ยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet) และยากันเลือดแข็งตัว (anticoagulants)

ยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet)

ยาต้านเกล็ดเลือดคือยาที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดเกาะตัวกันซึ่งจะเป็นสาเหตุของการอุดตันของหลอดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ยาต้านเกล็ดเลือดจะถูกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองและเส้นเลือดหัวใจ ในปัจจุบันมียาหลายชนิดแตกต่างกันตามกลไกการออกฤทธิ์ แพทย์จะเป็นผู้เลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือเลือดออกในสมอง

ชนิดของยาต้านเกล็ดเลือด

1.แอสไพริน

เป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เป็นยาที่ใช้แพร่หลายเนื่องจากมีประสิทธิภาพค่อนดี, มีการใช้มานาน, ราคาไม่แพงจึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงในการกำเริบของโรคหลอดเลือดตีบที่สมองหรือหัวใจ อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยของแอสไพริน คือการระคายเคืองทางเดินอาหารทำให้มีอาการปวดท้องแสบท้อง, คลื่นไส้, หรืออาจถึงกับมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ ดังนั้นจึงมีการพัฒนารูปแบบของยาแอสไพริน เพื่อช่วยลดปัญหาต่อทางเดินอาหาร ที่ใช้บ่อยมี 2 รูปแบบได้แก่

a. Enteric coated Aspirin
แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบช่วยให้ตัวยาค่อยๆ ละลายที่บริเวณลำไส้ช่วยลดอาการระคายเคืองบริเวณกระเพาะอาหาร จึงไม่ควรหักเม็ดยาหรือบดเคี้ยวเม็ดยาและไม่ควรการรับประทานยาร่วมกับนมหรือยาลดกรดเนื่องจากอาจทำให้ตัวยาละลายออกมาที่กระเพาะอาหารแทนที่จะเป็นที่ลำไส้
ตัวอย่าง : แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบ(81 มิลลิกรัม) เช่น Aspent-M, B-Aspirin/แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบ(300 มิลลิกรัม) เช่น Aspent

b. Aspirin ชนิดผสมกับ glycine
เพื่อเพิ่มการละลายและลดอาการข้างเคียงต่อทางเดินอาหาร เม็ดยาสามารถวางบนลิ้นอมให้ละลายแล้วกลืนได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำตามหรือจะกลืนเม็ดยาพร้อมน้ำสะอาดก็ได้ตัวอย่างชื่อการค้าของยาเช่น CardiPRIN 100 mg 

2. ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือดที่ไม่ใช่แอสไพริน

ยากลุ่มนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาแอสไพรินได้เนื่องจากมีอาการแพ้หรือมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารรุนแรง แพทย์อาจพิจาณาใช้ยาอื่นได้แก่

a. ยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่ม P2Y12 inhibitor ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าแอสไพริน โดยที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่าแต่ความเสี่ยงในการทำให้เกิดเลือดออกนั้นอาจจะมากกว่าแอสไพรินเล็กน้อยและตัวยามีราคาแพงกว่าแอสไพริน

ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
ClopidogrelPlavix 75 mgCo-Plavix 75/75 mgApolets 75 mg
PrasugrelEffient 10 mg
TicagrelorBrilinta 90 mg
*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ลิ้นรับรสชาติแปลกไป ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นช้า เป็นต้น

b. ยาที่ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดโดยการยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส ยานี้มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดที่น้อยกว่าแอสไพริน

ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
CilostazolPletaal 50 และ 100 mg
*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น ปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

C. ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยั้บยั้งไกลโคโปรตีน IIb/IIIa การใช้ยากลุ่มนี้มีข้อบ่งชี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการแพ้ยาหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่มอื่นได้

             ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
AbciximabReoPro 
eptifibatideIntegrilin
tirofibanAggrastat (Pro)

 ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยที่การใช้ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด

  • จุดประสงค์ของการใช้ยากลุ่มนี้คือเพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนเลือดเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือหลอดเลือดสมองอุดตันซ้ำอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต
  • ผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุดของยากลุ่มนี้ คือ ทำให้เลือดหยุดยากขึ้น ดังนั้น:หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้หยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
    • มีเลือดออกที่เหงือกบ่อยๆและหยุดยาก
    • เลือดกำเดาไหล, มีจ้ำเลือดตามผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง
    • ประจำเดือนปริมาณมาก
    • เลือดออกในเยื่อบุตาขาว
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • มีปัสสาวะเป็นเลือด
    • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีคล้ำ
    • มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น มีเลือดออกจากบาดแผลมาก
    • ผู้ป่วยควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุและอันตราย เช่น การล้มอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายในโดยเฉพาะบริเวณศีรษะและทรวงอก
  • ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, ถอนฟันหรือทำหัตถการที่จะต้องมีบาดแผลและเลือดออก ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ผ่าตัดทราบทุกครั้งว่ารับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่และแพทย์อาจพิจารณาหยุดยาก่อนการผ่าตัดเป็นรายๆไป

ยากันเลือดแข็งตัว (anticoagulant)

ยากันเลือดแข็งตัวคือยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงจึงป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือด ข้อบ่งชี้ของการใช้ยากันเลือดแข็งตัวได้แก่

  • การป้องกันและการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา (deep vein thrombosis) หรือลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ปอด (pulmonary embolism)
  • ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดในสมองตีบจากลิ่มเลือดจากการเต้นพริ้วของหัวใจห้องบน (atrial fibrillation) 
  • ผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 

ยากันเลือดแข็งตัว  แบ่งออกเป็น

  1. ยาวาร์ฟาริน (warfarin)
    เป็นยาที่ใช้กันแพร่หลายมาเป็นเวลานาน การใช้ยาชนิดนี้จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและมาพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่องเพื่อเจาะเลือดตรวจระดับยา ในช่วงแรกที่เริ่มปรับขนาดยาผู้ป่วยอาจต้องมาเจาะเลือดทุก 3 วันหรือทุกสัปดาห์เพื่อปรับระดับยา การใช้ยากลุ่มนี้มีข้อควรระวังเนื่องจากยาชนิดนี้มีปฏิกิริยากับยาอื่นและอาหารบางชนิดที่รับประทานกันทั่วไป เช่น ผักใบเขียว รวมถึงต้องพิจารณาความเสี่ยงเลือดออกรายบุคคลร่วมด้วย

ยาวาร์ฟาริน (warfarin)  ในโรงพยาบาลพระรามเก้ามีใช้ 3 ขนาดคือ 2, 3 และ 5 มิลลิกรัม

ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน warfarin

  • มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกว่า “ค่า  INR” เพื่อปรับยา warfarin ให้ได้ระดับค่า INR ที่เหมาะสมกับตัวโรคของท่าน
    • ถ้าค่า INR สูงเกินระดับ จะมีโอกาสเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย
    • ถ้าค่า INR ต่ำกว่าระดับ จะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย 
  • รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ห้ามลืมทานยา ในบางกรณีอาจจะต้องใช้ปฏิทินช่วยจำ
  • หากมีอาการเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาและมาพบแพทย์ทันที
  • เมื่อท่านไปรับบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งบุคลากรการแพทย์ทราบทุกครั้งว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, การถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม
  • หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลที่มีเลือดออกให้ห้ามเลือดโดยใช้มือกดผ้าสะอาดไว้ให้แน่นตรงบาดแผล จะช่วยให้เลือดหยุดหรือไหลน้อยลงได้ แล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีและแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่
  • ยาและอาหารบางชนิดอาจมีผลต่อระดับของยาวาร์ฟารินในกระแสเลือดซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาได้ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารและไม่ควรซื้อยากินเอง
    • ปฏิกริยาระหว่างยาที่ควรทราบ
      • ยาที่เพิ่มฤทธิ์ของ Warfarin ซึ่งทำให้ค่า INR เพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสเลือดออก ได้แก่
        • กลุ่มยาแก้ปวดข้อ /กล้ามเนื้อ เช่น Diclofenac, Piroxicam, Indomethacin, Ibuprofen
        • กลุ่มยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Co-trimoxazole (Sulfa)
      • ยาที่ลดฤทธิ์ของวาร์ฟารินซึ่งทำให้ค่า INR ลดลงและทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือด  ได้แก่
        • ยากันชัก เช่น Carbamazepine, Phenytoin
        • ยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Rifampin, Griseofulvin
    • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีผลต่อ warfarin เช่น โสม, ขิง, แปะก๊วย, กระเทียม, น้ำมันปลา, สมุนไพรและยาแผนโบราณ, ยาจีน, ยาชุดต่างๆ รวมถึงการใช้กัญชงและกัญชา
    • อาหารบางชนิดสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาวาร์ฟารินได้ โดยเฉพาะผักใบเขียวที่มีวิตามินเคสูง เช่น กะหล่ำปลี, บรอคโคลี่, แตงกวาพร้อมเปลือก, น้ำมันมะกอก, ผักโขม, ถั่วเหลือง, ใบชา และผลไม้คือ มะม่วงสุก และทุเรียน ดังนั้นปริมาณของการรับประทานอาหารเหล่านี้ในแต่ละวันจึงไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมากแต่ควรรับประทานเป็นประจำในปริมาณเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอ

ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยาวาร์ฟาริน

ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด กรณีลืมกินยาและยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 12 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาดปกติ

การเก็บรักษายา

  •  เก็บยาให้พ้นแสงและความชื้น
  •  เก็บยาในภาชนะที่โรงพยาบาลจัดให้
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • เม็ดยา warfarin อาจมีสีไม่สม่ำเสมอซึ่งเป็นลักษณะปกติท่านสามารถรับประทานต่อได้
  • กรุณานำยาที่ยังรับประทานไม่หมดมาให้เภสัชกรตรวจสอบทุกครั้งที่นัด
  1. ยาละลายลิ่มเลือดกลุ่มใหม่ (direct oral anticoagulants ; DOACs)

ปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนายาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ได้อย่างสะดวก ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อปรับยาในการรักษาและโอกาสเสี่ยงในการเกิดเลือดออกน้อยกว่ายาวาร์ฟาริน ยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่อย่างไรก็ดีข้อบ่งชี้มีความแตกต่างกับ วาร์ฟาริน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณากับท่านอีกครั้งก่อนเริ่มยา

ข้อเสียคือปัจจุบันยากลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูงและหากเกิดภาวะเลือดออกยาที่ใช้ในการแก้ฤทธิ์หายากและมีราคาแพง ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Dabigratran, Apixaban, Endoxaban และ Rivaroxaban

ปัจจุบันในรพ.พระรามเก้า มียาต้านฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ในรพ.ดังนี้ Idarucizumab (ใช้สำหรับ Dabigatran) และ Profilnine (ใช้สำหรับ Apixaban, Endoxaban และ Rivaroxaban)

 ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน DOACs

1. มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง 

2. รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ลืมทานยา ในบางเคสอาจจะต้องใช้ปฏิทินช่วยจำ

3. หากมีอาการเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาและมาพบแพทย์ทันที

4. ทุกครั้งที่ท่านไปรับบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งบุคลากรการแพทย์ทราบด้วยว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, การถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม

5.หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลและเลือดไม่หยุดไหลให้ห้ามเลือดโดยใช้มือกดผ้าสะอาดไว้ให้แน่นตรงบาดแผลเลือดจะหยุดออกหรือออกน้อยลงแล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่

6.ยาและอาหารบางชนิด จะส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาได้ ห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาสมุนไพร

ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยา

 สำหรับยาที่กินวันละสองครั้ง ได้แก่ Dabigratran และ Apixaban หากลืมกินยาแต่ยังไม่ถึง 6 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 6 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาด(dose)ปกติ

สำหรับยาที่กินวันละครั้ง ได้แก่ Endoxaban, Rivaroxaban หากลืมกินยาแต่ยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 12 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาด(dose)ปกติ

PI-MED-45

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

น้ำตาลกลูโคสมีความสำคัญต่อร่างกายเนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ค่าระดับกลูโคสในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานควรสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ระดับกลูโคสในเลือดของคนทั่วไปควรสูงกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์โดยใช้ยาและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดซึ่งหากมีปัจจัยใดๆที่มีผลต่อน้ำตาลในเลือด เช่น การมีกิจกรรมมากขึ้นกว่าปกติ, การเจ็บป่วย, การรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติหรือรับประทานผิดเวลา เหล่านี้ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกมีอาการใจสั่น, มือสั่น, หิว, วิงเวียน, รู้สึกเหมือนจะเป็นลม, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือชัก

ทำไมจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ระดับกลูโคสในเลือดที่ปกติในผู้ป่วยเบาหวานได้จากความสมดุลระหว่างปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป, กิจกรรมที่กระทำ, ยาเบาหวานที่ใช้, และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง

หากมีการเสียสมดุลของปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น 

  • ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยกว่าเดิม, มื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนออกไปในขณะที่ยังรับประทานยาหรือฉีดยาเบาหวานตามเวลาปกติ
  • ผู้ป่วยมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น, มีการยกของหนัก, จัดบ้าน, อาบน้ำสุนัข, ล้างรถเป็นต้น ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่ทันรู้ตัวว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้มีการใช้พลังงานมากกว่าที่เคยเป็น
  • ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารและใช้ยาเบาหวานตามปกติแต่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นเช่นเป็นหวัดหรือท้องเสีย ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งควรใส่ใจระมัดระวังดูแลเป็นพิเศษได้แก่

  • ผู้ป่วยสูงวัย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับ, โรคไต
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินชนิดฉีด หรือยาเบาหวานกลุ่ม sulfonyluria เช่น Daonil, Minidiab, Diamicron, Amaryl, และยา Novonorm ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Glinide
  •  ผู้ป่วยที่ควบคุมเบาหวานอย่างเข้มงวดมากโดยกำหนดระดับเป้าหมาย HbA1c และระดับน้ำตาลในเลือดที่ใกล้เคียงระดับปกติมาก
  • ผู้ป่วยที่เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยเฉพาะระดับรุนแรงหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่ไม่มีอาการเตือนเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรทำอย่างไร

แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย

ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็ว 15 กรัม แล้วสังเกตอาหารหรือเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็วอีก 15 กรัม จนกว่าอาการจะหายไปหรือได้ค่าน้ำตาลมากกว่า 70 mg/dl หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วให้รับประทานคาร์บไฮเดรตชนิดดูดซึมช้า เช่น ขนมปัง ผลไม้หรือข้าว เพื่อป้องกันน้ำตาลตกซ้ำ

ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว ปริมาณ 15 กรัม ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตดูดซึมช้า ปริมาณ 15 กรัม
ลูกอม 3 เม็ด
น้ำผลไม้ 1 กล่อง
น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
ขนมปัง 1 แผ่น
กล้วยหรือแอ๊ปเปิ้ล 1 ผล
โยเกิร์ต 200 กรัม
ข้าวต้มหรือโจ๊ก 1/2 ถ้วย

ผู้ป่วยหมดสติไม่รู้สึกตัว ให้ผู้ดูแลหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์โทร 1669 แจ้งเหตุฉุกเฉินผู้ป่วยหมดสติ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรมีเครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ผู้ป่วยควรพกลูกอมหรือน้ำผลไม้ติดตัวไว้รับประทานเมื่อเกิดอาการ


 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-10

English topic

โรคเบาหวาน

เบาหวานคือโรคที่ร่างกายมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากความบกพร่องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยฮอร์โมนอินซูลิน

อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล)ที่รับประทานจะถูกย่อยโดยทางเดินอาหารกลายเป็นกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาสู่กระแสเลือด อินซูลินจะไปไปจับกับตัวรับอินซูลินที่ผิวเซลล์ต่างๆในร่างกายกระตุ้นให้เกิดกระบวนการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำลง

กลุ่มโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น

เบาหวานชนิดที่ 1  พบได้น้อยกว่าชนิดที่สอง เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตั้งแต่อายุน้อย

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยเกิดจากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้แม้ว่ามีระดับอินซูลินในเลือดสูงก็ไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เบาหวานชนิดที่ 2 พบในผู้ใหญ่และสัมพันธ์กับโรคอ้วน ผู้ป่วยมักมีปัญหาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งมักเรียกกันว่า กลุ่มอาการเมตาบอลิค

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) คือการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากสภาวะความทนน้ำตาลผิดปกติ (glucose intolerance) ที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์โดยผู้ป่วยไม่เคยเป็นมาก่อน มักพบในไตรมาสสามของการตั้งครรภ์และหายเองได้หลังคลอด

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นหลักเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนทั่วไป

อาการของโรคเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวานขึ้นกับระดับน้ำตาล ผู้ที่เป็นเบาหวานอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยถ้าระดับน้ำตาลสูงปานกลาง แต่หากระดับน้ำตาลขึ้นสูงมากผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • กระหายน้ำผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ไม่ได้อดอาหาร
  • รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
  • แผลหายช้าผิดปกติ
  • มีการติดเชื้อง่ายขึ้น

การดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้นได้อย่างไร

การดื้อต่ออินซูลินคือการที่ตับอ่อนสามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในการนำกลูโคสเข้าเซลล์จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของเบาหวานชนิดที่สองคือโรคอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้วนที่มีไขมันในช่องท้องปริมาณมาก ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การรับประทานน้ำตาลและแป้งขัดขาวปริมาณมากเป็นประจำ, การมีประวัติเบาหวานในครอบครัว, การมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตแบบไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย, อายุมาก, การใช้ยาบางอย่างเช่น สเตียรอยด์, การนอนหลับที่ไม่เพียงพออย่างเรื้อรัง, การสูบบุหรี่

ผลระยะยาวของโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุม

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการแข็งตัวของเส้นเลือดหรือ atherosclerosis, มีการอักเสบในระดับเซลล์ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นเลือดซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่แสดงอาการใดในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเส้นเลือดเกิดการเสื่อมถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายของเส้นเลือดทั่วร่างกาย ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมอง  ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากความเสื่อมของเส้นเลือดในสมอง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง
  2. เบาหวานขึ้นตา เกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดความเสื่อมของจอประสาทตา, มีเลือดออกในจอประสาทตาและมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทำให้การมองเห็นลดลงจนกระทั่งตาบอดในที่สุด คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานขึ้นตา
  3. โรคหลอดเลือดหัวใจ การเสื่อมของหลอดเลือดจากโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงและหากอาการเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ
  4. ไตวายเรื้อรัง ไตเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมาก การมีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังจากเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีส่งผลให้เส้นเลือดที่ไตเสียหาย การทำงานของไตจะพร่องลงทีละน้อยจนในที่สุดผู้ป่วยจะเกิดภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระแก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวอย่างมากเนื่องจากผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายต้องมีการฟอกไตเป็นประจำสัปดาห์ละ 3 วันหรือการปลูกถ่ายไตซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานกับโรคไต
  5. การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในเพศชายการเสื่อมของหลอดเลือดแดงจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังจะทำให้มีผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ
  6. แผลที่เท้า เนื่องจากการเสื่อมของเส้นเลือดแดงส่วนปลายทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงนิ้วเท้าและฝ่าเท้าร่วมกับการที่ผู้ป่วยมีการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจากการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย และแผลหายยาก ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายจึงเป็นแผลเรื้อรังที่เท้าซึ่งในบางรายลุกลามไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือการเน่าของแผลทำให้ต้องตัดขา

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-04

English topic

โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE)

ในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและสาเหตุของความพิการในลำดับต้นๆของประชากรในประเทศไทยทั้งที่จริงแล้วโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งที่ป้องกันและรักษาได้หากผู้ป่วยมารับการรักษากายในเวลาที่ทันท่วงที

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

คนไทยมักรู้จักโรคหลอดเลือดสมองในชื่อของโรคอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ซึ่งเกิดได้จากสองสาเหตุคือ หลอดเลือดในสมองแตก หรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน ทั้งสองกรณีนี้จะทำให้เนื้อเยื่อสมองที่ถูกกระทบไม่ทำงาน เช่น ถ้ามีอาการในสมองบริเวณที่ควบคุมการขยับของแขนขาด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำให้แขนขาด้านนั้นขยับไม่ได้ ถ้าอาการเป็นถาวรก็จะเรียกว่าเป็นอัมพาต ถ้าเป็นชั่วคราวก็จะเรียกว่าอัมพฤกษ์นั้นเอง คล้ายๆอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Heart attack) แต่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Brain attack) แทน

โรคหลอดเลือดสมองมีอาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคหลอดเลือดในสมองจำง่ายๆด้วยตัวอักษรย่อ F.A.S.T.

  • F Face : ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่งอย่างฉับพลันหรือผู้ป่วยบางท่านอาจจะมีอาหารไหลออกจากปากระหว่างรับประทานอาหารหรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่งเนื่องจากไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าด้านที่มีอาการ
  • A Arms : ผู้ป่วยจะขยับแขนหรือขาไม่ได้โดยอาจจะเป็นเฉพาะแขนหรือขาหรือเป็นทั้งแขนและขาและส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้างขึ้น ถ้าแขนขาตกด้านใดด้านหนึ่งแสดงว่ามีความผิดปกติ
  • S Speech : ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด, พูดเหมือนลิ้นคับปากหรือบางคนมีอาการพูดไม่เป็นภาษา, หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง คนในครอบครัวอาจคิดว่าผู้ป่วยสับสน การทดสอบอาจชี้ให้ดูของง่ายๆในชีวิตประจำวันเช่น ปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไรหรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น
  • T Time : เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคหลอดเลือดสมองควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมองซึ่งจะเป็นมากขึ้นตามระยะเวลาที่นานขึ้น ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบและมาถึงโรงพยาบาลภายในสี่ชั่วโมงครึ่ง แพทย์จะสามารถให้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมอง ทำให้อาการของผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นปกติได้

ข้อสำคัญคือการเป็นโรคหลอดเลือดสมองไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทั้ง 3 อย่างของ F – A – S คืออาการหน้าเบี้ยว, แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง, หรืออาการพูดที่ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเพียงแค่อย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 อย่างก็ให้สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น

1. หลอดเลือดในสมองตีบ (Ischemic stroke)

เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงในสมองทำให้เนื้อสมองส่วนนั้นๆขาดเลือดไปเลี้ยง  ซึ่งการอุดตันของหลอดเลือดแบ่งออกเป็น 

การอุดตันทีเกิดจากก้อนเลือดที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ (Thrombosis) ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากพยาธิสภาพของผนังเส้นเลือดเช่นหลอดเลือดแข็งตัวจากไขมันในผนังเส้นเลือด,หรือการอักเสบของเส้นเลือดหรือที่เรียกว่า vasculitis  ้.ผนังเส้นเลือดที่มีพยาธิสภาพเหล่านี้ง่ายต่อการเกิดรอยฉีกขาดซึ่งจะกลายเป็นจุดกระตุ้นทำให้มีการเกาะตัวของเกล็ดเลือดเกิดเป็นก้อนเลือด

กลไกการเกิดหลอดเลือดอุดตันจาก thrombosis

การอุดตันจากก้อนเลือดที่หลุดลอยมาจากส่วนอื่น (Embolism) เช่นเป็นก้อนเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องบนขวาเนื่องจากผู้ป่วยมีหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (atrial fibrillation) หรือหลอดเลือดบริเวณลำคอที่มีภาวะหลอดเลือดแข็งตัว 

กลไกการเกิดหลอดเลือดอุดตันจาก embolism

2. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

แบ่งออกเป็น

2.1 เลือดออกในเนื้อสมอง (Cerebral hemorrhage) ซึ่งมักเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดตามอายุรวมกับความดันโลหิตสูงทำให้เส้นเลือดในสมองแตก

2.2 เลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) ซึ่งมักเกิดจากการที่มีหลอดเลือดโป่งพองผิดปกติในสมองอยู่เดิมแล้วเกิดการแตกขึ้นมาภายหลัง

สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คืออะไร

สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คือการที่ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลงทันทีแต่ต่อมาสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็วจึงไม่มีภาวะเนื้อสมองตาย อาการจะเป็นเหมือนโรคหลอดเลือดในสมองตีบแต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ 5-10 นาทีแล้วหายได้เองภายในเวลา 24 ชั่วโมง

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) มักจะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตามมาภายใน 7 วัน  ดังนั้นอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงควรมาพบแพทย์ทันทีที่มีอาการซึ่งได้แก่

– ปากเบี้ยว หรือชาบริเวณใบหน้า

– ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

– แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก

– วิงเวียนศีรษะและเดินเซ

– พูดอ้อแอ้, นึกคำศัพท์ไม่ได้, ฟังคำพูดไม่เข้าใจ

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมีอะไรบ้าง

ปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็น

1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่

– อายุ เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของเส้นเลือดก็จะเกิดมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เปรียบเหมือนท่อประปาในบ้านที่ใช้มานานก็จะมีการผุกร่อนและตะกรันเกาะภายในท่อ

– ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

– ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคหลอดเลือดในสมองแตกมาก่อน

2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่

  • โรคความดันโลหิตสูง เมื่อมีโรคความดันโลหิตสูงควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและรับประทานยาอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดก็ตาม เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงจะไปทำให้หลอดเลือดในสมองมีความเปราะมากขึ้นและมีโอกาสปริแตกได้ง่าย
  • โรคเบาหวาน ผู้ป่วยควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อชะลอความเสื่อมของหลอดเลือด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว(Atrial fibrillation or atrial futter) มักจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและซึ่งอาจหลุดไปอุดเส้นเลือดในสมองได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบหัวใจห้องบนสั่นพริ้วรักษาโดยการให้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ(Radiofrequency ablation) จี้ทำลายจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติหรือวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติภายในผนังห้องหัวใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วควรได้รับยาละลายลิ่มเลือดอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • การสูบบุหรี่ : สารนิโคตินในบุหรี่จะเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญที่จะทำให้หลอดเลือดในสมองเปราะเกิดรอยปริแตกซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ง่ายกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่จัดและได้รับควันบุหรี่มือสองตลอดเวลาด้วย
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากทำให้ความดันโลหิตสูงและกระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว
  • การใช้สารเสพติดบางชนิดเช่นแอมเฟตามีน โคเคน ผู้ที่ใช้สารเสพติดเหล่านี้มักจะเกิดเลือดออกในสมองง่ายกว่าคนทั่วไปเนื่องจากสารเสพติดเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ง่าย

เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องปฏิบัติอย่างไร

โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ข้อมูลสำคัญคือ”เวลา”ที่เริ่มเกิดอาการหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลาสี่ชั่วโมงครึ่งนับจากอาการเริ่มต้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่เรียกว่า rt-PA เพื่อละลายลิ่มเลือดในสมอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง,ให้ดำเนินการดังนี้

1. โทรศัพท์ติดต่อ1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและแจ้งอาการของผู้ป่วย, เวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ฯลฯ ทางศูนย์จะประสานงานส่งรถพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วยในทันทีเพื่อไปส่งยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

2. หากผู้ป่วยมีโรคร่วม เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งมียารักษาที่ใช้ประจำ ให้นำยาที่ใช้ไปโรงพยาบาลด้วย 

3. ไม่ควรให้ยาใดแก่ผู้ป่วยก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาลโดยเฉพาะยาลดความดันเพราะการที่ความดันโลหิตลดลงจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงไปอีก และยาเบาหวานเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงทำให้มีอาการสับสนหรือหมดสติซึ่งส่งผลให้การประเมินผู้ป่วยทำได้ยากขึ้น

4. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก่อนถึงโรงพยาบาล. ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพราะอาจเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ้งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลและควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นซ้ำอีกแพทย์จะสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองทำได้อย่างไรและต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมบ้าง

ประวัติผู้ป่วย  – แพทย์จำเป็นจะต้องชักประวัติอาการของผู้ป่วยได้แก่เวลาที่เริ่มมีอาการหรือเวลาที่เห็นผู้ป่วยเป็นปกติครั้งล่าสุด , โรคร่วม, ยาที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ, ประวัติครอบครัว โดยหากผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติได้. แพทย์จำเป็นที่จะต้องชักประวัติจากญาติหรือผู้ที่เห็นเหตุการณ์

การตรวจร่างกาย – แพทย์จะตรวจสัญญาณชีพ(ความดันโลหิต ชีพจร, การหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย), ตรวจหัวใจและตรวจระบบประสาทโดยละเอียดได้แก่ การตรวจกำลังกล้ามเนื้อ, ตรวจประสาทสัมผัส, ตรวจการพูด, การฟัง, การตามคำสั่ง, การเดิน เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจทางรังสี – เพื่อแยกภาวะอื่นที่ไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมอง และเพื่อแยกโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองแตก,หรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน ประกอบด้วยการตรวจต่อไปนี้

  • การเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล, ระดับเกลือแร่, การทำงานที่ผิดปกติของตับหรือไต เพื่อแยกโรคอื่นๆที่อาจทำให้อาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง
  • เอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจพื้นฐานเพื่อตรวจดูภาวะความผิดปกติของหัวใจและปอดซึ่งอาจเกิดร่วมด้วย
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ- เป็นการตรวจที่จำเป็นและสำคัญเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองอาจจะพบร่วมกับโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ส่วนโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นอาจหลุดไปในกระแสเลือดและเข้าไปอุดในเส้นเลือดสมองทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้
  • การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) เป็นการตรวจที่สามารถตรวจจับภาวะเลือดออกในเนื้อสมองได้ดี ใช้เวลาน้อยในการตรวจ แต่มีข้อเสียคือการตรวจจับภาวะสมองขาดเลือดทำได้ไม่ดีเท่าการตรวจ MRI และหากต้องการดูรายละเอียดของเส้นเลือดต้องทำการฉีดสีร่วมด้วย
  • การฉีดสีตรวจหลอดเลือดสมอง (Cerebral angiography) ทำโดยการใส่สายสวนเข้าเส้นเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อฉีดสารทึบแสงเพื่อตรวจดูลักษณะของหลอดเลือด ปัจจุบันการตรวจนี้ทำน้อยลงมากเนื่องจากมีการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์และ MRI มาแทนที่
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ฺMRI scan) สามารถตรวจหลอดเลือดสมองตีบระยะเฉียบพลันได้ภายใน 15 นาทีถึง 7 วัน โดยสามารถเห็นหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ที่ตีบได้โดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสง ข้อเสียของ MRI คือการตรวจใช้เวลานานและต้องใช้ความร่วมมือของผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดก็จะไม่สามารถตรวจด้วย MRI ได้ เช่น ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถนอนนิ่งไต้นาน ๆ หรือผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจที่ไม่รองรับ MRI 
  • อัลตร้าชาวด์หลอดเลือด (TCD transcranial doppler, Carotid duplex) เป็นการตรวจโดยใช้อัลตร้าชาวด์เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองและหลอดเลือดที่คอเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาในผู้ป่วยที่มีการตีบของหลอดเลือดที่ลำคอเพื่อประเมินความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดหลอดเลือด

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

  1. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีความดันโลหิตที่มากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณารักษาโดยในบางรายอาจมีการใช้ยาลดความดันโลหิต ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดอาหารเค็ม, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กรณีที่แพทย์สั่งใช้ยาไม่ควรหยุดรับประทานยาลดความดันเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เป็นแล้วมักจะเป็นตลอดชีวิตและไม่ค่อยแสดงอาการจนกว่าจะมีภาวะวิกฤติเกิดขึ้น
  2. รับการตรวจระบบหัวใจอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อดูว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
  3. หยุดสูบบุหรี่
  4. ควบคุมน้ำหนักในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
  6. ตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
  7. งดการดื่มสุรา
  8. เลิกการใช้ยาเสพติด

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดสมองตีบสามารถรักษาให้หายเป็นปกติโดยที่ผู้ป่วยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาลภายในเวลา 4 1/2 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด(antithrombotic) rtPA (recombinant tissue plasminogen activator) เข้าทางหลอดเลือดดำ โดยยามีประสิทธิภาพในการสลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองได้ 30-50% ของผู้ป่วยซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่หรือมีความพิการน้อยมาก หลังจากการให้ยาผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) หรือหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke unit)  เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

กรณีที่เวลานับจากเริ่มเกิดอาการเกิน 4.5 ชั่วโมงไปแล้ว การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด Thrombolytic therapy ไม่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

การป้องกันการกลับเป็นซ้ำในกรณีที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว

1.) จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2. ) การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยากันการแข็งตัวของเลือด 

เนื่องจากลิ่มเลือดเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง การป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดจึงเป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันการเกิดโรคซ้ำ   ยาที่ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด แบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

อ่านรายละเอียดเรื่อง ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยที่การใช้ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

  • จุดประสงค์ของการใช้ยากลุ่มนี้คือเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนเลือดเพื่อไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องรับยาไปตลอดชีวิต
  • ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาคือทำให้มีเลือดออกง่าย
    • หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้หยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
      • – เลือดออกตามไรฟัน, เลือดกำเดาไหล, มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง
      • – ประจำเดือนปริมาณมาก
      • – มีเลือดในเยื่อบุตา
      • – อาเจียนเป็นเลือด
      • – มีเลือดออกทางปัสสาวะ
      • – ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีคล้ำ
      • – มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น บาดแผลเลือดออกมาก
    • ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุและการกระทบกระเทือน เช่น การล้มกระแทกพื้นอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายใน
    • ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, ถอนฟันหรือทำหัตถการรุกล้ำที่จะต้องมีบาดแผล จะต้องแจ้งให้บุคลากรการแพทย์ทราบทุกครั้งว่ารับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-41

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนบนทำหน้าทีควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อรอบดวงตาทำให้สามารถหลับตาได้เป็นปกติ และส่วนล่างทำหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อรอบปากทำให้การเคลื่อนไหวของปากเช่นการยิ้ม, การห่อปาก เป็นไปตามปกติ  และยังมีแขนงย่อยๆไปยังเยื่อแก้วหูและต่อมรับรสที่ลิ้น ดังนั้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จึงมีส่วนในการรับเสียงและรับรสด้วย

หากมีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ข้างใดข้างหนึ่งก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของการเคลื่อนไหวของใบหน้าครึ่งหนึ่ง ได้แก่ หลับตาข้างหนึ่งได้ไม่สนิท, มุมปากข้างหนึ่งตก, มีน้ำไหลจากมุมปากเมื่อดื่มน้ำ รวมถึงมีการลดลงของการได้ยินและการรับรสด้วย

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy ได้ชื่อมาจากแพทย์ชาวสก็อต Sir Charles Bell ซึ่งเป็นผู้บรรยายลักษณะกายวิภาคทางระบบประสาทของโรคนี้ไว้ในที่ราชสมาคมแห่งลอนดอนในปี ค.ศ. 1821

ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/ca/CharlesBell001.jpg

  สาเหตุ

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy เกิดจากการอักเสบ บวม หรือถูกกดทับ ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบได้ในสตรีตั้งครรภ์, ผู้ป่วยเบาหวาน, มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือต่อมน้ําเหลือง, ผู้ติดเชื้อไวรัส เอดส์ (HIV) และกลุ่มผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง

การวินิจฉัยโรค

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy วินิจฉัยได้จากประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยอายุรแพทย์ระบบประสาทร่วมกับการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy แยกจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้อย่างไร

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy จะไม่มีอาการอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาการอ่อนแรงของแขนขา ส่วนโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการอื่นทางระบบประสาทร่วมด้วยหลายอย่าง เช่น อัมพาตหรือแขนขาอ่อนแรง, ความผิดปกติของการพูด, สูญเสียการทรงตัว, อาการสับสนหรือไม่รู้สึกตัว

การรักษา

อาการของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน สําหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอาจหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อช่วยลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาทซึ่งจะช่วยทําให้อาการดีขึ้นได้เร็ว 

แต่การให้ยาสเตียรอยด์มักต้องใช้ยาในขนาดสูงทําให้ได้รับผล ข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ, แสบท้องจากกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้น, หิวบ่อย, น้ําหนักตัวเพิ่มหรือบวมที่ใบหน้าและในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงและควบคุมได้ยาก ส่วนการทํากายภาพโดยการใช้ ไฟฟ้ากระตุ้นหรือการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ป่วยในบางรายได้ 

การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่กระจกตาเนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรค Bell’s palsy มีอาการหลับตาได้ไม่สนิทและกระพริบตาไม่ได้จึงทำให้ตาแห้งและเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตาอย่างสม่ำเสมอและใส่แว่นหรือที่ครอบตาเพื่อป้องกันอันตรายต่อกระจกตา

ระยะเวลาในการหายของโรค

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นมากใน 2 สัปดาห์แรก และประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะหายสนิท และส่วนที่เหลืออาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ใน 3-6 เดือน แต่ในรายที่เส้นประสาทมีปัญหาอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือ งูสวัด อาการมักจะไม่หายสนิท โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy โอกาสน้อยที่เป็นซ้ําอีก หากผู้ป่วยที่เป็นซ้ําหลายครั้งแพทย์จะหาสาเหตุเพิ่มเติม

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

65-069

PI-MED-42

โรคปวดประสาทใบหน้า Trigeminal neuralgia

หมายถึงอาการปวดบริเวณใบหน้าที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันตามแนวของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 หรือที่มีชื่อเรียกในศัพท์แพทย์เรียกว่าเส้นประสาทไตรเจมินัล อาการปวดจากโรคนี้มีลักษณะพิเศษคือมีอาการปวดแปลบๆคล้ายถูกไฟฟ้าช็อตและมักจะปวดมากขึ้นเวลาเคี้ยว พูด หรือสัมผัสเบาๆ ที่ผิวหน้า มักพบเป็นมากที่แขนงที่สองของเส้นประสาทไตรเจมินัลซึ่งอยู่บริเวณโหนกแก้ม ขากรรไกรบน รวมถึงเหงือกและฟัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดแก้ม,ขากรรไกร,เสียวที่เหงือกและฟัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะถูกวินิจฉัยครั้งแรกโดยทันตแพทย์

เส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า หรือ เส้นประสาทไตรเจมินัล มีแขนงย่อย 3 เส้น ได้แก่  

  • แขนงที่หนึ่ง (Opthalmic branch – V1) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณรอบตา,หน้าผากและศีรษะด้านบน  
  • แขนงทีสอง (Maxillary branch – V2) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณแก้มและขากรรไกรบน
  • แขนงที่สาม (Mandibular branch – V3) รับสัญญาณประสาทจากบริเวณขากรรไกรล่าง

  สาเหตุ

โรคปวดประสาทใบหน้ามักพบในผู้สูงอายุ เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทไตรเจมินัลตรงทางออกของเส้นประสาทซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการหย่อนตัวของเส้นเลือดแดงในบริเวณนั้นตามอายุ การกดทับเส้นประสาททำให้มีการนำกระแสประสาทมากขึ้นคล้ายกับไฟฟ้าลัดวงจร

ในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการปวดประสาทใบหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมให้ละเอียด เช่นการทำ CT scan เพื่อหาสาเหตุของโรค เช่น เนื้องอก, หรือ โรคปลอกประสาทเสื่อม(multiple sclerosis) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆร่วมด้วยเช่น หน้าชา ปากเบี้ยว, ไม่ได้ยินเสียง

การดำเนินโรค

การดำเนินโรคอาจเป็นได้หลายแบบ เช่น มีอาการปวดติดต่อกันเป็นเดือนหรือปีแล้วจากนั้นก็ไม่มีอาการเป็นปีจากนั้นเริ่มปวดใหม่ หรือในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการปวดต่อเนื่องกันไปตลอด ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดมากขึ้น ได้แก่ การอดนอน ความเครียด เป็นต้น

การรักษา

การรักษาทางยา  ยาที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Carbamazepine (Tregretal), Trileptal (Oxycar- bazepine), Phenytoin (Dilantin), Baclophen (Lioresal) และ Gabapentin (Neurontin) ยาออกฤทธิ์โดยการลดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติทำให้อาการปวดลดลง ผลข้างเคียงของยาที่อาจพบได้ มีง่วงซึม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเกลือแร่ผิดปกติ 

การรักษาโดยการผ่าตัด การรักษาโดยการผ่าตัดใช้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา การผ่าตัดมีหลายวิธี การเลือกวิธีการผ่าตัดขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดประสาทไตรเจมินัลมีดังนี้

  1. การผ่าตัด Microvascular Decompression Surgery เป็นการผ่าตัดที่ต้องมีการผ่าเปิดกระโหลก เพื่อแยกเส้นเลือดและจัดให้เส้นเลือดไม่ไปกดทับเส้นประสาทไตรเจมินัล วิธีนี้เป็นทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดและผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัดใหญ่และการใช้ยาสลบเนื่องจากได้ผลการรักษาที่ดี อาการปวดจะดีขึ้นโดยทันทีหลังผ่าตัด 90-95% ทำให้ผู้ป่วยสามารถหยุดยาแก้ปวดได้  ส่วนข้อเสียคือการมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ, และภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดเช่น การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทซึ่งทำให้หน้าชาหรือหน้าเบี้ยว,หรือสูญเสียการได้ยิน
  2. การตัดรากประสาท (Nerve root ablation :Rhizotomy) โดยการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปยังรูที่ฐานกะโหลก (Foramen ovale) ภายใต้การนำทางด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อทำลายรากประสาทที่ปมประสาทไตรเจมินัลด้วยความร้อนที่สร้างจาก radiofrequency, หรือสารกลีเซอรอล, หรือการกดด้วยบอลลูน
  3. การใช้ Gamma knife (stereotactic radiosurgery)เป็นเครื่องมือชนิดพิเศษที่ใช้รังสีที่เป็นลำแสงขนาดเล็กจำนวนหลายร้อยเส้นพุ่งเป้ารวมศูนย์ไปที่จุดรอยโรคที่่มีขนาดเล็ก วิธีนี้จะมีความแม่นยำสูงและลดการทำลายเนื้อเยื่อปกติรอบๆ ข้อดีของวิธีนี้คือไม่มีบาดแผลและใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นเพียง 1-2 วัน ส่วนข้อเสียของวิธีนี้คือใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าที่อาการปวดประสาทลดลง

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-43

หวานเกินไป..อันตรายต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ปริมาณน้ำตาลที่เติมในอาหารไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งหมายถึงเด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 4 ช้อนชา/วัน ส่วนวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา/วัน

จากการสำรวจของกรมอนามัยและสสส.พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 3 เท่า และพบว่าสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงอะไร

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงน้ำตาลที่ไม่ได้มีอยู๋ตามธรรมชาติในอาหารชนิดนั้นๆแต่ถูกเติมเข้าในระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งรวมถึงน้ำตาลทราย(ซูโครส), น้ำตาลเด็กซ์โตรส, น้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง, และน้ำตาลจากน้ำผลไม้เข้มข้น

การได้รับน้ำตาลปริมาณมากๆต่อเนื่องมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นโรคอ้วน, โรคเบาหวานชนิดที่ 2,  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต


อาหารที่มีน้ำตาลสูง

อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่คนนิยมกันได้แก่เครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม, กาแฟหรือช็อคโกแลตเย็น, ชาไข่มุก, ขนมหวานทั้งเบเกอรี่และขนมไทย, โดนัท, ไอศกรีม เนื่องจากการได้รับน้ำตาลปริมาณสูงต่อเนื่องทำให้เกิดโรคกลุ่ม NCD หลายโรคดังที่ได้กล่าวแล้ว ดังนั้นในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มคุณควรใส่ใจต่อปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับโดยการอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อและก่อนรับประทาน และพยายามลดปริมาณน้ำตาลที่เติมเข้าไปให้น้อยลง เช่น การดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มชนิดอื่นเพื่อฝึกไม่ให้ติดรสหวาน, การดื่มกาแฟและชาโดยไม่เติมน้ำตาล, ลดปริมาณขนมหวาน, ลดการกินของว่างนอกมื้ออาหาร, ไม่เติมน้ำตาลลงในอาหาร

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-46

English topic

ลดเค็มลดโรค

การกินเค็มเกินไปทำให้ปริมาณโซเดียมในร่างกายสูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูง, และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NCD หลายโรค เช่น โรคหัวใจ, โรคเส้นเลือดสมอง, และโรคไตวายเรื้อรัง ปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัมซึ่งเท่ากับเกลือแกงประมาณ 1 ช้อนชา แต่จากข้อมูลของ สสส. พบว่าชาวไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,400 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ควรจะเป็นมาก ดังนั้นการลดอาหารเค็มให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังหลายโรค

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุง

ปริมาณโซเดียมในอาหารไทย


การลดโซเดียม

  1. เลือกกินอาหารสดตามธรรมชาติ
  2. เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารกรุบกรอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
  3. ปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดการใช้เครื่องปรุง เช่น ไม่ปรุงเพิ่ม ลดซดน้ำซุป/น้ำแกง
  4.  ลดอาหารปิ้งย่าง –บุฟเฟต์ ,ลดปริมาณน้ำจิ้ม
  5. อ่านฉลากโภชนาการ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-47

English topic

การรักษาด้วยเคมีบำบัด : ข้อมูลสำหรับผู้ป่วย

ยาเคมีบำบัดหรือบางคนอาจเรียกสั้นๆ ว่า “คีโม” ซึ่งมาจากคำว่า “คีโมเทอราปี” หมายถึง ยาประเภทสารเคมีหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วและต่อเนื่องทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด ยาเคมีบำบัดถูกใช้ในการรักษาโรคมะเร็งซึ่งอาจเป็นการใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการรักษาอย่างอื่น เช่น การผ่าตัด, การฉายรังสี, การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

แม้ว่าการใช้เคมีบำบัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดแต่ตัวยาเองก็มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลตนเองและการเตรียมตัวเพื่อรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดดังนี้

การเตรียมทางจิตใจ

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ป่วยเกือบทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งและต้องรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดย่อมมีความรู้สึกเครียด, คับข้องใจ, กลัว, กังวล, ซึมเศร้า ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นปฏิกริยาตามธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะที่ให้ความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย

ผู้เขียนบทความนี้เป็นแพทย์ที่เคยผ่านการเป็นโรคมะเร็งและได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดมาแล้วถึงสองครั้งย่อมเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ดี ดังนั้นคำแนะนำในการเตรียมพร้อมทางจิตใจคือให้ท่านพยายามตั้งสติอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ปัจจุบัน และพยายามตัดความคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่นในขณะนี้หากแพทย์เพิ่งจะแจ้งการวินิจฉัยและแผนการรักษาว่าจะมีการให้ยาเคมีบำบัดแต่ในขณะนี้ท่านยังไม่ได้รับยาเคมีบำบัดแต่อย่างใด ดังนั้นก็อย่าเพิ่งกังวลไปล่วงหน้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งก็คือผลข้างเคียงต่างๆของยาว่าจะทำให้ผมร่วงหรือเป็นแผลในปากหรือครุ่นคิดถึงเรื่องร้ายๆใดๆที่ท่านเคยได้ยินได้ฟังมา เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นทั้งนั้นจะกังวลล่วงหน้าไปทำไม ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้จะช่วยทำให้ความเครียดและความกังวลลดลงไปได้ไม่มากก็น้อย

พรอันประเสริฐที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ทุกคนคือความอดทน โดยหากเราตั้งมั่นในการที่จะค่อยๆผ่านทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อยและพยายามตัดความคิดกังวลล่วงหน้าถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ความทุกข์ใจใดๆที่มีอยู่ก็จะลดขนาดและปริมาณลงไปเอง และไม่นานนักเหตุการณ์อันก่อให้เกิดความทุกข์ก็จะถึงเวลาที่จะจบลงในที่สุด

การเตรียมทางร่างกาย

  • ก่อนเริ่มเคมีบำบัดท่านควรตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูน หากมีฟันผุต้องรักษาให้เรียบร้อยเพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อในช่องปากในช่วงให้ยาเคมีบำบัด แต่สำหรับการรักษาทางทันตกรรมที่เข้าข่ายการผ่าตัดใหญ่ เช่น การฝังรากฟันเทียม, การผ่าตัดขากรรไกร, ควรเลื่อนไปหลังจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดเสร็จสิ้นแล้วหรือปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลและทันตแพทย์เรื่องกำหนดการรักษาที่เหมาะสม
  • รักษาสุขภาพร่างกายโดยทั่วไปให้แข็งแรง, งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและสมดุลในแต่ละมื้อ ไม่ควรงดโปรตีนเนื่องจากเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยในการเสริมสร้างและซ่อมแซมร่างกาย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของท่าน
  • นอนหลับให้เพียงพอ, ผ่อนคลายจิตใจด้วยวิธีต่างๆที่เหมาะสมกับตัวท่าน เช่น การฟังเพลง, การนั่งสมาธิ, การทำงานอดิเรกต่างๆ

การเตรียมตัวในการรับเคมีบำบัดรอบแรก

  • ในวันรับยาเคมีบำบัดครั้งแรก ควรมีเพื่อนหรือญาติไปเป็นเพื่อนและขับรถให้ท่านหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ท่านไม่ควรขับรถไปเองเนื่องจากยาอาจทำให้มีอาการง่วงหรืออ่อนเพลีย
  • เนื่องจากยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่มักทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นคำแนะนำข้อแรกในการรับยาเคมีบำบัดคือท่านควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย  1-2 วันก่อนถึงกำหนดวันเริ่มยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเวลาเริ่มให้ยาควรรับประทานแต่น้อยเพียงแค่พอหายหิว อย่ารับประทานให้อิ่มเท่าปกติและให้เลือกอาหารที่ย่อยง่าย,กากใยน้อย, ไขมันต่ำ การที่ท้องค่อนข้างว่างจะช่วยทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยลงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด และให้รับประทานยาแก้อาเจียนทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนก่อน
  • เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่จะมีผมร่วง ดังนั้นท่านควรวางแผนไว้ก่อนว่าจะจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ หากต้องการใส่วิกผมให้ท่านหาข้อมูลร้านที่จำหน่ายวิกผมและเข้าไปลองสวมใส่ดูก่อนเพื่อเลือกวิกผมที่ท่านรู้สึกว่าพอใจและเหมาะกับท่านมากที่สุด เรื่องนี้ควรเตรียมล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนเริ่มยาเคมีบำบัดรอบแรกเพราะร้านจำหน่ายวิกผมบางร้านต้องใช้เวลาในการผลิตวิกผม นอกจากนั้นท่านควรเตรียมหมวกหรือผ้าโพกสำหรับใช้สลับกับวิกผม

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่พบบ่อย

กลไกการทำงานของยาเคมีบำบัดคือการออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วและต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันเซลล์ปกติในร่างกายก็จะโดนผลกระทบจากเคมีบำบัดไปด้วย โดยเฉพาะเซลล์ที่มีคุณสมบัติแบ่งตัวเร็วเช่นเยื่อบุช่องปากและทางเดินอาหาร, รากผม, ไขกระดูก เป็นต้น ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดจึงมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงในระบบต่างๆ แต่ทั้งนึ้อาการข้างเคียงขึ้นกับชนิดของยาและสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย ที่พบบ่อยได้แก่

  1. อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของเคมีบำบัด มักเกิดขึ้นหลังได้รับยาประมาณ 4-6 ชั่วโมงและเป็นอยู่ประมาณ 24 ชั่วโมงแล้วก็จะค่อยๆหายไป  วิธีการบรรเทาอาการคือท่านควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย  1-2 วันก่อนถึงกำหนดวันเริ่มยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเวลาเริ่มให้ยาควรรับประทานแต่น้อยเพียงแค่พอหายหิว อย่ารับประทานให้อิ่มเท่าปกติและให้เลือกอาหารที่ย่อยง่าย,กากใยน้อย, ไขมันต่ำ การที่ท้องค่อนข้างว่างจะช่วยทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยลงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด  และให้รับประทานยาแก้อาเจียนทันทีหลังได้รับยาเคมีบำบัดโดยไม่ต้องรอให้มีอาการคลื่นไส้เกิดขึ้นก่อน จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนจะค่อนข้างหนักในการรับยาเคมีบำบัดรอบที่ 1-2  แต่ในรอบหลังๆอาการจะลดลงไปมากเหมือนกับร่างกายชินกับเคมีบำบัดและปรับตัวได้
  2. แผลในปากมักเกิดขึ้นประมาณ 10-14 วันหลังให้ยา ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเยื่อบุปากบางตัวลงทำให้มีอาการแสบเวลารับประทานอาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลลักษณะคล้ายแผลร้อนใน การบรรเทาอาการได้แก่ การรับประทานอาหารอ่อนที่เคี้ยวง่ายและรสไม่จัด การบ้วนปากด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันพืชชนิดใดๆ (oil pulling), การใช้ยาทาแผลในปากที่แพทย์สั่งให้
  3. การเบื่ออาหารและการรับรสอาหารผิดเพี้ยนไปจากปกติอาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดบางตัว ในผู้ที่มีอาการมักเริ่มเป็นตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังได้รับยาเคมีบำบัดและเป็นอยู่ต่อเนื่องจนกว่าจะจบการให้ยาเคมีบำบัดไปแล้วระยะหนึ่ง
  4. เม็ดเลือดขาวต่ำมักเริ่มเกิดขึ้นประมาณวันที่ 10 และจะมีระดับต่ำสุดช่วงประมาณวันที่ 14 หลังให้ยา หลังจากนั้นเม็ดเลือดขาวจะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติหรือเกือบปกติประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ถึงสัปดาห์ที่ 4  หลังการให้ยา เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งระดับเม็ดเลือดขาวอยู่ในช่วงต่ำสุดท่านควรระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อเช่นสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ, รับประทานอาหารที่สุกสะอาด, หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่มีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจ
  5. อาการอ่อนเพลียมักจะเป็นในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังให้ยาจากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 และ 4
  6. ผมร่วงจะเริ่มเกิดขึ้นประมาณวันที่ 14-15 หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดรอบแรก เมื่อผมเริ่มร่วงผู้เขียนแนะนำให้โกนผมทีเหลือทิ้งไปเลยเพราะอย่างไรผมก็จะต้องร่วงจนหมดอย่างแน่นอน การโกนผมให้หมดแล้วใส่วิกหรือสวมหมวกหรือผ้าโพกย่อมให้ภาพลักษณ์ที่ดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้ให้ผมร่วงเองเป็นหย่อมๆ  นอกจากนั้นการปล่อยให้ผมร่วงเองก็จะทำให้มีเส้นผมร่วงหล่นอยู่ตามพื้นห้องเต็มไปหมดทำให้ต้องเสียเวลาในการเก็บกวาด
  7. การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเล็บจะเกิดขึ้นช้าๆและเริ่มสังเกตได้ที่รอบการให้เคมีบำบัดครั้งที่ 2 หรือ 3 เป็นต้นไป ผิวหนังจะมีลักษณะคล้ำขึ้นในบางพื้นที่เช่นรอบดวงตา, ลิ้น, ลำคอ เป็นต้น เล็บอาจมีลักษณะเป็นเส้นสีคล้ำเป็นแถบๆ ผิวหนังและเล็บจะค่อยๆกลับคืนสู่สภาพเดิมภายในเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีหลังเสร็จสิ้นการให้ยาเคมีบำบัด
  8. กรณีได้ยาเคมีบำบัดที่มียาสเตียรอยด์ปริมาณสูงในสูตรยาอาจทำให้ระบบต่างๆในร่างกายเกิดความแปรปรวน เช่น มีอาการนอนไม่หลับ, มีอารมณ์แปรปรวน, ท้องผูกมาก, หน้าบวม อาการบางอย่างอาจมียาช่วยบรรเทาได้เช่นปัญหาการนอนหลับหรือท้องผูก หากมีอาการมากให้แจ้งแพทย์เพื่อสั่งยาให้ ส่วนอาการบวมจากสเตียรอยด์จะดีขึ้นเองหลังจากหยุดยาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป

ขั้นตอนในวันรับเคมีบำบัด

  • ส่วนใหญ่บริการให้ยาเคมีบำบัดจะเป็นบริการแบบจบในวันเดียว (day care) ผู้ป่วยจะได้รับการนัดหมายในช่วงเช้าหรือบ่ายแล้วแต่รอบการให้ยาของแต่ละโรงพยาบาล
  • การให้ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่ใช้การแทงเข็มเข้าเส้นเลือดดำเพื่อให้ยาที่เป็นสารละลายหยดเข้าเส้นเลือดดำอย่างช้าๆ ในระหว่างการให้ยาเคมีบำบัดท่านควรสังเกตว่ามีอาการบวมหรืออาการแสบร้อนของผิวหนังบริเวณรอบเข็มหรือไม่ หากมีอาการต้องรีบแจ้งพยาบาลประจำห้องเคมีบำบัด
  • การให้ยาเคมีบำบัดหนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วแต่ชนิดของยาในสูตรที่ท่านได้รับ ระหว่างการให้ยาท่านสามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้ (หากท่านรู้สึกวิงเวียนหรือเดินไม่ถนัดควรเรียกพยาบาลให้ช่วยเหลือ) ปัสสสาวะที่ออกมาในช่วงที่กำลังได้รับยาทางหลอดเลือดดำอาจมีสีเข้มหรือมีสีเหมือนเคมี ซึ่งเป็นเรื่องปกติไม่ต้องตกใจ
  • ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น คันตาคันจมูก, เยื่อบุจมูกบวม, มีน้ำมูกไหล, หายใจไม่สะดวก ซึ่งกรณีที่มีการใช้ยากลุ่มนี้แพทย์จะสั่งยาแก้แพ้ฉีดทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันอาการให้แล้ว แต่ถ้ายังมีอาการเกิดขึ้นให้แจ้งพยาบาลเพื่อรายงานแพทย์

ชีวิตประจำวันในช่วงการรักษาด้วยเคมีบำบัด

  • การทำงาน : เป็นคำถามที่พบบ่อยอย่างหนึ่งในหมู่ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด การไปทำงานได้หรือไม่ขึ้นกับลักษณะงานและสภาพร่างกายของท่าน หากงานที่ทำเป็นงานกลางแจ้ง, งานที่ต้องใช้แรง, งานที่ต้องมีการเดินทางมากและนานอาจไม่เหมาะที่จะทำในช่วงที่ได้รับยาเคมีบำบัด ในทางตรงกันข้าม งานนั่งโต๊ะ, งานในออฟฟิศ เป็นงานที่มักจะพอทำได้ในช่วงที่ได้รับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจของท่านด้วยซึ่งตัวผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่ประเมินสถานการณ์ได้ดีที่สุด
  • การสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์ : ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่าผู้ป่วยเกือบทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งและต้องรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดย่อมมีความรู้สึกเครียด, คับข้องใจ, กลัว, กังวล, ซึมเศร้า ฯลฯ ดังนั้นการได้รับการประคับประคองสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากท่านมีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่สามารถพูดคุยระบายความคับข้องใจและความทุกข์ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หรือหากท่านไม่มีใครที่จะพูดคุยด้วยได้ในเรื่องนี้ท่านอาจปรึกษาจิตแพทย์ได้ ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในความทุกข์และความอ้างว้าง ทุกสิ่งทุกอย่างจะผ่านไปในที่สุดแต่เราจะต้องรู้จักที่จะประคองตัวให้ผ่านไปได้

ในย่อหน้าสุดท้ายนี้ผู้เขียนขอสรุปจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตมนุษย์ คนเรามีทุกข์ต่างๆกันไป แต่ที่แน่ๆคือไม่มีความทุกข์ใดยั่งยืนตลอดไป มันจะมีวันจบลงในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว “เวลา”เครื่องมืออันมหัศจรรย์ที่จะเยียวยาทุกสิ่ง สิ่งใดที่เคยรู้สึกว่าเป็นปัญหาอุปสรรคที่ใหญ่จนเหมือนภูผาที่จะไม่มีวันข้ามไปได้นั้น หากท่านได้อดทนจนผ่านไปได้แล้ว, และภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้วได้มองย้อนกลับไปจะรู้สึกว่าสิ่งที่เคยเห็นว่าใหญ่เท่าภูเขาขนาดมหึมานั้นเป็นแต่เพียงเนินดินเตี้ยๆเท่านั้น ขอให้ความเข้มแข็งจงอยู่กับทุกท่าน

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์อองโคแคร์ (Oncocare Center)       

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12210

PI-MED-40


โรคปวดศีรษะไมเกรน

PI-MED-44

error: Content is protected !!