ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

น้ำตาลกลูโคสมีความสำคัญต่อร่างกายเนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ค่าระดับกลูโคสในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานควรสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ระดับกลูโคสในเลือดของคนทั่วไปควรสูงกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์โดยใช้ยาและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดซึ่งหากมีปัจจัยใดๆที่มีผลต่อน้ำตาลในเลือด เช่น การมีกิจกรรมมากขึ้นกว่าปกติ, การเจ็บป่วย, การรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติหรือรับประทานผิดเวลา เหล่านี้ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกมีอาการใจสั่น, มือสั่น, หิว, วิงเวียน, รู้สึกเหมือนจะเป็นลม, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือชัก

ทำไมจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ระดับกลูโคสในเลือดที่ปกติในผู้ป่วยเบาหวานได้จากความสมดุลระหว่างปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป, กิจกรรมที่กระทำ, ยาเบาหวานที่ใช้, และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง

หากมีการเสียสมดุลของปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น 

  • ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยกว่าเดิม, มื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนออกไปในขณะที่ยังรับประทานยาหรือฉีดยาเบาหวานตามเวลาปกติ
  • ผู้ป่วยมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น, มีการยกของหนัก, จัดบ้าน, อาบน้ำสุนัข, ล้างรถเป็นต้น ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่ทันรู้ตัวว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้มีการใช้พลังงานมากกว่าที่เคยเป็น
  • ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารและใช้ยาเบาหวานตามปกติแต่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นเช่นเป็นหวัดหรือท้องเสีย ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งควรใส่ใจระมัดระวังดูแลเป็นพิเศษได้แก่

  • ผู้ป่วยสูงวัย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับ, โรคไต
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินชนิดฉีด หรือยาเบาหวานกลุ่ม sulfonyluria เช่น Daonil, Minidiab, Diamicron, Amaryl, และยา Novonorm ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Glinide
  •  ผู้ป่วยที่ควบคุมเบาหวานอย่างเข้มงวดมากโดยกำหนดระดับเป้าหมาย HbA1c และระดับน้ำตาลในเลือดที่ใกล้เคียงระดับปกติมาก
  • ผู้ป่วยที่เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยเฉพาะระดับรุนแรงหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่ไม่มีอาการเตือนเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรทำอย่างไร

แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย

ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็ว 15 กรัม แล้วสังเกตอาหารหรือเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็วอีก 15 กรัม จนกว่าอาการจะหายไปหรือได้ค่าน้ำตาลมากกว่า 70 mg/dl หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วให้รับประทานคาร์บไฮเดรตชนิดดูดซึมช้า เช่น ขนมปัง ผลไม้หรือข้าว เพื่อป้องกันน้ำตาลตกซ้ำ

ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว ปริมาณ 15 กรัม ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตดูดซึมช้า ปริมาณ 15 กรัม
ลูกอม 3 เม็ด
น้ำผลไม้ 1 กล่อง
น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
ขนมปัง 1 แผ่น
กล้วยหรือแอ๊ปเปิ้ล 1 ผล
โยเกิร์ต 200 กรัม
ข้าวต้มหรือโจ๊ก 1/2 ถ้วย

ผู้ป่วยหมดสติไม่รู้สึกตัว ให้ผู้ดูแลหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์โทร 1669 แจ้งเหตุฉุกเฉินผู้ป่วยหมดสติ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรมีเครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ผู้ป่วยควรพกลูกอมหรือน้ำผลไม้ติดตัวไว้รับประทานเมื่อเกิดอาการ


 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-10

English topic

โรคเบาหวาน

เบาหวานคือโรคที่ร่างกายมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากความบกพร่องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยฮอร์โมนอินซูลิน

อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล)ที่รับประทานจะถูกย่อยโดยทางเดินอาหารกลายเป็นกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาสู่กระแสเลือด อินซูลินจะไปไปจับกับตัวรับอินซูลินที่ผิวเซลล์ต่างๆในร่างกายกระตุ้นให้เกิดกระบวนการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำลง

กลุ่มโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น

เบาหวานชนิดที่ 1  พบได้น้อยกว่าชนิดที่สอง เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตั้งแต่อายุน้อย

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยเกิดจากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้แม้ว่ามีระดับอินซูลินในเลือดสูงก็ไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เบาหวานชนิดที่ 2 พบในผู้ใหญ่และสัมพันธ์กับโรคอ้วน ผู้ป่วยมักมีปัญหาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งมักเรียกกันว่า กลุ่มอาการเมตาบอลิค

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) คือการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากสภาวะความทนน้ำตาลผิดปกติ (glucose intolerance) ที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์โดยผู้ป่วยไม่เคยเป็นมาก่อน มักพบในไตรมาสสามของการตั้งครรภ์และหายเองได้หลังคลอด

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นหลักเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนทั่วไป

อาการของโรคเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวานขึ้นกับระดับน้ำตาล ผู้ที่เป็นเบาหวานอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยถ้าระดับน้ำตาลสูงปานกลาง แต่หากระดับน้ำตาลขึ้นสูงมากผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • กระหายน้ำผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ไม่ได้อดอาหาร
  • รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
  • แผลหายช้าผิดปกติ
  • มีการติดเชื้อง่ายขึ้น

การดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้นได้อย่างไร

การดื้อต่ออินซูลินคือการที่ตับอ่อนสามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในการนำกลูโคสเข้าเซลล์จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของเบาหวานชนิดที่สองคือโรคอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้วนที่มีไขมันในช่องท้องปริมาณมาก ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การรับประทานน้ำตาลและแป้งขัดขาวปริมาณมากเป็นประจำ, การมีประวัติเบาหวานในครอบครัว, การมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตแบบไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย, อายุมาก, การใช้ยาบางอย่างเช่น สเตียรอยด์, การนอนหลับที่ไม่เพียงพออย่างเรื้อรัง, การสูบบุหรี่

ผลระยะยาวของโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุม

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการแข็งตัวของเส้นเลือดหรือ atherosclerosis, มีการอักเสบในระดับเซลล์ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นเลือดซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่แสดงอาการใดในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเส้นเลือดเกิดการเสื่อมถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายของเส้นเลือดทั่วร่างกาย ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมอง  ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากความเสื่อมของเส้นเลือดในสมอง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง
  2. เบาหวานขึ้นตา เกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดความเสื่อมของจอประสาทตา, มีเลือดออกในจอประสาทตาและมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทำให้การมองเห็นลดลงจนกระทั่งตาบอดในที่สุด คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานขึ้นตา
  3. โรคหลอดเลือดหัวใจ การเสื่อมของหลอดเลือดจากโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงและหากอาการเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ
  4. ไตวายเรื้อรัง ไตเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมาก การมีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังจากเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีส่งผลให้เส้นเลือดที่ไตเสียหาย การทำงานของไตจะพร่องลงทีละน้อยจนในที่สุดผู้ป่วยจะเกิดภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระแก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวอย่างมากเนื่องจากผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายต้องมีการฟอกไตเป็นประจำสัปดาห์ละ 3 วันหรือการปลูกถ่ายไตซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานกับโรคไต
  5. การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในเพศชายการเสื่อมของหลอดเลือดแดงจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังจะทำให้มีผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ
  6. แผลที่เท้า เนื่องจากการเสื่อมของเส้นเลือดแดงส่วนปลายทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงนิ้วเท้าและฝ่าเท้าร่วมกับการที่ผู้ป่วยมีการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจากการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย และแผลหายยาก ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายจึงเป็นแผลเรื้อรังที่เท้าซึ่งในบางรายลุกลามไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือการเน่าของแผลทำให้ต้องตัดขา

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-04

English topic

หวานเกินไป..อันตรายต่อสุขภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ปริมาณน้ำตาลที่เติมในอาหารไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งหมายถึงเด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 4 ช้อนชา/วัน ส่วนวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา/วัน

จากการสำรวจของกรมอนามัยและสสส.พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 3 เท่า และพบว่าสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงอะไร

น้ำตาลที่เติมเข้าไปในอาหารหมายถึงน้ำตาลที่ไม่ได้มีอยู๋ตามธรรมชาติในอาหารชนิดนั้นๆแต่ถูกเติมเข้าในระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งรวมถึงน้ำตาลทราย(ซูโครส), น้ำตาลเด็กซ์โตรส, น้ำเชื่อม, น้ำผึ้ง, และน้ำตาลจากน้ำผลไม้เข้มข้น

การได้รับน้ำตาลปริมาณมากๆต่อเนื่องมีผลอย่างไรต่อร่างกาย

การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นโรคอ้วน, โรคเบาหวานชนิดที่ 2,  ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต


อาหารที่มีน้ำตาลสูง

อาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่คนนิยมกันได้แก่เครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม, กาแฟหรือช็อคโกแลตเย็น, ชาไข่มุก, ขนมหวานทั้งเบเกอรี่และขนมไทย, โดนัท, ไอศกรีม เนื่องจากการได้รับน้ำตาลปริมาณสูงต่อเนื่องทำให้เกิดโรคกลุ่ม NCD หลายโรคดังที่ได้กล่าวแล้ว ดังนั้นในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มคุณควรใส่ใจต่อปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับโดยการอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อและก่อนรับประทาน และพยายามลดปริมาณน้ำตาลที่เติมเข้าไปให้น้อยลง เช่น การดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มชนิดอื่นเพื่อฝึกไม่ให้ติดรสหวาน, การดื่มกาแฟและชาโดยไม่เติมน้ำตาล, ลดปริมาณขนมหวาน, ลดการกินของว่างนอกมื้ออาหาร, ไม่เติมน้ำตาลลงในอาหาร

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-46

English topic

ลดเค็มลดโรค

การกินเค็มเกินไปทำให้ปริมาณโซเดียมในร่างกายสูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูง, และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NCD หลายโรค เช่น โรคหัวใจ, โรคเส้นเลือดสมอง, และโรคไตวายเรื้อรัง ปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวันไม่ควรเกิน 2,300 มิลลิกรัมซึ่งเท่ากับเกลือแกงประมาณ 1 ช้อนชา แต่จากข้อมูลของ สสส. พบว่าชาวไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,400 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ควรจะเป็นมาก ดังนั้นการลดอาหารเค็มให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังหลายโรค

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุง

ปริมาณโซเดียมในอาหารไทย


การลดโซเดียม

  1. เลือกกินอาหารสดตามธรรมชาติ
  2. เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารกรุบกรอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง
  3. ปรับพฤติกรรมการบริโภค ลดการใช้เครื่องปรุง เช่น ไม่ปรุงเพิ่ม ลดซดน้ำซุป/น้ำแกง
  4.  ลดอาหารปิ้งย่าง –บุฟเฟต์ ,ลดปริมาณน้ำจิ้ม
  5. อ่านฉลากโภชนาการ ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-47

English topic

โรคเบาหวานและโรคไตเรื้อรัง : ภัยเงียบที่คุณอาจคาดไม่ถึง

โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุหลักที่พบบ่อยของการเกิดโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยรายงานว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยสุดท้ายที่ต้องฟอกไตมีสาเหตุจากโรคเบาหวานถึงร้อยละ 36.3 ดังนั้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีจะมีความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของไตจนเกิดโรคไตเรื้อรัง ไตวาย ซึ่งทำให้ต้องมีการฟอกไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

โรคเบาหวานนับเป็นภัยเงียบที่อันตรายเนื่องจากระยะแรกของโรคเบาหวานมักจะไม่มีอาการผิดปกติ ต่อมาเมื่ออาการเป็นมากขึ้นผู้ป่วยอาจจะมีอาการเช่นปัสสาวะมาก น้ำหนักลด หรืออาการอื่นๆที่อาจจะไม่มีลักษณะจำเพาะที่ชัดเจนทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้สังเกตตนเองและไม่เคยตรวจรักษา
ผู้ป่วยบางรายจึงมาพบแพทย์เมื่อมีการดำเนินโรคไปมากแล้วเช่น เกิดไตวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจ, ความเสื่อมของระบบประสาท เป็นต้น

โรคเบาหวาน ทำให้เกิดโรคไตได้อย่างไร

เนื้อไตประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมากที่ทำหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียออกจากร่างกาย ในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังทำให้ผนังเส้นเลือดและเนื้อไตเสื่อมสภาพทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง, ประสิทธิภาพในการกรองของเสียออกจากเลือดจึงลดน้อยลงและมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ

โรคเบาหวาน : คำแนะนำเพื่อป้องกันและชะลอความรุนแรงในการเกิดโรคไต

สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวานแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเช่นมีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว, มีน้ำหนักตัวมาก ฯลฯ ควรระวังดูแลรักษาสุขภาพ ดังนี้

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

2. ลดอาหารที่จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว, อาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว, อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ขนม ของหวาน น้ำอัดลม ชาไข่มุก กาแฟและช็อคโกแล็ตที่มีน้ำตาล

3. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี่, คะน้า, ถั่วชนิดต่างๆ, ข้าวโพด, กระเจี๊ยบเขียว ผลไม้เช่น แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง
เส้นใยในอาหาร (Dietary fiber) จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

4. คุณควรรับการตรวจสุขภาพประจำปีโดยมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและการตรวจระดับโปรตีนในปัสสาวะเพื่อตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบาหวานได้แต่เนิ่นๆ และหากตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานก็ควรรับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของผลข้างเคียง

สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว: การดูแลตนเองเพื่อป้องกันและชะลอการเสื่อมของไต

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวของคุณให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหาร (Fasting plasma glucose) ให้ต่ำกว่า 130 mg/dl และระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้ต่ำกว่า 7 โดยการควบคุมอาหาร(ตามรายละเอียดในหัวข้อถัดไป) และการใช้ยาลดน้ำตาล

3. ลดอาหารที่จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงรวดเร็ว เช่น ข้าวขาว, อาหารที่ทำจากแป้งขัดขาว, อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ขนม ของหวาน น้ำอัดลม ชาไข่มุก กาแฟและช็อคโกแล็ตที่มีน้ำตาล

4. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น บร็อคโคลี่, คะน้า, ถั่วชนิดต่างๆ, ข้าวโพด, กระเจี๊ยบเขียว ผลไม้เช่น แอ๊ปเปิ้ล ฝรั่ง
เส้นใยในอาหาร (Dietary fiber) จะช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

5. ควบคุมระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทเนื่องจากความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลให้ไตเสื่อมอย่างรวดเร็วมากขึ้น การดูแลตนเองเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตได้แก่การลดอาหารเค็มและอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง, การลดความเครียดผ่อนคลายจิตใจและร่างกายและในบางรายแพทย์อาจสั่งยาลดความดันโลหิต

6. ผู้ที่สูบบุหรี่ควรเลิกสูบบุหรี่ให้ได้อย่างเด็ดขาดเนื่องจากนิโคตินส่งผลให้เกิดการดื้อต่ออินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นและมีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มขึ้นและอัตราการกรองของเสียจากไตลดลง

7. คุณควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องครั้งละ 30 นาที ให้หัวใจเต้นในอัตรา 100-120 ครั้งต่อนาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง (รวม 150 นาทีต่อสัปดาห์) เพราะการออกกำลังกายช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ทำให้ระบบอวัยวะในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น. คุณควรเลือกการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ หรืออื่นๆ ที่เหมาะสมกับร่างกายและวัยของคุณ

8. คุณควรรับประทานอาหารโปรตีนให้เพียงพอ ปริมาณที่เหมาะสมของโปรตีนอย่างน้อย 0.8-1.0 กรัม ต่อน้ำหนักตัวต่อวัน ดูปริมาณโปรตีนในอาหารแต่ละประเภทได้ที่นี่

9. ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจคัดกรองโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะและการตรวจวัดการทำงานของไต (Estimated glomerular filtration rate [eGFR]) อย่างสม่ำเสมอ

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า  
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12390 , 12397


PI-DMC-14

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นจนถึงตาบอดได้ เบาหวานขึ้นตาสามารถเกิดได้ถึง 90% ในผู้ป่วยเป็นเบาหวานนาน 15 ปีขึ้นไป ระยะเวลาการเป็นเบาหวานที่ยาวนานมีผลต่อการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา โดยแม้ว่าผู้ป่วยจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีก็ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขึ้นตา

สาเหตุ

เบาหวานขึ้นตาเกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดในชั้นจอประสาทตาทำให้เกิดการโป่งพองของเส้นเลือดและรั่วซึมของสารน้ำและเม็ดเลือด ทำให้จอประสาทตาบวม รวมถึงมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดที่ผิดปกติทำให้เกิดเลือดออกในจอประสาทตาและการลอกตัวของจอประสาทตาและทำให้ตาบอดในที่สุด


อาการ

ในระยะเริ่มต้นและระยะปานกลางผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตามักไม่แสดงอาการทำให้โรคดำเนินเข้าสู่ระยะรุนแรงซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการตามัว, เห็นจุดดำๆกลางภาพ, มองเห็นภาพมืดเป็นส่วน ๆ หรือการมองเห็นสีเพี้ยนไป

การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. รับการตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัดหมาย
  2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  3. รักษาโรคร่วมที่มี เช่น โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะไขมันในเลือดสูง, งดสูบบุหรี่
  4. ดูแลภาวะโภชนาการและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. ในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นตาในระยะเริ่มต้นและระยะปานกลางจักษุแพทย์จะนัดมาตรวจติดตามอาการเป็นระยะ
  2. หากมีเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติ,หรือจุดรับภาพ (macular) บวม จักษุแพทย์จะทำการรักษาด้วยกาใช้เลเซอร์ที่จอประสาทตาหรือฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาเพื่อยับยั้งการลุกลาม
  3. หากมีภาวะแทรกซ้อนเช่นการหลุดลอกของจอประสาทตาซึ่งมักเกิดขึ้นจากการไม่ได้รับการตรวจติดตามและรักษาอาการตั้งแต่เริ่มแรก. กรณีเช่นนี้จักษุแพทย์ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด

การเตรียมตัวเพื่อตรวจจอประสาทตา

  1. เนื่องจากตาจะมัวหลังจากขยายม่านตา ประมาณ 4 ชั่วโมง จึงควรนั่งรถรับจ้างมาโรงพยาบาลหรือมีคนช่วยขับรถกลับบ้านให้
  2. ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง (รอม่านตาขยายจากการหยอดตา)
  3. หลังตรวจจะมีอาการอ่านหนังสือไม่ชัด ทำคอมพิวเตอร์ไม่สะดวก 3-4 ชั่วโมงแล้วจึงกลับมาเป็นปกติ

การนัดตรวจติดตามในผู้ป่วยที่มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

  1. ระยะเริ่มต้น นัดตรวจติดตามอาการทุก 6 เดือน
  2. ระยะปานกลาง นัดตรวจติดตามอาการทุก 4-6 เดือน
  3. ระยะรุนแรง นัดตรวจติดตามอาการทุก 3-4 เดือนหรือตามความเห็นของแพทย์

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์จักษุ

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20831, 20832 

..PI-EYE-05/Rev.1

English topic

error: Content is protected !!