การผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางปากไร้แผลเป็น (Transoral Endoscopic Thyroidectomy Vestibular Approach  : TOETVA )

  • โรคของต่อมไทรอยด์

       ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อมีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ส่วนล่างลำคอด้านหน้า มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วนประมาณ 4:1 และก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งประมาณ 5-10% ในกรณีที่พบว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือทั้งหมดขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของต่อมไทรอยด์

  • การผ่าตัดไทรอยด์โดยส่องกล้องทางปาก

    เป็นทางเลือกหนึ่งในการผ่าตัดซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลเป็นที่ลำคอเนื่องจากแผลผ่าตัดจะอยู่ที่เยื่อบุช่องช่องปาก การผ่าตัดผ่านกล้องทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของอวัยวะต่างๆได้ชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากเป็นการมองภาพขยายขนาดบนจอภาพ นอกจากนั้นผู้ป่วยจะมีความปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าและระยะเวลาการพักฟื้นสั้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
preparation of instruments on an operating table using the laparoscopic technique
  • ผู้ป่วยที่เหมาะแก่การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น ได้แก่
    • ผลการตรวจอัลตราซาวนด์พบว่าก้อนที่ไทรอยด์มีขนาด 4-6 เซนติเมตร
    • มีผลตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าไม่ใช่มะเร็ง
    • ผู้ป่วยไม่ได้เคยรับการผ่าตัดหรือการฉายแสงที่บริเวณคอหรือคางมาก่อน
    • ผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการดมยาสลบเพื่อผ่าตัด
  • การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
  1. ก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์, ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด, ตรวจปัสสาวะ, ภาพเอกซเรย์ทรวงอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมถ้าจำเป็น
  2. การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัดเหมือนการผ่าตัดแบบผู้ป่วยในทั่วไป อ่านรายละเอียดได้จากบทความนี้ “การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดแบบผู้ป่วยใน”
  3. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสภาวะเป็นไทรอยด์เป็นพิษต้องรักษาด้วยยาจนค่าฮอร์โมนคงที่ก่อนการผ่าตัด

 หลังผ่าตัดควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. หลังผ่าตัดจะมีผ้าก๊อซกดใต้คางประมาณ 1 วัน เพื่อป้องกันเลือดคั่ง
  2. ผู้ป่วยอาจรู้สึกขัดตึงคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอหรือมีเสียงเปลี่ยนไป ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
  3. ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะและควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดเช่น พาราเซตามอลเมื่อจำเป็นได้
  4. ในวันแรกหลังผ่าตัดจะมีการให้สารละลายทางเส้นเลือด เมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ดีพอควรแพทย์จะเอาสายให้น้ำเกลือออก
  5. หลังผ่าตัดจะมีการใส่สายระบายไว้ที่คอ 1 วัน และแพทย์จะถอดสายออกให้หลังจากตรวจว่าแผลผ่าตัดปกติดี
  6. ควรหลีกเลี่ยงการไอหรือเค้นคอแรงๆ, การออกแรงมาก, การเล่นกีฬา, หรือยกของหนักหลังผ่าตัดภายใน 7 วันแรก เพราะอาจทำให้แผลผ่าตัดแยกออกได้
  7. ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้มหรือขนมปังนิ่มๆ หลีกเลี่ยงการประทานอาหารที่แข็งหรือรสเผ็ดอย่างน้อย 3 วัน
  8. การรักษาขั้นตอนต่อไปขึ้นอยู่กับผลการตรวจชิ้นเนื้อซึ่งพยาธิแพทย์จะรายงานให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดทราบภายใน 3 – 5 วัน
  9. แพทย์จะนัดตัดไหมในช่องปากประมาณ 7 – 10 วัน

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกศัลยกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-34/Rev.1

English topic

แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น  (Peptic ulcer)

สาเหตุที่พบบ่อยอย่างหนึ่งของอาการปวดท้องเรื้อรังคือโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Peptic ulcer อ่านว่า เป๊ปติค อัลเซ่อร์) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โรคกระเพาะ” คืออาการปวดท้องที่เกิดจากการมีแผลเกิดขึ้นในผนังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้มีอาการ ปวดท้อง, จุกเสียด, แน่นท้อง,ท้องอืด อาหารไม่ย่อย บางรายที่เป็นมากอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหารทำให้มีถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

สาเหตุ

  • การติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นโดยเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Helicobactor pylori (เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี) หรือชื่อย่อ H.pylori (เอช. ไพลอรี) ซึ่งในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นพบว่ามีเชื้อตัวนี้มากถึง 50%
  • เชื้อ H.pylori ทำให้เกิดแผลในเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้จากหลายกลไก เช่น การทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุ,ทำให้ความแข็งแรงของชั้นเยื่อบุลดลงเยื่อบุกระเพาะและลำไส้เล็กจึงถูกกัดกร่อนโดยกรดในกระเพาะอาหาร และตัวเชื้อโรคเองกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้นกว่าปกติ
  • การใช้ยา(drug use) ยาที่เป็นสาเหตุมากที่สุดของโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นคือยากลุ่ม NSAIDs (ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) ซึ่งเป็นยาที่มักใช้ลดอาการปวดกระดูกสาเหตุรองลงมาเป็นยากลุ่มอื่นๆเช่น สเตียรอยด์, แอสไพริน, ยาต้านอาการซึมเศร้า ประเภท SSRIs (selective Serotonin Reuptake Inhibitors), ยาเสริมสร้างเนื้อกระดูกเช่น alendronate (Fosamax) เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยง (Risk factors)

พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเป็นแผลในกระเพาะอาหารฯเพิ่มขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้นและการหายของโรคเป็นไปได้ยากขึ้น ได้แก่

  • การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นในผู้ที่มีการติดเชื้อ H.pylori อยู่แล้ว
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร, ระคายเคืองเยื่อเมือกที่ปกคลุมเยื่อบุทางเดินอาหาร, และทำให้เยื่อบุเสียสภาพ
  • ความเครียดเรื้อรัง ส่งผลทำให้ปริมาณกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
  • การรับประทานอาหารเผ็ดจัด ทำให้ระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น

แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

  • เลือดออกในทางเดินอาหาร
    • การตกเลือดเฉียบพลันคือมีเลือดออกปริมาณมากอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดมากทันทีจนอาจมีอาการหมดสติหรือช็อคได้ 
    • เลือดออกเรื้อรังคือการมีเลือดออกจากแผลในทางเดินอาหารในปริมาณน้อยๆแต่เป็นอยู่นานเรื้อรังซึ่งมักทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ร่วมด้วย 
  • การทะลุของแผลในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหารส่วนต้น (Perforated peptic ulcer)
    กรณีที่ผู้ป่วยเป็นแผลในกระเพาะอาหารมานานหรือแผลมีขนาดใหญ่และลึกอาจทำให้เกิดการทะลุของผนังกระเพาะอาหารได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและเฉียบพลันเป็นกรณีที่ต้องทำการผ่าตัดเร่งด่วน 

การวินิจฉัยโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น

  1. การทดสอบเชื้อ H.pylori แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจการติดเชื้อ H.Pylori ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายด้วยการตรวจลมหายใจ (Breath test) 
  2. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร (Endoscopy) คือการตรวจโดยใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อยาวทำจากไฟเบอร์ออพติกสอดเข้าไปในปากผ่านหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารเพื่อตรวจดูแผลหรือความผิดปกติใดๆ ของผนังด้านในของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารมีข้อดีคือแพทย์สามารถเห็นรอยโรคโดยตรงทำให้ได้การวินิจฉัยที่แน่ชัดและสามารถประเมินความรุนแรงของโรคได้ อีกทั้งในกรณีที่พบแผลในเยื่อบุทางเดินอาหารหรือความผิดปกติเช่น ติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาและตรวจหาเชื้อ H.pylori 
  3. การเอ็กซเรย์ทางเดินอาหารส่วนต้นโดยการกลืนสารทึบรังสี (Barium swallow or upper GI series) เป็นวิธีการตรวจแบบดั้งเดิม โดยสารทึบรังสี(contrast media) ที่กลืนลงไปเคลือบด้านในของทางเดินอาหารจะทำให้เห็นขอบเขตของผิวด้านในทางเดินอาหารจากภาพเอ็กซเรย์ ซึ่งหากมีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นก็จะสามารถวินิจฉัยได้ แต่ในปัจจุบันการตรวจนี้แทบไม่มีที่ใช้แล้วยกเว้นในบางกรณีเช่นการตรวจหลังการผ่าตัดตัดต่อกระเพาะลำไส้ 

การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น

  1. การลดสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น การลดและการหยุดใช้ยาที่ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร, การหยุดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ลดความเครียด งดอาหารรสเผ็ดจัด 
  2. การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ H.pylori ในผู้ป่วยที่พบว่ามีเชื้อตัวนี้อยู่. การกำจัดเชื้อมีประโยชน์ทำให้แผลหายเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาสั่งยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยรับประทานต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์ ร่วมกับการใช้ยาลดกรดเพื่อกำจัดเชื้อ H.pylori 
  3. ยาลดกรดซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างกรดได้ดีทำให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นสมานตัวได้เร็วคือยาลดกรดกลุ่ม  PPI (Proton Pump Inhibitor)  ผู้ป่วยควรรับประทานยาลดกรดต่อเนื่องตั้งแต่ 2-12 สัปดาห์ตามที่แพทย์สั่งยา(ผู้ป่วยแต่ละรายอาจใช้ระยะเวลาในการรักษาโรคต่างกัน) 

การดำเนินโรคและผลการรักษา

การใช้ยาลดกรดร่วมกับการกำจัดเชื้อ H.pyloriและการลดและกำจัดปัจจัยเสี่ยงในผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นให้ผลการรักษาที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการกำจัดเชื้อ H.pylori ได้หมดจดจะมีอัตราการหายของแผลมากกว่า 90%  อัตราการกลับเป็นซ้ำใหม่ของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นในปีแรกหลังการรักษาพบได้ 5-30% ขึ้นกับปัจจัยสำคัญคือการติดเชื้อ H.pylori ว่ายังคงมีอยู่หรือไม่และการกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆเช่นการใช้ยา NSAIDs และยาตัวอื่นๆที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร, การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20801, 20802

PI-GIC-14

error: Content is protected !!