บทความที่ใช้บ่อยของ Ward 16

การรักษาด้วยเคมีบำบัด : ข้อมูลสำหรับผู้ป่วย

ยาเคมีบำบัดหรือบางคนอาจเรียกสั้นๆ ว่า “คีโม” ซึ่งมาจากคำว่า “คีโมเทอราปี” หมายถึง ยาประเภทสารเคมีหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วและต่อเนื่องทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด ยาเคมีบำบัดถูกใช้ในการรักษาโรคมะเร็งซึ่งอาจเป็นการใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการรักษาอย่างอื่น เช่น การผ่าตัด, การฉายรังสี, การให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

แม้ว่าการใช้เคมีบำบัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิดแต่ตัวยาเองก็มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลตนเองและการเตรียมตัวเพื่อรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดดังนี้

การเตรียมทางจิตใจ

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ป่วยเกือบทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งและต้องรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดย่อมมีความรู้สึกเครียด, คับข้องใจ, กลัว, กังวล, ซึมเศร้า ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นปฏิกริยาตามธรรมชาติของมนุษย์เมื่อตกอยู่ในสภาวะที่ให้ความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย

ผู้เขียนบทความนี้เป็นแพทย์ที่เคยผ่านการเป็นโรคมะเร็งและได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดมาแล้วถึงสองครั้งย่อมเข้าใจความรู้สึกนี้ได้ดี ดังนั้นคำแนะนำในการเตรียมพร้อมทางจิตใจคือให้ท่านพยายามตั้งสติอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ปัจจุบัน และพยายามตัดความคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่นในขณะนี้หากแพทย์เพิ่งจะแจ้งการวินิจฉัยและแผนการรักษาว่าจะมีการให้ยาเคมีบำบัดแต่ในขณะนี้ท่านยังไม่ได้รับยาเคมีบำบัดแต่อย่างใด ดังนั้นก็อย่าเพิ่งกังวลไปล่วงหน้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งก็คือผลข้างเคียงต่างๆของยาว่าจะทำให้ผมร่วงหรือเป็นแผลในปากหรือครุ่นคิดถึงเรื่องร้ายๆใดๆที่ท่านเคยได้ยินได้ฟังมา เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นทั้งนั้นจะกังวลล่วงหน้าไปทำไม ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้จะช่วยทำให้ความเครียดและความกังวลลดลงไปได้ไม่มากก็น้อย

พรอันประเสริฐที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ทุกคนคือความอดทน โดยหากเราตั้งมั่นในการที่จะค่อยๆผ่านทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อยและพยายามตัดความคิดกังวลล่วงหน้าถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ความทุกข์ใจใดๆที่มีอยู่ก็จะลดขนาดและปริมาณลงไปเอง และไม่นานนักเหตุการณ์อันก่อให้เกิดความทุกข์ก็จะถึงเวลาที่จะจบลงในที่สุด

การเตรียมทางร่างกาย

  • ก่อนเริ่มเคมีบำบัดท่านควรตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูน หากมีฟันผุต้องรักษาให้เรียบร้อยเพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อในช่องปากในช่วงให้ยาเคมีบำบัด แต่สำหรับการรักษาทางทันตกรรมที่เข้าข่ายการผ่าตัดใหญ่ เช่น การฝังรากฟันเทียม, การผ่าตัดขากรรไกร, ควรเลื่อนไปหลังจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดเสร็จสิ้นแล้วหรือปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลและทันตแพทย์เรื่องกำหนดการรักษาที่เหมาะสม
  • รักษาสุขภาพร่างกายโดยทั่วไปให้แข็งแรง, งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและสมดุลในแต่ละมื้อ ไม่ควรงดโปรตีนเนื่องจากเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยในการเสริมสร้างและซ่อมแซมร่างกาย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของท่าน
  • นอนหลับให้เพียงพอ, ผ่อนคลายจิตใจด้วยวิธีต่างๆที่เหมาะสมกับตัวท่าน เช่น การฟังเพลง, การนั่งสมาธิ, การทำงานอดิเรกต่างๆ

การเตรียมตัวในการรับเคมีบำบัดรอบแรก

  • ในวันรับยาเคมีบำบัดครั้งแรก ควรมีเพื่อนหรือญาติไปเป็นเพื่อนและขับรถให้ท่านหรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ ท่านไม่ควรขับรถไปเองเนื่องจากยาอาจทำให้มีอาการง่วงหรืออ่อนเพลีย
  • เนื่องจากยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่มักทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นคำแนะนำข้อแรกในการรับยาเคมีบำบัดคือท่านควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย  1-2 วันก่อนถึงกำหนดวันเริ่มยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเวลาเริ่มให้ยาควรรับประทานแต่น้อยเพียงแค่พอหายหิว อย่ารับประทานให้อิ่มเท่าปกติและให้เลือกอาหารที่ย่อยง่าย,กากใยน้อย, ไขมันต่ำ การที่ท้องค่อนข้างว่างจะช่วยทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยลงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด และให้รับประทานยาแก้อาเจียนทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียนก่อน
  • เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่จะมีผมร่วง ดังนั้นท่านควรวางแผนไว้ก่อนว่าจะจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ หากต้องการใส่วิกผมให้ท่านหาข้อมูลร้านที่จำหน่ายวิกผมและเข้าไปลองสวมใส่ดูก่อนเพื่อเลือกวิกผมที่ท่านรู้สึกว่าพอใจและเหมาะกับท่านมากที่สุด เรื่องนี้ควรเตรียมล่วงหน้าอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนเริ่มยาเคมีบำบัดรอบแรกเพราะร้านจำหน่ายวิกผมบางร้านต้องใช้เวลาในการผลิตวิกผม นอกจากนั้นท่านควรเตรียมหมวกหรือผ้าโพกสำหรับใช้สลับกับวิกผม

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่พบบ่อย

กลไกการทำงานของยาเคมีบำบัดคือการออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วและต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันเซลล์ปกติในร่างกายก็จะโดนผลกระทบจากเคมีบำบัดไปด้วย โดยเฉพาะเซลล์ที่มีคุณสมบัติแบ่งตัวเร็วเช่นเยื่อบุช่องปากและทางเดินอาหาร, รากผม, ไขกระดูก เป็นต้น ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดจึงมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงในระบบต่างๆ แต่ทั้งนึ้อาการข้างเคียงขึ้นกับชนิดของยาและสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย ที่พบบ่อยได้แก่

  1. อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของเคมีบำบัด มักเกิดขึ้นหลังได้รับยาประมาณ 4-6 ชั่วโมงและเป็นอยู่ประมาณ 24 ชั่วโมงแล้วก็จะค่อยๆหายไป  วิธีการบรรเทาอาการคือท่านควรรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย  1-2 วันก่อนถึงกำหนดวันเริ่มยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเวลาเริ่มให้ยาควรรับประทานแต่น้อยเพียงแค่พอหายหิว อย่ารับประทานให้อิ่มเท่าปกติและให้เลือกอาหารที่ย่อยง่าย,กากใยน้อย, ไขมันต่ำ การที่ท้องค่อนข้างว่างจะช่วยทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยลงเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด  และให้รับประทานยาแก้อาเจียนทันทีหลังได้รับยาเคมีบำบัดโดยไม่ต้องรอให้มีอาการคลื่นไส้เกิดขึ้นก่อน จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนจะค่อนข้างหนักในการรับยาเคมีบำบัดรอบที่ 1-2  แต่ในรอบหลังๆอาการจะลดลงไปมากเหมือนกับร่างกายชินกับเคมีบำบัดและปรับตัวได้
  2. แผลในปากมักเกิดขึ้นประมาณ 10-14 วันหลังให้ยา ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าเยื่อบุปากบางตัวลงทำให้มีอาการแสบเวลารับประทานอาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแผลลักษณะคล้ายแผลร้อนใน การบรรเทาอาการได้แก่ การรับประทานอาหารอ่อนที่เคี้ยวง่ายและรสไม่จัด การบ้วนปากด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันพืชชนิดใดๆ (oil pulling), การใช้ยาทาแผลในปากที่แพทย์สั่งให้
  3. การเบื่ออาหารและการรับรสอาหารผิดเพี้ยนไปจากปกติอาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดบางตัว ในผู้ที่มีอาการมักเริ่มเป็นตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังได้รับยาเคมีบำบัดและเป็นอยู่ต่อเนื่องจนกว่าจะจบการให้ยาเคมีบำบัดไปแล้วระยะหนึ่ง
  4. เม็ดเลือดขาวต่ำมักเริ่มเกิดขึ้นประมาณวันที่ 10 และจะมีระดับต่ำสุดช่วงประมาณวันที่ 14 หลังให้ยา หลังจากนั้นเม็ดเลือดขาวจะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติหรือเกือบปกติประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ถึงสัปดาห์ที่ 4  หลังการให้ยา เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งระดับเม็ดเลือดขาวอยู่ในช่วงต่ำสุดท่านควรระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อเช่นสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ, รับประทานอาหารที่สุกสะอาด, หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่มีอาการของการติดเชื้อทางเดินหายใจ
  5. อาการอ่อนเพลียมักจะเป็นในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังให้ยาจากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 และ 4
  6. ผมร่วงจะเริ่มเกิดขึ้นประมาณวันที่ 14-15 หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดรอบแรก เมื่อผมเริ่มร่วงผู้เขียนแนะนำให้โกนผมทีเหลือทิ้งไปเลยเพราะอย่างไรผมก็จะต้องร่วงจนหมดอย่างแน่นอน การโกนผมให้หมดแล้วใส่วิกหรือสวมหมวกหรือผ้าโพกย่อมให้ภาพลักษณ์ที่ดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้ให้ผมร่วงเองเป็นหย่อมๆ  นอกจากนั้นการปล่อยให้ผมร่วงเองก็จะทำให้มีเส้นผมร่วงหล่นอยู่ตามพื้นห้องเต็มไปหมดทำให้ต้องเสียเวลาในการเก็บกวาด
  7. การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเล็บจะเกิดขึ้นช้าๆและเริ่มสังเกตได้ที่รอบการให้เคมีบำบัดครั้งที่ 2 หรือ 3 เป็นต้นไป ผิวหนังจะมีลักษณะคล้ำขึ้นในบางพื้นที่เช่นรอบดวงตา, ลิ้น, ลำคอ เป็นต้น เล็บอาจมีลักษณะเป็นเส้นสีคล้ำเป็นแถบๆ ผิวหนังและเล็บจะค่อยๆกลับคืนสู่สภาพเดิมภายในเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีหลังเสร็จสิ้นการให้ยาเคมีบำบัด
  8. กรณีได้ยาเคมีบำบัดที่มียาสเตียรอยด์ปริมาณสูงในสูตรยาอาจทำให้ระบบต่างๆในร่างกายเกิดความแปรปรวน เช่น มีอาการนอนไม่หลับ, มีอารมณ์แปรปรวน, ท้องผูกมาก, หน้าบวม อาการบางอย่างอาจมียาช่วยบรรเทาได้เช่นปัญหาการนอนหลับหรือท้องผูก หากมีอาการมากให้แจ้งแพทย์เพื่อสั่งยาให้ ส่วนอาการบวมจากสเตียรอยด์จะดีขึ้นเองหลังจากหยุดยาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป

ขั้นตอนในวันรับเคมีบำบัด

  • ส่วนใหญ่บริการให้ยาเคมีบำบัดจะเป็นบริการแบบจบในวันเดียว (day care) ผู้ป่วยจะได้รับการนัดหมายในช่วงเช้าหรือบ่ายแล้วแต่รอบการให้ยาของแต่ละโรงพยาบาล
  • การให้ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่ใช้การแทงเข็มเข้าเส้นเลือดดำเพื่อให้ยาที่เป็นสารละลายหยดเข้าเส้นเลือดดำอย่างช้าๆ ในระหว่างการให้ยาเคมีบำบัดท่านควรสังเกตว่ามีอาการบวมหรืออาการแสบร้อนของผิวหนังบริเวณรอบเข็มหรือไม่ หากมีอาการต้องรีบแจ้งพยาบาลประจำห้องเคมีบำบัด
  • การให้ยาเคมีบำบัดหนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมงแล้วแต่ชนิดของยาในสูตรที่ท่านได้รับ ระหว่างการให้ยาท่านสามารถลุกไปเข้าห้องน้ำได้ (หากท่านรู้สึกวิงเวียนหรือเดินไม่ถนัดควรเรียกพยาบาลให้ช่วยเหลือ) ปัสสสาวะที่ออกมาในช่วงที่กำลังได้รับยาทางหลอดเลือดดำอาจมีสีเข้มหรือมีสีเหมือนเคมี ซึ่งเป็นเรื่องปกติไม่ต้องตกใจ
  • ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น คันตาคันจมูก, เยื่อบุจมูกบวม, มีน้ำมูกไหล, หายใจไม่สะดวก ซึ่งกรณีที่มีการใช้ยากลุ่มนี้แพทย์จะสั่งยาแก้แพ้ฉีดทางเส้นเลือดเพื่อป้องกันอาการให้แล้ว แต่ถ้ายังมีอาการเกิดขึ้นให้แจ้งพยาบาลเพื่อรายงานแพทย์

ชีวิตประจำวันในช่วงการรักษาด้วยเคมีบำบัด

  • การทำงาน : เป็นคำถามที่พบบ่อยอย่างหนึ่งในหมู่ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด การไปทำงานได้หรือไม่ขึ้นกับลักษณะงานและสภาพร่างกายของท่าน หากงานที่ทำเป็นงานกลางแจ้ง, งานที่ต้องใช้แรง, งานที่ต้องมีการเดินทางมากและนานอาจไม่เหมาะที่จะทำในช่วงที่ได้รับยาเคมีบำบัด ในทางตรงกันข้าม งานนั่งโต๊ะ, งานในออฟฟิศ เป็นงานที่มักจะพอทำได้ในช่วงที่ได้รับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจของท่านด้วยซึ่งตัวผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่ประเมินสถานการณ์ได้ดีที่สุด
  • การสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์ : ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่าผู้ป่วยเกือบทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็งและต้องรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดย่อมมีความรู้สึกเครียด, คับข้องใจ, กลัว, กังวล, ซึมเศร้า ฯลฯ ดังนั้นการได้รับการประคับประคองสนับสนุนทางจิตใจและอารมณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากท่านมีสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่สามารถพูดคุยระบายความคับข้องใจและความทุกข์ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หรือหากท่านไม่มีใครที่จะพูดคุยด้วยได้ในเรื่องนี้ท่านอาจปรึกษาจิตแพทย์ได้ ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในความทุกข์และความอ้างว้าง ทุกสิ่งทุกอย่างจะผ่านไปในที่สุดแต่เราจะต้องรู้จักที่จะประคองตัวให้ผ่านไปได้

ในย่อหน้าสุดท้ายนี้ผู้เขียนขอสรุปจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตมนุษย์ คนเรามีทุกข์ต่างๆกันไป แต่ที่แน่ๆคือไม่มีความทุกข์ใดยั่งยืนตลอดไป มันจะมีวันจบลงในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว “เวลา”เครื่องมืออันมหัศจรรย์ที่จะเยียวยาทุกสิ่ง สิ่งใดที่เคยรู้สึกว่าเป็นปัญหาอุปสรรคที่ใหญ่จนเหมือนภูผาที่จะไม่มีวันข้ามไปได้นั้น หากท่านได้อดทนจนผ่านไปได้แล้ว, และภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้วได้มองย้อนกลับไปจะรู้สึกว่าสิ่งที่เคยเห็นว่าใหญ่เท่าภูเขาขนาดมหึมานั้นเป็นแต่เพียงเนินดินเตี้ยๆเท่านั้น ขอให้ความเข้มแข็งจงอยู่กับทุกท่าน

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์อองโคแคร์ (Oncocare Center)       

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12210

PI-MED-40


error: Content is protected !!