ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

น้ำตาลกลูโคสมีความสำคัญต่อร่างกายเนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ค่าระดับกลูโคสในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานควรสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ระดับกลูโคสในเลือดของคนทั่วไปควรสูงกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์โดยใช้ยาและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดซึ่งหากมีปัจจัยใดๆที่มีผลต่อน้ำตาลในเลือด เช่น การมีกิจกรรมมากขึ้นกว่าปกติ, การเจ็บป่วย, การรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติหรือรับประทานผิดเวลา เหล่านี้ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกมีอาการใจสั่น, มือสั่น, หิว, วิงเวียน, รู้สึกเหมือนจะเป็นลม, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือชัก

ทำไมจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ระดับกลูโคสในเลือดที่ปกติในผู้ป่วยเบาหวานได้จากความสมดุลระหว่างปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป, กิจกรรมที่กระทำ, ยาเบาหวานที่ใช้, และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง

หากมีการเสียสมดุลของปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น 

  • ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยกว่าเดิม, มื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนออกไปในขณะที่ยังรับประทานยาหรือฉีดยาเบาหวานตามเวลาปกติ
  • ผู้ป่วยมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น, มีการยกของหนัก, จัดบ้าน, อาบน้ำสุนัข, ล้างรถเป็นต้น ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่ทันรู้ตัวว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้มีการใช้พลังงานมากกว่าที่เคยเป็น
  • ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารและใช้ยาเบาหวานตามปกติแต่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นเช่นเป็นหวัดหรือท้องเสีย ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งควรใส่ใจระมัดระวังดูแลเป็นพิเศษได้แก่

  • ผู้ป่วยสูงวัย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับ, โรคไต
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินชนิดฉีด หรือยาเบาหวานกลุ่ม sulfonyluria เช่น Daonil, Minidiab, Diamicron, Amaryl, และยา Novonorm ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Glinide
  •  ผู้ป่วยที่ควบคุมเบาหวานอย่างเข้มงวดมากโดยกำหนดระดับเป้าหมาย HbA1c และระดับน้ำตาลในเลือดที่ใกล้เคียงระดับปกติมาก
  • ผู้ป่วยที่เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยเฉพาะระดับรุนแรงหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่ไม่มีอาการเตือนเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรทำอย่างไร

แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย

ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็ว 15 กรัม แล้วสังเกตอาหารหรือเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็วอีก 15 กรัม จนกว่าอาการจะหายไปหรือได้ค่าน้ำตาลมากกว่า 70 mg/dl หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วให้รับประทานคาร์บไฮเดรตชนิดดูดซึมช้า เช่น ขนมปัง ผลไม้หรือข้าว เพื่อป้องกันน้ำตาลตกซ้ำ

ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว ปริมาณ 15 กรัม ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตดูดซึมช้า ปริมาณ 15 กรัม
ลูกอม 3 เม็ด
น้ำผลไม้ 1 กล่อง
น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
ขนมปัง 1 แผ่น
กล้วยหรือแอ๊ปเปิ้ล 1 ผล
โยเกิร์ต 200 กรัม
ข้าวต้มหรือโจ๊ก 1/2 ถ้วย

ผู้ป่วยหมดสติไม่รู้สึกตัว ให้ผู้ดูแลหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์โทร 1669 แจ้งเหตุฉุกเฉินผู้ป่วยหมดสติ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรมีเครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ผู้ป่วยควรพกลูกอมหรือน้ำผลไม้ติดตัวไว้รับประทานเมื่อเกิดอาการ


 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-10

English topic

โรคเบาหวาน

เบาหวานคือโรคที่ร่างกายมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากความบกพร่องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยฮอร์โมนอินซูลิน

อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล)ที่รับประทานจะถูกย่อยโดยทางเดินอาหารกลายเป็นกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาสู่กระแสเลือด อินซูลินจะไปไปจับกับตัวรับอินซูลินที่ผิวเซลล์ต่างๆในร่างกายกระตุ้นให้เกิดกระบวนการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำลง

กลุ่มโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น

เบาหวานชนิดที่ 1  พบได้น้อยกว่าชนิดที่สอง เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตั้งแต่อายุน้อย

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยเกิดจากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้แม้ว่ามีระดับอินซูลินในเลือดสูงก็ไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เบาหวานชนิดที่ 2 พบในผู้ใหญ่และสัมพันธ์กับโรคอ้วน ผู้ป่วยมักมีปัญหาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งมักเรียกกันว่า กลุ่มอาการเมตาบอลิค

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) คือการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากสภาวะความทนน้ำตาลผิดปกติ (glucose intolerance) ที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์โดยผู้ป่วยไม่เคยเป็นมาก่อน มักพบในไตรมาสสามของการตั้งครรภ์และหายเองได้หลังคลอด

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นหลักเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนทั่วไป

อาการของโรคเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวานขึ้นกับระดับน้ำตาล ผู้ที่เป็นเบาหวานอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยถ้าระดับน้ำตาลสูงปานกลาง แต่หากระดับน้ำตาลขึ้นสูงมากผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • กระหายน้ำผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ไม่ได้อดอาหาร
  • รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
  • แผลหายช้าผิดปกติ
  • มีการติดเชื้อง่ายขึ้น

การดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้นได้อย่างไร

การดื้อต่ออินซูลินคือการที่ตับอ่อนสามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในการนำกลูโคสเข้าเซลล์จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของเบาหวานชนิดที่สองคือโรคอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้วนที่มีไขมันในช่องท้องปริมาณมาก ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การรับประทานน้ำตาลและแป้งขัดขาวปริมาณมากเป็นประจำ, การมีประวัติเบาหวานในครอบครัว, การมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตแบบไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย, อายุมาก, การใช้ยาบางอย่างเช่น สเตียรอยด์, การนอนหลับที่ไม่เพียงพออย่างเรื้อรัง, การสูบบุหรี่

ผลระยะยาวของโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุม

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการแข็งตัวของเส้นเลือดหรือ atherosclerosis, มีการอักเสบในระดับเซลล์ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นเลือดซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่แสดงอาการใดในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเส้นเลือดเกิดการเสื่อมถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายของเส้นเลือดทั่วร่างกาย ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมอง  ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากความเสื่อมของเส้นเลือดในสมอง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง
  2. เบาหวานขึ้นตา เกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดความเสื่อมของจอประสาทตา, มีเลือดออกในจอประสาทตาและมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทำให้การมองเห็นลดลงจนกระทั่งตาบอดในที่สุด คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานขึ้นตา
  3. โรคหลอดเลือดหัวใจ การเสื่อมของหลอดเลือดจากโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงและหากอาการเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ
  4. ไตวายเรื้อรัง ไตเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมาก การมีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังจากเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีส่งผลให้เส้นเลือดที่ไตเสียหาย การทำงานของไตจะพร่องลงทีละน้อยจนในที่สุดผู้ป่วยจะเกิดภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระแก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวอย่างมากเนื่องจากผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายต้องมีการฟอกไตเป็นประจำสัปดาห์ละ 3 วันหรือการปลูกถ่ายไตซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานกับโรคไต
  5. การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในเพศชายการเสื่อมของหลอดเลือดแดงจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังจะทำให้มีผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ
  6. แผลที่เท้า เนื่องจากการเสื่อมของเส้นเลือดแดงส่วนปลายทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงนิ้วเท้าและฝ่าเท้าร่วมกับการที่ผู้ป่วยมีการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจากการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย และแผลหายยาก ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายจึงเป็นแผลเรื้อรังที่เท้าซึ่งในบางรายลุกลามไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือการเน่าของแผลทำให้ต้องตัดขา

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-04

English topic

หวานเกินไป..อันตรายต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ปริมาณน้ำตาลที่เติมในอาหารไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งหมายถึงเด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 4 ช้อนชา/วัน ส่วนวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา/วัน

จากการสำรวจของกรมอนามัยและสสส.พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 3 เท่า และพบว่าสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงอะไร

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงน้ำตาลที่ไม่ได้มีอยู๋ตามธรรมชาติในอาหารชนิดนั้นๆแต่ถูกเติมเข้าในระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งรวมถึงน้ำตาลทราย(ซูโครส), น้ำตาลเด็กซ์โตรส, น้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง, และน้ำตาลจากน้ำผลไม้เข้มข้น

การได้รับน้ำตาลปริมาณมากๆต่อเนื่องมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นโรคอ้วน, โรคเบาหวานชนิดที่ 2,  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต


อาหารที่มีน้ำตาลสูง

อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่คนนิยมกันได้แก่เครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม, กาแฟหรือช็อคโกแลตเย็น, ชาไข่มุก, ขนมหวานทั้งเบเกอรี่และขนมไทย, โดนัท, ไอศกรีม เนื่องจากการได้รับน้ำตาลปริมาณสูงต่อเนื่องทำให้เกิดโรคกลุ่ม NCD หลายโรคดังที่ได้กล่าวแล้ว ดังนั้นในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มคุณควรใส่ใจต่อปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับโดยการอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อและก่อนรับประทาน และพยายามลดปริมาณน้ำตาลที่เติมเข้าไปให้น้อยลง เช่น การดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มชนิดอื่นเพื่อฝึกไม่ให้ติดรสหวาน, การดื่มกาแฟและชาโดยไม่เติมน้ำตาล, ลดปริมาณขนมหวาน, ลดการกินของว่างนอกมื้ออาหาร, ไม่เติมน้ำตาลลงในอาหาร

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-46

English topic

โรคต้อกระจก

ในดวงตาทั้งสองข้าง,มีเลนส์แก้วตา (lens) มีลักษณะนูนใสอยู่หลังม่านตา เลนส์แก้วตาแต่ละข้างจะทำหน้าที่หักเหแสงและโฟกัสแสงให้ตกพอดีที่จอประสาทตาทำให้เราเห็นภาพได้ชัด เมื่ออายุมากขึ้น
เลนส์แก้วตาจะมีการเสื่อมสภาพเกิดการขุ่นมัวทำให้แสงเข้าสู่จอประสาทตาได้ลดลงจึงมองเห็นภาพไม่ชัด สภาวะนี้เรียกว่า “ต้อกระจก”

สาเหตุของต้อกระจก

  • ส่วนใหญ่ของต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตามอายุ ซึ่งมักเริ่มพบเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป และพบมากขึ้นเมื่ออายุเกิน 65 ปี
  • ผลจากยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือหยอดตา
  • โรคร่วมบางชนิดทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน
  • การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุทางตา, เคยมีการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณตา, ประวัติต้อกระจกในครอบครัว

อาการของต้อกระจก

การขุ่นของเลนส์แก้วตาจะค่อยเป็นอย่างช้าๆใช้เวลานานเป็นปีๆซึ่งทำให้การมองเห็นลดลงช้าๆโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยมักจะมีอาการมองเห็นลดลงเมื่ออยู่ในที่มีแสงไม่เพียงพอเหมือนมองผ่านหมอกหรือกระจกขุ่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเห็นแสงไฟแตกกระจายในเวลากลางคืน และต้อกระจกบางชนิดจะทำให้ตามัวลงเมื่อผู้ป่วยอยู่กลางแจ้ง

ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม

ชนิดเลนส์แก้วตาเทียม
Type of intraocular lens (IOL)
ระยะใกล้ระยะกลางระยะไกลการแก้ไขสายตาเอียง
เลนส์โฟกัสภาพหลายระยะและแก้สายตาเอียง (Multifocal-Toric IOL)
เลนส์โฟกัสภาพหลายระยะ
(Multifocal IOL)
เลนส์โฟกัสภาพระยะเดียวและแก้สายตาเอียง
(Monofocal -Toric IOL)
เลนส์โฟกัสภาพระยะเดียว
(Monofocal IOL)

ต้อกระจกสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา โดยการผ่าตัดต้อกระจกมีความปลอดภัยสูง มีโอกาสในการติดเชื้อน้อยกว่า 1 % และสามารถมองเห็นได้ดีขึ้นมากกว่า 95%

การผ่าตัดต้อกระจก มี 2 วิธี
  1. การผ่าตัดแบบเดิม Conventional Surgery
จักษุแพทย์ใช้ใบมีดผ่าตัดเปิดแผลขนาด 12-13 มม. ที่ขอบกระจกตา
นำต้อกระจกออกทางแผล
ใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เลนส์ที่เป็นต้อกระจกและถูกนำออกไปแล้ว
จักษุแพทย์ทำการเย็บปิดแผล
วิธีนี้ต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้น 4-6 สัปดาห์ที่จะมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ

2.การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

จักษุแพทย์ทำการเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 2.75 มม. ใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ขนาดเล็กทำการสลายต้อกระจกผ่านทางแผลนี้
ใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เลนส์ที่เป็นต้อกระจกและถูกนำออกไปแล้ว
วิธีนี้ไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 2-3 วัน

เลนส์แก้วตาเทียม เลนส์แก้วตาเทียมจะมีอายุการใช้งานได้นานตลอดชีพมากกว่า 95 % ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมจะมีการมองเห็นที่ดีขึ้น มีน้อยรายที่เนื้อเยื่อรองรับเลนส์แก้วตาเทียมอาจมีการขุ่นตัวหลังจากการใส่เลนส์เป็นเวลาหลายปี การมองเห็นที่เคยชัดเจนหลังผ่าตัดอาจจะค่อยๆลดลงบ้าง จักษุแพทย์สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยไม่มีความเจ็บปวดด้วยการใช้ แย็กเลเซอร์ (Yag laser) เพื่อขจัดความขุ่นตัวของเนื้อเยื่อรองรับเลนส์ให้หมดไปได้ทันที

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์จักษุ

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20831, 20832 

PI-EYE-06/Rev.1

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นจนถึงตาบอดได้ เบาหวานขึ้นตาสามารถเกิดได้ถึง 90% ในผู้ป่วยเป็นเบาหวานนาน 15 ปีขึ้นไป ระยะเวลาการเป็นเบาหวานที่ยาวนานมีผลต่อการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา โดยแม้ว่าผู้ป่วยจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขึ้นตา

สาเหตุ

เบาหวานขึ้นตาเกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดในชั้นจอประสาทตาทำให้เกิดการโป่งพองของเส้นเลือดและรั่วซึมของสารน้ำและเม็ดเลือด ทำให้จอประสาทตาบวม รวมถึงมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดที่ผิดปกติทำให้เกิดเลือดออกในจอประสาทตาและการลอกตัวของจอประสาทตาและทำให้ตาบอดในที่สุด


อาการ

ในระยะเริ่มต้นและระยะปานกลางผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตามักไม่แสดงอาการทำให้โรคดำเนินเข้าสู่ระยะรุนแรงซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการตามัว, เห็นจุดดำๆกลางภาพ, มองเห็นภาพมืดเป็นส่วน ๆ หรือการมองเห็นสีเพี้ยนไป

การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. รับการตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัดหมาย
  2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  3. รักษาโรคร่วมที่มี เช่น โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะไขมันในเลือดสูง, งดสูบบุหรี่
  4. ดูแลภาวะโภชนาการและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. ในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นตาในระยะเริ่มต้นและระยะปานกลางจักษุแพทย์จะนัดมาตรวจติดตามอาการเป็นระยะ
  2. หากมีเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติ,หรือจุดรับภาพ (macular) บวม จักษุแพทย์จะทำการรักษาด้วยกาใช้เลเซอร์ที่จอประสาทตาหรือฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาเพื่อยับยั้งการลุกลาม
  3. หากมีภาวะแทรกซ้อนเช่นการหลุดลอกของจอประสาทตาซึ่งมักเกิดขึ้นจากการไม่ได้รับการตรวจติดตามและรักษาอาการตั้งแต่เริ่มแรก. กรณีเช่นนี้จักษุแพทย์ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด

การเตรียมตัวเพื่อตรวจจอประสาทตา

  1. เนื่องจากตาจะมัวหลังจากขยายม่านตา ประมาณ 4 ชั่วโมง จึงควรนั่งรถรับจ้างมาโรงพยาบาลหรือมีคนช่วยขับรถกลับบ้านให้
  2. ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง (รอม่านตาขยายจากการหยอดตา)
  3. หลังตรวจจะมีอาการอ่านหนังสือไม่ชัด ทำคอมพิวเตอร์ไม่สะดวก 3-4 ชั่วโมงแล้วจึงกลับมาเป็นปกติ

การนัดตรวจติดตามในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. ระยะเริ่มต้น นัดตรวจติดตามอาการทุก 6 เดือน
  2. ระยะปานกลาง นัดตรวจติดตามอาการทุก 4-6 เดือน
  3. ระยะรุนแรง นัดตรวจติดตามอาการทุก 3-4 เดือนหรือตามความเห็นของแพทย์

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์จักษุ

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20831, 20832 

..PI-EYE-05/Rev.1

English topic

error: Content is protected !!