ความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งชนิดที่พบเป็นลำดับต้นๆในกลุ่มประชากรทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของมะเร็งในผู้ป่วยเพศชาย, รองลงมาเป็นมะเร็งตับ/ท่อน้ำดีและมะเร็งปอดตามลำดับ สำหรับผู้ป่วยเพศหญิงพบมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับสองคิดเป็นร้อยละ 12.2 ของมะเร็งในผู้ป่วยเพศหญิง

ในปี พ.ศ. 2563 ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่มีจำนวน 16.9 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าจากเมื่อ 20 ปีก่อน (จำนวนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ในปี พ.ศ. 2543 มีเพียง 5 คนต่อประชากร 100,000 คน)

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ช่วยป้องกันโรคลุกลาม

มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ซึ่งจะค่อยๆโตขึ้นและกลายตัวเป็นมะเร็งซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 ปี ดังนั้นการคัดกรองด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จึงเป็นการป้องกันการลุกลามของโรค เนื่องจากสามารถตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และกำจัดโดยการตัดออก(polypectomy)ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และเป็นวิธีที่ช่วยลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน

คำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีการตรวจคัดกรอง
ในปัจจุบันวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่คือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เนื่องจากสามารถตรวจพบรอยโรคได้ทั้งชนิดที่เป็นติ่งเนื้อ,เป็นก้อนนูนหรือรอยโรคที่มีลักษณะค่อนข้างแบนราบ และในกรณีที่มีติ่งเนื้อแพทย์สามารถทำการตัดติ่งเนื้อออก(polypectomy) เพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยาซึ่งจะเป็นทั้งการวินิจฉัยและการรักษาไปด้วยในตัว

อายุที่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

บุคคลทั่วไปที่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตามคำแนะนำของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ส่วน American Cancer Society แนะนำให้เริ่มต้นคัดกรองที่อายุ 45 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 75 ปี

ผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีจนถึง 85 ปีให้พิจารณาเป็นรายๆไปตามความเหมาะสมเช่น สภาพทางกาย โรคร่วม รวมถึงผลการตรวจคัดกรองครั้งก่อนๆ ส่วนผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไปไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกต่อไป

ความถี่ของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

แนะนำให้ทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี

วิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และการเตรียมตัวผู้ป่วย 

เชิญรับชมรายละเอียดในวีดีโอนี้

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20801-20802

PI-GIC-12

error: Content is protected !!