ยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet) และยากันเลือดแข็งตัว (anticoagulants)

ยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet)

ยาต้านเกล็ดเลือดคือยาที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดเกาะตัวกันซึ่งจะเป็นสาเหตุของการอุดตันของหลอดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ยาต้านเกล็ดเลือดจะถูกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองและเส้นเลือดหัวใจ ในปัจจุบันมียาหลายชนิดแตกต่างกันตามกลไกการออกฤทธิ์ แพทย์จะเป็นผู้เลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือเลือดออกในสมอง

ชนิดของยาต้านเกล็ดเลือด

1.แอสไพริน

เป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เป็นยาที่ใช้แพร่หลายเนื่องจากมีประสิทธิภาพค่อนดี, มีการใช้มานาน, ราคาไม่แพงจึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงในการกำเริบของโรคหลอดเลือดตีบที่สมองหรือหัวใจ อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยของแอสไพริน คือการระคายเคืองทางเดินอาหารทำให้มีอาการปวดท้องแสบท้อง, คลื่นไส้, หรืออาจถึงกับมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ ดังนั้นจึงมีการพัฒนารูปแบบของยาแอสไพริน เพื่อช่วยลดปัญหาต่อทางเดินอาหาร ที่ใช้บ่อยมี 2 รูปแบบได้แก่

a. Enteric coated Aspirin
แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบช่วยให้ตัวยาค่อยๆ ละลายที่บริเวณลำไส้ช่วยลดอาการระคายเคืองบริเวณกระเพาะอาหาร จึงไม่ควรหักเม็ดยาหรือบดเคี้ยวเม็ดยาและไม่ควรการรับประทานยาร่วมกับนมหรือยาลดกรดเนื่องจากอาจทำให้ตัวยาละลายออกมาที่กระเพาะอาหารแทนที่จะเป็นที่ลำไส้
ตัวอย่าง : แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบ(81 มิลลิกรัม) เช่น Aspent-M, B-Aspirin/แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบ(300 มิลลิกรัม) เช่น Aspent

b. Aspirin ชนิดผสมกับ glycine
เพื่อเพิ่มการละลายและลดอาการข้างเคียงต่อทางเดินอาหาร เม็ดยาสามารถวางบนลิ้นอมให้ละลายแล้วกลืนได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำตามหรือจะกลืนเม็ดยาพร้อมน้ำสะอาดก็ได้ตัวอย่างชื่อการค้าของยาเช่น CardiPRIN 100 mg 

2. ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือดที่ไม่ใช่แอสไพริน

ยากลุ่มนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาแอสไพรินได้เนื่องจากมีอาการแพ้หรือมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารรุนแรง แพทย์อาจพิจาณาใช้ยาอื่นได้แก่

a. ยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่ม P2Y12 inhibitor ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าแอสไพริน โดยที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่าแต่ความเสี่ยงในการทำให้เกิดเลือดออกนั้นอาจจะมากกว่าแอสไพรินเล็กน้อยและตัวยามีราคาแพงกว่าแอสไพริน

ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
ClopidogrelPlavix 75 mgCo-Plavix 75/75 mgApolets 75 mg
PrasugrelEffient 10 mg
TicagrelorBrilinta 90 mg
*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ลิ้นรับรสชาติแปลกไป ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นช้า เป็นต้น

b. ยาที่ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดโดยการยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส ยานี้มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดที่น้อยกว่าแอสไพริน

ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
CilostazolPletaal 50 และ 100 mg
*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น ปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

C. ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยั้บยั้งไกลโคโปรตีน IIb/IIIa การใช้ยากลุ่มนี้มีข้อบ่งชี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการแพ้ยาหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่มอื่นได้

             ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
AbciximabReoPro 
eptifibatideIntegrilin
tirofibanAggrastat (Pro)

 ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยที่การใช้ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด

  • จุดประสงค์ของการใช้ยากลุ่มนี้คือเพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนเลือดเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือหลอดเลือดสมองอุดตันซ้ำอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต
  • ผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุดของยากลุ่มนี้ คือ ทำให้เลือดหยุดยากขึ้น ดังนั้น:หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้หยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
    • มีเลือดออกที่เหงือกบ่อยๆและหยุดยาก
    • เลือดกำเดาไหล, มีจ้ำเลือดตามผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง
    • ประจำเดือนปริมาณมาก
    • เลือดออกในเยื่อบุตาขาว
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • มีปัสสาวะเป็นเลือด
    • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีคล้ำ
    • มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น มีเลือดออกจากบาดแผลมาก
    • ผู้ป่วยควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุและอันตราย เช่น การล้มอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายในโดยเฉพาะบริเวณศีรษะและทรวงอก
  • ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, ถอนฟันหรือทำหัตถการที่จะต้องมีบาดแผลและเลือดออก ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ผ่าตัดทราบทุกครั้งว่ารับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่และแพทย์อาจพิจารณาหยุดยาก่อนการผ่าตัดเป็นรายๆไป

ยากันเลือดแข็งตัว (anticoagulant)

ยากันเลือดแข็งตัวคือยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงจึงป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือด ข้อบ่งชี้ของการใช้ยากันเลือดแข็งตัวได้แก่

  • การป้องกันและการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา (deep vein thrombosis) หรือลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ปอด (pulmonary embolism)
  • ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดในสมองตีบจากลิ่มเลือดจากการเต้นพริ้วของหัวใจห้องบน (atrial fibrillation) 
  • ผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 

ยากันเลือดแข็งตัว  แบ่งออกเป็น

  1. ยาวาร์ฟาริน (warfarin)
    เป็นยาที่ใช้กันแพร่หลายมาเป็นเวลานาน การใช้ยาชนิดนี้จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและมาพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่องเพื่อเจาะเลือดตรวจระดับยา ในช่วงแรกที่เริ่มปรับขนาดยาผู้ป่วยอาจต้องมาเจาะเลือดทุก 3 วันหรือทุกสัปดาห์เพื่อปรับระดับยา การใช้ยากลุ่มนี้มีข้อควรระวังเนื่องจากยาชนิดนี้มีปฏิกิริยากับยาอื่นและอาหารบางชนิดที่รับประทานกันทั่วไป เช่น ผักใบเขียว รวมถึงต้องพิจารณาความเสี่ยงเลือดออกรายบุคคลร่วมด้วย

ยาวาร์ฟาริน (warfarin)  ในโรงพยาบาลพระรามเก้ามีใช้ 3 ขนาดคือ 2, 3 และ 5 มิลลิกรัม

ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน warfarin

  • มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกว่า “ค่า  INR” เพื่อปรับยา warfarin ให้ได้ระดับค่า INR ที่เหมาะสมกับตัวโรคของท่าน
    • ถ้าค่า INR สูงเกินระดับ จะมีโอกาสเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย
    • ถ้าค่า INR ต่ำกว่าระดับ จะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย 
  • รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ห้ามลืมทานยา ในบางกรณีอาจจะต้องใช้ปฏิทินช่วยจำ
  • หากมีอาการเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาและมาพบแพทย์ทันที
  • เมื่อท่านไปรับบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งบุคลากรการแพทย์ทราบทุกครั้งว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, การถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม
  • หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลที่มีเลือดออกให้ห้ามเลือดโดยใช้มือกดผ้าสะอาดไว้ให้แน่นตรงบาดแผล จะช่วยให้เลือดหยุดหรือไหลน้อยลงได้ แล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีและแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่
  • ยาและอาหารบางชนิดอาจมีผลต่อระดับของยาวาร์ฟารินในกระแสเลือดซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาได้ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารและไม่ควรซื้อยากินเอง
    • ปฏิกริยาระหว่างยาที่ควรทราบ
      • ยาที่เพิ่มฤทธิ์ของ Warfarin ซึ่งทำให้ค่า INR เพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสเลือดออก ได้แก่
        • กลุ่มยาแก้ปวดข้อ /กล้ามเนื้อ เช่น Diclofenac, Piroxicam, Indomethacin, Ibuprofen
        • กลุ่มยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Co-trimoxazole (Sulfa)
      • ยาที่ลดฤทธิ์ของวาร์ฟารินซึ่งทำให้ค่า INR ลดลงและทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือด  ได้แก่
        • ยากันชัก เช่น Carbamazepine, Phenytoin
        • ยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Rifampin, Griseofulvin
    • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีผลต่อ warfarin เช่น โสม, ขิง, แปะก๊วย, กระเทียม, น้ำมันปลา, สมุนไพรและยาแผนโบราณ, ยาจีน, ยาชุดต่างๆ รวมถึงการใช้กัญชงและกัญชา
    • อาหารบางชนิดสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาวาร์ฟารินได้ โดยเฉพาะผักใบเขียวที่มีวิตามินเคสูง เช่น กะหล่ำปลี, บรอคโคลี่, แตงกวาพร้อมเปลือก, น้ำมันมะกอก, ผักโขม, ถั่วเหลือง, ใบชา และผลไม้คือ มะม่วงสุก และทุเรียน ดังนั้นปริมาณของการรับประทานอาหารเหล่านี้ในแต่ละวันจึงไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมากแต่ควรรับประทานเป็นประจำในปริมาณเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอ

ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยาวาร์ฟาริน

ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด กรณีลืมกินยาและยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 12 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาดปกติ

การเก็บรักษายา

  •  เก็บยาให้พ้นแสงและความชื้น
  •  เก็บยาในภาชนะที่โรงพยาบาลจัดให้
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • เม็ดยา warfarin อาจมีสีไม่สม่ำเสมอซึ่งเป็นลักษณะปกติท่านสามารถรับประทานต่อได้
  • กรุณานำยาที่ยังรับประทานไม่หมดมาให้เภสัชกรตรวจสอบทุกครั้งที่นัด
  1. ยาละลายลิ่มเลือดกลุ่มใหม่ (direct oral anticoagulants ; DOACs)

ปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนายาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ได้อย่างสะดวก ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อปรับยาในการรักษาและโอกาสเสี่ยงในการเกิดเลือดออกน้อยกว่ายาวาร์ฟาริน ยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่อย่างไรก็ดีข้อบ่งชี้มีความแตกต่างกับ วาร์ฟาริน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณากับท่านอีกครั้งก่อนเริ่มยา

ข้อเสียคือปัจจุบันยากลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูงและหากเกิดภาวะเลือดออกยาที่ใช้ในการแก้ฤทธิ์หายากและมีราคาแพง ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Dabigratran, Apixaban, Endoxaban และ Rivaroxaban

ปัจจุบันในรพ.พระรามเก้า มียาต้านฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ในรพ.ดังนี้ Idarucizumab (ใช้สำหรับ Dabigatran) และ Profilnine (ใช้สำหรับ Apixaban, Endoxaban และ Rivaroxaban)

 ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน DOACs

1. มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง 

2. รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ลืมทานยา ในบางเคสอาจจะต้องใช้ปฏิทินช่วยจำ

3. หากมีอาการเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาและมาพบแพทย์ทันที

4. ทุกครั้งที่ท่านไปรับบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งบุคลากรการแพทย์ทราบด้วยว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, การถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม

5.หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลและเลือดไม่หยุดไหลให้ห้ามเลือดโดยใช้มือกดผ้าสะอาดไว้ให้แน่นตรงบาดแผลเลือดจะหยุดออกหรือออกน้อยลงแล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่

6.ยาและอาหารบางชนิด จะส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาได้ ห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาสมุนไพร

ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยา

 สำหรับยาที่กินวันละสองครั้ง ได้แก่ Dabigratran และ Apixaban หากลืมกินยาแต่ยังไม่ถึง 6 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 6 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาด(dose)ปกติ

สำหรับยาที่กินวันละครั้ง ได้แก่ Endoxaban, Rivaroxaban หากลืมกินยาแต่ยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 12 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาด(dose)ปกติ

PI-MED-45

โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE)

ในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและสาเหตุของความพิการในลำดับต้นๆของประชากรในประเทศไทยทั้งที่จริงแล้วโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งที่ป้องกันและรักษาได้หากผู้ป่วยมารับการรักษากายในเวลาที่ทันท่วงที

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

คนไทยมักรู้จักโรคหลอดเลือดสมองในชื่อของโรคอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ซึ่งเกิดได้จากสองสาเหตุคือ หลอดเลือดในสมองแตก หรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน ทั้งสองกรณีนี้จะทำให้เนื้อเยื่อสมองที่ถูกกระทบไม่ทำงาน เช่น ถ้ามีอาการในสมองบริเวณที่ควบคุมการขยับของแขนขาด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำให้แขนขาด้านนั้นขยับไม่ได้ ถ้าอาการเป็นถาวรก็จะเรียกว่าเป็นอัมพาต ถ้าเป็นชั่วคราวก็จะเรียกว่าอัมพฤกษ์นั้นเอง คล้ายๆอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Heart attack) แต่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Brain attack) แทน

โรคหลอดเลือดสมองมีอาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคหลอดเลือดในสมองจำง่ายๆด้วยตัวอักษรย่อ F.A.S.T.

  • F Face : ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่งอย่างฉับพลันหรือผู้ป่วยบางท่านอาจจะมีอาหารไหลออกจากปากระหว่างรับประทานอาหารหรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่งเนื่องจากไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าด้านที่มีอาการ
  • A Arms : ผู้ป่วยจะขยับแขนหรือขาไม่ได้โดยอาจจะเป็นเฉพาะแขนหรือขาหรือเป็นทั้งแขนและขาและส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้างขึ้น ถ้าแขนขาตกด้านใดด้านหนึ่งแสดงว่ามีความผิดปกติ
  • S Speech : ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด, พูดเหมือนลิ้นคับปากหรือบางคนมีอาการพูดไม่เป็นภาษา, หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง คนในครอบครัวอาจคิดว่าผู้ป่วยสับสน การทดสอบอาจชี้ให้ดูของง่ายๆในชีวิตประจำวันเช่น ปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไรหรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น
  • T Time : เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคหลอดเลือดสมองควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมองซึ่งจะเป็นมากขึ้นตามระยะเวลาที่นานขึ้น ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบและมาถึงโรงพยาบาลภายในสี่ชั่วโมงครึ่ง แพทย์จะสามารถให้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมอง ทำให้อาการของผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นปกติได้

ข้อสำคัญคือการเป็นโรคหลอดเลือดสมองไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทั้ง 3 อย่างของ F – A – S คืออาการหน้าเบี้ยว, แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง, หรืออาการพูดที่ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเพียงแค่อย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 อย่างก็ให้สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น

1. หลอดเลือดในสมองตีบ (Ischemic stroke)

เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงในสมองทำให้เนื้อสมองส่วนนั้นๆขาดเลือดไปเลี้ยง  ซึ่งการอุดตันของหลอดเลือดแบ่งออกเป็น 

การอุดตันทีเกิดจากก้อนเลือดที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ (Thrombosis) ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากพยาธิสภาพของผนังเส้นเลือดเช่นหลอดเลือดแข็งตัวจากไขมันในผนังเส้นเลือด,หรือการอักเสบของเส้นเลือดหรือที่เรียกว่า vasculitis  ้.ผนังเส้นเลือดที่มีพยาธิสภาพเหล่านี้ง่ายต่อการเกิดรอยฉีกขาดซึ่งจะกลายเป็นจุดกระตุ้นทำให้มีการเกาะตัวของเกล็ดเลือดเกิดเป็นก้อนเลือด

กลไกการเกิดหลอดเลือดอุดตันจาก thrombosis

การอุดตันจากก้อนเลือดที่หลุดลอยมาจากส่วนอื่น (Embolism) เช่นเป็นก้อนเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องบนขวาเนื่องจากผู้ป่วยมีหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (atrial fibrillation) หรือหลอดเลือดบริเวณลำคอที่มีภาวะหลอดเลือดแข็งตัว 

กลไกการเกิดหลอดเลือดอุดตันจาก embolism

2. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

แบ่งออกเป็น

2.1 เลือดออกในเนื้อสมอง (Cerebral hemorrhage) ซึ่งมักเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดตามอายุรวมกับความดันโลหิตสูงทำให้เส้นเลือดในสมองแตก

2.2 เลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) ซึ่งมักเกิดจากการที่มีหลอดเลือดโป่งพองผิดปกติในสมองอยู่เดิมแล้วเกิดการแตกขึ้นมาภายหลัง

สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คืออะไร

สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คือการที่ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลงทันทีแต่ต่อมาสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็วจึงไม่มีภาวะเนื้อสมองตาย อาการจะเป็นเหมือนโรคหลอดเลือดในสมองตีบแต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ 5-10 นาทีแล้วหายได้เองภายในเวลา 24 ชั่วโมง

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) มักจะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตามมาภายใน 7 วัน  ดังนั้นอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงควรมาพบแพทย์ทันทีที่มีอาการซึ่งได้แก่

– ปากเบี้ยว หรือชาบริเวณใบหน้า

– ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

– แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก

– วิงเวียนศีรษะและเดินเซ

– พูดอ้อแอ้, นึกคำศัพท์ไม่ได้, ฟังคำพูดไม่เข้าใจ

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมีอะไรบ้าง

ปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็น

1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่

– อายุ เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของเส้นเลือดก็จะเกิดมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เปรียบเหมือนท่อประปาในบ้านที่ใช้มานานก็จะมีการผุกร่อนและตะกรันเกาะภายในท่อ

– ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

– ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคหลอดเลือดในสมองแตกมาก่อน

2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่

  • โรคความดันโลหิตสูง เมื่อมีโรคความดันโลหิตสูงควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและรับประทานยาอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดก็ตาม เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงจะไปทำให้หลอดเลือดในสมองมีความเปราะมากขึ้นและมีโอกาสปริแตกได้ง่าย
  • โรคเบาหวาน ผู้ป่วยควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อชะลอความเสื่อมของหลอดเลือด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว(Atrial fibrillation or atrial futter) มักจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและซึ่งอาจหลุดไปอุดเส้นเลือดในสมองได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบหัวใจห้องบนสั่นพริ้วรักษาโดยการให้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ(Radiofrequency ablation) จี้ทำลายจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติหรือวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติภายในผนังห้องหัวใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วควรได้รับยาละลายลิ่มเลือดอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • การสูบบุหรี่ : สารนิโคตินในบุหรี่จะเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญที่จะทำให้หลอดเลือดในสมองเปราะเกิดรอยปริแตกซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ง่ายกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่จัดและได้รับควันบุหรี่มือสองตลอดเวลาด้วย
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากทำให้ความดันโลหิตสูงและกระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว
  • การใช้สารเสพติดบางชนิดเช่นแอมเฟตามีน โคเคน ผู้ที่ใช้สารเสพติดเหล่านี้มักจะเกิดเลือดออกในสมองง่ายกว่าคนทั่วไปเนื่องจากสารเสพติดเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ง่าย

เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องปฏิบัติอย่างไร

โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ข้อมูลสำคัญคือ”เวลา”ที่เริ่มเกิดอาการหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลาสี่ชั่วโมงครึ่งนับจากอาการเริ่มต้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่เรียกว่า rt-PA เพื่อละลายลิ่มเลือดในสมอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง,ให้ดำเนินการดังนี้

1. โทรศัพท์ติดต่อ1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและแจ้งอาการของผู้ป่วย, เวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ฯลฯ ทางศูนย์จะประสานงานส่งรถพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วยในทันทีเพื่อไปส่งยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

2. หากผู้ป่วยมีโรคร่วม เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งมียารักษาที่ใช้ประจำ ให้นำยาที่ใช้ไปโรงพยาบาลด้วย 

3. ไม่ควรให้ยาใดแก่ผู้ป่วยก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาลโดยเฉพาะยาลดความดันเพราะการที่ความดันโลหิตลดลงจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงไปอีก และยาเบาหวานเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงทำให้มีอาการสับสนหรือหมดสติซึ่งส่งผลให้การประเมินผู้ป่วยทำได้ยากขึ้น

4. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก่อนถึงโรงพยาบาล. ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพราะอาจเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ้งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลและควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นซ้ำอีกแพทย์จะสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองทำได้อย่างไรและต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมบ้าง

ประวัติผู้ป่วย  – แพทย์จำเป็นจะต้องชักประวัติอาการของผู้ป่วยได้แก่เวลาที่เริ่มมีอาการหรือเวลาที่เห็นผู้ป่วยเป็นปกติครั้งล่าสุด , โรคร่วม, ยาที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ, ประวัติครอบครัว โดยหากผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติได้. แพทย์จำเป็นที่จะต้องชักประวัติจากญาติหรือผู้ที่เห็นเหตุการณ์

การตรวจร่างกาย – แพทย์จะตรวจสัญญาณชีพ(ความดันโลหิต ชีพจร, การหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย), ตรวจหัวใจและตรวจระบบประสาทโดยละเอียดได้แก่ การตรวจกำลังกล้ามเนื้อ, ตรวจประสาทสัมผัส, ตรวจการพูด, การฟัง, การตามคำสั่ง, การเดิน เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจทางรังสี – เพื่อแยกภาวะอื่นที่ไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมอง และเพื่อแยกโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองแตก,หรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน ประกอบด้วยการตรวจต่อไปนี้

  • การเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล, ระดับเกลือแร่, การทำงานที่ผิดปกติของตับหรือไต เพื่อแยกโรคอื่นๆที่อาจทำให้อาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง
  • เอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจพื้นฐานเพื่อตรวจดูภาวะความผิดปกติของหัวใจและปอดซึ่งอาจเกิดร่วมด้วย
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ- เป็นการตรวจที่จำเป็นและสำคัญเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองอาจจะพบร่วมกับโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ส่วนโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นอาจหลุดไปในกระแสเลือดและเข้าไปอุดในเส้นเลือดสมองทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้
  • การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) เป็นการตรวจที่สามารถตรวจจับภาวะเลือดออกในเนื้อสมองได้ดี ใช้เวลาน้อยในการตรวจ แต่มีข้อเสียคือการตรวจจับภาวะสมองขาดเลือดทำได้ไม่ดีเท่าการตรวจ MRI และหากต้องการดูรายละเอียดของเส้นเลือดต้องทำการฉีดสีร่วมด้วย
  • การฉีดสีตรวจหลอดเลือดสมอง (Cerebral angiography) ทำโดยการใส่สายสวนเข้าเส้นเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อฉีดสารทึบแสงเพื่อตรวจดูลักษณะของหลอดเลือด ปัจจุบันการตรวจนี้ทำน้อยลงมากเนื่องจากมีการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์และ MRI มาแทนที่
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ฺMRI scan) สามารถตรวจหลอดเลือดสมองตีบระยะเฉียบพลันได้ภายใน 15 นาทีถึง 7 วัน โดยสามารถเห็นหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ที่ตีบได้โดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสง ข้อเสียของ MRI คือการตรวจใช้เวลานานและต้องใช้ความร่วมมือของผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดก็จะไม่สามารถตรวจด้วย MRI ได้ เช่น ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถนอนนิ่งไต้นาน ๆ หรือผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจที่ไม่รองรับ MRI 
  • อัลตร้าชาวด์หลอดเลือด (TCD transcranial doppler, Carotid duplex) เป็นการตรวจโดยใช้อัลตร้าชาวด์เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองและหลอดเลือดที่คอเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาในผู้ป่วยที่มีการตีบของหลอดเลือดที่ลำคอเพื่อประเมินความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดหลอดเลือด

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

  1. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีความดันโลหิตที่มากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณารักษาโดยในบางรายอาจมีการใช้ยาลดความดันโลหิต ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดอาหารเค็ม, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กรณีที่แพทย์สั่งใช้ยาไม่ควรหยุดรับประทานยาลดความดันเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เป็นแล้วมักจะเป็นตลอดชีวิตและไม่ค่อยแสดงอาการจนกว่าจะมีภาวะวิกฤติเกิดขึ้น
  2. รับการตรวจระบบหัวใจอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อดูว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
  3. หยุดสูบบุหรี่
  4. ควบคุมน้ำหนักในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
  6. ตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
  7. งดการดื่มสุรา
  8. เลิกการใช้ยาเสพติด

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดสมองตีบสามารถรักษาให้หายเป็นปกติโดยที่ผู้ป่วยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาลภายในเวลา 4 1/2 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด(antithrombotic) rtPA (recombinant tissue plasminogen activator) เข้าทางหลอดเลือดดำ โดยยามีประสิทธิภาพในการสลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองได้ 30-50% ของผู้ป่วยซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่หรือมีความพิการน้อยมาก หลังจากการให้ยาผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) หรือหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke unit)  เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

กรณีที่เวลานับจากเริ่มเกิดอาการเกิน 4.5 ชั่วโมงไปแล้ว การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด Thrombolytic therapy ไม่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

การป้องกันการกลับเป็นซ้ำในกรณีที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว

1.) จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2. ) การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยากันการแข็งตัวของเลือด 

เนื่องจากลิ่มเลือดเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง การป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดจึงเป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันการเกิดโรคซ้ำ   ยาที่ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด แบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

อ่านรายละเอียดเรื่อง ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยที่การใช้ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

  • จุดประสงค์ของการใช้ยากลุ่มนี้คือเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนเลือดเพื่อไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องรับยาไปตลอดชีวิต
  • ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาคือทำให้มีเลือดออกง่าย
    • หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้หยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
      • – เลือดออกตามไรฟัน, เลือดกำเดาไหล, มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง
      • – ประจำเดือนปริมาณมาก
      • – มีเลือดในเยื่อบุตา
      • – อาเจียนเป็นเลือด
      • – มีเลือดออกทางปัสสาวะ
      • – ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีคล้ำ
      • – มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น บาดแผลเลือดออกมาก
    • ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุและการกระทบกระเทือน เช่น การล้มกระแทกพื้นอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายใน
    • ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, ถอนฟันหรือทำหัตถการรุกล้ำที่จะต้องมีบาดแผล จะต้องแจ้งให้บุคลากรการแพทย์ทราบทุกครั้งว่ารับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-41

error: Content is protected !!