ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

น้ำตาลกลูโคสมีความสำคัญต่อร่างกายเนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ค่าระดับกลูโคสในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานควรสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ระดับกลูโคสในเลือดของคนทั่วไปควรสูงกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์โดยใช้ยาและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดซึ่งหากมีปัจจัยใดๆที่มีผลต่อน้ำตาลในเลือด เช่น การมีกิจกรรมมากขึ้นกว่าปกติ, การเจ็บป่วย, การรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติหรือรับประทานผิดเวลา เหล่านี้ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกมีอาการใจสั่น, มือสั่น, หิว, วิงเวียน, รู้สึกเหมือนจะเป็นลม, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือชัก

ทำไมจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ระดับกลูโคสในเลือดที่ปกติในผู้ป่วยเบาหวานได้จากความสมดุลระหว่างปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป, กิจกรรมที่กระทำ, ยาเบาหวานที่ใช้, และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง

หากมีการเสียสมดุลของปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น 

  • ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยกว่าเดิม, มื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนออกไปในขณะที่ยังรับประทานยาหรือฉีดยาเบาหวานตามเวลาปกติ
  • ผู้ป่วยมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น, มีการยกของหนัก, จัดบ้าน, อาบน้ำสุนัข, ล้างรถเป็นต้น ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่ทันรู้ตัวว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้มีการใช้พลังงานมากกว่าที่เคยเป็น
  • ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารและใช้ยาเบาหวานตามปกติแต่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นเช่นเป็นหวัดหรือท้องเสีย ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งควรใส่ใจระมัดระวังดูแลเป็นพิเศษได้แก่

  • ผู้ป่วยสูงวัย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับ, โรคไต
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินชนิดฉีด หรือยาเบาหวานกลุ่ม sulfonyluria เช่น Daonil, Minidiab, Diamicron, Amaryl, และยา Novonorm ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Glinide
  •  ผู้ป่วยที่ควบคุมเบาหวานอย่างเข้มงวดมากโดยกำหนดระดับเป้าหมาย HbA1c และระดับน้ำตาลในเลือดที่ใกล้เคียงระดับปกติมาก
  • ผู้ป่วยที่เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยเฉพาะระดับรุนแรงหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่ไม่มีอาการเตือนเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรทำอย่างไร

แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย

ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็ว 15 กรัม แล้วสังเกตอาหารหรือเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็วอีก 15 กรัม จนกว่าอาการจะหายไปหรือได้ค่าน้ำตาลมากกว่า 70 mg/dl หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วให้รับประทานคาร์บไฮเดรตชนิดดูดซึมช้า เช่น ขนมปัง ผลไม้หรือข้าว เพื่อป้องกันน้ำตาลตกซ้ำ

ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว ปริมาณ 15 กรัม ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตดูดซึมช้า ปริมาณ 15 กรัม
ลูกอม 3 เม็ด
น้ำผลไม้ 1 กล่อง
น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
ขนมปัง 1 แผ่น
กล้วยหรือแอ๊ปเปิ้ล 1 ผล
โยเกิร์ต 200 กรัม
ข้าวต้มหรือโจ๊ก 1/2 ถ้วย

ผู้ป่วยหมดสติไม่รู้สึกตัว ให้ผู้ดูแลหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์โทร 1669 แจ้งเหตุฉุกเฉินผู้ป่วยหมดสติ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรมีเครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ผู้ป่วยควรพกลูกอมหรือน้ำผลไม้ติดตัวไว้รับประทานเมื่อเกิดอาการ


 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-10

English topic

โรคเบาหวาน

เบาหวานคือโรคที่ร่างกายมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากความบกพร่องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยฮอร์โมนอินซูลิน

อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล)ที่รับประทานจะถูกย่อยโดยทางเดินอาหารกลายเป็นกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาสู่กระแสเลือด อินซูลินจะไปไปจับกับตัวรับอินซูลินที่ผิวเซลล์ต่างๆในร่างกายกระตุ้นให้เกิดกระบวนการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำลง

กลุ่มโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น

เบาหวานชนิดที่ 1  พบได้น้อยกว่าชนิดที่สอง เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตั้งแต่อายุน้อย

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยเกิดจากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้แม้ว่ามีระดับอินซูลินในเลือดสูงก็ไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เบาหวานชนิดที่ 2 พบในผู้ใหญ่และสัมพันธ์กับโรคอ้วน ผู้ป่วยมักมีปัญหาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งมักเรียกกันว่า กลุ่มอาการเมตาบอลิค

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) คือการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากสภาวะความทนน้ำตาลผิดปกติ (glucose intolerance) ที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์โดยผู้ป่วยไม่เคยเป็นมาก่อน มักพบในไตรมาสสามของการตั้งครรภ์และหายเองได้หลังคลอด

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นหลักเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนทั่วไป

อาการของโรคเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวานขึ้นกับระดับน้ำตาล ผู้ที่เป็นเบาหวานอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยถ้าระดับน้ำตาลสูงปานกลาง แต่หากระดับน้ำตาลขึ้นสูงมากผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • กระหายน้ำผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ไม่ได้อดอาหาร
  • รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
  • แผลหายช้าผิดปกติ
  • มีการติดเชื้อง่ายขึ้น

การดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้นได้อย่างไร

การดื้อต่ออินซูลินคือการที่ตับอ่อนสามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในการนำกลูโคสเข้าเซลล์จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของเบาหวานชนิดที่สองคือโรคอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้วนที่มีไขมันในช่องท้องปริมาณมาก ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การรับประทานน้ำตาลและแป้งขัดขาวปริมาณมากเป็นประจำ, การมีประวัติเบาหวานในครอบครัว, การมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตแบบไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย, อายุมาก, การใช้ยาบางอย่างเช่น สเตียรอยด์, การนอนหลับที่ไม่เพียงพออย่างเรื้อรัง, การสูบบุหรี่

ผลระยะยาวของโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุม

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการแข็งตัวของเส้นเลือดหรือ atherosclerosis, มีการอักเสบในระดับเซลล์ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นเลือดซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่แสดงอาการใดในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเส้นเลือดเกิดการเสื่อมถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายของเส้นเลือดทั่วร่างกาย ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมอง  ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากความเสื่อมของเส้นเลือดในสมอง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง
  2. เบาหวานขึ้นตา เกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดความเสื่อมของจอประสาทตา, มีเลือดออกในจอประสาทตาและมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทำให้การมองเห็นลดลงจนกระทั่งตาบอดในที่สุด คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานขึ้นตา
  3. โรคหลอดเลือดหัวใจ การเสื่อมของหลอดเลือดจากโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงและหากอาการเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ
  4. ไตวายเรื้อรัง ไตเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมาก การมีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังจากเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีส่งผลให้เส้นเลือดที่ไตเสียหาย การทำงานของไตจะพร่องลงทีละน้อยจนในที่สุดผู้ป่วยจะเกิดภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระแก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวอย่างมากเนื่องจากผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายต้องมีการฟอกไตเป็นประจำสัปดาห์ละ 3 วันหรือการปลูกถ่ายไตซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานกับโรคไต
  5. การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในเพศชายการเสื่อมของหลอดเลือดแดงจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังจะทำให้มีผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ
  6. แผลที่เท้า เนื่องจากการเสื่อมของเส้นเลือดแดงส่วนปลายทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงนิ้วเท้าและฝ่าเท้าร่วมกับการที่ผู้ป่วยมีการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจากการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย และแผลหายยาก ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายจึงเป็นแผลเรื้อรังที่เท้าซึ่งในบางรายลุกลามไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือการเน่าของแผลทำให้ต้องตัดขา

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-04

English topic

ความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง   หมายถึง ภาวะความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure)  ที่สูงกว่า 140  มม.ปรอท หรือมีระดับความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic blood pressure) สูงกว่า 90  มม.ปรอท โดยหากทำการวัดความดันโดยใช้เครื่องวัดความดันชนิดพกพาที่บ้าน จะใช้เกณฑ์ความดันสูงผิดปกติต่ำลงโดยใช้ความดันตัวบนที่มากกว่า 135 มม.ปรอท หรือ ความดันตัวล่างสูงกว่า 85 มม.ปรอท

การที่มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อการเสื่อมของระบบเส้นเลือดในร่างกาย และเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ไตวายและจอตาเสื่อม ซึ่งเป็นผลจากการที่อวัยวะดังกล่าวต้องทนแรงดันสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน 

จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจของประชาชนไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง และหากสามารถควบคุมโรคความดันโลหิตสูงให้ได้ตามเป้าหมาย จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรได้ ปัญหาที่ส่งผลต่อการควบคุมโรคความดันโลหิตสูงได้ไม่ดี เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันสูงไม่เคยทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือตรวจพบความดันโลหิตสูงแต่ไม่ได้ตระหนักเนื่องจากผู้ที่ความดันสูงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ทำให้ไม่ได้รับการติดตามอาการหรือรักษาอย่างต่อเนื่อง และมักจะมาพบแพทย์อีกครั้งเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากความดันสูงเกินขึ้นแล้ว 

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อย และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ ดังนั้นการวัดความดันจึงเป็นสิ่งสำคัญแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติก็ตามเพื่อค้นหาผู้ที่มีความดันสูงและรับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น 

คำแนะนำในการวัดความดันโลหิต
1. งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย  หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ภายใน 30 นาทีก่อนที่จะวัดความดันโลหิตหากมีอาการปวดปัสสาวะควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน ควรใช้เครื่องมือที่เชื่อถือได้ และควรตรวจสอบแถบพันแขนว่าเหมาะสมกับขนาดต้นแขน  

2. นั่งพักบนเก้าอี้ที่มีมีพนักพิง อย่างน้อย 5 นาที วางแขนข้างที่วัดความดันบนที่ราบ ต้นแขนที่พันสายวัดความดันอยู่ในระดับหัวใจ เท้าทั้งสองข้างวางราบบนพื้น ไม่ควรวัดความดันผ่านแขนเสื้อ ขณะวัดความดันไม่เกร็งแขนหรือกำมือและงดพูดคุย

3. ควรวัดความดันเลือดอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และ 2 ครั้งในช่วงเย็น โดยแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 1 นาที และบันทึกทุกค่าที่วัดได้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการติดตามการรักษา 

4. ในการประเมินผู้ป่วยครั้งแรกหรือในผู้ที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงครั้งแรก แนะนำให้วัดความดันโลหิตที่แขนทั้งสองข้าง โดยค่าปกติความดันระหว่างแขนทั้งสองข้างจะต่างกันไม่เกิน 20/10 มม.ปรอท(ความดันตัวบนระหว่างแขนทั้งสองต่างกันไม่เกิน 20 มม.ปรอทและความดันตัวล่างไม่เกิน 10 มม.ปรอท) 

5. หากความดันตัวบนระหว่างแขนทั้ง 2 ข้างต่างกันมากกว่า 10 มม.ปรอท ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ ในการวัดความดันครั้งต่อไป แนะนำให้วันความดันโดยใช้แขนข้างที่ความดันสูงกว่า 

การจำแนกสภาวะความดันโลหิตในผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป

เกณฑ์SBP
มม.ปรอท
DBP
มม.ปรอท
ดีมาก (Optimal)<120และ<80
ปกติ (Normal)120-129และ/หรือ80-84
ปกติค่อนข้างสูง130-139และ/หรือ85-89
ความดันโลหิตสูงระดับ 1140-159และ/หรือ90-99
ความดันโลหิตสูงระดับ 2160-179และ/หรือ100-109
ความดันโลหิตสูงระดับ 3=> 180และ/หรือ=> 110
ความดันโลหิตสูงเฉพาะค่าบน=> 140และ<90
ข้อมูลโดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย 

หมายเหตุ :  

  1. หากความดันโลหิตสูงกว่า 180/110 มม.ปรอทถือว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน 
  1. เมื่อความรุนแรงของความดันตัวบน และ ความดันตัวล่างอยู่ในระดับต่างกัน ให้ถือระดับที่รุนแรงกว่าเป็นเกณฑ์ เช่น วัดความดันได้ 142 / 105 มม.ปรอท ให้นับเป็นภาวะความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 
  1. High normal blood pressure (ระดับความดันโลหิตในเกณฑ์เกือบสูง) หมายถึง ค่าความดันโลหิตเฉลี่ยจากการตรวจครั้งแรกที่สถานพยาบาลมีค่าตั้งแต่ 130/80 มม.ปรอท ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 140/90 มม.ปรอทหากตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ 

หากพบว่ามีความดันโลหิตสูงควรทำอย่างไร 

1. คำแนะนำคือควรติดตามวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าระดับยังสูง ควรปรึกษาแพทย์ และไม่ควรประมาท เนื่องจากโรคความโลหิตดันสูงเป็นโรคที่รักษาได้ และเมื่อได้รับการรักษาที่ทันเวลา และถูกต้องจะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

2. สิ่งที่ท่านควรทราบคือระดับความดันโลหิตซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นค่าที่ปลอดภัยจากโรคแทรกซ้อนจะอยู่ในช่วงระดับ 120 / 80 มม.ปรอท แต่เนื่องจากระดับความดันโลหิตที่เป็นเป้าหมายในการรักษานั้นแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์ผู้ดูแลรักษาจะเป็นผู้พิจารณาให้ท่านเอง 

3. ระดับความดันโลหิตนั้นมีการขึ้นลงได้ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งจะเปลี่ยนตามกิจกรรมที่ทำ รวมถึงอารมณ์และความเครียด ดังนั้นการวัดความดันโลหิตที่แนะนำคือ ให้วัดช่วงที่หยุดพักจากกิจกรรมอื่นๆอย่างน้อย 5 นาที ในกรณีที่ใช้เครื่องวัดความดันชนิดอัตโนมัตินั้นเครื่องรุ่นใหม่พบว่ามีมาตรฐานดีและสามารถเชื่อถือได้ แต่ควรเลือกเครื่องวัดความดันชนิดวัดที่ต้นแขน (เนื่องจากเครื่องวัดความดันที่ข้อมืออาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้มากกว่า) โดยวัดอย่างน้อย 2 ครั้งให้ห่างกันประมาณ 1 นาที บันทึกค่าที่วัดได้ทั้งหมด เพื่อนำมาให้แพทย์ที่ดูแลทราบ และถึงแม้จะไม่มีอาการแสดง ก็ควรวัดความดันไว้เป็นประจำ 

4. เมื่อท่านต้องการลดระดับความดันโลหิต สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การปรับพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่เค็ม ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การพักผ่อนให้เพียงพอ การควบคุมน้ำหนัก เป็นเวลา 3-6 เดือน แล้วลองติดตามวัดความดันโลหิตดู หากไม่ลดลงจึงจำเป็นต้องใช้ยายกเว้นในบางสภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงหรือมีโรคแทรกซ้อนซึ่งแพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาในระยะแรกทันทีเพื่อความปลอดภัย 

5. ข้อพึงระวังคือเมื่อรักษาไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยมักจะรู้สึกว่าไม่มีอาการผิดปกติจึงให้ไม่อยากทานยาต่อเนื่อง บางท่านลองลดยา หรือหยุดยาเอง ซึ่งการขาดยาทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ โรคหลอดเลือดสมอง จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนปรับยา 

สาเหตุของความดันโลหิตสูง 

  1. ความดันโลหิตสูงชนิดไม่มีสาเหตุ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงส่วนมากเป็นชนิดที่ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดและมักมีประวัติคนในครอบครัวมีความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้พบได้ถึง ร้อยละ 90 และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 
  1. ความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุ และอาจจะรักษาให้หายได้โดยใช้ยาเฉพาะหรือการทำหัตถการชนิดพิเศษ โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นความดันสูงชนิดนี้ได้แก่ 
  1. ความดันสูงตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปในผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี หรือความดันสูงในเด็ก 
  1. ผู้ที่มีความดันสูงเฉียบพลัน หรือความดันที่สูงขึ้นผิดปกติจากค่าเดิม 
  1. ความดันโลหิตสูงที่ได้รับยามากกว่า 3 ชนิดแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันให้ได้ตามเกณฑ์ 
  1. ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปหรือมีความดันสูงแบบฉุกเฉิน 
  1. ความดันโลหิตสูงร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนในหลายอวัยวะ 
  1. อาการที่บ่งบอกถึงโรคทางต่อมไร้ท่อ หรือโรคไต 
  1. ความดันโลหิตสูงร่วมกับอาการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ 
  1. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวความดันโลหิตสูงจากสาเหตุที่แน่ชัด 
  1. ยาหรือสารเคมีบางชนิดสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงได้ เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยาลดน้ำมูก ยาลดน้ำหนัก สารเสพติด ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด ยารักษามะเร็งบางชนิด ยาแก้ปวดบางชนิด สมุนไพรบางชนิด ยาฆ่าเชื้อบางชนิด 
ช่วงอายุ  สาเหตุของความดันโลหิตสูง 
< 18 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ -โรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม 
19-40 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ 
41-65 ปี -ความผิดปกติของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต -ความผิดปกติของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง -โรคนอนกรน -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ 
>65 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ -ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ 

การรักษาระดับความดันโลหิตให้ถึงเป้าหมายทำได้อย่างไร 

ารรักษาระดับความดันโลหิตให้ถึงเป้าหมายนั้นจะต้องควบคุมความดันโลหิตของท่านให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่ออวัยวะต่างๆในร่างกายซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ไต และตา ซึ่งจะส่งผลทำให้ท่านทุพพลภาพ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จะเป็นชนิดไม่มีสาเหตุ (Essential hypertention) และไม่สามารถรักษาให้หายขาด ดังนั้นการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ดีต่อเนื่อง และควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆจึงเป็นวิธีเดียวที่สามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ 

“ความดันโลหิตสูงเพชฌฆาตเงียบ…น่ากลัวกว่าที่คิดเราสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนที่น่ากลัวเช่นอัมพาตและโรคหัวใจได้…หากท่านใส่ใจดูแลพบแพทย์สม่ำเสมอและรักษาให้ระดับความดันโลหิตอยู่ในเป้าหมายสำหรับระดับความดันโลหิตของท่านควรเป็นเท่าไหร่นั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ให้คำตอบแก่ท่านได้ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละท่านมีภาวะ หรือโรคประจำตัวต่างๆที่ส่งผลให้เป้าหมายความดันแตกต่างกันในแต่ละคน” 

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง 

  • การปรับพฤติกรรมให้ทำทุกรายแม้ในรายที่ยังไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะช่วยป้องกัน และชะลอการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ 
  • การให้ยาลดความดันโลหิต อาจจะไม่จำเป็นต้องรีบเริ่มยาทุกราย ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงบางรายอาจไม่ต้องใช้ยา หากสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

ตารางปรับพฤติกรรมในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง 

วิธีการ ข้อแนะนำ ประสิทธิภาพของการลด ความดันโลหิตตัวบน 
การลดน้ำหนัก ให้ดัชนีมวลกาย (Body mass index)  อยู่ในช่วง 18.5 – 23.0 สำหรับผู้ที่มีดัชนีมาลกายเกินเกณฑ์ การลดน้ำหนัก 1 กก.สามารถลดความดันได้ประมาณ 1 มม.ปรอท ˜ 5 มม.ปรอท 
ใช้ DASH diet (Dietary Approach to Stop Hypertention)* ให้รับประทานผัก,ผลไม้ที่ไม่หวานจัด,ธัญพืช ลดปริมาณไขมันในอาหาร โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ˜ 11 มม.ปรอท 
จำกัดเกลือในอาหาร – ลดการรับประทานเกลือโซเดียมให้น้อยกว่า 2.4 กรัมต่อวัน – ถ้าความดันโลหิตสูงมากหรือมีโรคประจำตัว ควรจำกัดโซเดียมไว้น้อยกว่า 1.5 กรัมต่อวัน ˜ 5/6 มม.ปรอท 
การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายแบบ Cardio  อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว (อย่างน้อย 5 วันต่ออาทิตย์ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน) ˜ 5 มม.ปรอท 
งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ – สำหรับผู้ชายให้จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 drink / วัน – สำหรับผู้หญิงให้จำกัดการดื่มไม่เกิน  1 drink / วัน ˜ 4 มม.ปรอท 
*สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ DASH diet สามารถค้นหาเพิ่มได้ที่ https://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/dash 

อาหารที่พึงระวัง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 

  • อาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น ของหมักดอง  อาหารกระป๋อง ไส้กรอก 
  • อาหารขบเคี้ยว บรรจุถุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น มันฝรั่งทอด ข้างเกรียบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 
  • เครื่องปรุงรส เช่น ซอสปรุงรส น้ำปลา เต้าเจี้ยว ซอสมะเขือเทศ เต้าหู้ยี้ น้ำมันหอย ซอสพริก กะปิ ปลาร้า ซุปก้อน ซุปผง น้ำพริกแกงสำเร็จ น้ำจิ้มและน้ำซุปชนิดต่างๆ 
  • สารปรุงแต่งต่างๆ ได้แก่ ผงชูรส ผงฟู สารกันบูด เนื่องจากอาหารเหล่านี้ มีโซเดียมสูงอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น โซเดียมไนเตรท โซเดียมไนไตรท์ โซเดียมคลอไรด์ โซเดียมคาร์บอเนต  โมโนโซเดียมกลูตาเมท โซเดียมซัลเฟต เป็นต้น 

วิธีดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงโดยทั่วไปมีวิธีการดังนี้ 

  • ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ ไม่ควรหยุดรับประทานยาเอง 
  • ควรลดอาหารเค็ม ลดเกลือโซเดียม ไม่ควรรับประทานอาหารรสเค็มจัด เช่น ปลาเค็ม เนื่อเค็ม ไข่เค็ม ฯลฯ ทานอาหารรสจืดจะเป็นผลดี รวมทั้งไม่ควรรับประทานผงชูรส ยาธาตุน้ำแดง อาหารกระป๋อง เพราะมีเกลือโซเดียมสูงจะทำให้ความดันความโลหิตสูงขึ้น และยาที่ใช้รักษาจะได้ผลน้อยลง 
  • ควรลดอาหารพวกไขมัน เช่น อาหารมัน ของผัดของทอด ของใส่กะทิ ขาหมู หมูสามชั้น และอาหารพวกแป้งและพวกน้ำตาล เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว มัน เครื่องดื่ม ของหวาน ผลไม้หวาน 
  • แนะนำให้ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะลดน้ำหนักเร็วเกินไป และไม่ควรทานยาลดน้ำหนัก 
  • ควรงดดื่มสุรา และสูบบุหรี่ 
  • ควรออกกำลังกายแบบ Cardio เป็นประจำเช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เป็นต้น ค่อยๆ เริ่มทีละน้อยๆ  ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยออกกำลังกายประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ 
  • ควรทำจิตใจให้สบาย ลดความเครียดจากการทำงาน หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น ควรทำสมาธิบริหารจิต หรือสวดมนต์ภาวนาตามศาสนาที่ตนนับถือเพื่อทำจิตใจให้สงบเยือกเย็น 
  • สำหรับสตรีที่ทานยาคุมกำเนิด ควรเปลี่ยนไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆแทน เช่นการใช้ถุงยางอนามัย การใส่หวงคุมกำเนิดหรือการทำหมัน เป็นต้น 
  • สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุก 3- 6 เดือน สำหรับผู้ที่อยู่ในระยะก่อนความดันโลหิตสูง 
  • ควรมาตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อดูอการแทรกซ้อนและผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น 
  • ในผู้ที่มีการนอนกรม หรือสงสัยภาวะทางเดินหายใจอุดตันระหว่างนอนหลับ (Sleep Apnea) แนะนำให้ตรวจ Sleep test เพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษาภาวะดังกล่าวไปพร้อมกันกับภาวะความดันโลหิตสูง 
  • คอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ตามัว ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ขาบวม ปัสสาวะไม่ออก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง เดินเซ หน้ามืด วิงเวียน ใจสั่น ถ้ามีอาการหรือไม่มั่นใจให้รีบมาปรึกษาแพทย์ทันที 
  • ถ้าผู้ป่วยวางแผนตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ให้มาปรึกษาแพทย์โดยเร็ว 

ยารักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วถึงเกณฑ์ต้องได้รับยาลดความดันโลหิต ควรรับประทานยาสม่ำเสมอและมาตรวจกับแพทย์ต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากหากควบคุมความดันได้ไม่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจวาย หัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง 

ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงมีหลายกลุ่ม ออกฤทธิ์ต่างๆกันไป บางชนิดเป็นยาขับปัสสาวะ บางชนิดเป็นยาชะลอการเต้นของหัวใจให้เต้นช้าลง บางชนิดเป็นยาขยายหลอดเลือด เนื่องจากยาลดความดันโลหิตมีหลายกลุ่มดังกล่าว แพทย์จึงจำเป็นต้องพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายๆไป  ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาของผู้อื่น และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกิดขึ้นได้ โดยผู้ป่วยบางรายได้รับยาเพียงชนิดเดียวก็สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี และอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ผู้ป่วยบางรายต้องใช้ยา 2 ชนิด หรือมากกว่านั้น ในการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยามื้อละหลายเม็ด อย่ารู้สึกเบื่อเสียก่อน ขอให้ทานยาต่อเนื่องไปทุกวันและตรงเวลาเพื่อเป้าหมายลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดได้ 

หากลืมทานยาและนึกขึ้นได้เมื่อใกล้ยามื้อต่อไปให้ทานเพียงยามื้อนั้นพอ โดยห้ามทานยาเพิ่ม 2 เท่า หากรู้สึกไม่สะดวกที่จะกินยาหลายๆเม็ด หรือกังวลเรื่องผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกยาใหม่ถ้าเป็นไปได้ และหากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หน้ามืด วิงเวียน แขนขาอ่อนแรง ขาบวม หรือ สงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการ  

ความเข้าใจผิดของผู้ป่วยที่พบได้บ่อยคือ ผู้ป่วยมักเข้าใจว่าถ้าหากทานยาลดความดันติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดโรคไตวายซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะยาสมัยใหม่มีผลข้างเคียงที่น้อยมากโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์ซึ่งการที่ไม่ทานยา และปล่อยให้ความดันโลหิตสูงจะมีผลเสียมากกว่าทั้งกับไต หัวใจ และสมอง 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12300, 12377

PI-CVI-15

ลดเค็มลดโรค

การกินเค็มเกินไปทำให้ปริมาณโซเดียมในร่างกายสูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูง, และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NCD หลายโรค เช่น โรคหัวใจ, โรคเส้นเลือดสมอง, และโรคไตวายเรื้อรัง ปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัมซึ่งเท่ากับเกลือแกงประมาณ 1 ช้อนชา แต่จากข้อมูลของ สสส. พบว่าชาวไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,400 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ควรจะเป็นมาก ดังนั้นการลดอาหารเค็มให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังหลายโรค

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุง

ปริมาณโซเดียมในอาหารไทย


การลดโซเดียม

  1. เลือกกินอาหารสดตามธรรมชาติ
  2. เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารกรุบกรอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
  3. ปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดการใช้เครื่องปรุง เช่น ไม่ปรุงเพิ่ม ลดซดน้ำซุป/น้ำแกง
  4.  ลดอาหารปิ้งย่าง –บุฟเฟต์ ,ลดปริมาณน้ำจิ้ม
  5. อ่านฉลากโภชนาการ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-47

English topic

error: Content is protected !!