โรคเบาหวาน

เบาหวานคือโรคที่ร่างกายมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากความบกพร่องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยฮอร์โมนอินซูลิน

อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล)ที่รับประทานจะถูกย่อยโดยทางเดินอาหารกลายเป็นกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาสู่กระแสเลือด อินซูลินจะไปไปจับกับตัวรับอินซูลินที่ผิวเซลล์ต่างๆในร่างกายกระตุ้นให้เกิดกระบวนการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำลง

กลุ่มโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น

เบาหวานชนิดที่ 1  พบได้น้อยกว่าชนิดที่สอง เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตั้งแต่อายุน้อย

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยเกิดจากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้แม้ว่ามีระดับอินซูลินในเลือดสูงก็ไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เบาหวานชนิดที่ 2 พบในผู้ใหญ่และสัมพันธ์กับโรคอ้วน ผู้ป่วยมักมีปัญหาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งมักเรียกกันว่า กลุ่มอาการเมตาบอลิค

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) คือการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากสภาวะความทนน้ำตาลผิดปกติ (glucose intolerance) ที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์โดยผู้ป่วยไม่เคยเป็นมาก่อน มักพบในไตรมาสสามของการตั้งครรภ์และหายเองได้หลังคลอด

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นหลักเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนทั่วไป

อาการของโรคเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวานขึ้นกับระดับน้ำตาล ผู้ที่เป็นเบาหวานอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยถ้าระดับน้ำตาลสูงปานกลาง แต่หากระดับน้ำตาลขึ้นสูงมากผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • กระหายน้ำผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ไม่ได้อดอาหาร
  • รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
  • แผลหายช้าผิดปกติ
  • มีการติดเชื้อง่ายขึ้น

การดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้นได้อย่างไร

การดื้อต่ออินซูลินคือการที่ตับอ่อนสามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในการนำกลูโคสเข้าเซลล์จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของเบาหวานชนิดที่สองคือโรคอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้วนที่มีไขมันในช่องท้องปริมาณมาก ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การรับประทานน้ำตาลและแป้งขัดขาวปริมาณมากเป็นประจำ, การมีประวัติเบาหวานในครอบครัว, การมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตแบบไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย, อายุมาก, การใช้ยาบางอย่างเช่น สเตียรอยด์, การนอนหลับที่ไม่เพียงพออย่างเรื้อรัง, การสูบบุหรี่

ผลระยะยาวของโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุม

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการแข็งตัวของเส้นเลือดหรือ atherosclerosis, มีการอักเสบในระดับเซลล์ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นเลือดซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่แสดงอาการใดในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเส้นเลือดเกิดการเสื่อมถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายของเส้นเลือดทั่วร่างกาย ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมอง  ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากความเสื่อมของเส้นเลือดในสมอง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง
  2. เบาหวานขึ้นตา เกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดความเสื่อมของจอประสาทตา, มีเลือดออกในจอประสาทตาและมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทำให้การมองเห็นลดลงจนกระทั่งตาบอดในที่สุด คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานขึ้นตา
  3. โรคหลอดเลือดหัวใจ การเสื่อมของหลอดเลือดจากโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงและหากอาการเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ
  4. ไตวายเรื้อรัง ไตเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมาก การมีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังจากเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีส่งผลให้เส้นเลือดที่ไตเสียหาย การทำงานของไตจะพร่องลงทีละน้อยจนในที่สุดผู้ป่วยจะเกิดภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระแก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวอย่างมากเนื่องจากผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายต้องมีการฟอกไตเป็นประจำสัปดาห์ละ 3 วันหรือการปลูกถ่ายไตซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานกับโรคไต
  5. การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในเพศชายการเสื่อมของหลอดเลือดแดงจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังจะทำให้มีผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ
  6. แผลที่เท้า เนื่องจากการเสื่อมของเส้นเลือดแดงส่วนปลายทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงนิ้วเท้าและฝ่าเท้าร่วมกับการที่ผู้ป่วยมีการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจากการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย และแผลหายยาก ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายจึงเป็นแผลเรื้อรังที่เท้าซึ่งในบางรายลุกลามไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือการเน่าของแผลทำให้ต้องตัดขา

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-04

English topic

error: Content is protected !!