นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)

ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุงเล็กๆอยู่ทางด้านขวาบนของช่องท้องใต้ตับ มีหน้าที่เก็บน้ำดีที่ผลิตจากตับและหลั่งน้ำดีเข้าไปในลำไส้เล็กส่วนต้นในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร

น้ำดีมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ

  1. กรดน้ำดีซึ่งสำคัญต่อการย่อยและดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมันในบริเวณลำไส้เล็ก
  2. สารหลายชนิดถูกขจัดออกจากร่างกายโดยตับผ่านทางน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กและผ่านออกไปทางอุจจาระ

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบที่อยู่ในน้ำดีซึ่งโดยมากมักเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงทำให้เกิดการตกผลึกและรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วซึ่งอาจมีขนาดแตกต่างกันได้ตั้งแต่เป็นเม็ดละเอียดคล้ายทรายจนถึงก้อนใหญ่ขนาดลูกกอล์ฟ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้แก่

  1. เพศหญิงมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าเพศชาย
  2. น้ำหนักตัวเกิน
  3. อายุมากกว่า 40 ปี
  4. รับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ
  5. ผู้ป่วยเบาหวาน
  6. ภาวะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น เช่นการตั้งครรภ์, การรับประทานยาคุมกำเนิด
  7. การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
  8. กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำ
  9. ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
  10. การใช้ยาบางอย่าง เช่นยาลดไขมันบางชนิด

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

อาการของนิ่วในถุงน้ำดีอาจเป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการใดเลยจนถึงอาการรุนแรง ดังนี้

  1. ไม่มีอาการใด : ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือทราบจากการตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
  2. อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงข้างขวาและใต้ลิ้นปี่ร่วมกับมีอาการท้องอืดแน่นท้อง โดยเฉพาะหลังกินอาหารประเภทไขมัน
  3. ถุงน้ำดีอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในถุงน้ำดีซึ่งในกรณีเฉียบพลันจะทำให้เกิดอาการไข้สูง, ปวดท้องและกดเจ็บที่ชายโครงด้านขวา, คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นสภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมต้องได้รับการผ่าตัดที่ทันท่วงที
  4. การอุดตันท่อน้ำดีกรณีที่นิ่วในถุงน้ำดีหลุดลงไปอุดตันท่อน้ำดีจะทำให้เกิดการอุดตันของการไหลของน้ำดีทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลืองและมักตามมาด้วยถุงน้ำดีอักเสบทำให้มีไข้สูง ปวดท้องมาก บางรายที่เป็นมากอาจมีถุงน้ำดีเป็นหนองหรือทำให้ตับอ่อนอักเสบซึ่งเป็นสภาวะที่รุนแรงอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เจาะเลือด และทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนซึ่งจะให้ผลแม่นยำและรวดเร็วในการวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

การรักษา

  • นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการอาจไม่จำเป็นต้องรักษาแต่แนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติ หากมีอาการที่ผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • การผ่าตัด การตัดถุงน้ำดี (cholecystectomy) เป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับนิ่วในถุงน้ำดีที่ผู้ป่วยมีอาการ ในปัจจุบันนี้การผ่าตัดถุงน้ำดีเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็ก 3-4 รอยที่ผนังหน้าท้องและใช้กล้อง laparoscope และอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กและมีด้ามยาวสอดเข้าไปทางรูเหล่านั้นเพื่อทำการผ่าตัด และนำถุงน้ำดีออกมา ส่วนส่วนการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดนั้นมีที่ใช้ในบางกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องได้ เช่น ผู้ป่วยตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สาม, ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินมาก, หรือผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนหรือโรคร่วมที่เป็นภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัดผ่านกล้อง เช่นถุงน้ำดีอักเสบอย่างรุนแรง

ข้อดีของการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้อง

  1. อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก
  2. แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่าและมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลขนาดใหญ่รวมถึงแผลเป็นก็มีขนาดเล็กกว่า
  3. ระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่า โดยผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเปิดผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานประมาณ 7-10 วัน
  4. ระยะเวลาการพักฟื้นสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ผู้ป่วยก็กลับไปทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน

ยาละลายนิ่ว

ยาละลายนิ่ว (Oral dissolution therapy) ยาละลายนิ่วคือ Ursodeoxycholic acid (Ursodiol) ใช้ได้ผลกับนิ่วบางชนิดเท่านั้นและต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานหากหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก และนิ่วในถุงน้ำดีที่พบในประชากรไทยส่วนมากมักไม่ตอบสนองในการใช้ยาละลายนิ่ว (dissolution therapy)

ถุงน้ำดีถูกตัดออกไปแล้วมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

ถุงน้ำดีเป็นที่เก็บน้ำดีไว้และทำให้น้ำดีเข้มข้น เมื่อโดนตัดถุงน้ำดีในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก น้ำดีที่สร้างจากตับยังเจือจางอยู่บ้างจึงอาจมีท้องอืดระยะแรก หลังจากนั้นเซลตับจะปรับตัวสร้างน้ำดีที่เข้มข้นใกล้เคียงกับตอนมีถุงน้ำดีอยู่ได้

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-17 / Rev.2

error: Content is protected !!