หวานเกินไป..อันตรายต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ปริมาณน้ำตาลที่เติมในอาหารไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งหมายถึงเด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 4 ช้อนชา/วัน ส่วนวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา/วัน

จากการสำรวจของกรมอนามัยและสสส.พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 3 เท่า และพบว่าสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงอะไร

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงน้ำตาลที่ไม่ได้มีอยู๋ตามธรรมชาติในอาหารชนิดนั้นๆแต่ถูกเติมเข้าในระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งรวมถึงน้ำตาลทราย(ซูโครส), น้ำตาลเด็กซ์โตรส, น้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง, และน้ำตาลจากน้ำผลไม้เข้มข้น

การได้รับน้ำตาลปริมาณมากๆต่อเนื่องมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นโรคอ้วน, โรคเบาหวานชนิดที่ 2,  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต


อาหารที่มีน้ำตาลสูง

อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่คนนิยมกันได้แก่เครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม, กาแฟหรือช็อคโกแลตเย็น, ชาไข่มุก, ขนมหวานทั้งเบเกอรี่และขนมไทย, โดนัท, ไอศกรีม เนื่องจากการได้รับน้ำตาลปริมาณสูงต่อเนื่องทำให้เกิดโรคกลุ่ม NCD หลายโรคดังที่ได้กล่าวแล้ว ดังนั้นในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มคุณควรใส่ใจต่อปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับโดยการอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อและก่อนรับประทาน และพยายามลดปริมาณน้ำตาลที่เติมเข้าไปให้น้อยลง เช่น การดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มชนิดอื่นเพื่อฝึกไม่ให้ติดรสหวาน, การดื่มกาแฟและชาโดยไม่เติมน้ำตาล, ลดปริมาณขนมหวาน, ลดการกินของว่างนอกมื้ออาหาร, ไม่เติมน้ำตาลลงในอาหาร

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-46

English topic

ลดเค็มลดโรค

การกินเค็มเกินไปทำให้ปริมาณโซเดียมในร่างกายสูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูง, และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NCD หลายโรค เช่น โรคหัวใจ, โรคเส้นเลือดสมอง, และโรคไตวายเรื้อรัง ปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัมซึ่งเท่ากับเกลือแกงประมาณ 1 ช้อนชา แต่จากข้อมูลของ สสส. พบว่าชาวไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,400 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ควรจะเป็นมาก ดังนั้นการลดอาหารเค็มให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังหลายโรค

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุง

ปริมาณโซเดียมในอาหารไทย


การลดโซเดียม

  1. เลือกกินอาหารสดตามธรรมชาติ
  2. เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารกรุบกรอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
  3. ปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดการใช้เครื่องปรุง เช่น ไม่ปรุงเพิ่ม ลดซดน้ำซุป/น้ำแกง
  4.  ลดอาหารปิ้งย่าง –บุฟเฟต์ ,ลดปริมาณน้ำจิ้ม
  5. อ่านฉลากโภชนาการ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-47

English topic

โรคปวดศีรษะไมเกรน

PI-MED-44

โรคอุจจาระร่วง เฉียบพลัน (Acute gastroenteritis) ในผู้ใหญ่ 

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษคืออาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวันขึ้นไปและระยะเวลาที่มีอาการไม่นาน (น้อยกว่า 2 สัปดาห์) ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ ปวดท้อง และบางรายอาจมีอาการที่รุนแรงได้ 

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น Norovirus, Rotavirus รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Campylobacter, Salmonella 

อากการติดเชื้อที่ทำให้เกิดท้องเสียเกิดขึ้นได้อย่างไร 

การติดเชื้อเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยเชื้ออาจปนเปื้อนในอาหารโดยตรงจากการประกอบอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือจากมือที่ไม่สะอาดที่สัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนเชื้อ, และใช้มือหยิบอาหารเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ 

อาการของโรค 

  1. ท้องเสีย ถ่ายเหลว หลายครั้งต่อวัน
  2. ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน 
  3. มีไข้ ปวดศีรษะ 
  4. ปวดกล้ามเนื้อ 
  5. ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการท้องเสียรุนแรงอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งหากการขาดน้ำเป็นมากรุนแรงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กหรือผู้สูงอายุ 

การวินิจฉัย 

แพทย์วินิจฉัยโรคอุจจาะร่วงเฉียบพลันได้จากอาการดังกล่าวข้างต้นและร่วมกับการตรวจเชื้อในอุจจาระ ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการมากอาจมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินระดับเกลือแร่ในเลือด,การทำงานของไต, การตรวจนับเม็ดเลือด  

การรักษา 

เนื่องจากสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส, การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ การทดแทนน้ำและเกลือแร่เพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย (ให้เกลือแร่ชนิดดื่ม หรือ ให้สารละลายเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ) , การให้ยาลดอาการไข้คลื่นไส้อาเจียนและปวดท้อง  

การดูแลตนเองเมื่อท้องเสีย 

  • ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้เพียงพอ จิบน้ำทีละน้อยทุก 10-15 นาที   กรณีที่ผู้ป่วยมีท้องร่วงมากควรดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย 
  • ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม, ซุปใส, ขนมปัง, เนื้อสีขาว เช่น ปลา, อกไก่ 
  • อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีอาการท้องเสียและหลังจากหายท้องเสียแล้วประมาณ 5-7 วัน ได้แก่ 
    • อาหารรสเผ็ดรสจัด
    • ผักสดและผลไม้เนื่องจากผักผลไม้บางชนิดย่อยยากและอาจทำให้มีอาการปวดท้องหรือท้องอืด,
    • นมและผลิตภัณฑ์นม เช่น ครีม, ชีส 
    • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

อาการที่ต้องรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาล 

  • อาการหน้ามืดเป็นลมซึ่งอาจเกิดจากากรขาดน้ำรุนแรง 
  • มีไข้สูง 
  • มีเลือดปนในอุจจาระหรืออาเจียน 
  • ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง 

การป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

เนื่องจากอุจจาระร่วงเฉียบพลันเป็นโรคติดต่อโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก ดังนั้นการรักษาสุขอนามัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ การป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันสามารถทำได้โดย

  1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาดถูกสุขลักษณะ
  1. ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร, ก่อนทำอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-GIC-13

English topic

อาการเวียนหัวบ้านหมุน

อาการเวียนหัวบ้านหมุน เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยมักเกิดในผู้ใหญ่วัยทำงานขึ้นไปทั้งชายและหญิง อาการที่เป็นคือเวียนหัว, โคลงเคลงเหมือนอยู่บนเรือ, หรือบางคนอาจมีอาการหนักคือรู้สึกเหมือนสิ่งแวดล้อมรอบๆหมุนติ้วอยู่รอบตัว ผู้ป่วยมักมีคำถามว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร, จะมีผลกระทบร้ายแรงตามมาไหม และสามารถหายขาดได้ไหม

  สาเหตุของอาการเวียนหัวบ้านหมุน

อาการเวียนหัวบ้านหมุนแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ Peripheral vertigo และ Central vertigo

Peripheral vertigo

เกิดจากปัญหาในหูชั้นในซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว ระบบหูของมนุษย์ประกอบด้วยหูชั้นนอกคือใบหู,ช่องรูหูและแก้วหู หูชั้นกลางประกอบด้วยช่องแก้วหูซึ่งภายในมีกระดูกหูที่ทำหน้าที่ถ่ายโอนเสียงจากเยื่อแก้วหูเข้าสู่อวัยวะรับเสียง หูชั้นในประกอบด้วยอวัยวะ 3 ส่วนที่ทำหน้าทีรับสัญญาณเสียงและควบคุมการทรงตัวคือกระดูกรูปก้นหอย, ท่อครึ่งวงกลมสามเสี้ยว, และส่วนที่เรียกว่า vestibule

สาเหตุที่พบบ่อยของ peripheral vertigo มีดังนี้

  1. หินปูนในหูชั้นในเคลื่อนที่ (Benign paroxysmal peripheral vertigo : BPPV) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเวียนศีรษะบ้านหมุนโดยจะพบบ่อยในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป อาการที่เกิดขึ้นคือเวียนหัวบ้านหมุนเมื่อมีการขยับศีรษะเร็วๆ สาเหตุของ BPPV คือการเคลื่อนที่ของหินปูนแคลเซียมคาร์บอเนตขนาดเล็กที่เรียกว่า “โอโตโคเนีย (Otoconia)” ซึ่งเกาะตัวอยู่บริเวณหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า “ยูตริเคิล (Utricle)”ทำหน้าที่ส่งสัญญาณการทรงตัวและตำแหน่งศีรษะไปยังสมอง เมื่อคนเราอายุมากขึ้น otoconia อาจมีการกรอบแตกหลุดออกจากตำแหน่งเดิมและเคลื่อนเข้าไปอยู่ในหูชั้นในส่วนที่เรียกว่า “เซมิเซอร์คิวล่าร์ แคนแนล” ซึ่งก็เป็นอวัยวะที่ส่งสัญญาณในการควบคุมการทรงตัวเช่นกันจึงไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน BPPV โดยตัวมันเองเป็นอาการที่ไม่ได้มีอันตราย ยกเว้นกรณีที่เกิดในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติการพลัดตกหกล้ม

2. โรคมีเนียร์หรือที่คนไทยเรียกว่าภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากการที่ของเหลวในหูชั้นในซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณควบคุมการทรงตัวมีปริมาณไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนและผู้ป่วยมักมีอาการเสียงกริ่งในหู (tinnitus) รู้สึกหูอื้อ, และอาจมีอาการหูดับร่วมด้วย. อาการของโรคเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและจะเป็นอยู่ไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมง

3. ความผิดปกติของหูชั้นในอื่นๆเช่นการอักเสบซึ่งส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส, การได้รับการกระทบกระเทือนของหูชั้นในเช่นการได้รับอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของการไหลเวียนน้ำเหลืองในหูชั้นใน เป็นต้น

Central vertigo

เกิดจากปัญหาในสมองเล็กส่วนหลัง(cerebellum)ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง, การใช้ยาบางชนิดเช่นยากันชัก, แอลกอฮอล์, เนื้องอก เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยอาการเวียนหัวบ้านหมุน

แพทย์จะตรวจร่างกาย, ตรวจหูและระบบประสาท, ในบางรายอาจมีการตรวจการได้ยิน, การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์(CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ขึ้นกับอาการที่ผู้ป่วยเป็น

การรักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุน

  • การรักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุนขึ้นกับสาเหตุที่เป็น กรณีที่มีสาเหตุที่ชัดเจนเช่นการอักเสบของหูชั้นในแพทย์จะรักษาที่ต้นเหตุ กรณีที่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนจะรักษาตามอาการเช่นการให้ยาแก้เวียนศีรษะ, ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • กรณี BPPV สามารถหายเองได้, ใช้ยาตามอาการ, หรือบางรายแพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการทำกายภาพบำบัดที่เรียกว่า “Epley Maneuver” ซึ่งประกอบด้วยการหมุนศีรษะและเปลี่ยนท่าในทิศทางเฉพาะเพื่อให้เศษ otoconia กลับเข้าไปอยู่ใน utricle หรือ Brandt-Daroff exercises ซึ่งผู้ป่วยสามารถฝึกได้เองที่บ้าน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • การรักษาโรคมีเนียร์(น้ำในหูไม่เท่ากัน) นอกจากการใช้ยาตามอาการแล้วอาจมีการใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับการควรลดปริมาณเกลือในอาหารซึ่งจะช่วยให้การควบคุมความดันและน้ำในหู ในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่, การเลิกบุหรี่จะทำให้อาการลดลง อาหารบางอย่างอาจทำให้อาการเป็นมากขึ้นเช่น กาแฟ ช็อคโกแล็ต ซึ่งผู้ป่วยควรสังเกตตนเองว่าอาหารชนิดใดกระตุ้นให้มีอาการมากขึ้นและหยุดรับประทานอาหารชนิดดังกล่าว ซึ่งการรักษาโดยการใช้ยาและการปรับพฤติกรรมจะช่วยให้อาการดีขึ้นประมาณ 60% ของผู้ป่วย

คำแนะนำในการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนเฉียบพลัน

  1. เมื่อเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนให้นั่งหรือนอนลงเพื่อลดความเสี่ยงในการล้ม
  2. พยายามอยู่นิ่งๆไม่ขยับศีรษะไปมาเพื่อลดการกระตุ้นระบบการทรงตัว
  3. หลับตา, หลีกเลี่ยงแสงสว่างจ้า, หลีกเลี่ยงการใช้สายตา
  4. รับประทานยา(ถ้ามี)พักนิ่งๆให้อาการลดลงแล้วจึงค่อยๆขยับเปลี่ยนท่า

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-30/Rev.1

error: Content is protected !!