โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนบนทำหน้าทีควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อรอบดวงตาทำให้สามารถหลับตาได้เป็นปกติ และส่วนล่างทำหน้าที่ในการควบคุมกล้ามเนื้อรอบปากทำให้การเคลื่อนไหวของปากเช่นการยิ้ม, การห่อปาก เป็นไปตามปกติ  และยังมีแขนงย่อยๆไปยังเยื่อแก้วหูและต่อมรับรสที่ลิ้น ดังนั้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จึงมีส่วนในการรับเสียงและรับรสด้วย

หากมีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ข้างใดข้างหนึ่งก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของการเคลื่อนไหวของใบหน้าครึ่งหนึ่ง ได้แก่ หลับตาข้างหนึ่งได้ไม่สนิท, มุมปากข้างหนึ่งตก, มีน้ำไหลจากมุมปากเมื่อดื่มน้ำ รวมถึงมีการลดลงของการได้ยินและการรับรสด้วย

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy ได้ชื่อมาจากแพทย์ชาวสก็อต Sir Charles Bell ซึ่งเป็นผู้บรรยายลักษณะกายวิภาคทางระบบประสาทของโรคนี้ไว้ในที่ราชสมาคมแห่งลอนดอนในปี ค.ศ. 1821

ภาพจาก https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/ca/CharlesBell001.jpg

  สาเหตุ

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy เกิดจากการอักเสบ บวม หรือถูกกดทับ ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบได้ในสตรีตั้งครรภ์, ผู้ป่วยเบาหวาน, มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือต่อมน้ําเหลือง, ผู้ติดเชื้อไวรัส เอดส์ (HIV) และกลุ่มผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง

การวินิจฉัยโรค

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy วินิจฉัยได้จากประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยอายุรแพทย์ระบบประสาทร่วมกับการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy แยกจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้อย่างไร

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy จะไม่มีอาการอื่นๆทางระบบประสาทร่วมด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาการอ่อนแรงของแขนขา ส่วนโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการอื่นทางระบบประสาทร่วมด้วยหลายอย่าง เช่น อัมพาตหรือแขนขาอ่อนแรง, ความผิดปกติของการพูด, สูญเสียการทรงตัว, อาการสับสนหรือไม่รู้สึกตัว

การรักษา

อาการของผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน สําหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยอาจหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อช่วยลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาทซึ่งจะช่วยทําให้อาการดีขึ้นได้เร็ว 

แต่การให้ยาสเตียรอยด์มักต้องใช้ยาในขนาดสูงทําให้ได้รับผล ข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ, แสบท้องจากกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้น, หิวบ่อย, น้ําหนักตัวเพิ่มหรือบวมที่ใบหน้าและในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะทำให้ระดับน้ำตาลขึ้นสูงและควบคุมได้ยาก ส่วนการทํากายภาพโดยการใช้ ไฟฟ้ากระตุ้นหรือการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ป่วยในบางรายได้ 

การดูแลรักษาที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือการป้องกันไม่ให้เกิดแผลที่กระจกตาเนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรค Bell’s palsy มีอาการหลับตาได้ไม่สนิทและกระพริบตาไม่ได้จึงทำให้ตาแห้งและเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตาอย่างสม่ำเสมอและใส่แว่นหรือที่ครอบตาเพื่อป้องกันอันตรายต่อกระจกตา

ระยะเวลาในการหายของโรค

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นมากใน 2 สัปดาห์แรก และประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะหายสนิท และส่วนที่เหลืออาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ใน 3-6 เดือน แต่ในรายที่เส้นประสาทมีปัญหาอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือ งูสวัด อาการมักจะไม่หายสนิท โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก Bell’s palsy โอกาสน้อยที่เป็นซ้ําอีก หากผู้ป่วยที่เป็นซ้ําหลายครั้งแพทย์จะหาสาเหตุเพิ่มเติม

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

65-069

PI-MED-42

error: Content is protected !!