โรคปวดประสาทใบหน้า Trigeminal neuralgia

หมายถึงอาการปวดบริเวณใบหน้าที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันตามแนวของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 หรือที่มีชื่อเรียกในศัพท์แพทย์เรียกว่าเส้นประสาทไตรเจมินัล อาการปวดจากโรคนี้มีลักษณะพิเศษคือมีอาการปวดแปลบๆคล้ายถูกไฟฟ้าช็อตและมักจะปวดมากขึ้นเวลาเคี้ยว พูด หรือสัมผัสเบาๆ ที่ผิวหน้า มักพบเป็นมากที่แขนงที่สองของเส้นประสาทไตรเจมินัลซึ่งอยู่บริเวณโหนกแก้ม ขากรรไกรบน รวมถึงเหงือกและฟัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแก้ม,ขากรรไกร,เสียวที่เหงือกและฟัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยครั้งแรกโดยทันตแพทย์

เส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า หรือ เส้นประสาทไตรเจมินัล มีแขนงย่อย 3 เส้น ได้แก่  

  • แขนงที่หนึ่ง (Opthalmic branch – V1) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณรอบตา,หน้าผากและศีรษะด้านบน  
  • แขนงทีสอง (Maxillary branch – V2) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณแก้มและขากรรไกรบน
  • แขนงที่สาม (Mandibular branch – V3) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณขากรรไกรล่าง

  สาเหตุ

โรคปวดประสาทใบหน้ามักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทไตรเจมินัลตรงทางออกของเส้นประสาทซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการหย่อนตัวของเส้นเลือดแดงในบริเวณนั้นตามอายุ การกดทับเส้นประสาททำให้มีการนำกระแสประสาทมากขึ้นคล้ายกับไฟฟ้าลัดวงจร

ในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการปวดประสาทใบหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมให้ละเอียด เช่นการทำ CT scan เพื่อหาสาเหตุของโรค เช่น เนื้องอก, หรือ โรคปลอกประสาทเสื่อม(multiple sclerosis) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆร่วมด้วยเช่น หน้าชา ปากเบี้ยว, ไม่ได้ยินเสียง

การดำเนินโรค

การดำเนินโรคอาจเป็นได้หลายแบบ เช่น มีอาการปวดติดต่อกันเป็นเดือนหรือปีแล้วจากนั้นก็ไม่มีอาการเป็นปีจากนั้นเริ่มปวดใหม่ หรือในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการปวดต่อเนื่องกันไปตลอด ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดมากขึ้น ได้แก่ การอดนอน ความเครียด เป็นต้น

การรักษา

การรักษาทางยา  ยาที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Carbamazepine (Tregretal), Trileptal (Oxycar- bazepine), Phenytoin (Dilantin), Baclophen (Lioresal) และ Gabapentin (Neurontin) ยาออกฤทธิ์โดยการลดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติทำให้อาการปวดลดลง ผลข้างเคียงของยาที่อาจพบได้ มีง่วงซึม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเกลือแร่ผิดปกติ 

การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาโดยการผ่าตัดใช้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา การผ่าตัดมีหลายวิธี การเลือกวิธีการผ่าตัดขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดประสาทไตรเจมินัลมีดังนี้

  1. การผ่าตัด Microvascular Decompression Surgery เป็นการผ่าตัดที่ต้องมีการผ่าเปิดกระโหลก เพื่อแยกเส้นเลือดและจัดให้เส้นเลือดไม่ไปกดทับเส้นประสาทไตรเจมินัล วิธีนี้เป็นทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดและผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัดใหญ่และการใช้ยาสลบเนื่องจากได้ผลการรักษาที่ดี อาการปวดจะดีขึ้นโดยทันทีหลังผ่าตัด 90-95% ทำให้ผู้ป่วยสามารถหยุดยาแก้ปวดได้  ส่วนข้อเสียคือการมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ, และภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเช่น การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทซึ่งทำให้หน้าชาหรือหน้าเบี้ยว,หรือสูญเสียการได้ยิน
  2. การตัดรากประสาท (Nerve root ablation :Rhizotomy) โดยการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปยังรูที่ฐานกะโหลก (Foramen ovale) ภายใต้การนำทางด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อทำลายรากประสาทที่ปมประสาทไตรเจมินัลด้วยความร้อนที่สร้างจาก radiofrequency, หรือสารกลีเซอรอล, หรือการกดด้วยบอลลูน
  3. การใช้ Gamma knife (stereotactic radiosurgery)เป็นเครื่องมือชนิดพิเศษที่ใช้รังสีที่เป็นลำแสงขนาดเล็กจำนวนหลายร้อยเส้นพุ่งเป้ารวมศูนย์ไปที่จุดรอยโรคที่่มีขนาดเล็ก วิธีนี้จะมีความแม่นยำสูงและลดการทำลายเนื้อเยื่อปกติรอบๆ ข้อดีของวิธีนี้คือไม่มีบาดแผลและใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นเพียง 1-2 วัน ส่วนข้อเสียของวิธีนี้คือใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าที่อาการปวดประสาทลดลง

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-43

error: Content is protected !!