เส้นฟอกเลือด (vascular access)

ผู้ป่วยที่มีไตวายเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดเป็นประจำซึ่งจะต้องมีช่องทางสำหรับต่อเครื่องฟอกเลือดเข้ากับระบบไหลเวียนเลือดของผู้ป่วย ช่องทางนี้เรียกว่า “เส้นฟอกเลือด (vascular access)”

ชนิดของเส้นฟอกเลือด (vascular access)

แบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆได้แก่

1.AV Fistula : ใช้หลอดเลือดดำของผู้ป่วยมาต่อเข้ากับเส้นเลือดแดงที่แขน

2.AV bridge graft : ใช้หลอดเลือดเทียมเชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำของผู้ป่วย

การดูแลหลังผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด vascular access

1. รักษาความสะอาดและระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำหรือเปื้อนสกปรก  ทำแผล(wound dressing) ตามที่แพทย์สั่ง

2. สังเกตอาการผิดปกติบริเวณแผลผ่าตัด เช่น อาการอักเสบ, มีเลือดซึมออกมากหรือมีหนองรวมถึงอาการไข้สูง หากมีอาการผิดปกติใดๆให้รีบติดต่อแพทย์ที่ดูแลหรือมารพ.ทันที

3. เวลานอนยกแขนข้างที่ผ่าตัดให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อช่วยลดอาการบวม

4. อย่านอนทับแขนหรืองอแขนข้างที่ผ่าตัด

5. มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจสภาพเส้นฟอกไต(vascular access)หลังการผ่าตัด

6. เริ่มบริหารเส้นฟอกเลือดทันทีหลังผ่าตัด 3-4 วัน  หรือเมื่อหายปวดแผล 

1. บริหารแขนที่มีเส้นฟอกเลือด (vascular access)

ทำทุกวันโดยการบีบลูกบอลยางตามวิธีด้านล่าง ทำอย่างน้อยวันละ 400 – 500 ครั้ง หรือมากกว่านั้นได้เพื่อช่วยให้เส้นเลือด(vascular access) แข็งแรงและมีประสิทธิภาพดีขึ้น

2. สังเกตการไหลเวียนของเลือดในเส้น vascular access

โดยแนบหูของท่านที่บริเวณรอยแผลผ่าตัด จะได้ยินเสียงฟู่ๆคล้ายการไหลของน้ำในท่อ และให้ใช้มือคลำบริเวณรอยแผลผ่าตัดซึ่งจะสัมผัสการสั่นสะเทือนแบบเดียวกัน
หากฟังไม่ได้ยินเสียง, เสียงเบาลงหรือเปลี่ยนไป หรือมีเสียงดังตุ้บๆ แบบชีพจร ต้องรีบมารพ.ทันที


 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-NHD-11

การผ่าตัดไทรอยด์ส่องกล้องทางปากไร้แผลเป็น (Transoral Endoscopic Thyroidectomy Vestibular Approach  : TOETVA )

  • โรคของต่อมไทรอยด์

       ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อมีลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ส่วนล่างลำคอด้านหน้า มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ในการเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน การเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วนประมาณ 4:1 และก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งประมาณ 5-10% ในกรณีที่พบว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือทั้งหมดขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของต่อมไทรอยด์

  • การผ่าตัดไทรอยด์โดยส่องกล้องทางปาก

    เป็นทางเลือกหนึ่งในการผ่าตัดซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยจะไม่มีแผลเป็นที่ลำคอเนื่องจากแผลผ่าตัดจะอยู่ที่เยื่อบุช่องช่องปาก การผ่าตัดผ่านกล้องทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของอวัยวะต่างๆได้ชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากเป็นการมองภาพขยายขนาดบนจอภาพ นอกจากนั้นผู้ป่วยจะมีความปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าและระยะเวลาการพักฟื้นสั้นกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
preparation of instruments on an operating table using the laparoscopic technique
  • ผู้ป่วยที่เหมาะแก่การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็น ได้แก่
    • ผลการตรวจอัลตราซาวนด์พบว่าก้อนที่ไทรอยด์มีขนาด 4-6 เซนติเมตร
    • มีผลตรวจชิ้นเนื้อยืนยันว่าไม่ใช่มะเร็ง
    • ผู้ป่วยไม่ได้เคยรับการผ่าตัดหรือการฉายแสงที่บริเวณคอหรือคางมาก่อน
    • ผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการดมยาสลบเพื่อผ่าตัด
  • การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
  1. ก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์, ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด, ตรวจปัสสาวะ, ภาพเอกซเรย์ทรวงอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมถ้าจำเป็น
  2. การปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัดเหมือนการผ่าตัดแบบผู้ป่วยในทั่วไป อ่านรายละเอียดได้จากบทความนี้ “การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดแบบผู้ป่วยใน”
  3. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีสภาวะเป็นไทรอยด์เป็นพิษต้องรักษาด้วยยาจนค่าฮอร์โมนคงที่ก่อนการผ่าตัด

 หลังผ่าตัดควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. หลังผ่าตัดจะมีผ้าก๊อซกดใต้คางประมาณ 1 วัน เพื่อป้องกันเลือดคั่ง
  2. ผู้ป่วยอาจรู้สึกขัดตึงคล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอหรือมีเสียงเปลี่ยนไป ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์
  3. ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะและควรจะรับประทานยาดังกล่าวให้หมด ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดเช่น พาราเซตามอลเมื่อจำเป็นได้
  4. ในวันแรกหลังผ่าตัดจะมีการให้สารละลายทางเส้นเลือด เมื่อผู้ป่วยรับประทานได้ดีพอควรแพทย์จะเอาสายให้น้ำเกลือออก
  5. หลังผ่าตัดจะมีการใส่สายระบายไว้ที่คอ 1 วัน และแพทย์จะถอดสายออกให้หลังจากตรวจว่าแผลผ่าตัดปกติดี
  6. ควรหลีกเลี่ยงการไอหรือเค้นคอแรงๆ, การออกแรงมาก, การเล่นกีฬา, หรือยกของหนักหลังผ่าตัดภายใน 7 วันแรก เพราะอาจทำให้แผลผ่าตัดแยกออกได้
  7. ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้มหรือขนมปังนิ่มๆ หลีกเลี่ยงการประทานอาหารที่แข็งหรือรสเผ็ดอย่างน้อย 3 วัน
  8. การรักษาขั้นตอนต่อไปขึ้นอยู่กับผลการตรวจชิ้นเนื้อซึ่งพยาธิแพทย์จะรายงานให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดทราบภายใน 3 – 5 วัน
  9. แพทย์จะนัดตัดไหมในช่องปากประมาณ 7 – 10 วัน

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกศัลยกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-34/Rev.1

English topic

โรคริดสีดวงทวาร

     ริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อยเกิดจากการบวมของเส้นเลือดดำบริเวณรอบลำไส้ตรงและทวารหนัก ทำให้มีอาการได้แก่ มีเลือดออก โดยมักเป็นเลือดสีแดงสดออกตามหลังการถ่ายอุจจาระ, อาการปวดโดยเฉพาะหากเป็นริดสีดวงทวารชนิดมีก้อนเลือดภายใน (thrombosed hemorrhoids), มีก้อนยื่นจากทวารหนัก, มีอาการคันระคายเคือง

โครงสร้างของทวารหนัก

ทวารหนักคือส่วนปลายสุดของทางเดินอาหารถัดจากลำไส้ใหญ่ เป็นทางเปิดเพื่อขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกาย

ชนิดของริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น ริดสีดวงทวารภายใน และ ริดสีดวงทวารภายนอกจากตำแหน่งของริดสีดวงที่อยู่เหนือหรือใต้ต่อเส้นที่อยู่รอบปากทวารหนักที่เรียกว่า dentate line 

ริดสีดวงทวารภายใน

เป็นริดสีดวงที่เกิดเหนือเส้น dentate line ทำให้ไม่มีอาการเจ็บปวดหรือระคายเคืองเนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณนี้ครอบคลุมโดยเส้นประสาทอวัยวะภายใน ริดสีดวงทวารภายในแบ่งออกเป็น 4 ระดับดังนี้

Grade 1 ริดสีดวงทวารไม่ย้อยลงมาต่ำกว่า dentate line ดังนั้นจะเห็นได้จากการตรวจด้วยเครื่องมือ proctoscopy ที่ใช้สำหรับตรวจทวารหนักเท่านั้น

Grade 2  ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนัก หลังถ่ายอุจจาระ

Grade 3  ริดสีดวงยื่นออกนอกขอบทวาร  ขณะถ่ายอุจจาระ และหลังถ่ายอุจจาระต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนัก

Grade 4 ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลา  ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนัก หลังถ่ายอุจจาระ ไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการบีบรัด(strangulation)

ริดสีดวงทวารภายนอก 

เป็นริดสีดวงทวารที่อยู่ต่ำกว่าเส้น dentate line ซึ่งเนื้อเยื่อบริเวณนี้จะมีเส้นประสาทจากไขสันหลังมาเลี้ยง (innervated) ซึ่งรับความรู้สึกเจ็บปวดได้ ริดสีดวงทวารภายนอกจึงมีอาการเจ็บปวดมากกว่าริดสีดวงทวารภายใน

ผู้ป่วยบางรายอาจมีริดสีดวงทวารทั้งชนิดภายในและภายนอกร่วมกันได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคริดสีดวงทวาร

เลือดออกตามหลังการถ่ายอุจจาระโดยไม่มีอาการเจ็บปวด. เลือดจากริดสีดวงทวารมักจะเป็นสีแดงสดเคลือบอยู่บนก้อนอุจจาระหรือหยดลงในโถส้วม 

ก้อนเลือดในริดสีดวงทวาร (Thrombosis) ส่วนใหญ่มักเกิดกับริดสีดวงทวารชนิดภายนอกซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงมากแต่หากเกิดกับริดสีดวงทวารชนิดภายในจะปวดน้อยกว่า

การตรวจโรคริดสีดวงทวาร

แพทย์จะถามประวัติอาการ, ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจทางทวารหนักโดยใช้เครื่องมือ proctoscopy เพื่อประเมินชนิด, จำนวน, และตำแหน่งของริดสีดวงทวารหนัก

การรักษาโรคริดสีดวงทวาร

  1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
    1.  รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยลดอาการท้องผูกและทำให้อุจจาระนุ่มลง การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยลดอาการท้องผูกและทำให้อุจจาระนุ่มลง อาหารที่มีกากใยสูงเช่น ผักและผลไม้, ข้าวซ้อมมือ, ธัญพืชต่างๆ 
    2. การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอจะช่วยกระตุ้นให้การทำงานของลำไส้เป็นปกติและลดอาการท้องผูก
    3. ดื่มน้ำให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร
    4. ไม่เบ่งหรือนั่งถ่ายนานเกินไปบนโถส้วม
    5. ลดอาหารมันและเครื่องดืมแอลกอฮอล์
  2. การนั่งแช่ก้นในน้ำอุ่น (sitz bath) ช่วยลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนักและบรรเทาการอักเสบ
  3. การใช้ยารักษาริดสีดวงซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดอาการบวมของเส้นเลือดดำ ช่วยให้อาการบวมและปวดลดลง
  4. การฉีดก่อกระด้าง(sclerotherapy) ที่ทำให้ริดสีดวงฝ่อ เหมาะกับริดสีดวงชนิดภายในซึ่งเป็นไม่มาก
  5. การรัดหัวริดสีดวงด้วยแถบยาง (rubber band ligation) ทำให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดไป วิธีนี้เหมาะกับริดสีดวงชนิดภายในที่มีเลือดออก ให้ผลการักษาที่ดี
  6. การผ่าตัดริดสีดวง มีหลายวิธีเช่นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (conventional hemorrhoidectomy) , การผ่าตัดโดยใช้ลวดเย็บ(stapled hemorrhoidopexy) โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมตามชนิดและความรุนแรงของริดสีดวงทวาร
ลักษณะ การรักษา
1.ริดสีดวงอยู่เหนือ Dentate Line และไม่ยื่นออกมานอกขอบทวารรักษาแบบประคับประคองด้วยยา และหลีกเลี่ยงจากยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) และอาหารรสเผ็ดหรือไขมัน
2.ริดสีดวงยื่นออกมานอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระและเลื่อนกลับเข้าไปในทวารหนักหลังถ่ายรักษาโดยพิจารณาการทำหัตถการที่ไม่ต้องผ่าตัด ร่วมกับการใช้ยา
3.ริดสีดวงยื่นออกนอกขอบทวาร ขณะถ่ายอุจจาระ และหลังถ่ายอุจจาระต้องดันกลับเข้าไปในทวารหนักรักษาโดยพิจารณาการทำหัตถการที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่ถ้ามีอาการมากพิจารณาผ่าตัด
4.ริดสีดวงยื่นออกนอกทวารหนักตลอดเวลาผ่าตัด
ตารางสรุปแนวทางการรักษาริดสีดวงทวาร

การดูแลตนเองภายหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร

  • พบแพทย์ตามนัดหมายหลังจากออกจากโรงพยาบาลไปแล้วจนแผลหายสนิท
  • พบแพทย์ก่อนนัดหากมีอาการปวดหรือบวมบริเวณทวารหนัก, ถ่ายเป็นเลือดออกมาปริมาณมากโดยไม่ค่อยมีอุจจาระ, เจ็บแผลมาก, มีอาการปวดตลอดเวลา, มีหนองหรือน้ำเหลืองออกมาจากแผล, มีไข้สูง
  • แผลสามารถถูกน้ำสะอาดได้ สามารถใช้น้ำประปาล้างทำความสะอาดแผลได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเกลือ
  • ใช้สบู่อ่อนล้างทำความสะอาดแผลในเวลาเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระ และเมื่อรู้สึกเจ็บ แสบ คัน แฉะบริเวณทวารหนัก
  • ซับแผลให้แห้งเบาๆ หลังทำความสะอาด โดยใช้ผ้าสะอาดหรือกระดาษทิชชู่เนื้อนุ่ม อย่าเช็ดแรง จะทำให้แผลอักเสบหรือมีเลือดออกได้
  • รับประทานอาหารได้ตามปกติแต่ควรงดอาหารเผ็ด

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อแผนกศัลยกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-39/Rev.1

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)

ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุงเล็กๆอยู่ทางด้านขวาบนของช่องท้องใต้ตับ มีหน้าที่เก็บน้ำดีที่ผลิตจากตับและหลั่งน้ำดีเข้าไปในลำไส้เล็กส่วนต้นในระหว่างกระบวนการย่อยอาหาร

น้ำดีมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ

  1. กรดน้ำดีซึ่งสำคัญต่อการย่อยและดูดซึมไขมันและวิตามินที่ละลายในไขมันในบริเวณลำไส้เล็ก
  2. สารหลายชนิดถูกขจัดออกจากร่างกายโดยตับผ่านทางน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กและผ่านออกไปทางอุจจาระ

สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารประกอบที่อยู่ในน้ำดีซึ่งโดยมากมักเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงทำให้เกิดการตกผลึกและรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วซึ่งอาจมีขนาดแตกต่างกันได้ตั้งแต่เป็นเม็ดละเอียดคล้ายทรายจนถึงก้อนใหญ่ขนาดลูกกอล์ฟ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้แก่

  1. เพศหญิงมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าเพศชาย
  2. น้ำหนักตัวเกิน
  3. อายุมากกว่า 40 ปี
  4. รับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ
  5. ผู้ป่วยเบาหวาน
  6. ภาวะที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น เช่นการตั้งครรภ์, การรับประทานยาคุมกำเนิด
  7. การลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
  8. กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำ
  9. ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย
  10. การใช้ยาบางอย่าง เช่นยาลดไขมันบางชนิด

อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

อาการของนิ่วในถุงน้ำดีอาจเป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการใดเลยจนถึงอาการรุนแรง ดังนี้

  1. ไม่มีอาการใด : ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือทราบจากการตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
  2. อาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงข้างขวาและใต้ลิ้นปี่ร่วมกับมีอาการท้องอืดแน่นท้อง โดยเฉพาะหลังกินอาหารประเภทไขมัน
  3. ถุงน้ำดีอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในถุงน้ำดีซึ่งในกรณีเฉียบพลันจะทำให้เกิดอาการไข้สูง, ปวดท้องและกดเจ็บที่ชายโครงด้านขวา, คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นสภาวะฉุกเฉินทางศัลยกรรมต้องได้รับการผ่าตัดที่ทันท่วงที
  4. การอุดตันท่อน้ำดีกรณีที่นิ่วในถุงน้ำดีหลุดลงไปอุดตันท่อน้ำดีจะทำให้เกิดการอุดตันของการไหลของน้ำดีทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลืองและมักตามมาด้วยถุงน้ำดีอักเสบทำให้มีไข้สูง ปวดท้องมาก บางรายที่เป็นมากอาจมีถุงน้ำดีเป็นหนองหรือทำให้ตับอ่อนอักเสบซึ่งเป็นสภาวะที่รุนแรงอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เจาะเลือด และทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบนซึ่งจะให้ผลแม่นยำและรวดเร็วในการวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

การรักษา

  • นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่มีอาการอาจไม่จำเป็นต้องรักษาแต่แนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติ หากมีอาการที่ผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • การผ่าตัด การตัดถุงน้ำดี (cholecystectomy) เป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับนิ่วในถุงน้ำดีที่ผู้ป่วยมีอาการ ในปัจจุบันนี้การผ่าตัดถุงน้ำดีเป็นการผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็ก 3-4 รอยที่ผนังหน้าท้องและใช้กล้อง laparoscope และอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กและมีด้ามยาวสอดเข้าไปทางรูเหล่านั้นเพื่อทำการผ่าตัด และนำถุงน้ำดีออกมา ส่วนส่วนการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดนั้นมีที่ใช้ในบางกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องได้ เช่น ผู้ป่วยตั้งครรภ์ในไตรมาสที่สาม, ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินมาก, หรือผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนหรือโรคร่วมที่เป็นภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัดผ่านกล้อง เช่นถุงน้ำดีอักเสบอย่างรุนแรง

ข้อดีของการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านทางช่องท้อง

  1. อาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก
  2. แผลขนาดเล็กดูแลง่ายกว่าและมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าแผลขนาดใหญ่รวมถึงแผลเป็นก็มีขนาดเล็กกว่า
  3. ระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยกว่า โดยผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน ซึ่งถ้าผ่าตัดแบบเปิดผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานประมาณ 7-10 วัน
  4. ระยะเวลาการพักฟื้นสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ผู้ป่วยก็กลับไปทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติในขณะที่การผ่าตัดแบบเปิดใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน

ยาละลายนิ่ว

ยาละลายนิ่ว (Oral dissolution therapy) ยาละลายนิ่วคือ Ursodeoxycholic acid (Ursodiol) ใช้ได้ผลกับนิ่วบางชนิดเท่านั้นและต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลานานหากหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้อีก และนิ่วในถุงน้ำดีที่พบในประชากรไทยส่วนมากมักไม่ตอบสนองในการใช้ยาละลายนิ่ว (dissolution therapy)

ถุงน้ำดีถูกตัดออกไปแล้วมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

ถุงน้ำดีเป็นที่เก็บน้ำดีไว้และทำให้น้ำดีเข้มข้น เมื่อโดนตัดถุงน้ำดีในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก น้ำดีที่สร้างจากตับยังเจือจางอยู่บ้างจึงอาจมีท้องอืดระยะแรก หลังจากนั้นเซลตับจะปรับตัวสร้างน้ำดีที่เข้มข้นใกล้เคียงกับตอนมีถุงน้ำดีอยู่ได้

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ แผนกศัลยกรรม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12242 

PI-SUR-17 / Rev.2

error: Content is protected !!