ยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet) และยากันเลือดแข็งตัว (anticoagulants)

ยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet)

ยาต้านเกล็ดเลือดคือยาที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดเกาะตัวกันซึ่งจะเป็นสาเหตุของการอุดตันของหลอดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ยาต้านเกล็ดเลือดจะถูกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองและเส้นเลือดหัวใจ ในปัจจุบันมียาหลายชนิดแตกต่างกันตามกลไกการออกฤทธิ์ แพทย์จะเป็นผู้เลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือเลือดออกในสมอง

ชนิดของยาต้านเกล็ดเลือด

1.แอสไพริน

เป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เป็นยาที่ใช้แพร่หลายเนื่องจากมีประสิทธิภาพค่อนดี, มีการใช้มานาน, ราคาไม่แพงจึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงในการกำเริบของโรคหลอดเลือดตีบที่สมองหรือหัวใจ อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยของแอสไพริน คือการระคายเคืองทางเดินอาหารทำให้มีอาการปวดท้องแสบท้อง, คลื่นไส้, หรืออาจถึงกับมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ ดังนั้นจึงมีการพัฒนารูปแบบของยาแอสไพริน เพื่อช่วยลดปัญหาต่อทางเดินอาหาร ที่ใช้บ่อยมี 2 รูปแบบได้แก่

a. Enteric coated Aspirin
แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบช่วยให้ตัวยาค่อยๆ ละลายที่บริเวณลำไส้ช่วยลดอาการระคายเคืองบริเวณกระเพาะอาหาร จึงไม่ควรหักเม็ดยาหรือบดเคี้ยวเม็ดยาและไม่ควรการรับประทานยาร่วมกับนมหรือยาลดกรดเนื่องจากอาจทำให้ตัวยาละลายออกมาที่กระเพาะอาหารแทนที่จะเป็นที่ลำไส้
ตัวอย่าง : แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบ(81 มิลลิกรัม) เช่น Aspent-M, B-Aspirin/แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบ(300 มิลลิกรัม) เช่น Aspent

b. Aspirin ชนิดผสมกับ glycine
เพื่อเพิ่มการละลายและลดอาการข้างเคียงต่อทางเดินอาหาร เม็ดยาสามารถวางบนลิ้นอมให้ละลายแล้วกลืนได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำตามหรือจะกลืนเม็ดยาพร้อมน้ำสะอาดก็ได้ตัวอย่างชื่อการค้าของยาเช่น CardiPRIN 100 mg 

2. ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือดที่ไม่ใช่แอสไพริน

ยากลุ่มนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาแอสไพรินได้เนื่องจากมีอาการแพ้หรือมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารรุนแรง แพทย์อาจพิจาณาใช้ยาอื่นได้แก่

a. ยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่ม P2Y12 inhibitor ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าแอสไพริน โดยที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่าแต่ความเสี่ยงในการทำให้เกิดเลือดออกนั้นอาจจะมากกว่าแอสไพรินเล็กน้อยและตัวยามีราคาแพงกว่าแอสไพริน

ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
ClopidogrelPlavix 75 mgCo-Plavix 75/75 mgApolets 75 mg
PrasugrelEffient 10 mg
TicagrelorBrilinta 90 mg
*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ลิ้นรับรสชาติแปลกไป ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นช้า เป็นต้น

b. ยาที่ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดโดยการยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส ยานี้มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดที่น้อยกว่าแอสไพริน

ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
CilostazolPletaal 50 และ 100 mg
*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น ปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

C. ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยั้บยั้งไกลโคโปรตีน IIb/IIIa การใช้ยากลุ่มนี้มีข้อบ่งชี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการแพ้ยาหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่มอื่นได้

             ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
AbciximabReoPro 
eptifibatideIntegrilin
tirofibanAggrastat (Pro)

 ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยที่การใช้ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด

  • จุดประสงค์ของการใช้ยากลุ่มนี้คือเพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนเลือดเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือหลอดเลือดสมองอุดตันซ้ำอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต
  • ผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุดของยากลุ่มนี้ คือ ทำให้เลือดหยุดยากขึ้น ดังนั้น:หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้หยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
    • มีเลือดออกที่เหงือกบ่อยๆและหยุดยาก
    • เลือดกำเดาไหล, มีจ้ำเลือดตามผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง
    • ประจำเดือนปริมาณมาก
    • เลือดออกในเยื่อบุตาขาว
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • มีปัสสาวะเป็นเลือด
    • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีคล้ำ
    • มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น มีเลือดออกจากบาดแผลมาก
    • ผู้ป่วยควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุและอันตราย เช่น การล้มอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายในโดยเฉพาะบริเวณศีรษะและทรวงอก
  • ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, ถอนฟันหรือทำหัตถการที่จะต้องมีบาดแผลและเลือดออก ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ผ่าตัดทราบทุกครั้งว่ารับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่และแพทย์อาจพิจารณาหยุดยาก่อนการผ่าตัดเป็นรายๆไป

ยากันเลือดแข็งตัว (anticoagulant)

ยากันเลือดแข็งตัวคือยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงจึงป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือด ข้อบ่งชี้ของการใช้ยากันเลือดแข็งตัวได้แก่

  • การป้องกันและการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา (deep vein thrombosis) หรือลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ปอด (pulmonary embolism)
  • ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดในสมองตีบจากลิ่มเลือดจากการเต้นพริ้วของหัวใจห้องบน (atrial fibrillation) 
  • ผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 

ยากันเลือดแข็งตัว  แบ่งออกเป็น

  1. ยาวาร์ฟาริน (warfarin)
    เป็นยาที่ใช้กันแพร่หลายมาเป็นเวลานาน การใช้ยาชนิดนี้จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและมาพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่องเพื่อเจาะเลือดตรวจระดับยา ในช่วงแรกที่เริ่มปรับขนาดยาผู้ป่วยอาจต้องมาเจาะเลือดทุก 3 วันหรือทุกสัปดาห์เพื่อปรับระดับยา การใช้ยากลุ่มนี้มีข้อควรระวังเนื่องจากยาชนิดนี้มีปฏิกิริยากับยาอื่นและอาหารบางชนิดที่รับประทานกันทั่วไป เช่น ผักใบเขียว รวมถึงต้องพิจารณาความเสี่ยงเลือดออกรายบุคคลร่วมด้วย

ยาวาร์ฟาริน (warfarin)  ในโรงพยาบาลพระรามเก้ามีใช้ 3 ขนาดคือ 2, 3 และ 5 มิลลิกรัม

ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน warfarin

  • มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกว่า “ค่า  INR” เพื่อปรับยา warfarin ให้ได้ระดับค่า INR ที่เหมาะสมกับตัวโรคของท่าน
    • ถ้าค่า INR สูงเกินระดับ จะมีโอกาสเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย
    • ถ้าค่า INR ต่ำกว่าระดับ จะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย 
  • รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ห้ามลืมทานยา ในบางกรณีอาจจะต้องใช้ปฏิทินช่วยจำ
  • หากมีอาการเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาและมาพบแพทย์ทันที
  • เมื่อท่านไปรับบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งบุคลากรการแพทย์ทราบทุกครั้งว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, การถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม
  • หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลที่มีเลือดออกให้ห้ามเลือดโดยใช้มือกดผ้าสะอาดไว้ให้แน่นตรงบาดแผล จะช่วยให้เลือดหยุดหรือไหลน้อยลงได้ แล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีและแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่
  • ยาและอาหารบางชนิดอาจมีผลต่อระดับของยาวาร์ฟารินในกระแสเลือดซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาได้ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารและไม่ควรซื้อยากินเอง
    • ปฏิกริยาระหว่างยาที่ควรทราบ
      • ยาที่เพิ่มฤทธิ์ของ Warfarin ซึ่งทำให้ค่า INR เพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสเลือดออก ได้แก่
        • กลุ่มยาแก้ปวดข้อ /กล้ามเนื้อ เช่น Diclofenac, Piroxicam, Indomethacin, Ibuprofen
        • กลุ่มยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Co-trimoxazole (Sulfa)
      • ยาที่ลดฤทธิ์ของวาร์ฟารินซึ่งทำให้ค่า INR ลดลงและทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือด  ได้แก่
        • ยากันชัก เช่น Carbamazepine, Phenytoin
        • ยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Rifampin, Griseofulvin
    • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีผลต่อ warfarin เช่น โสม, ขิง, แปะก๊วย, กระเทียม, น้ำมันปลา, สมุนไพรและยาแผนโบราณ, ยาจีน, ยาชุดต่างๆ รวมถึงการใช้กัญชงและกัญชา
    • อาหารบางชนิดสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาวาร์ฟารินได้ โดยเฉพาะผักใบเขียวที่มีวิตามินเคสูง เช่น กะหล่ำปลี, บรอคโคลี่, แตงกวาพร้อมเปลือก, น้ำมันมะกอก, ผักโขม, ถั่วเหลือง, ใบชา และผลไม้คือ มะม่วงสุก และทุเรียน ดังนั้นปริมาณของการรับประทานอาหารเหล่านี้ในแต่ละวันจึงไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมากแต่ควรรับประทานเป็นประจำในปริมาณเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอ

ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยาวาร์ฟาริน

ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด กรณีลืมกินยาและยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 12 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาดปกติ

การเก็บรักษายา

  •  เก็บยาให้พ้นแสงและความชื้น
  •  เก็บยาในภาชนะที่โรงพยาบาลจัดให้
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • เม็ดยา warfarin อาจมีสีไม่สม่ำเสมอซึ่งเป็นลักษณะปกติท่านสามารถรับประทานต่อได้
  • กรุณานำยาที่ยังรับประทานไม่หมดมาให้เภสัชกรตรวจสอบทุกครั้งที่นัด
  1. ยาละลายลิ่มเลือดกลุ่มใหม่ (direct oral anticoagulants ; DOACs)

ปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนายาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ได้อย่างสะดวก ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อปรับยาในการรักษาและโอกาสเสี่ยงในการเกิดเลือดออกน้อยกว่ายาวาร์ฟาริน ยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่อย่างไรก็ดีข้อบ่งชี้มีความแตกต่างกับ วาร์ฟาริน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณากับท่านอีกครั้งก่อนเริ่มยา

ข้อเสียคือปัจจุบันยากลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูงและหากเกิดภาวะเลือดออกยาที่ใช้ในการแก้ฤทธิ์หายากและมีราคาแพง ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Dabigratran, Apixaban, Endoxaban และ Rivaroxaban

ปัจจุบันในรพ.พระรามเก้า มียาต้านฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ในรพ.ดังนี้ Idarucizumab (ใช้สำหรับ Dabigatran) และ Profilnine (ใช้สำหรับ Apixaban, Endoxaban และ Rivaroxaban)

 ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน DOACs

1. มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง 

2. รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ลืมทานยา ในบางเคสอาจจะต้องใช้ปฏิทินช่วยจำ

3. หากมีอาการเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาและมาพบแพทย์ทันที

4. ทุกครั้งที่ท่านไปรับบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งบุคลากรการแพทย์ทราบด้วยว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, การถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม

5.หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลและเลือดไม่หยุดไหลให้ห้ามเลือดโดยใช้มือกดผ้าสะอาดไว้ให้แน่นตรงบาดแผลเลือดจะหยุดออกหรือออกน้อยลงแล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่

6.ยาและอาหารบางชนิด จะส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาได้ ห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาสมุนไพร

ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยา

 สำหรับยาที่กินวันละสองครั้ง ได้แก่ Dabigratran และ Apixaban หากลืมกินยาแต่ยังไม่ถึง 6 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 6 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาด(dose)ปกติ

สำหรับยาที่กินวันละครั้ง ได้แก่ Endoxaban, Rivaroxaban หากลืมกินยาแต่ยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 12 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาด(dose)ปกติ

PI-MED-45

ความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง   หมายถึง ภาวะความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure)  ที่สูงกว่า 140  มม.ปรอท หรือมีระดับความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic blood pressure) สูงกว่า 90  มม.ปรอท โดยหากทำการวัดความดันโดยใช้เครื่องวัดความดันชนิดพกพาที่บ้าน จะใช้เกณฑ์ความดันสูงผิดปกติต่ำลงโดยใช้ความดันตัวบนที่มากกว่า 135 มม.ปรอท หรือ ความดันตัวล่างสูงกว่า 85 มม.ปรอท

การที่มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อการเสื่อมของระบบเส้นเลือดในร่างกาย และเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ไตวายและจอตาเสื่อม ซึ่งเป็นผลจากการที่อวัยวะดังกล่าวต้องทนแรงดันสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน 

จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจของประชาชนไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง และหากสามารถควบคุมโรคความดันโลหิตสูงให้ได้ตามเป้าหมาย จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรได้ ปัญหาที่ส่งผลต่อการควบคุมโรคความดันโลหิตสูงได้ไม่ดี เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันสูงไม่เคยทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือตรวจพบความดันโลหิตสูงแต่ไม่ได้ตระหนักเนื่องจากผู้ที่ความดันสูงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ทำให้ไม่ได้รับการติดตามอาการหรือรักษาอย่างต่อเนื่อง และมักจะมาพบแพทย์อีกครั้งเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากความดันสูงเกินขึ้นแล้ว 

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อย และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ ดังนั้นการวัดความดันจึงเป็นสิ่งสำคัญแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติก็ตามเพื่อค้นหาผู้ที่มีความดันสูงและรับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น 

คำแนะนำในการวัดความดันโลหิต
1. งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย  หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ภายใน 30 นาทีก่อนที่จะวัดความดันโลหิตหากมีอาการปวดปัสสาวะควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน ควรใช้เครื่องมือที่เชื่อถือได้ และควรตรวจสอบแถบพันแขนว่าเหมาะสมกับขนาดต้นแขน  

2. นั่งพักบนเก้าอี้ที่มีมีพนักพิง อย่างน้อย 5 นาที วางแขนข้างที่วัดความดันบนที่ราบ ต้นแขนที่พันสายวัดความดันอยู่ในระดับหัวใจ เท้าทั้งสองข้างวางราบบนพื้น ไม่ควรวัดความดันผ่านแขนเสื้อ ขณะวัดความดันไม่เกร็งแขนหรือกำมือและงดพูดคุย

3. ควรวัดความดันเลือดอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และ 2 ครั้งในช่วงเย็น โดยแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 1 นาที และบันทึกทุกค่าที่วัดได้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการติดตามการรักษา 

4. ในการประเมินผู้ป่วยครั้งแรกหรือในผู้ที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงครั้งแรก แนะนำให้วัดความดันโลหิตที่แขนทั้งสองข้าง โดยค่าปกติความดันระหว่างแขนทั้งสองข้างจะต่างกันไม่เกิน 20/10 มม.ปรอท(ความดันตัวบนระหว่างแขนทั้งสองต่างกันไม่เกิน 20 มม.ปรอทและความดันตัวล่างไม่เกิน 10 มม.ปรอท) 

5. หากความดันตัวบนระหว่างแขนทั้ง 2 ข้างต่างกันมากกว่า 10 มม.ปรอท ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ ในการวัดความดันครั้งต่อไป แนะนำให้วันความดันโดยใช้แขนข้างที่ความดันสูงกว่า 

การจำแนกสภาวะความดันโลหิตในผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป

เกณฑ์SBP
มม.ปรอท
DBP
มม.ปรอท
ดีมาก (Optimal)<120และ<80
ปกติ (Normal)120-129และ/หรือ80-84
ปกติค่อนข้างสูง130-139และ/หรือ85-89
ความดันโลหิตสูงระดับ 1140-159และ/หรือ90-99
ความดันโลหิตสูงระดับ 2160-179และ/หรือ100-109
ความดันโลหิตสูงระดับ 3=> 180และ/หรือ=> 110
ความดันโลหิตสูงเฉพาะค่าบน=> 140และ<90
ข้อมูลโดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย 

หมายเหตุ :  

  1. หากความดันโลหิตสูงกว่า 180/110 มม.ปรอทถือว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน 
  1. เมื่อความรุนแรงของความดันตัวบน และ ความดันตัวล่างอยู่ในระดับต่างกัน ให้ถือระดับที่รุนแรงกว่าเป็นเกณฑ์ เช่น วัดความดันได้ 142 / 105 มม.ปรอท ให้นับเป็นภาวะความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 
  1. High normal blood pressure (ระดับความดันโลหิตในเกณฑ์เกือบสูง) หมายถึง ค่าความดันโลหิตเฉลี่ยจากการตรวจครั้งแรกที่สถานพยาบาลมีค่าตั้งแต่ 130/80 มม.ปรอท ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 140/90 มม.ปรอทหากตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ 

หากพบว่ามีความดันโลหิตสูงควรทำอย่างไร 

1. คำแนะนำคือควรติดตามวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าระดับยังสูง ควรปรึกษาแพทย์ และไม่ควรประมาท เนื่องจากโรคความโลหิตดันสูงเป็นโรคที่รักษาได้ และเมื่อได้รับการรักษาที่ทันเวลา และถูกต้องจะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

2. สิ่งที่ท่านควรทราบคือระดับความดันโลหิตซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นค่าที่ปลอดภัยจากโรคแทรกซ้อนจะอยู่ในช่วงระดับ 120 / 80 มม.ปรอท แต่เนื่องจากระดับความดันโลหิตที่เป็นเป้าหมายในการรักษานั้นแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์ผู้ดูแลรักษาจะเป็นผู้พิจารณาให้ท่านเอง 

3. ระดับความดันโลหิตนั้นมีการขึ้นลงได้ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งจะเปลี่ยนตามกิจกรรมที่ทำ รวมถึงอารมณ์และความเครียด ดังนั้นการวัดความดันโลหิตที่แนะนำคือ ให้วัดช่วงที่หยุดพักจากกิจกรรมอื่นๆอย่างน้อย 5 นาที ในกรณีที่ใช้เครื่องวัดความดันชนิดอัตโนมัตินั้นเครื่องรุ่นใหม่พบว่ามีมาตรฐานดีและสามารถเชื่อถือได้ แต่ควรเลือกเครื่องวัดความดันชนิดวัดที่ต้นแขน (เนื่องจากเครื่องวัดความดันที่ข้อมืออาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้มากกว่า) โดยวัดอย่างน้อย 2 ครั้งให้ห่างกันประมาณ 1 นาที บันทึกค่าที่วัดได้ทั้งหมด เพื่อนำมาให้แพทย์ที่ดูแลทราบ และถึงแม้จะไม่มีอาการแสดง ก็ควรวัดความดันไว้เป็นประจำ 

4. เมื่อท่านต้องการลดระดับความดันโลหิต สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การปรับพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่เค็ม ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การพักผ่อนให้เพียงพอ การควบคุมน้ำหนัก เป็นเวลา 3-6 เดือน แล้วลองติดตามวัดความดันโลหิตดู หากไม่ลดลงจึงจำเป็นต้องใช้ยายกเว้นในบางสภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงหรือมีโรคแทรกซ้อนซึ่งแพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาในระยะแรกทันทีเพื่อความปลอดภัย 

5. ข้อพึงระวังคือเมื่อรักษาไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยมักจะรู้สึกว่าไม่มีอาการผิดปกติจึงให้ไม่อยากทานยาต่อเนื่อง บางท่านลองลดยา หรือหยุดยาเอง ซึ่งการขาดยาทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ โรคหลอดเลือดสมอง จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนปรับยา 

สาเหตุของความดันโลหิตสูง 

  1. ความดันโลหิตสูงชนิดไม่มีสาเหตุ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงส่วนมากเป็นชนิดที่ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดและมักมีประวัติคนในครอบครัวมีความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้พบได้ถึง ร้อยละ 90 และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 
  1. ความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุ และอาจจะรักษาให้หายได้โดยใช้ยาเฉพาะหรือการทำหัตถการชนิดพิเศษ โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นความดันสูงชนิดนี้ได้แก่ 
  1. ความดันสูงตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปในผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี หรือความดันสูงในเด็ก 
  1. ผู้ที่มีความดันสูงเฉียบพลัน หรือความดันที่สูงขึ้นผิดปกติจากค่าเดิม 
  1. ความดันโลหิตสูงที่ได้รับยามากกว่า 3 ชนิดแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันให้ได้ตามเกณฑ์ 
  1. ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปหรือมีความดันสูงแบบฉุกเฉิน 
  1. ความดันโลหิตสูงร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนในหลายอวัยวะ 
  1. อาการที่บ่งบอกถึงโรคทางต่อมไร้ท่อ หรือโรคไต 
  1. ความดันโลหิตสูงร่วมกับอาการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ 
  1. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวความดันโลหิตสูงจากสาเหตุที่แน่ชัด 
  1. ยาหรือสารเคมีบางชนิดสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงได้ เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยาลดน้ำมูก ยาลดน้ำหนัก สารเสพติด ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด ยารักษามะเร็งบางชนิด ยาแก้ปวดบางชนิด สมุนไพรบางชนิด ยาฆ่าเชื้อบางชนิด 
ช่วงอายุ  สาเหตุของความดันโลหิตสูง 
< 18 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ -โรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม 
19-40 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ 
41-65 ปี -ความผิดปกติของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต -ความผิดปกติของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง -โรคนอนกรน -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ 
>65 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ -ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ 

การรักษาระดับความดันโลหิตให้ถึงเป้าหมายทำได้อย่างไร 

ารรักษาระดับความดันโลหิตให้ถึงเป้าหมายนั้นจะต้องควบคุมความดันโลหิตของท่านให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่ออวัยวะต่างๆในร่างกายซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ไต และตา ซึ่งจะส่งผลทำให้ท่านทุพพลภาพ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จะเป็นชนิดไม่มีสาเหตุ (Essential hypertention) และไม่สามารถรักษาให้หายขาด ดังนั้นการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ดีต่อเนื่อง และควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆจึงเป็นวิธีเดียวที่สามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ 

“ความดันโลหิตสูงเพชฌฆาตเงียบ…น่ากลัวกว่าที่คิดเราสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนที่น่ากลัวเช่นอัมพาตและโรคหัวใจได้…หากท่านใส่ใจดูแลพบแพทย์สม่ำเสมอและรักษาให้ระดับความดันโลหิตอยู่ในเป้าหมายสำหรับระดับความดันโลหิตของท่านควรเป็นเท่าไหร่นั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ให้คำตอบแก่ท่านได้ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละท่านมีภาวะ หรือโรคประจำตัวต่างๆที่ส่งผลให้เป้าหมายความดันแตกต่างกันในแต่ละคน” 

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง 

  • การปรับพฤติกรรมให้ทำทุกรายแม้ในรายที่ยังไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะช่วยป้องกัน และชะลอการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ 
  • การให้ยาลดความดันโลหิต อาจจะไม่จำเป็นต้องรีบเริ่มยาทุกราย ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงบางรายอาจไม่ต้องใช้ยา หากสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

ตารางปรับพฤติกรรมในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง 

วิธีการ ข้อแนะนำ ประสิทธิภาพของการลด ความดันโลหิตตัวบน 
การลดน้ำหนัก ให้ดัชนีมวลกาย (Body mass index)  อยู่ในช่วง 18.5 – 23.0 สำหรับผู้ที่มีดัชนีมาลกายเกินเกณฑ์ การลดน้ำหนัก 1 กก.สามารถลดความดันได้ประมาณ 1 มม.ปรอท ˜ 5 มม.ปรอท 
ใช้ DASH diet (Dietary Approach to Stop Hypertention)* ให้รับประทานผัก,ผลไม้ที่ไม่หวานจัด,ธัญพืช ลดปริมาณไขมันในอาหาร โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ˜ 11 มม.ปรอท 
จำกัดเกลือในอาหาร – ลดการรับประทานเกลือโซเดียมให้น้อยกว่า 2.4 กรัมต่อวัน – ถ้าความดันโลหิตสูงมากหรือมีโรคประจำตัว ควรจำกัดโซเดียมไว้น้อยกว่า 1.5 กรัมต่อวัน ˜ 5/6 มม.ปรอท 
การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายแบบ Cardio  อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว (อย่างน้อย 5 วันต่ออาทิตย์ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน) ˜ 5 มม.ปรอท 
งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ – สำหรับผู้ชายให้จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 drink / วัน – สำหรับผู้หญิงให้จำกัดการดื่มไม่เกิน  1 drink / วัน ˜ 4 มม.ปรอท 
*สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ DASH diet สามารถค้นหาเพิ่มได้ที่ https://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/dash 

อาหารที่พึงระวัง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 

  • อาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น ของหมักดอง  อาหารกระป๋อง ไส้กรอก 
  • อาหารขบเคี้ยว บรรจุถุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น มันฝรั่งทอด ข้างเกรียบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 
  • เครื่องปรุงรส เช่น ซอสปรุงรส น้ำปลา เต้าเจี้ยว ซอสมะเขือเทศ เต้าหู้ยี้ น้ำมันหอย ซอสพริก กะปิ ปลาร้า ซุปก้อน ซุปผง น้ำพริกแกงสำเร็จ น้ำจิ้มและน้ำซุปชนิดต่างๆ 
  • สารปรุงแต่งต่างๆ ได้แก่ ผงชูรส ผงฟู สารกันบูด เนื่องจากอาหารเหล่านี้ มีโซเดียมสูงอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น โซเดียมไนเตรท โซเดียมไนไตรท์ โซเดียมคลอไรด์ โซเดียมคาร์บอเนต  โมโนโซเดียมกลูตาเมท โซเดียมซัลเฟต เป็นต้น 

วิธีดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงโดยทั่วไปมีวิธีการดังนี้ 

  • ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ ไม่ควรหยุดรับประทานยาเอง 
  • ควรลดอาหารเค็ม ลดเกลือโซเดียม ไม่ควรรับประทานอาหารรสเค็มจัด เช่น ปลาเค็ม เนื่อเค็ม ไข่เค็ม ฯลฯ ทานอาหารรสจืดจะเป็นผลดี รวมทั้งไม่ควรรับประทานผงชูรส ยาธาตุน้ำแดง อาหารกระป๋อง เพราะมีเกลือโซเดียมสูงจะทำให้ความดันความโลหิตสูงขึ้น และยาที่ใช้รักษาจะได้ผลน้อยลง 
  • ควรลดอาหารพวกไขมัน เช่น อาหารมัน ของผัดของทอด ของใส่กะทิ ขาหมู หมูสามชั้น และอาหารพวกแป้งและพวกน้ำตาล เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว มัน เครื่องดื่ม ของหวาน ผลไม้หวาน 
  • แนะนำให้ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะลดน้ำหนักเร็วเกินไป และไม่ควรทานยาลดน้ำหนัก 
  • ควรงดดื่มสุรา และสูบบุหรี่ 
  • ควรออกกำลังกายแบบ Cardio เป็นประจำเช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เป็นต้น ค่อยๆ เริ่มทีละน้อยๆ  ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยออกกำลังกายประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ 
  • ควรทำจิตใจให้สบาย ลดความเครียดจากการทำงาน หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น ควรทำสมาธิบริหารจิต หรือสวดมนต์ภาวนาตามศาสนาที่ตนนับถือเพื่อทำจิตใจให้สงบเยือกเย็น 
  • สำหรับสตรีที่ทานยาคุมกำเนิด ควรเปลี่ยนไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆแทน เช่นการใช้ถุงยางอนามัย การใส่หวงคุมกำเนิดหรือการทำหมัน เป็นต้น 
  • สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุก 3- 6 เดือน สำหรับผู้ที่อยู่ในระยะก่อนความดันโลหิตสูง 
  • ควรมาตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อดูอการแทรกซ้อนและผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น 
  • ในผู้ที่มีการนอนกรม หรือสงสัยภาวะทางเดินหายใจอุดตันระหว่างนอนหลับ (Sleep Apnea) แนะนำให้ตรวจ Sleep test เพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษาภาวะดังกล่าวไปพร้อมกันกับภาวะความดันโลหิตสูง 
  • คอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ตามัว ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ขาบวม ปัสสาวะไม่ออก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง เดินเซ หน้ามืด วิงเวียน ใจสั่น ถ้ามีอาการหรือไม่มั่นใจให้รีบมาปรึกษาแพทย์ทันที 
  • ถ้าผู้ป่วยวางแผนตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ให้มาปรึกษาแพทย์โดยเร็ว 

ยารักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วถึงเกณฑ์ต้องได้รับยาลดความดันโลหิต ควรรับประทานยาสม่ำเสมอและมาตรวจกับแพทย์ต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากหากควบคุมความดันได้ไม่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจวาย หัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง 

ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงมีหลายกลุ่ม ออกฤทธิ์ต่างๆกันไป บางชนิดเป็นยาขับปัสสาวะ บางชนิดเป็นยาชะลอการเต้นของหัวใจให้เต้นช้าลง บางชนิดเป็นยาขยายหลอดเลือด เนื่องจากยาลดความดันโลหิตมีหลายกลุ่มดังกล่าว แพทย์จึงจำเป็นต้องพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายๆไป  ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาของผู้อื่น และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกิดขึ้นได้ โดยผู้ป่วยบางรายได้รับยาเพียงชนิดเดียวก็สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี และอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ผู้ป่วยบางรายต้องใช้ยา 2 ชนิด หรือมากกว่านั้น ในการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยามื้อละหลายเม็ด อย่ารู้สึกเบื่อเสียก่อน ขอให้ทานยาต่อเนื่องไปทุกวันและตรงเวลาเพื่อเป้าหมายลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดได้ 

หากลืมทานยาและนึกขึ้นได้เมื่อใกล้ยามื้อต่อไปให้ทานเพียงยามื้อนั้นพอ โดยห้ามทานยาเพิ่ม 2 เท่า หากรู้สึกไม่สะดวกที่จะกินยาหลายๆเม็ด หรือกังวลเรื่องผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกยาใหม่ถ้าเป็นไปได้ และหากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หน้ามืด วิงเวียน แขนขาอ่อนแรง ขาบวม หรือ สงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการ  

ความเข้าใจผิดของผู้ป่วยที่พบได้บ่อยคือ ผู้ป่วยมักเข้าใจว่าถ้าหากทานยาลดความดันติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดโรคไตวายซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะยาสมัยใหม่มีผลข้างเคียงที่น้อยมากโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์ซึ่งการที่ไม่ทานยา และปล่อยให้ความดันโลหิตสูงจะมีผลเสียมากกว่าทั้งกับไต หัวใจ และสมอง 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12300, 12377

PI-CVI-15

error: Content is protected !!