โรคต้อกระจก

ในดวงตาทั้งสองข้าง,มีเลนส์แก้วตา (lens) มีลักษณะนูนใสอยู่หลังม่านตา เลนส์แก้วตาแต่ละข้างจะทำหน้าที่หักเหแสงและโฟกัสแสงให้ตกพอดีที่จอประสาทตาทำให้เราเห็นภาพได้ชัด เมื่ออายุมากขึ้น
เลนส์แก้วตาจะมีการเสื่อมสภาพเกิดการขุ่นมัวทำให้แสงเข้าสู่จอประสาทตาได้ลดลงจึงมองเห็นภาพไม่ชัด สภาวะนี้เรียกว่า “ต้อกระจก”

สาเหตุของต้อกระจก

  • ส่วนใหญ่ของต้อกระจกเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์ตามอายุ ซึ่งมักเริ่มพบเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป และพบมากขึ้นเมื่ออายุเกิน 65 ปี
  • ผลจากยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือหยอดตา
  • โรคร่วมบางชนิดทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน
  • การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุทางตา, เคยมีการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณตา, ประวัติต้อกระจกในครอบครัว

อาการของต้อกระจก

การขุ่นของเลนส์แก้วตาจะค่อยเป็นอย่างช้าๆใช้เวลานานเป็นปีๆซึ่งทำให้การมองเห็นลดลงช้าๆโดยไม่มีอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยมักจะมีอาการมองเห็นลดลงเมื่ออยู่ในที่มีแสงไม่เพียงพอเหมือนมองผ่านหมอกหรือกระจกขุ่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเห็นแสงไฟแตกกระจายในเวลากลางคืน และต้อกระจกบางชนิดจะทำให้ตามัวลงเมื่อผู้ป่วยอยู่กลางแจ้ง

ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม

ชนิดเลนส์แก้วตาเทียม
Type of intraocular lens (IOL)
ระยะใกล้ระยะกลางระยะไกลการแก้ไขสายตาเอียง
เลนส์โฟกัสภาพหลายระยะและแก้สายตาเอียง (Multifocal-Toric IOL)
เลนส์โฟกัสภาพหลายระยะ
(Multifocal IOL)
เลนส์โฟกัสภาพระยะเดียวและแก้สายตาเอียง
(Monofocal -Toric IOL)
เลนส์โฟกัสภาพระยะเดียว
(Monofocal IOL)

ต้อกระจกสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา โดยการผ่าตัดต้อกระจกมีความปลอดภัยสูง มีโอกาสในการติดเชื้อน้อยกว่า 1 % และสามารถมองเห็นได้ดีขึ้นมากกว่า 95%

การผ่าตัดต้อกระจก มี 2 วิธี
  1. การผ่าตัดแบบเดิม Conventional Surgery
จักษุแพทย์ใช้ใบมีดผ่าตัดเปิดแผลขนาด 12-13 มม. ที่ขอบกระจกตา
นำต้อกระจกออกทางแผล
ใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เลนส์ที่เป็นต้อกระจกและถูกนำออกไปแล้ว
จักษุแพทย์ทำการเย็บปิดแผล
วิธีนี้ต้องใช้ระยะเวลาพักฟื้น 4-6 สัปดาห์ที่จะมองเห็นได้ชัดเจนตามปกติ

2.การผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

จักษุแพทย์ทำการเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 2.75 มม. ใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ขนาดเล็กทำการสลายต้อกระจกผ่านทางแผลนี้
ใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เลนส์ที่เป็นต้อกระจกและถูกนำออกไปแล้ว
วิธีนี้ไม่ต้องมีการเย็บปิดแผล และใช้เวลาพักฟื้นเพียง 2-3 วัน

เลนส์แก้วตาเทียม เลนส์แก้วตาเทียมจะมีอายุการใช้งานได้นานตลอดชีพมากกว่า 95 % ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมจะมีการมองเห็นที่ดีขึ้น มีน้อยรายที่เนื้อเยื่อรองรับเลนส์แก้วตาเทียมอาจมีการขุ่นตัวหลังจากการใส่เลนส์เป็นเวลาหลายปี การมองเห็นที่เคยชัดเจนหลังผ่าตัดอาจจะค่อยๆลดลงบ้าง จักษุแพทย์สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยไม่มีความเจ็บปวดด้วยการใช้ แย็กเลเซอร์ (Yag laser) เพื่อขจัดความขุ่นตัวของเนื้อเยื่อรองรับเลนส์ให้หมดไปได้ทันที

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์จักษุ

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20831, 20832 

PI-EYE-06/Rev.1

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นจนถึงตาบอดได้ เบาหวานขึ้นตาสามารถเกิดได้ถึง 90% ในผู้ป่วยเป็นเบาหวานนาน 15 ปีขึ้นไป ระยะเวลาการเป็นเบาหวานที่ยาวนานมีผลต่อการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา โดยแม้ว่าผู้ป่วยจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขึ้นตา

สาเหตุ

เบาหวานขึ้นตาเกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดในชั้นจอประสาทตาทำให้เกิดการโป่งพองของเส้นเลือดและรั่วซึมของสารน้ำและเม็ดเลือด ทำให้จอประสาทตาบวม รวมถึงมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดที่ผิดปกติทำให้เกิดเลือดออกในจอประสาทตาและการลอกตัวของจอประสาทตาและทำให้ตาบอดในที่สุด


อาการ

ในระยะเริ่มต้นและระยะปานกลางผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตามักไม่แสดงอาการทำให้โรคดำเนินเข้าสู่ระยะรุนแรงซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการตามัว, เห็นจุดดำๆกลางภาพ, มองเห็นภาพมืดเป็นส่วน ๆ หรือการมองเห็นสีเพี้ยนไป

การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. รับการตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัดหมาย
  2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  3. รักษาโรคร่วมที่มี เช่น โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะไขมันในเลือดสูง, งดสูบบุหรี่
  4. ดูแลภาวะโภชนาการและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. ในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นตาในระยะเริ่มต้นและระยะปานกลางจักษุแพทย์จะนัดมาตรวจติดตามอาการเป็นระยะ
  2. หากมีเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติ,หรือจุดรับภาพ (macular) บวม จักษุแพทย์จะทำการรักษาด้วยกาใช้เลเซอร์ที่จอประสาทตาหรือฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาเพื่อยับยั้งการลุกลาม
  3. หากมีภาวะแทรกซ้อนเช่นการหลุดลอกของจอประสาทตาซึ่งมักเกิดขึ้นจากการไม่ได้รับการตรวจติดตามและรักษาอาการตั้งแต่เริ่มแรก. กรณีเช่นนี้จักษุแพทย์ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด

การเตรียมตัวเพื่อตรวจจอประสาทตา

  1. เนื่องจากตาจะมัวหลังจากขยายม่านตา ประมาณ 4 ชั่วโมง จึงควรนั่งรถรับจ้างมาโรงพยาบาลหรือมีคนช่วยขับรถกลับบ้านให้
  2. ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง (รอม่านตาขยายจากการหยอดตา)
  3. หลังตรวจจะมีอาการอ่านหนังสือไม่ชัด ทำคอมพิวเตอร์ไม่สะดวก 3-4 ชั่วโมงแล้วจึงกลับมาเป็นปกติ

การนัดตรวจติดตามในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. ระยะเริ่มต้น นัดตรวจติดตามอาการทุก 6 เดือน
  2. ระยะปานกลาง นัดตรวจติดตามอาการทุก 4-6 เดือน
  3. ระยะรุนแรง นัดตรวจติดตามอาการทุก 3-4 เดือนหรือตามความเห็นของแพทย์

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์จักษุ

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20831, 20832 

..PI-EYE-05/Rev.1

English topic

โรคต้อหิน

โรคต้อหินเป็นความผิดปกติที่เกิดจากการเสื่อมของขั้วประสาทตา ทำให้การมองเห็นเสื่อมลงจนตาบอดในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษา

ภาพด้านบนเป็นภาพที่ได้จากจากการตรวจจอประสาทตา. ขั้วประสาทตาปกติจะเห็นเป็นวงกลมสีส้มสว่าง มีเส้นเลือดแตกแขนงออกมาอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่มีความเสื่อมจากต้อหิน, ขั้วประสาทตาจะมีอาการเว้าตัว (cupping) เห็นเป็นวงออกสีขาวด้านใน และมีเส้นเลือดที่มีลักษณะผิดปกติ

การแบ่งประเภทของต้อหิน

  • ต้อหินแบบมุมเปิด (Open-angle glaucoma) มีลักษณะจำเพาะคือมีการสูญเสียการมองเห็นรอบนอกของลานสายตา ตามด้วยการสูญเสียการมองเห็นกลางลานสายตา ต้อหินแบบมุมเปิดมักเกิดร่วมกับภาวะความดันในลูกตาสูงขึ้นแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกราย
  • ต้อหินแบบมุมปิด (Angle-closure glaucoma) เกิดจากมุมของช่องด้านหน้าลูกตา (anterior chamber) แคบลงหรือปิดทำให้การระบายน้ำในลูกตาขัดข้องและเกิดภาวะความดันในลูกตาสูงซึ่งส่งผลให้เกิดการทำลายขั้วประสาทตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้อหินแบบมุมปิดอาจเกิดขึ้นแบบเรื้อรังซึ่งจะไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็นในระยะแรกหรือแบบเฉียบพลันซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นทันทีคือตาแดงและปวดตาอย่างรุนแรง ต้อหินแบบเฉียบพลันต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไม่ให้ตาบอดอย่างถาวร
  • ต้อหินทั้งแบบมุมเปิดและมุมปิด สามารถแบ่งตามสาเหตุออกเป็นต้อหินปฐมภูมิคือต้อหินที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และต้อหินทุติยภูมิคือต้อหินที่เป็นผลตามมาจากการอักเสบในลูกตา, การได้รับบาดเจ็บที่ลูกตา, ผลข้างเคียงของยาบางชนิดเช่น สเตียรอยด์, หรือโรคร่วมบางอย่าง
  • โรคต้อหินในทารกและเด็กสามารถพบได้ประปรายซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด         

อาการของโรคต้อหิน

กรณีที่ผู้ป่วยเป็นต้อหินแบบมุมปิดชนิดเฉียบพลัน (Acute angle-closure glaucoma) ผู้ป่วยจะมีอาการจากความดันลูกตาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้แก่อาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นแสงเป็นวงรอบดวงไฟ(Halos), ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน

แต่ในกรณีที่ความดันลูกตาค่อยๆเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลยจนกระทั่งการเสื่อมของขั้วประสาทตาดำเนินไปมากซึ่งจะทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยบกพร่องลงโดยมีการมัวรอบนอกของลานสายตาและลานสายตาแคบเข้ามาเรื่อยๆจนนำไปสู่การตาบอดในที่สุด

การวินิจฉัยโรคต้อหิน

จักษุแพทย์จะทำการตรวจตาอย่างละเอียด ประกอบด้วย

  1. การวัดสายตา
  2. การตรวจม่านตา
  3. การวัดความดันในลูกตา
  4. การตรวจด้วย slit-lamp เพื่อตรวจช่องด้านหน้าของลูกตา
  5. การตรวจลานสายตา
  6. การขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตาและขั้วประสาทตา
  7. การตรวจพิเศษทางจักษุวิทยาอื่นๆตามความเหมาะสม

การรักษาโรคต้อหิน

การรักษาโรคต้อหินมีตั้งแต่การใช้ยาควบคุมความดันลูกตา, การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser peripheral iridotomy , Selective laser trabeculoplasty) หรือการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำในตา (Trabeculectomy) ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ผลการรักษาและการทำนายโรคต้อหิน

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษาโรคต้อหินคือการได้รับการวินิจฉัยโรคและรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะหากขั้วประสาทตาถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาเป็นปกติได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นต้อหินเฉียบพลันควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อการนินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการใดๆก็ควรรับการตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยบุคคลทั่วไปแนะนำให้ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ในปัจจุบันสามารถตรวจโรคต้อหินอย่างละเอียดโดยเครื่องสแกนวิเคราะห์ขั้วประสาทตา ( Optical Coherence Tomography ) เครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา (Fundus Photography) และเครื่องตรวจลานตา (Visual field test) ทำให้สามารถตรวจพบต้อหินได้ตั้งแต่แรกเริ่มส่งผลให้การรักษาได้ผลดี

ข้อควรระวังในผู้ป่วยที่มีเป็นต้อหินชนิดมุมตาแคบ

ผู้ป่วยต้องระมัดระวังการใช้ยาเนื่องจากยาหลายชนิดเช่น ยาแก้เมารถเมาเรือ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยาต้านซึมเศร้าหรือยาทางจิตเวชบางชนิดอาจส่งผลกระตุ้นให้เกิดอาการต้อหินรุนแรงเฉียบพลันได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20831, 20832

 

PI-EYE-04/Rev.1

error: Content is protected !!