การรักษาด้วยเคมีบำบัด : ข้อมูลสำหรับผู้ป่วย

ยาเคมีบำบัดหรือบางคนอาจเรียกสั้นๆ ว่า “คีโม” ซึ่งมาจากคำว่า “คีโมเทอราปี” หมายถึง ยาประเภทสารเคมีหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วและต่อเนื่องทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด ยาเคมีบำบัดถูกใช้ในการรักษาโรคมะเร็งซึ่งอาจเป็นการใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการรักษาอย่างอื่น เช่น การผ่าตัด, การฉายรังสี, การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

แม้ว่าการใช้เคมีบำบัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดแต่ตัวยาเองก็มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลตนเองและการเตรียมตัวเพื่อรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดดังนี้

การเตรียมทางจิตใจ

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ป่วยเกือบทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งและต้องรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดย่อมมีความรู้สึกเครียด, คับข้องใจ, กลัว, กังวล, ซึมเศร้า ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นปฏิกริยาตามธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะที่ให้ความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย

ผู้เขียนบทความนี้เป็นแพทย์ที่เคยผ่านการเป็นโรคมะเร็งและได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดมาแล้วถึงสองครั้งย่อมเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ดี ดังนั้นคำแนะนำในการเตรียมพร้อมทางจิตใจคือให้ท่านพยายามตั้งสติอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ปัจจุบัน และพยายามตัดความคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่นในขณะนี้หากแพทย์เพิ่งจะแจ้งการวินิจฉัยและแผนการรักษาว่าจะมีการให้ยาเคมีบำบัดแต่ในขณะนี้ท่านยังไม่ได้รับยาเคมีบำบัดแต่อย่างใด ดังนั้นก็อย่าเพิ่งกังวลไปล่วงหน้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งก็คือผลข้างเคียงต่างๆของยาว่าจะทำให้ผมร่วงหรือเป็นแผลในปากหรือครุ่นคิดถึงเรื่องร้ายๆใดๆที่ท่านเคยได้ยินได้ฟังมา เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นทั้งนั้นจะกังวลล่วงหน้าไปทำไม ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้จะช่วยทำให้ความเครียดและความกังวลลดลงไปได้ไม่มากก็น้อย

พรอันประเสริฐที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ทุกคนคือความอดทน โดยหากเราตั้งมั่นในการที่จะค่อยๆผ่านทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อยและพยายามตัดความคิดกังวลล่วงหน้าถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ความทุกข์ใจใดๆที่มีอยู่ก็จะลดขนาดและปริมาณลงไปเอง และไม่นานนักเหตุการณ์อันก่อให้เกิดความทุกข์ก็จะถึงเวลาที่จะจบลงในที่สุด

การเตรียมทางร่างกาย

  • ก่อนเริ่มเคมีบำบัดท่านควรตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูน หากมีฟันผุต้องรักษาให้เรียบร้อยเพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อในช่องปากในช่วงให้ยาเคมีบำบัด แต่สำหรับการรักษาทางทันตกรรมที่เข้าข่ายการผ่าตัดใหญ่ เช่น การฝังรากฟันเทียม, การผ่าตัดขากรรไกร, ควรเลื่อนไปหลังจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดเสร็จสิ้นแล้วหรือปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลและทันตแพทย์เรื่องกำหนดการรักษาที่เหมาะสม
  • รักษาสุขภาพร่างกายโดยทั่วไปให้แข็งแรง, งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและสมดุลในแต่ละมื้อ ไม่ควรงดโปรตีนเนื่องจากเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยในการเสริมสร้างและซ่อมแซมร่างกาย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของท่าน
  • นอนหลับให้เพียงพอ, ผ่อนคลายจิตใจด้วยวิธีต่างๆที่เหมาะสมกับตัวท่าน เช่น การฟังเพลง, การนั่งสมาธิ, การทำงานอดิเรกต่างๆ

การเตรียมตัวในการรับเคมีบำบัดรอบแรก

  • ในวันรับยาเคมีบำบัดครั้งแรก ควรมีเพื่อนหรือญาติไปเป็นเพื่อนและขับรถให้ท่านหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ท่านไม่ควรขับรถไปเองเนื่องจากยาอาจทำให้มีอาการง่วงหรืออ่อนเพลีย
  • เนื่องจากยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่มักทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นคำแนะนำข้อแรกในการรับยาเคมีบำบัดคือท่านควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย  1-2 วันก่อนถึงกำหนดวันเริ่มยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเวลาเริ่มให้ยาควรรับประทานแต่น้อยเพียงแค่พอหายหิว อย่ารับประทานให้อิ่มเท่าปกติและให้เลือกอาหารที่ย่อยง่าย,กากใยน้อย, ไขมันต่ำ การที่ท้องค่อนข้างว่างจะช่วยทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยลงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด และให้รับประทานยาแก้อาเจียนทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนก่อน
  • เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่จะมีผมร่วง ดังนั้นท่านควรวางแผนไว้ก่อนว่าจะจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ หากต้องการใส่วิกผมให้ท่านหาข้อมูลร้านที่จำหน่ายวิกผมและเข้าไปลองสวมใส่ดูก่อนเพื่อเลือกวิกผมที่ท่านรู้สึกว่าพอใจและเหมาะกับท่านมากที่สุด เรื่องนี้ควรเตรียมล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนเริ่มยาเคมีบำบัดรอบแรกเพราะร้านจำหน่ายวิกผมบางร้านต้องใช้เวลาในการผลิตวิกผม นอกจากนั้นท่านควรเตรียมหมวกหรือผ้าโพกสำหรับใช้สลับกับวิกผม

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่พบบ่อย

กลไกการทำงานของยาเคมีบำบัดคือการออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วและต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันเซลล์ปกติในร่างกายก็จะโดนผลกระทบจากเคมีบำบัดไปด้วย โดยเฉพาะเซลล์ที่มีคุณสมบัติแบ่งตัวเร็วเช่นเยื่อบุช่องปากและทางเดินอาหาร, รากผม, ไขกระดูก เป็นต้น ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดจึงมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงในระบบต่างๆ แต่ทั้งนึ้อาการข้างเคียงขึ้นกับชนิดของยาและสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย ที่พบบ่อยได้แก่

  1. อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของเคมีบำบัด มักเกิดขึ้นหลังได้รับยาประมาณ 4-6 ชั่วโมงและเป็นอยู่ประมาณ 24 ชั่วโมงแล้วก็จะค่อยๆหายไป  วิธีการบรรเทาอาการคือท่านควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย  1-2 วันก่อนถึงกำหนดวันเริ่มยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเวลาเริ่มให้ยาควรรับประทานแต่น้อยเพียงแค่พอหายหิว อย่ารับประทานให้อิ่มเท่าปกติและให้เลือกอาหารที่ย่อยง่าย,กากใยน้อย, ไขมันต่ำ การที่ท้องค่อนข้างว่างจะช่วยทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยลงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด  และให้รับประทานยาแก้อาเจียนทันทีหลังได้รับยาเคมีบำบัดโดยไม่ต้องรอให้มีอาการคลื่นไส้เกิดขึ้นก่อน จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนจะค่อนข้างหนักในการรับยาเคมีบำบัดรอบที่ 1-2  แต่ในรอบหลังๆอาการจะลดลงไปมากเหมือนกับร่างกายชินกับเคมีบำบัดและปรับตัวได้
  2. แผลในปากมักเกิดขึ้นประมาณ 10-14 วันหลังให้ยา ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเยื่อบุปากบางตัวลงทำให้มีอาการแสบเวลารับประทานอาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลลักษณะคล้ายแผลร้อนใน การบรรเทาอาการได้แก่ การรับประทานอาหารอ่อนที่เคี้ยวง่ายและรสไม่จัด การบ้วนปากด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันพืชชนิดใดๆ (oil pulling), การใช้ยาทาแผลในปากที่แพทย์สั่งให้
  3. การเบื่ออาหารและการรับรสอาหารผิดเพี้ยนไปจากปกติอาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดบางตัว ในผู้ที่มีอาการมักเริ่มเป็นตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังได้รับยาเคมีบำบัดและเป็นอยู่ต่อเนื่องจนกว่าจะจบการให้ยาเคมีบำบัดไปแล้วระยะหนึ่ง
  4. เม็ดเลือดขาวต่ำมักเริ่มเกิดขึ้นประมาณวันที่ 10 และจะมีระดับต่ำสุดช่วงประมาณวันที่ 14 หลังให้ยา หลังจากนั้นเม็ดเลือดขาวจะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติหรือเกือบปกติประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ถึงสัปดาห์ที่ 4  หลังการให้ยา เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งระดับเม็ดเลือดขาวอยู่ในช่วงต่ำสุดท่านควรระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อเช่นสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ, รับประทานอาหารที่สุกสะอาด, หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่มีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจ
  5. อาการอ่อนเพลียมักจะเป็นในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังให้ยาจากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 และ 4
  6. ผมร่วงจะเริ่มเกิดขึ้นประมาณวันที่ 14-15 หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดรอบแรก เมื่อผมเริ่มร่วงผู้เขียนแนะนำให้โกนผมทีเหลือทิ้งไปเลยเพราะอย่างไรผมก็จะต้องร่วงจนหมดอย่างแน่นอน การโกนผมให้หมดแล้วใส่วิกหรือสวมหมวกหรือผ้าโพกย่อมให้ภาพลักษณ์ที่ดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้ให้ผมร่วงเองเป็นหย่อมๆ  นอกจากนั้นการปล่อยให้ผมร่วงเองก็จะทำให้มีเส้นผมร่วงหล่นอยู่ตามพื้นห้องเต็มไปหมดทำให้ต้องเสียเวลาในการเก็บกวาด
  7. การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเล็บจะเกิดขึ้นช้าๆและเริ่มสังเกตได้ที่รอบการให้เคมีบำบัดครั้งที่ 2 หรือ 3 เป็นต้นไป ผิวหนังจะมีลักษณะคล้ำขึ้นในบางพื้นที่เช่นรอบดวงตา, ลิ้น, ลำคอ เป็นต้น เล็บอาจมีลักษณะเป็นเส้นสีคล้ำเป็นแถบๆ ผิวหนังและเล็บจะค่อยๆกลับคืนสู่สภาพเดิมภายในเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีหลังเสร็จสิ้นการให้ยาเคมีบำบัด
  8. กรณีได้ยาเคมีบำบัดที่มียาสเตียรอยด์ปริมาณสูงในสูตรยาอาจทำให้ระบบต่างๆในร่างกายเกิดความแปรปรวน เช่น มีอาการนอนไม่หลับ, มีอารมณ์แปรปรวน, ท้องผูกมาก, หน้าบวม อาการบางอย่างอาจมียาช่วยบรรเทาได้เช่นปัญหาการนอนหลับหรือท้องผูก หากมีอาการมากให้แจ้งแพทย์เพื่อสั่งยาให้ ส่วนอาการบวมจากสเตียรอยด์จะดีขึ้นเองหลังจากหยุดยาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป

ขั้นตอนในวันรับเคมีบำบัด

  • ส่วนใหญ่บริการให้ยาเคมีบำบัดจะเป็นบริการแบบจบในวันเดียว (day care) ผู้ป่วยจะได้รับการนัดหมายในช่วงเช้าหรือบ่ายแล้วแต่รอบการให้ยาของแต่ละโรงพยาบาล
  • การให้ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่ใช้การแทงเข็มเข้าเส้นเลือดดำเพื่อให้ยาที่เป็นสารละลายหยดเข้าเส้นเลือดดำอย่างช้าๆ ในระหว่างการให้ยาเคมีบำบัดท่านควรสังเกตว่ามีอาการบวมหรืออาการแสบร้อนของผิวหนังบริเวณรอบเข็มหรือไม่ หากมีอาการต้องรีบแจ้งพยาบาลประจำห้องเคมีบำบัด
  • การให้ยาเคมีบำบัดหนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วแต่ชนิดของยาในสูตรที่ท่านได้รับ ระหว่างการให้ยาท่านสามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้ (หากท่านรู้สึกวิงเวียนหรือเดินไม่ถนัดควรเรียกพยาบาลให้ช่วยเหลือ) ปัสสสาวะที่ออกมาในช่วงที่กำลังได้รับยาทางหลอดเลือดดำอาจมีสีเข้มหรือมีสีเหมือนเคมี ซึ่งเป็นเรื่องปกติไม่ต้องตกใจ
  • ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น คันตาคันจมูก, เยื่อบุจมูกบวม, มีน้ำมูกไหล, หายใจไม่สะดวก ซึ่งกรณีที่มีการใช้ยากลุ่มนี้แพทย์จะสั่งยาแก้แพ้ฉีดทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันอาการให้แล้ว แต่ถ้ายังมีอาการเกิดขึ้นให้แจ้งพยาบาลเพื่อรายงานแพทย์

ชีวิตประจำวันในช่วงการรักษาด้วยเคมีบำบัด

  • การทำงาน : เป็นคำถามที่พบบ่อยอย่างหนึ่งในหมู่ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด การไปทำงานได้หรือไม่ขึ้นกับลักษณะงานและสภาพร่างกายของท่าน หากงานที่ทำเป็นงานกลางแจ้ง, งานที่ต้องใช้แรง, งานที่ต้องมีการเดินทางมากและนานอาจไม่เหมาะที่จะทำในช่วงที่ได้รับยาเคมีบำบัด ในทางตรงกันข้าม งานนั่งโต๊ะ, งานในออฟฟิศ เป็นงานที่มักจะพอทำได้ในช่วงที่ได้รับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจของท่านด้วยซึ่งตัวผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่ประเมินสถานการณ์ได้ดีที่สุด
  • การสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์ : ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่าผู้ป่วยเกือบทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งและต้องรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดย่อมมีความรู้สึกเครียด, คับข้องใจ, กลัว, กังวล, ซึมเศร้า ฯลฯ ดังนั้นการได้รับการประคับประคองสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากท่านมีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่สามารถพูดคุยระบายความคับข้องใจและความทุกข์ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หรือหากท่านไม่มีใครที่จะพูดคุยด้วยได้ในเรื่องนี้ท่านอาจปรึกษาจิตแพทย์ได้ ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในความทุกข์และความอ้างว้าง ทุกสิ่งทุกอย่างจะผ่านไปในที่สุดแต่เราจะต้องรู้จักที่จะประคองตัวให้ผ่านไปได้

ในย่อหน้าสุดท้ายนี้ผู้เขียนขอสรุปจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตมนุษย์ คนเรามีทุกข์ต่างๆกันไป แต่ที่แน่ๆคือไม่มีความทุกข์ใดยั่งยืนตลอดไป มันจะมีวันจบลงในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว “เวลา”เครื่องมืออันมหัศจรรย์ที่จะเยียวยาทุกสิ่ง สิ่งใดที่เคยรู้สึกว่าเป็นปัญหาอุปสรรคที่ใหญ่จนเหมือนภูผาที่จะไม่มีวันข้ามไปได้นั้น หากท่านได้อดทนจนผ่านไปได้แล้ว, และภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้วได้มองย้อนกลับไปจะรู้สึกว่าสิ่งที่เคยเห็นว่าใหญ่เท่าภูเขาขนาดมหึมานั้นเป็นแต่เพียงเนินดินเตี้ยๆเท่านั้น ขอให้ความเข้มแข็งจงอยู่กับทุกท่าน

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์อองโคแคร์ (Oncocare Center)       

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12210

PI-MED-40


โรคเบาหวานและโรคไตเรื้อรัง : ภัยเงียบที่คุณอาจคาดไม่ถึง

โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุหลักที่พบบ่อยของการเกิดโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยรายงานว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยสุดท้ายที่ต้องฟอกไตมีสาเหตุจากโรคเบาหวานถึงร้อยละ 36.3 ดังนั้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีจะมีความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของไตจนเกิดโรคไตเรื้อรัง ไตวาย ซึ่งทำให้ต้องมีการฟอกไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

โรคเบาหวานนับเป็นภัยเงียบที่อันตรายเนื่องจากระยะแรกของโรคเบาหวานมักจะไม่มีอาการผิดปกติ ต่อมาเมื่ออาการเป็นมากขึ้นผู้ป่วยอาจจะมีอาการเช่นปัสสาวะมาก น้ำหนักลด หรืออาการอื่นๆที่อาจจะไม่มีลักษณะจำเพาะที่ชัดเจนทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้สังเกตตนเองและไม่เคยตรวจรักษา
ผู้ป่วยบางรายจึงมาพบแพทย์เมื่อมีการดำเนินโรคไปมากแล้วเช่น เกิดไตวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจ, ความเสื่อมของระบบประสาท เป็นต้น

โรคเบาหวาน ทำให้เกิดโรคไตได้อย่างไร

เนื้อไตประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมากที่ทำหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากร่างกาย ในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังทำให้ผนังเส้นเลือดและเนื้อไตเสื่อมสภาพทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง, ประสิทธิภาพในการกรองของเสียออกจากเลือดจึงลดน้อยลงและมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ

โรคเบาหวาน : คำแนะนำเพื่อป้องกันและชะลอความรุนแรงในการเกิดโรคไต

สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวานแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเช่นมีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว, มีน้ำหนักตัวมาก ฯลฯ ควรระวังดูแลรักษาสุขภาพ ดังนี้

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

2. ลดอาหารที่จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว, อาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว, อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ขนม ของหวาน น้ำอัดลม ชาไข่มุก กาแฟและช็อคโกแล็ตที่มีน้ำตาล

3. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี่, คะน้า, ถั่วชนิดต่างๆ, ข้าวโพด, กระเจี๊ยบเขียว ผลไม้เช่น แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง
เส้นใยในอาหาร (Dietary fiber) จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

4. คุณควรรับการตรวจสุขภาพประจำปีโดยมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและการตรวจระดับโปรตีนในปัสสาวะเพื่อตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบาหวานได้แต่เนิ่นๆ และหากตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานก็ควรรับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของผลข้างเคียง

สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว: การดูแลตนเองเพื่อป้องกันและชะลอการเสื่อมของไต

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหาร (Fasting plasma glucose) ให้ต่ำกว่า 130 mg/dl และระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้ต่ำกว่า 7 โดยการควบคุมอาหาร(ตามรายละเอียดในหัวข้อถัดไป) และการใช้ยาลดน้ำตาล

3. ลดอาหารที่จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว, อาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว, อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ขนม ของหวาน น้ำอัดลม ชาไข่มุก กาแฟและช็อคโกแล็ตที่มีน้ำตาล

4. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี่, คะน้า, ถั่วชนิดต่างๆ, ข้าวโพด, กระเจี๊ยบเขียว ผลไม้เช่น แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง
เส้นใยในอาหาร (Dietary fiber) จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

5. ควบคุมระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทเนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลให้ไตเสื่อมอย่างรวดเร็วมากขึ้น การดูแลตนเองเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตได้แก่การลดอาหารเค็มและอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง, การลดความเครียดผ่อนคลายจิตใจและร่างกายและในบางรายแพทย์อาจสั่งยาลดความดันโลหิต

6. ผู้ที่สูบบุหรี่ควรเลิกสูบบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาดเนื่องจากนิโคตินส่งผลให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นและมีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มขึ้นและอัตราการกรองของเสียจากไตลดลง

7. คุณควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องครั้งละ 30 นาที ให้หัวใจเต้นในอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง (รวม 150 นาทีต่อสัปดาห์) เพราะการออกกำลังกายช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ทำให้ระบบอวัยวะในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น. คุณควรเลือกการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ หรืออื่นๆ ที่เหมาะสมกับร่างกายและวัยของคุณ

8. คุณควรรับประทานอาหารโปรตีนให้เพียงพอ ปริมาณที่เหมาะสมของโปรตีนอย่างน้อย 0.8-1.0 กรัม ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน ดูปริมาณโปรตีนในอาหารแต่ละประเภทได้ที่นี่

9. ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจคัดกรองโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะและการตรวจวัดการทำงานของไต (Estimated glomerular filtration rate [eGFR]) อย่างสม่ำเสมอ

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า  
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12390 , 12397


PI-DMC-14

โรคปวดศีรษะไมเกรน

PI-MED-44

error: Content is protected !!