเวณใบหน้า

– ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

– แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก

– วิงเวียนศีรษะและเดินเซ

– พูดอ้อแอ้, นึกคำศัพท์ไม่ได้, ฟังคำพูดไม่เข้าใจ

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมีอะไรบ้าง

ปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็น

1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่

– อายุ เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของเส้นเลือดก็จะเกิดมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เปรียบเหมือนท่อประปาในบ้านที่ใช้มานานก็จะมีการผุกร่อนและตะกรันเกาะภายในท่อ

– ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

– ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคหลอดเลือดในสมองแตกมาก่อน

2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่

  • โรคความดันโลหิตสูง เมื่อมีโรคความดันโลหิตสูงควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและรับประทานยาอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดก็ตาม เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงจะไปทำให้หลอดเลือดในสมองมีความเปราะมากขึ้นและมีโอกาสปริแตกได้ง่าย
  • โรคเบาหวาน ผู้ป่วยควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อชะลอความเสื่อมของหลอดเลือด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว(Atrial fibrillation or atrial futter) มักจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและซึ่งอาจหลุดไปอุดเส้นเลือดในสมองได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบหัวใจห้องบนสั่นพริ้วรักษาโดยการให้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ(Radiofrequency ablation) จี้ทำลายจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติหรือวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติภายในผนังห้องหัวใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วควรได้รับยาละลายลิ่มเลือดอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • การสูบบุหรี่ : สารนิโคตินในบุหรี่จะเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญที่จะทำให้หลอดเลือดในสมองเปราะเกิดรอยปริแตกซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ง่ายกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่จัดและได้รับควันบุหรี่มือสองตลอดเวลาด้วย
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากทำให้ความดันโลหิตสูงและกระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว
  • การใช้สารเสพติดบางชนิดเช่นแอมเฟตามีน โคเคน ผู้ที่ใช้สารเสพติดเหล่านี้มักจะเกิดเลือดออกในสมองง่ายกว่าคนทั่วไปเนื่องจากสารเสพติดเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ง่าย

เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องปฏิบัติอย่างไร

โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ข้อมูลสำคัญคือ”เวลา”ที่เริ่มเกิดอาการหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลาสี่ชั่วโมงครึ่งนับจากอาการเริ่มต้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่เรียกว่า rt-PA เพื่อละลายลิ่มเลือดในสมอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง,ให้ดำเนินการดังนี้

1. โทรศัพท์ติดต่อ1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและแจ้งอาการของผู้ป่วย, เวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ฯลฯ ทางศูนย์จะประสานงานส่งรถพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วยในทันทีเพื่อไปส่งยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

2. หากผู้ป่วยมีโรคร่วม เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งมียารักษาที่ใช้ประจำ ให้นำยาที่ใช้ไปโรงพยาบาลด้วย 

3. ไม่ควรให้ยาใดแก่ผู้ป่วยก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาลโดยเฉพาะยาลดความดันเพราะการที่ความดันโลหิตลดลงจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงไปอีก และยาเบาหวานเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงทำให้มีอาการสับสนหรือหมดสติซึ่งส่งผลให้การประเมินผู้ป่วยทำได้ยากขึ้น

4. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก่อนถึงโรงพยาบาล. ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพราะอาจเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ้งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลและควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นซ้ำอีกแพทย์จะสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองทำได้อย่างไรและต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมบ้าง

ประวัติผู้ป่วย  – แพทย์จำเป็นจะต้องชักประวัติอาการของผู้ป่วยได้แก่เวลาที่เริ่มมีอาการหรือเวลาที่เห็นผู้ป่วยเป็นปกติครั้งล่าสุด , โรคร่วม, ยาที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ, ประวัติครอบครัว โดยหากผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติได้. แพทย์จำเป็นที่จะต้องชักประวัติจากญาติหรือผู้ที่เห็นเหตุการณ์

การตรวจร่างกาย – แพทย์จะตรวจสัญญาณชีพ(ความดันโลหิต ชีพจร, การหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย), ตรวจหัวใจและตรวจระบบประสาทโดยละเอียดได้แก่ การตรวจกำลังกล้ามเนื้อ, ตรวจประสาทสัมผัส, ตรวจการพูด, การฟัง, การตามคำสั่ง, การเดิน เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจทางรังสี – เพื่อแยกภาวะอื่นที่ไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมอง และเพื่อแยกโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองแตก,หรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน ประกอบด้วยการตรวจต่อไปนี้

  • การเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล, ระดับเกลือแร่, การทำงานที่ผิดปกติของตับหรือไต เพื่อแยกโรคอื่นๆที่อาจทำให้อาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง
  • เอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจพื้นฐานเพื่อตรวจดูภาวะความผิดปกติของหัวใจและปอดซึ่งอาจเกิดร่วมด้วย
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ- เป็นการตรวจที่จำเป็นและสำคัญเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองอาจจะพบร่วมกับโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ส่วนโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นอาจหลุดไปในกระแสเลือดและเข้าไปอุดในเส้นเลือดสมองทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้
  • การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) เป็นการตรวจที่สามารถตรวจจับภาวะเลือดออกในเนื้อสมองได้ดี ใช้เวลาน้อยในการตรวจ แต่มีข้อเสียคือการตรวจจับภาวะสมองขาดเลือดทำได้ไม่ดีเท่าการตรวจ MRI และหากต้องการดูรายละเอียดของเส้นเลือดต้องทำการฉีดสีร่วมด้วย
  • การฉีดสีตรวจหลอดเลือดสมอง (Cerebral angiography) ทำโดยการใส่สายสวนเข้าเส้นเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อฉีดสารทึบแสงเพื่อตรวจดูลักษณะของหลอดเลือด ปัจจุบันการตรวจนี้ทำน้อยลงมากเนื่องจากมีการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์และ MRI มาแทนที่
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ฺMRI scan) สามารถตรวจหลอดเลือดสมองตีบระยะเฉียบพลันได้ภายใน 15 นาทีถึง 7 วัน โดยสามารถเห็นหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ที่ตีบได้โดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสง ข้อเสียของ MRI คือการตรวจใช้เวลานานและต้องใช้ความร่วมมือของผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดก็จะไม่สามารถตรวจด้วย MRI ได้ เช่น ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถนอนนิ่งไต้นาน ๆ หรือผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจที่ไม่รองรับ MRI 
  • อัลตร้าชาวด์หลอดเลือด (TCD transcranial doppler, Carotid duplex) เป็นการตรวจโดยใช้อัลตร้าชาวด์เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองและหลอดเลือดที่คอเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาในผู้ป่วยที่มีการตีบของหลอดเลือดที่ลำคอเพื่อประเมินความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดหลอดเลือด

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

  1. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีความดันโลหิตที่มากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณารักษาโดยในบางรายอาจมีการใช้ยาลดความดันโลหิต ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดอาหารเค็ม, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กรณีที่แพทย์สั่งใช้ยาไม่ควรหยุดรับประทานยาลดความดันเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เป็นแล้วมักจะเป็นตลอดชีวิตและไม่ค่อยแสดงอาการจนกว่าจะมีภาวะวิกฤติเกิดขึ้น
  2. รับการตรวจระบบหัวใจอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อดูว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
  3. หยุดสูบบุหรี่
  4. ควบคุมน้ำหนักในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
  6. ตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
  7. งดการดื่มสุรา
  8. เลิกการใช้ยาเสพติด

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดสมองตีบสามารถรักษาให้หายเป็นปกติโดยที่ผู้ป่วยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาลภายในเวลา 4 1/2 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด(antithrombotic) rtPA (recombinant tissue plasminogen activator) เข้าทางหลอดเลือดดำ โดยยามีประสิทธิภาพในการสลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองได้ 30-50% ของผู้ป่วยซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่หรือมีความพิการน้อยมาก หลังจากการให้ยาผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) หรือหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke unit)  เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

กรณีที่เวลานับจากเริ่มเกิดอาการเกิน 4.5 ชั่วโมงไปแล้ว การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด Thrombolytic therapy ไม่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

การป้องกันการกลับเป็นซ้ำในกรณีที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว

1.) จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2. ) การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยากันการแข็งตัวของเลือด 

เนื่องจากลิ่มเลือดเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง การป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดจึงเป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันการเกิดโรคซ้ำ   ยาที่ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด แบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

อ่านรายละเอียดเรื่อง ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยที่การใช้ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

  • จุดประสงค์ของการใช้ยากลุ่มนี้คือเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนเลือดเพื่อไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องรับยาไปตลอดชีวิต
  • ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาคือทำให้มีเลือดออกง่าย
    • หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้หยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
      • – เลือดออกตามไรฟัน, เลือดกำเดาไหล, มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง
      • – ประจำเดือนปริมาณมาก
      • – มีเลือดในเยื่อบุตา
      • – อาเจียนเป็นเลือด
      • – มีเลือดออกทางปัสสาวะ
      • – ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีคล้ำ
      • – มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น บาดแผลเลือดออกมาก
    • ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุและการกระทบกระเทือน เช่น การล้มกระแทกพื้นอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายใน
    • ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, ถอนฟันหรือทำหัตถการรุกล้ำที่จะต้องมีบาดแผล จะต้องแจ้งให้บุคลากรการแพทย์ทราบทุกครั้งว่ารับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-41

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนบนทำหน้าทีควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อรอบดวงตาทำให้สามารถหลับตาได้เป็นปกติ และส่วนล่างทำหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อรอบปากทำให้การเคลื่อนไหวของปากเช่นการยิ้ม, การห่อปาก เป็นไปตามปกติ  และยังมีแขนงย่อยๆไปยังเยื่อแก้วหูและต่อมรับรสที่ลิ้น ดังนั้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จึงมีส่วนในการรับเสียงและรับรสด้วย

หากมีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ข้างใดข้างหนึ่งก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของการเคลื่อนไหวของใบหน้าครึ่งหนึ่ง ได้แก่ หลับตาข้างหนึ่งได้ไม่สนิท, มุมปากข้างหนึ่งตก, มีน้ำไหลจากมุมปากเมื่อดื่มน้ำ รวมถึงมีการลดลงของการได้ยินและการรับรสด้วย

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy ได้ชื่อมาจากแพทย์ชาวสก็อต Sir Charles Bell ซึ่งเป็นผู้บรรยายลักษณะกายวิภาคทางระบบประสาทของโรคนี้ไว้ในที่ราชสมาคมแห่งลอนดอนในปี ค.ศ. 1821

ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/ca/CharlesBell001.jpg

  สาเหตุ

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy เกิดจากการอักเสบ บวม หรือถูกกดทับ ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบได้ในสตรีตั้งครรภ์, ผู้ป่วยเบาหวาน, มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือต่อมน้ําเหลือง, ผู้ติดเชื้อไวรัส เอดส์ (HIV) และกลุ่มผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง

การวินิจฉัยโรค

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy วินิจฉัยได้จากประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยอายุรแพทย์ระบบประสาทร่วมกับการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy แยกจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้อย่างไร

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy จะไม่มีอาการอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาการอ่อนแรงของแขนขา ส่วนโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการอื่นทางระบบประสาทร่วมด้วยหลายอย่าง เช่น อัมพาตหรือแขนขาอ่อนแรง, ความผิดปกติของการพูด, สูญเสียการทรงตัว, อาการสับสนหรือไม่รู้สึกตัว

การรักษา

อาการของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน สําหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอาจหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อช่วยลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาทซึ่งจะช่วยทําให้อาการดีขึ้นได้เร็ว 

แต่การให้ยาสเตียรอยด์มักต้องใช้ยาในขนาดสูงทําให้ได้รับผล ข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ, แสบท้องจากกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้น, หิวบ่อย, น้ําหนักตัวเพิ่มหรือบวมที่ใบหน้าและในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงและควบคุมได้ยาก ส่วนการทํากายภาพโดยการใช้ ไฟฟ้ากระตุ้นหรือการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ป่วยในบางรายได้ 

การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่กระจกตาเนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรค Bell’s palsy มีอาการหลับตาได้ไม่สนิทและกระพริบตาไม่ได้จึงทำให้ตาแห้งและเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตาอย่างสม่ำเสมอและใส่แว่นหรือที่ครอบตาเพื่อป้องกันอันตรายต่อกระจกตา

ระยะเวลาในการหายของโรค

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นมากใน 2 สัปดาห์แรก และประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะหายสนิท และส่วนที่เหลืออาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ใน 3-6 เดือน แต่ในรายที่เส้นประสาทมีปัญหาอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือ งูสวัด อาการมักจะไม่หายสนิท โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy โอกาสน้อยที่เป็นซ้ําอีก หากผู้ป่วยที่เป็นซ้ําหลายครั้งแพทย์จะหาสาเหตุเพิ่มเติม

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

65-069

PI-MED-42

โรคปวดประสาทใบหน้า Trigeminal neuralgia

หมายถึงอาการปวดบริเวณใบหน้าที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันตามแนวของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 หรือที่มีชื่อเรียกในศัพท์แพทย์เรียกว่าเส้นประสาทไตรเจมินัล อาการปวดจากโรคนี้มีลักษณะพิเศษคือมีอาการปวดแปลบๆคล้ายถูกไฟฟ้าช็อตและมักจะปวดมากขึ้นเวลาเคี้ยว พูด หรือสัมผัสเบาๆ ที่ผิวหน้า มักพบเป็นมากที่แขนงที่สองของเส้นประสาทไตรเจมินัลซึ่งอยู่บริเวณโหนกแก้ม ขากรรไกรบน รวมถึงเหงือกและฟัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแก้ม,ขากรรไกร,เสียวที่เหงือกและฟัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยครั้งแรกโดยทันตแพทย์

เส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า หรือ เส้นประสาทไตรเจมินัล มีแขนงย่อย 3 เส้น ได้แก่  

  • แขนงที่หนึ่ง (Opthalmic branch – V1) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณรอบตา,หน้าผากและศีรษะด้านบน  
  • แขนงทีสอง (Maxillary branch – V2) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณแก้มและขากรรไกรบน
  • แขนงที่สาม (Mandibular branch – V3) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณขากรรไกรล่าง

  สาเหตุ

โรคปวดประสาทใบหน้ามักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทไตรเจมินัลตรงทางออกของเส้นประสาทซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการหย่อนตัวของเส้นเลือดแดงในบริเวณนั้นตามอายุ การกดทับเส้นประสาททำให้มีการนำกระแสประสาทมากขึ้นคล้ายกับไฟฟ้าลัดวงจร

ในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการปวดประสาทใบหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมให้ละเอียด เช่นการทำ CT scan เพื่อหาสาเหตุของโรค เช่น เนื้องอก, หรือ โรคปลอกประสาทเสื่อม(multiple sclerosis) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆร่วมด้วยเช่น หน้าชา ปากเบี้ยว, ไม่ได้ยินเสียง

การดำเนินโรค

การดำเนินโรคอาจเป็นได้หลายแบบ เช่น มีอาการปวดติดต่อกันเป็นเดือนหรือปีแล้วจากนั้นก็ไม่มีอาการเป็นปีจากนั้นเริ่มปวดใหม่ หรือในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการปวดต่อเนื่องกันไปตลอด ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดมากขึ้น ได้แก่ การอดนอน ความเครียด เป็นต้น

การรักษา

การรักษาทางยา  ยาที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Carbamazepine (Tregretal), Trileptal (Oxycar- bazepine), Phenytoin (Dilantin), Baclophen (Lioresal) และ Gabapentin (Neurontin) ยาออกฤทธิ์โดยการลดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติทำให้อาการปวดลดลง ผลข้างเคียงของยาที่อาจพบได้ มีง่วงซึม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเกลือแร่ผิดปกติ 

การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาโดยการผ่าตัดใช้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา การผ่าตัดมีหลายวิธี การเลือกวิธีการผ่าตัดขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดประสาทไตรเจมินัลมีดังนี้

  1. การผ่าตัด Microvascular Decompression Surgery เป็นการผ่าตัดที่ต้องมีการผ่าเปิดกระโหลก เพื่อแยกเส้นเลือดและจัดให้เส้นเลือดไม่ไปกดทับเส้นประสาทไตรเจมินัล วิธีนี้เป็นทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดและผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัดใหญ่และการใช้ยาสลบเนื่องจากได้ผลการรักษาที่ดี อาการปวดจะดีขึ้นโดยทันทีหลังผ่าตัด 90-95% ทำให้ผู้ป่วยสามารถหยุดยาแก้ปวดได้  ส่วนข้อเสียคือการมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ, และภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเช่น การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทซึ่งทำให้หน้าชาหรือหน้าเบี้ยว,หรือสูญเสียการได้ยิน
  2. การตัดรากประสาท (Nerve root ablation :Rhizotomy) โดยการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปยังรูที่ฐานกะโหลก (Foramen ovale) ภายใต้การนำทางด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อทำลายรากประสาทที่ปมประสาทไตรเจมินัลด้วยความร้อนที่สร้างจาก radiofrequency, หรือสารกลีเซอรอล, หรือการกดด้วยบอลลูน
  3. การใช้ Gamma knife (stereotactic radiosurgery)เป็นเครื่องมือชนิดพิเศษที่ใช้รังสีที่เป็นลำแสงขนาดเล็กจำนวนหลายร้อยเส้นพุ่งเป้ารวมศูนย์ไปที่จุดรอยโรคที่่มีขนาดเล็ก วิธีนี้จะมีความแม่นยำสูงและลดการทำลายเนื้อเยื่อปกติรอบๆ ข้อดีของวิธีนี้คือไม่มีบาดแผลและใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นเพียง 1-2 วัน ส่วนข้อเสียของวิธีนี้คือใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าที่อาการปวดประสาทลดลง

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-43

โรคปวดศีรษะไมเกรน

PI-MED-44

อาการเวียนหัวบ้านหมุน

อาการเวียนหัวบ้านหมุน เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยมักเกิดในผู้ใหญ่วัยทำงานขึ้นไปทั้งชายและหญิง อาการที่เป็นคือเวียนหัว, โคลงเคลงเหมือนอยู่บนเรือ, หรือบางคนอาจมีอาการหนักคือรู้สึกเหมือนสิ่งแวดล้อมรอบๆหมุนติ้วอยู่รอบตัว ผู้ป่วยมักมีคำถามว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร, จะมีผลกระทบร้ายแรงตามมาไหม และสามารถหายขาดได้ไหม

  สาเหตุของอาการเวียนหัวบ้านหมุน

อาการเวียนหัวบ้านหมุนแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ Peripheral vertigo และ Central vertigo

Peripheral vertigo

เกิดจากปัญหาในหูชั้นในซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว ระบบหูของมนุษย์ประกอบด้วยหูชั้นนอกคือใบหู,ช่องรูหูและแก้วหู หูชั้นกลางประกอบด้วยช่องแก้วหูซึ่งภายในมีกระดูกหูที่ทำหน้าที่ถ่ายโอนเสียงจากเยื่อแก้วหูเข้าสู่อวัยวะรับเสียง หูชั้นในประกอบด้วยอวัยวะ 3 ส่วนที่ทำหน้าทีรับสัญญาณเสียงและควบคุมการทรงตัวคือกระดูกรูปก้นหอย, ท่อครึ่งวงกลมสามเสี้ยว, และส่วนที่เรียกว่า vestibule

สาเหตุที่พบบ่อยของ peripheral vertigo มีดังนี้

  1. หินปูนในหูชั้นในเคลื่อนที่ (Benign paroxysmal peripheral vertigo : BPPV) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเวียนศีรษะบ้านหมุนโดยจะพบบ่อยในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป อาการที่เกิดขึ้นคือเวียนหัวบ้านหมุนเมื่อมีการขยับศีรษะเร็วๆ สาเหตุของ BPPV คือการเคลื่อนที่ของหินปูนแคลเซียมคาร์บอเนตขนาดเล็กที่เรียกว่า “โอโตโคเนีย (Otoconia)” ซึ่งเกาะตัวอยู่บริเวณหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า “ยูตริเคิล (Utricle)”ทำหน้าที่ส่งสัญญาณการทรงตัวและตำแหน่งศีรษะไปยังสมอง เมื่อคนเราอายุมากขึ้น otoconia อาจมีการกรอบแตกหลุดออกจากตำแหน่งเดิมและเคลื่อนเข้าไปอยู่ในหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า “เซมิเซอร์คิวล่าร์ แคนแนล” ซึ่งก็เป็นอวัยวะที่ส่งสัญญาณในการควบคุมการทรงตัวเช่นกันจึงไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน BPPV โดยตัวมันเองเป็นอาการที่ไม่ได้มีอันตราย ยกเว้นกรณีที่เกิดในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติการพลัดตกหกล้ม

2. โรคมีเนียร์หรือที่คนไทยเรียกว่าภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากการที่ของเหลวในหูชั้นในซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณควบคุมการทรงตัวมีปริมาณไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนและผู้ป่วยมักมีอาการเสียงกริ่งในหู (tinnitus) รู้สึกหูอื้อ, และอาจมีอาการหูดับร่วมด้วย. อาการของโรคเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและจะเป็นอยู่ไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมง

3. ความผิดปกติของหูชั้นในอื่นๆเช่นการอักเสบซึ่งส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส, การได้รับการกระทบกระเทือนของหูชั้นในเช่นการได้รับอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของการไหลเวียนน้ำเหลืองในหูชั้นใน เป็นต้น

Central vertigo

เกิดจากปัญหาในสมองเล็กส่วนหลัง(cerebellum)ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง, การใช้ยาบางชนิดเช่นยากันชัก, แอลกอฮอล์, เนื้องอก เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยอาการเวียนหัวบ้านหมุน

แพทย์จะตรวจร่างกาย, ตรวจหูและระบบประสาท, ในบางรายอาจมีการตรวจการได้ยิน, การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ขึ้นกับอาการที่ผู้ป่วยเป็น

การรักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุน

  • การรักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุนขึ้นกับสาเหตุที่เป็น กรณีที่มีสาเหตุที่ชัดเจนเช่นการอักเสบของหูชั้นในแพทย์จะรักษาที่ต้นเหตุ กรณีที่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนจะรักษาตามอาการเช่นการให้ยาแก้เวียนศีรษะ, ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • กรณี BPPV สามารถหายเองได้, ใช้ยาตามอาการ, หรือบางรายแพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการทำกายภาพบำบัดที่เรียกว่า “Epley Maneuver” ซึ่งประกอบด้วยการหมุนศีรษะและเปลี่ยนท่าในทิศทางเฉพาะเพื่อให้เศษ otoconia กลับเข้าไปอยู่ใน utricle หรือ Brandt-Daroff exercises ซึ่งผู้ป่วยสามารถฝึกได้เองที่บ้าน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • การรักษาโรคมีเนียร์(น้ำในหูไม่เท่ากัน) นอกจากการใช้ยาตามอาการแล้วอาจมีการใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับการควรลดปริมาณเกลือในอาหารซึ่งจะช่วยให้การควบคุมความดันและน้ำในหู ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่, การเลิกบุหรี่จะทำให้อาการลดลง อาหารบางอย่างอาจทำให้อาการเป็นมากขึ้นเช่น กาแฟ ช็อคโกแล็ต ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตตนเองว่าอาหารชนิดใดกระตุ้นให้มีอาการมากขึ้นและหยุดรับประทานอาหารชนิดดังกล่าว ซึ่งการรักษาโดยการใช้ยาและการปรับพฤติกรรมจะช่วยให้อาการดีขึ้นประมาณ 60% ของผู้ป่วย

คำแนะนำในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนเฉียบพลัน

  1. เมื่อเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนให้นั่งหรือนอนลงเพื่อลดความเสี่ยงในการล้ม
  2. พยายามอยู่นิ่งๆไม่ขยับศีรษะไปมาเพื่อลดการกระตุ้นระบบการทรงตัว
  3. หลับตา, หลีกเลี่ยงแสงสว่างจ้า, หลีกเลี่ยงการใช้สายตา
  4. รับประทานยา(ถ้ามี)พักนิ่งๆให้อาการลดลงแล้วจึงค่อยๆขยับเปลี่ยนท่า

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-30/Rev.1

error: Content is protected !!