โรคต้อหิน

โรคต้อหินเป็นความผิดปกติที่เกิดจากการเสื่อมของขั้วประสาทตา ทำให้การมองเห็นเสื่อมลงจนตาบอดในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษา

ภาพด้านบนเป็นภาพที่ได้จากจากการตรวจจอประสาทตา. ขั้วประสาทตาปกติจะเห็นเป็นวงกลมสีส้มสว่าง มีเส้นเลือดแตกแขนงออกมาอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่มีความเสื่อมจากต้อหิน, ขั้วประสาทตาจะมีอาการเว้าตัว (cupping) เห็นเป็นวงออกสีขาวด้านใน และมีเส้นเลือดที่มีลักษณะผิดปกติ

การแบ่งประเภทของต้อหิน

  • ต้อหินแบบมุมเปิด (Open-angle glaucoma) มีลักษณะจำเพาะคือมีการสูญเสียการมองเห็นรอบนอกของลานสายตา ตามด้วยการสูญเสียการมองเห็นกลางลานสายตา ต้อหินแบบมุมเปิดมักเกิดร่วมกับภาวะความดันในลูกตาสูงขึ้นแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกราย
  • ต้อหินแบบมุมปิด (Angle-closure glaucoma) เกิดจากมุมของช่องด้านหน้าลูกตา (anterior chamber) แคบลงหรือปิดทำให้การระบายน้ำในลูกตาขัดข้องและเกิดภาวะความดันในลูกตาสูงซึ่งส่งผลให้เกิดการทำลายขั้วประสาทตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ต้อหินแบบมุมปิดอาจเกิดขึ้นแบบเรื้อรังซึ่งจะไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็นในระยะแรกหรือแบบเฉียบพลันซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นทันทีคือตาแดงและปวดตาอย่างรุนแรง ต้อหินแบบเฉียบพลันต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันไม่ให้ตาบอดอย่างถาวร
  • ต้อหินทั้งแบบมุมเปิดและมุมปิด สามารถแบ่งตามสาเหตุออกเป็นต้อหินปฐมภูมิคือต้อหินที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และต้อหินทุติยภูมิคือต้อหินที่เป็นผลตามมาจากการอักเสบในลูกตา, การได้รับบาดเจ็บที่ลูกตา, ผลข้างเคียงของยาบางชนิดเช่น สเตียรอยด์, หรือโรคร่วมบางอย่าง
  • โรคต้อหินในทารกและเด็กสามารถพบได้ประปรายซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด         

อาการของโรคต้อหิน

กรณีที่ผู้ป่วยเป็นต้อหินแบบมุมปิดชนิดเฉียบพลัน (Acute angle-closure glaucoma) ผู้ป่วยจะมีอาการจากความดันลูกตาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้แก่อาการปวดตา ตาแดง ตามัว เห็นแสงเป็นวงรอบดวงไฟ(Halos), ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน

แต่ในกรณีที่ความดันลูกตาค่อยๆเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลยจนกระทั่งการเสื่อมของขั้วประสาทตาดำเนินไปมากซึ่งจะทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยบกพร่องลงโดยมีการมัวรอบนอกของลานสายตาและลานสายตาแคบเข้ามาเรื่อยๆจนนำไปสู่การตาบอดในที่สุด

การวินิจฉัยโรคต้อหิน

จักษุแพทย์จะทำการตรวจตาอย่างละเอียด ประกอบด้วย

  1. การวัดสายตา
  2. การตรวจม่านตา
  3. การวัดความดันในลูกตา
  4. การตรวจด้วย slit-lamp เพื่อตรวจช่องด้านหน้าของลูกตา
  5. การตรวจลานสายตา
  6. การขยายม่านตาเพื่อตรวจจอตาและขั้วประสาทตา
  7. การตรวจพิเศษทางจักษุวิทยาอื่นๆตามความเหมาะสม

การรักษาโรคต้อหิน

การรักษาโรคต้อหินมีตั้งแต่การใช้ยาควบคุมความดันลูกตา, การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser peripheral iridotomy , Selective laser trabeculoplasty) หรือการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำในตา (Trabeculectomy) ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ผลการรักษาและการทำนายโรคต้อหิน

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษาโรคต้อหินคือการได้รับการวินิจฉัยโรคและรักษาแต่เนิ่นๆ เพราะหากขั้วประสาทตาถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาเป็นปกติได้ ดังนั้นผู้ที่มีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นต้อหินเฉียบพลันควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อการนินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการใดๆก็ควรรับการตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยบุคคลทั่วไปแนะนำให้ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ในปัจจุบันสามารถตรวจโรคต้อหินอย่างละเอียดโดยเครื่องสแกนวิเคราะห์ขั้วประสาทตา ( Optical Coherence Tomography ) เครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา (Fundus Photography) และเครื่องตรวจลานตา (Visual field test) ทำให้สามารถตรวจพบต้อหินได้ตั้งแต่แรกเริ่มส่งผลให้การรักษาได้ผลดี

ข้อควรระวังในผู้ป่วยที่มีเป็นต้อหินชนิดมุมตาแคบ

ผู้ป่วยต้องระมัดระวังการใช้ยาเนื่องจากยาหลายชนิดเช่น ยาแก้เมารถเมาเรือ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยาต้านซึมเศร้าหรือยาทางจิตเวชบางชนิดอาจส่งผลกระตุ้นให้เกิดอาการต้อหินรุนแรงเฉียบพลันได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20831, 20832

 

PI-EYE-04/Rev.1

error: Content is protected !!