ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อยเกิดจากการบวมของเส้นเลือดดำบริเวณรอบลำไส้ตรงและทวารหนัก ทำให้มีอาการได้แก่ มีเลือดออก โดยมักเป็นเลือดสีแดงสดออกตามหลังการถ่ายอุจจาระ, อาการปวดโดยเฉพาะหากเป็นริดสีดวงทวารชนิดมีก้อนเลือดภายใน (thrombosed hemorrhoids), มีก้อนยื่นจากทวารหนัก, มีอาการคันระคายเคือง
โครงสร้างของทวารหนัก
ทวารหนักคือส่วนปลายสุดของทางเดินอาหารถัดจากลำไส้ใหญ่ เป็นทางเปิดเพื่อขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกาย
ชนิดของริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น ริดสีดวงทวารภายใน และ ริดสีดวงทวารภายนอกจากตำแหน่งของริดสีดวงที่อยู่เหนือหรือใต้ต่อเส้นที่อยู่รอบปากทวารหนักที่เรียกว่า dentate line
ริดสีดวงทวารภายใน
เป็นริดสีดวงที่เกิดเหนือเส้น dentate line ทำให้ไม่มีอาการเจ็บปวดหรือระคายเคืองเนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณนี้ครอบคลุมโดยเส้นประสาทอวัยวะภายใน ริดสีดวงทวารภายในแบ่งออกเป็น 4 ระดับดังนี้
Grade 1 ริดสีดวงทวารไม่ย้อยลงมาต่ำกว่า dentate line ดังนั้นจะเห็นได้จากการตรวจด้วยเครื่องมือ proctoscopy ที่ใช้สำหรับตรวจทวารหนักเท่านั้น
Grade 2 ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนัก หลังถ่ายอุจจาระ
Grade 3 ริดสีดวงยื่นออกนอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระ และหลังถ่ายอุจจาระต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนัก
Grade 4 ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลา ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนัก หลังถ่ายอุจจาระ ไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการบีบรัด(strangulation)
ริดสีดวงทวารภายนอก
เป็นริดสีดวงทวารที่อยู่ต่ำกว่าเส้น dentate line ซึ่งเนื้อเยื่อบริเวณนี้จะมีเส้นประสาทจากไขสันหลังมาเลี้ยง (innervated) ซึ่งรับความรู้สึกเจ็บปวดได้ ริดสีดวงทวารภายนอกจึงมีอาการเจ็บปวดมากกว่าริดสีดวงทวารภายใน
ผู้ป่วยบางรายอาจมีริดสีดวงทวารทั้งชนิดภายในและภายนอกร่วมกันได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคริดสีดวงทวาร
เลือดออกตามหลังการถ่ายอุจจาระโดยไม่มีอาการเจ็บปวด. เลือดจากริดสีดวงทวารมักจะเป็นสีแดงสดเคลือบอยู่บนก้อนอุจจาระหรือหยดลงในโถส้วม
ก้อนเลือดในริดสีดวงทวาร (Thrombosis) ส่วนใหญ่มักเกิดกับริดสีดวงทวารชนิดภายนอกซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงมากแต่หากเกิดกับริดสีดวงทวารชนิดภายในจะปวดน้อยกว่า
การตรวจโรคริดสีดวงทวาร
แพทย์จะถามประวัติอาการ, ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจทางทวารหนักโดยใช้เครื่องมือ proctoscopy เพื่อประเมินชนิด, จำนวน, และตำแหน่งของริดสีดวงทวารหนัก
การรักษาโรคริดสีดวงทวาร
- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยลดอาการท้องผูกและทำให้อุจจาระนุ่มลง การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยลดอาการท้องผูกและทำให้อุจจาระนุ่มลง อาหารที่มีกากใยสูงเช่น ผักและผลไม้, ข้าวซ้อมมือ, ธัญพืชต่างๆ
- การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอจะช่วยกระตุ้นให้การทำงานของลำไส้เป็นปกติและลดอาการท้องผูก
- ดื่มน้ำให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร
- ไม่เบ่งหรือนั่งถ่ายนานเกินไปบนโถส้วม
- ลดอาหารมันและเครื่องดืมแอลกอฮอล์
- การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น (sitz bath) ช่วยลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนักและบรรเทาการอักเสบ
- การใช้ยารักษาริดสีดวงซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดอาการบวมของเส้นเลือดดำ ช่วยให้อาการบวมและปวดลดลง
- การฉีดก่อกระด้าง(sclerotherapy) ที่ทำให้ริดสีดวงฝ่อ เหมาะกับริดสีดวงชนิดภายในซึ่งเป็นไม่มาก
- การรัดหัวริดสีดวงด้วยแถบยาง (rubber band ligation) ทำให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดไป วิธีนี้เหมาะกับริดสีดวงชนิดภายในที่มีเลือดออก ให้ผลการักษาที่ดี
- การผ่าตัดริดสีดวง มีหลายวิธีเช่นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (conventional hemorrhoidectomy) , การผ่าตัดโดยใช้ลวดเย็บ(stapled hemorrhoidopexy) โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมตามชนิดและความรุนแรงของริดสีดวงทวาร
ลักษณะ | การรักษา |
1.ริดสีดวงอยู่เหนือ Dentate Line และไม่ยื่นออกมานอกขอบทวาร | รักษาแบบประคับประคองด้วยยา และหลีกเลี่ยงจากยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) และอาหารรสเผ็ดหรือไขมัน |
2.ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนักหลังถ่าย | รักษาโดยพิจารณาการทำหัตถการที่ไม่ต้องผ่าตัด ร่วมกับการใช้ยา |
3.ริดสีดวงยื่นออกนอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระ และหลังถ่ายอุจจาระต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนัก | รักษาโดยพิจารณาการทำหัตถการที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้ามีอาการมากพิจารณาผ่าตัด |
4.ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลา | ผ่าตัด |
การดูแลตนเองภายหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร
- พบแพทย์ตามนัดหมายหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปแล้วจนแผลหายสนิท
- พบแพทย์ก่อนนัดหากมีอาการปวดหรือบวมบริเวณทวารหนัก, ถ่ายเป็นเลือดออกมาปริมาณมากโดยไม่ค่อยมีอุจจาระ, เจ็บแผลมาก, มีอาการปวดตลอดเวลา, มีหนองหรือน้ำเหลืองออกมาจากแผล, มีไข้สูง
- แผลสามารถถูกน้ำสะอาดได้ สามารถใช้น้ำประปาล้างทำความสะอาดแผลได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเกลือ
- ใช้สบู่อ่อนล้างทำความสะอาดแผลในเวลาเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระ และเมื่อรู้สึกเจ็บ แสบ คัน แฉะบริเวณทวารหนัก
- ซับแผลให้แห้งเบาๆ หลังทำความสะอาด โดยใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษทิชชู่เนื้อนุ่ม อย่าเช็ดแรง จะทำให้แผลอักเสบหรือมีเลือดออกได้
- รับประทานอาหารได้ตามปกติแต่ควรงดอาหารเผ็ด
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกศัลยกรรม
โรงพยาบาลพระรามเก้า หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242
PI-SUR-39/Rev.1