โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการสึกหรอและเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่เคลือบผิวข้อเข่าซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและดูดซับแรงกระแทกภายในข้อเข่า หากกระดูกอ่อนนี้เสียหายเป็นพื้นที่กว้าง, กระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนในข้อเข่าจะเสียดสีกันเองทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึด เดินลำบาก หรือบางรายก็เข่าผิดรูปโก่งงอ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทำให้เดินได้ลำบาก, ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดเข่าในขณะลุกนั่งหรือการขึ้นลงบันได

อาการเริ่มต้นของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • รู้สึกปวดเข่าขณะเดินหรือขึ้นลงบันได

เข่าบวม ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวข้อเข่าได้อย่างปกติ, รู้สึกตึงข้อเข่า, มีอาการข้อติดขัดเคลื่อนไหวไม่สะดวก

สาเหตุของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. พันธุกรรมและความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ขาหรือเข่าผิดรูป
  2. อายุและเพศ : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป, ผู้ชายอายุ 55 ปีขึ้นไป และทั้งสองเพศเมื่ออายุ 65 ปี มีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมเท่าๆ กัน
  3. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (มีดัชนีมวลกาย(BMI) มากกว่า 23 กก./ม2)
  4. การใช้ข้อเข่าอย่างหักโหมซ้ำ ๆ หรืออยู่ในบางท่าที่ต้องงอเข่ามากเกินไปเป็นเวลานานๆเช่น การคุกเข่า, นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ, นั่งขัดสมาธิ ซึ่งทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดสูงกว่าปกติ
  5. ประวัติการบาดเจ็บของข้อเข่าส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อเกิดข้อเข่าเสื่อม โดยอาจเป็นผลจาก การบาดเจ็บ ซึ่งถึงแม้ร่างกายจะมีการซ่อมแซมตัวเองหลังการบาดเจ็บแต่โครงสร้างข้อเข่าก็อาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม
  6. โรคที่มีการอักเสบของข้อเข่า เช่น รูมาตอยด์, เกาท์

การบรรเทาอาการโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. ลดการใช้งานข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ การยืนหรือเดินนานมากเกินไปและการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
  2. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนักลง
  3. ใช้สนับพยุงเข่าในรายที่ปวดเข่ามากซึ่งจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับ, ลดอาการปวด,ทำให้เดินได้ดีขึ้น
  4. ในกรณีที่ปวดเข่าข้างเดียว, การใช้ไม้เท้าจะลดน้ำหนักที่กดลงบริเวณข้อเข่าได้มาก ให้ถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด เช่น ปวดเข่าซ้ายถือไม้เท้าข้างขวา
  5. ประคบอุ่นเพื่อลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า แต่กรณีที่มีเข่าบวมต้องใช้การประคบเย็น
  6. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าและต้นขาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงซึ่งจะช่วยพยุงข้อเข่าและลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีมีอาการปวดเข่าเรื้อรังมากกว่า 1-2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีออกกำลังกล้ามเนื้อเข่า

ขณะยืนหรือเดิน น้ำหนักจะถูกส่งมาที่กล้ามเนื้อต้นขาซึ่งทำหน้าที่พยุงข้อเข่า ถ้ากล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงก็จะ

สามารถรับน้ำหนักได้มาก ทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลงอาการปวดก็จะลดลง ถ้ากล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรงรับน้ำหนักได้น้อยทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้นอาการปวดก็จะมากขึ้น

ท่านั่ง

  • นั่งตัวตรงหลังพิงพนัก ให้ส่วนของเข่าทั้งสองข้างอยู่ที่ขอบของเก้าอี้พอดี ยกขาขวาขึ้นโดยกระดกข้อเท้าไว้ขณะยกเกร็งข้อเข่าด้วย นับ 1-10 ในใจ วางเท้าลงสลับขาทำข้างละ 10 ครั้ง

หมายเหตุ กรณีที่ปวดลดลงแล้วสามารถใช้ถุงทรายถ่วงเหนือข้อเท้าเล็กน้อยเพื่อเพิ่มน้ำหนักการออกกำลังกาย

ท่านอน

  • นอนหงายนอนหงายหนุนหมอนเหยียดขาสองข้างให้ตรงแล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบโดยยกทั้งขาจากข้อสะโพก ขณะยกเกร็งข้อเข่าและกระดกเท้าข้างนั้นขึ้นด้วย นับ 1-10 แล้ววางขาลง ทำข้างละ 10 ครั้ง
  • นอนหงายหนุนหมอนเหยียดขาสองข้างใช้หมอนเล็กๆหรือผ้าขนหนูม้วนรองใต้ต้นขาข้างหนึ่งแล้วยกขาส่วนล่างขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบ โดยยกจากข้อเข่า ขณะยกเกร็งข้อเข่าและกระดกเท้าข้างนั้นขึ้นด้วย นับ 1-10 แล้ววางขาลง ทำข้างละ 10 ครั้ง
  • นอนคว่ำ -งอเข่า นอนคว่ำโดยให้ขาสองข้างเหยียดตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากข้อเข่า โดยหากพยายามพับข้อเข่าเข้ามาให้เท้าชิดสะโพกได้มากที่สุด เกร็งไว้ 5-10 วินาที แล้ววางขาลงลงทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง

หมายเหตุ กรณีที่ปวดลดลงแล้วสามารถใช้ถุงทรายถ่วงเหนือข้อเท้าเล็กน้อยเพื่อเพิ่มน้ำหนักการออกกำลังกาย

แพทย์ที่ดูแลจะเป็นผู้แนะนำและวางแผนการบริหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายท่าบริหารทั้งหมดที่ได้กล่าวมา จะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่ารวมทั้งต้นขาและน่องแข็งแรงและกระชับขึ้น สามารถทำได้วันละหลาย ๆ ครั้ง ไม่จำกัดเวลา

การได้ปฏิบัติตัวถูกต้องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจะช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าและชะลอความเสื่อมของข้อเข่าได้ อาการปวดเข่าก็จะทุเลาลง

“ในรายที่ปวดเข่ามาก…ควรใช้สนับเข่าจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับลดอาการปวดลงได้มาก”

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดแบบผู้ป่วยใน

การผ่าตัดจะต้องมีการให้ยาที่ทำให้หลับเพื่อระงับความรู้สึกไม่ให้เจ็บปวด ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อให้การผ่าตัดทำได้อย่างปลอดภัยและราบรื่นดังนี้

  1. อาบน้ำสระผมตัดเล็บให้สั้นภายใน 24 ชั่วโมงก่อนหัตถการเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ

2. งดน้ำและอาหารรวมถึงเครื่องดื่มทุกชนิดและยารับประทานอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนหัตถการ


3.เช้าวันทำหัตถการให้งดแต่งหน้าและควรล้างทำความสะอาดใบหน้าก่อนหัตถการเพื่อให้ไม่บดบังการสังเกตลักษณะสีผิวและการไหลเวียนเลือดของวิสัญญีแพทย์


4.งดใส่ขนตาปลอม, ผมปลอม หากมีการต่อผมชนิดติดด้วยคลิปโลหะต้องถอดออกก่อน ถ้าใช้สีทาเล็บต้องล้างออก ถ้าใส่เล็บปลอมต้องถอดออกก่อนหัตถการ

5.งดใส่เครื่องประดับทุกประเภทมาโรงพยาบาล อย่านำของมีค่ามาโรงพยาบาล

6.หากมีอุปกรณ์หรือเครื่องประดับที่เจาะร่างกาย เช่น เครื่องประดับโลหะที่ลิ้น สะดือ หรือโลหะที่สวมใส่ติดกับร่างกายเช่นพระเครื่องหรือตะกรุดต้องถอดออกเพื่อป้องกันการไหม้

7.หากมีฟันปลอมแบบถอดได้ เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ (เช่น Invisalign) ต้องถอดออกก่อนการทำหัตถการ (แนะนำว่าไม่ควรนำมาโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญหาย)

8.งดใส่เครื่องประดับทุกประเภทมาโรงพยาบาลและกรุณาไม่นำของมีค่าใดๆมาโรงพยาบาลเพื่อลดความกังวลของท่านและป้องกันความเสี่ยงต่อการสูญหาย


9. ห้ามสวมคอนแทคเลนส์ในวันทำหัตถการเนื่องจากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกระจกตาระหว่างกระบวนการให้ยาระงับความรู้สึก หากท่านมีปัญหาการมองเห็นให้สวมแว่นมาในวันหัตถการ



  • กรุณาแจ้งให้วิสัญญีแพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว, ยาที่ใช้ประจำ, การแพ้ยา, และปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในการผ่าตัดครั้งก่อนๆ(หากมี)
  • กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่หากท่านมีภาวะดังต่อไปนี้
    • อาการตาหลับไม่สนิทหรือเคยผ่าตัดดวงตามาก่อนเพื่อทำการป้องกันภาวะตาแห้งและกระจกตาถลอกระหว่างการระงับความรู้สึก
    • การหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือใช้เครื่องพยุงการหายใจระหว่างนอนหลับ (CPAP)
    • มีภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบปอดบวมก่อนทำหัตถการในระยะ 2 สัปดาห์

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ แผนกห้องพักฟื้น โรงพยาบาลพระรามเก้าหมายเลข
โทรศัพท์ 1270 ต่อแผนกห้องพักฟื้น 12430

PI-PAU-05

ยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet) และยากันเลือดแข็งตัว (anticoagulants)

ยาต้านเกล็ดเลือด (anti-platelet)

ยาต้านเกล็ดเลือดคือยาที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดเกาะตัวกันซึ่งจะเป็นสาเหตุของการอุดตันของหลอดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ยาต้านเกล็ดเลือดจะถูกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองและเส้นเลือดหัวใจ ในปัจจุบันมียาหลายชนิดแตกต่างกันตามกลไกการออกฤทธิ์ แพทย์จะเป็นผู้เลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันความเสี่ยงของภาวะเลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือเลือดออกในสมอง

ชนิดของยาต้านเกล็ดเลือด

1.แอสไพริน

เป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เป็นยาที่ใช้แพร่หลายเนื่องจากมีประสิทธิภาพค่อนดี, มีการใช้มานาน, ราคาไม่แพงจึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงในการกำเริบของโรคหลอดเลือดตีบที่สมองหรือหัวใจ อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยของแอสไพริน คือการระคายเคืองทางเดินอาหารทำให้มีอาการปวดท้องแสบท้อง, คลื่นไส้, หรืออาจถึงกับมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ ดังนั้นจึงมีการพัฒนารูปแบบของยาแอสไพริน เพื่อช่วยลดปัญหาต่อทางเดินอาหาร ที่ใช้บ่อยมี 2 รูปแบบได้แก่

a. Enteric coated Aspirin
แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบช่วยให้ตัวยาค่อยๆ ละลายที่บริเวณลำไส้ช่วยลดอาการระคายเคืองบริเวณกระเพาะอาหาร จึงไม่ควรหักเม็ดยาหรือบดเคี้ยวเม็ดยาและไม่ควรการรับประทานยาร่วมกับนมหรือยาลดกรดเนื่องจากอาจทำให้ตัวยาละลายออกมาที่กระเพาะอาหารแทนที่จะเป็นที่ลำไส้
ตัวอย่าง : แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบ(81 มิลลิกรัม) เช่น Aspent-M, B-Aspirin/แอสไพรินชนิดเม็ดเคลือบ(300 มิลลิกรัม) เช่น Aspent

b. Aspirin ชนิดผสมกับ glycine
เพื่อเพิ่มการละลายและลดอาการข้างเคียงต่อทางเดินอาหาร เม็ดยาสามารถวางบนลิ้นอมให้ละลายแล้วกลืนได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำตามหรือจะกลืนเม็ดยาพร้อมน้ำสะอาดก็ได้ตัวอย่างชื่อการค้าของยาเช่น CardiPRIN 100 mg 

2. ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือดที่ไม่ใช่แอสไพริน

ยากลุ่มนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาแอสไพรินได้เนื่องจากมีอาการแพ้หรือมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารรุนแรง แพทย์อาจพิจาณาใช้ยาอื่นได้แก่

a. ยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่ม P2Y12 inhibitor ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าแอสไพริน โดยที่ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่าแต่ความเสี่ยงในการทำให้เกิดเลือดออกนั้นอาจจะมากกว่าแอสไพรินเล็กน้อยและตัวยามีราคาแพงกว่าแอสไพริน

ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
ClopidogrelPlavix 75 mgCo-Plavix 75/75 mgApolets 75 mg
PrasugrelEffient 10 mg
TicagrelorBrilinta 90 mg
*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ลิ้นรับรสชาติแปลกไป ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นช้า เป็นต้น

b. ยาที่ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดโดยการยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส ยานี้มีฤทธิ์ต้านเกล็ดเลือดที่น้อยกว่าแอสไพริน

ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
CilostazolPletaal 50 และ 100 mg
*อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น ปั่นป่วนในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น

C. ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกการยั้บยั้งไกลโคโปรตีน IIb/IIIa การใช้ยากลุ่มนี้มีข้อบ่งชี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการแพ้ยาหรือไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่มอื่นได้

             ตัวอย่าง

ชื่อสามัญ (Generic name)ชื่อการค้า
AbciximabReoPro 
eptifibatideIntegrilin
tirofibanAggrastat (Pro)

 ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยที่การใช้ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด

  • จุดประสงค์ของการใช้ยากลุ่มนี้คือเพื่อลดโอกาสเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนเลือดเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือหลอดเลือดสมองอุดตันซ้ำอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต
  • ผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุดของยากลุ่มนี้ คือ ทำให้เลือดหยุดยากขึ้น ดังนั้น:หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้หยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
    • มีเลือดออกที่เหงือกบ่อยๆและหยุดยาก
    • เลือดกำเดาไหล, มีจ้ำเลือดตามผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง
    • ประจำเดือนปริมาณมาก
    • เลือดออกในเยื่อบุตาขาว
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • มีปัสสาวะเป็นเลือด
    • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีคล้ำ
    • มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น มีเลือดออกจากบาดแผลมาก
    • ผู้ป่วยควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุและอันตราย เช่น การล้มอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายในโดยเฉพาะบริเวณศีรษะและทรวงอก
  • ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, ถอนฟันหรือทำหัตถการที่จะต้องมีบาดแผลและเลือดออก ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ผ่าตัดทราบทุกครั้งว่ารับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่และแพทย์อาจพิจารณาหยุดยาก่อนการผ่าตัดเป็นรายๆไป

ยากันเลือดแข็งตัว (anticoagulant)

ยากันเลือดแข็งตัวคือยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงจึงป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือด ข้อบ่งชี้ของการใช้ยากันเลือดแข็งตัวได้แก่

  • การป้องกันและการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา (deep vein thrombosis) หรือลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ปอด (pulmonary embolism)
  • ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดในสมองตีบจากลิ่มเลือดจากการเต้นพริ้วของหัวใจห้องบน (atrial fibrillation) 
  • ผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 

ยากันเลือดแข็งตัว  แบ่งออกเป็น

  1. ยาวาร์ฟาริน (warfarin)
    เป็นยาที่ใช้กันแพร่หลายมาเป็นเวลานาน การใช้ยาชนิดนี้จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและมาพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่องเพื่อเจาะเลือดตรวจระดับยา ในช่วงแรกที่เริ่มปรับขนาดยาผู้ป่วยอาจต้องมาเจาะเลือดทุก 3 วันหรือทุกสัปดาห์เพื่อปรับระดับยา การใช้ยากลุ่มนี้มีข้อควรระวังเนื่องจากยาชนิดนี้มีปฏิกิริยากับยาอื่นและอาหารบางชนิดที่รับประทานกันทั่วไป เช่น ผักใบเขียว รวมถึงต้องพิจารณาความเสี่ยงเลือดออกรายบุคคลร่วมด้วย

ยาวาร์ฟาริน (warfarin)  ในโรงพยาบาลพระรามเก้ามีใช้ 3 ขนาดคือ 2, 3 และ 5 มิลลิกรัม

ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน warfarin

  • มาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดหรือที่เรียกว่า “ค่า  INR” เพื่อปรับยา warfarin ให้ได้ระดับค่า INR ที่เหมาะสมกับตัวโรคของท่าน
    • ถ้าค่า INR สูงเกินระดับ จะมีโอกาสเกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย
    • ถ้าค่า INR ต่ำกว่าระดับ จะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย 
  • รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ห้ามลืมทานยา ในบางกรณีอาจจะต้องใช้ปฏิทินช่วยจำ
  • หากมีอาการเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาและมาพบแพทย์ทันที
  • เมื่อท่านไปรับบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งบุคลากรการแพทย์ทราบทุกครั้งว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, การถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม
  • หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลที่มีเลือดออกให้ห้ามเลือดโดยใช้มือกดผ้าสะอาดไว้ให้แน่นตรงบาดแผล จะช่วยให้เลือดหยุดหรือไหลน้อยลงได้ แล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีและแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่
  • ยาและอาหารบางชนิดอาจมีผลต่อระดับของยาวาร์ฟารินในกระแสเลือดซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาได้ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารและไม่ควรซื้อยากินเอง
    • ปฏิกริยาระหว่างยาที่ควรทราบ
      • ยาที่เพิ่มฤทธิ์ของ Warfarin ซึ่งทำให้ค่า INR เพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสเลือดออก ได้แก่
        • กลุ่มยาแก้ปวดข้อ /กล้ามเนื้อ เช่น Diclofenac, Piroxicam, Indomethacin, Ibuprofen
        • กลุ่มยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Co-trimoxazole (Sulfa)
      • ยาที่ลดฤทธิ์ของวาร์ฟารินซึ่งทำให้ค่า INR ลดลงและทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือด  ได้แก่
        • ยากันชัก เช่น Carbamazepine, Phenytoin
        • ยาฆ่าเชื้อบางตัว เช่น Rifampin, Griseofulvin
    • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีผลต่อ warfarin เช่น โสม, ขิง, แปะก๊วย, กระเทียม, น้ำมันปลา, สมุนไพรและยาแผนโบราณ, ยาจีน, ยาชุดต่างๆ รวมถึงการใช้กัญชงและกัญชา
    • อาหารบางชนิดสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาวาร์ฟารินได้ โดยเฉพาะผักใบเขียวที่มีวิตามินเคสูง เช่น กะหล่ำปลี, บรอคโคลี่, แตงกวาพร้อมเปลือก, น้ำมันมะกอก, ผักโขม, ถั่วเหลือง, ใบชา และผลไม้คือ มะม่วงสุก และทุเรียน ดังนั้นปริมาณของการรับประทานอาหารเหล่านี้ในแต่ละวันจึงไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมากแต่ควรรับประทานเป็นประจำในปริมาณเท่าๆ กัน อย่างสม่ำเสมอ

ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยาวาร์ฟาริน

ห้ามเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าโดยเด็ดขาด กรณีลืมกินยาและยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 12 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาดปกติ

การเก็บรักษายา

  •  เก็บยาให้พ้นแสงและความชื้น
  •  เก็บยาในภาชนะที่โรงพยาบาลจัดให้
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  • เม็ดยา warfarin อาจมีสีไม่สม่ำเสมอซึ่งเป็นลักษณะปกติท่านสามารถรับประทานต่อได้
  • กรุณานำยาที่ยังรับประทานไม่หมดมาให้เภสัชกรตรวจสอบทุกครั้งที่นัด
  1. ยาละลายลิ่มเลือดกลุ่มใหม่ (direct oral anticoagulants ; DOACs)

ปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนายาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ได้อย่างสะดวก ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อปรับยาในการรักษาและโอกาสเสี่ยงในการเกิดเลือดออกน้อยกว่ายาวาร์ฟาริน ยาสามารถออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่อย่างไรก็ดีข้อบ่งชี้มีความแตกต่างกับ วาร์ฟาริน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณากับท่านอีกครั้งก่อนเริ่มยา

ข้อเสียคือปัจจุบันยากลุ่มนี้ยังมีราคาค่อนข้างสูงและหากเกิดภาวะเลือดออกยาที่ใช้ในการแก้ฤทธิ์หายากและมีราคาแพง ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Dabigratran, Apixaban, Endoxaban และ Rivaroxaban

ปัจจุบันในรพ.พระรามเก้า มียาต้านฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือดอยู่ในรพ.ดังนี้ Idarucizumab (ใช้สำหรับ Dabigatran) และ Profilnine (ใช้สำหรับ Apixaban, Endoxaban และ Rivaroxaban)

 ข้อควรปฏิบัติเมื่อท่านรับประทาน DOACs

1. มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง 

2. รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ลืมทานยา ในบางเคสอาจจะต้องใช้ปฏิทินช่วยจำ

3. หากมีอาการเลือดออกผิดปกติให้หยุดยาและมาพบแพทย์ทันที

4. ทุกครั้งที่ท่านไปรับบริการทางการแพทย์ต้องแจ้งบุคลากรการแพทย์ทราบด้วยว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, การถอนฟันหรือต้องรับประทานยาอย่างอื่นเพิ่ม

5.หากเกิดอุบัติเหตุมีบาดแผลและเลือดไม่หยุดไหลให้ห้ามเลือดโดยใช้มือกดผ้าสะอาดไว้ให้แน่นตรงบาดแผลเลือดจะหยุดออกหรือออกน้อยลงแล้วรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่าท่านกำลังรับประทานยากันเลือดแข็งตัวอยู่

6.ยาและอาหารบางชนิด จะส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาได้ ห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาสมุนไพร

ทำอย่างไรหากลืมรับประทานยา

 สำหรับยาที่กินวันละสองครั้ง ได้แก่ Dabigratran และ Apixaban หากลืมกินยาแต่ยังไม่ถึง 6 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 6 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาด(dose)ปกติ

สำหรับยาที่กินวันละครั้ง ได้แก่ Endoxaban, Rivaroxaban หากลืมกินยาแต่ยังไม่ถึง 12 ชั่วโมงให้รีบกินยาขนาดปกติทันทีที่นึกได้ กรณีที่ลืมกินยาและเลย 12 ชั่วโมงไปแล้วให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลยแล้วกินยามื้อต่อไปในขนาด(dose)ปกติ

PI-MED-45

ความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งชนิดที่พบเป็นลำดับต้นๆในกลุ่มประชากรทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 20.7 ของมะเร็งในผู้ป่วยเพศชาย, รองลงมาเป็นมะเร็งตับ/ท่อน้ำดีและมะเร็งปอดตามลำดับ สำหรับผู้ป่วยเพศหญิงพบมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับสองคิดเป็นร้อยละ 12.2 ของมะเร็งในผู้ป่วยเพศหญิง

ในปี พ.ศ. 2563 ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่มีจำนวน 16.9 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าจากเมื่อ 20 ปีก่อน (จำนวนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่รายใหม่ในปี พ.ศ. 2543 มีเพียง 5 คนต่อประชากร 100,000 คน)

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ช่วยป้องกันโรคลุกลาม

มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ซึ่งจะค่อยๆโตขึ้นและกลายตัวเป็นมะเร็งซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 ปี ดังนั้นการคัดกรองด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จึงเป็นการป้องกันการลุกลามของโรค เนื่องจากสามารถตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และกำจัดโดยการตัดออก(polypectomy)ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และเป็นวิธีที่ช่วยลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน

คำแนะนำในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีการตรวจคัดกรอง
ในปัจจุบันวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่คือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เนื่องจากสามารถตรวจพบรอยโรคได้ทั้งชนิดที่เป็นติ่งเนื้อ,เป็นก้อนนูนหรือรอยโรคที่มีลักษณะค่อนข้างแบนราบ และในกรณีที่มีติ่งเนื้อแพทย์สามารถทำการตัดติ่งเนื้อออก(polypectomy) เพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยาซึ่งจะเป็นทั้งการวินิจฉัยและการรักษาไปด้วยในตัว

อายุที่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

บุคคลทั่วไปที่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตามคำแนะนำของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ส่วน American Cancer Society แนะนำให้เริ่มต้นคัดกรองที่อายุ 45 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 75 ปี

ผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีจนถึง 85 ปีให้พิจารณาเป็นรายๆไปตามความเหมาะสมเช่น สภาพทางกาย โรคร่วม รวมถึงผลการตรวจคัดกรองครั้งก่อนๆ ส่วนผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไปไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกต่อไป

ความถี่ของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

แนะนำให้ทำการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี

วิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และการเตรียมตัวผู้ป่วย 

เชิญรับชมรายละเอียดในวีดีโอนี้

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 20801-20802

PI-GIC-12

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

น้ำตาลกลูโคสมีความสำคัญต่อร่างกายเนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ค่าระดับกลูโคสในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานควรสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (ระดับกลูโคสในเลือดของคนทั่วไปควรสูงกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์โดยใช้ยาและควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดซึ่งหากมีปัจจัยใดๆที่มีผลต่อน้ำตาลในเลือด เช่น การมีกิจกรรมมากขึ้นกว่าปกติ, การเจ็บป่วย, การรับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติหรือรับประทานผิดเวลา เหล่านี้ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกมีอาการใจสั่น, มือสั่น, หิว, วิงเวียน, รู้สึกเหมือนจะเป็นลม, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือชัก

ทำไมจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ระดับกลูโคสในเลือดที่ปกติในผู้ป่วยเบาหวานได้จากความสมดุลระหว่างปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป, กิจกรรมที่กระทำ, ยาเบาหวานที่ใช้, และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง

หากมีการเสียสมดุลของปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น 

  • ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยกว่าเดิม, มื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนออกไปในขณะที่ยังรับประทานยาหรือฉีดยาเบาหวานตามเวลาปกติ
  • ผู้ป่วยมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานมากขึ้นกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น, มีการยกของหนัก, จัดบ้าน, อาบน้ำสุนัข, ล้างรถเป็นต้น ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่ทันรู้ตัวว่ากิจกรรมเหล่านี้ทำให้มีการใช้พลังงานมากกว่าที่เคยเป็น
  • ผู้ป่วยที่รับประทานอาหารและใช้ยาเบาหวานตามปกติแต่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นเช่นเป็นหวัดหรือท้องเสีย ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งควรใส่ใจระมัดระวังดูแลเป็นพิเศษได้แก่

  • ผู้ป่วยสูงวัย
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับ, โรคไต
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินชนิดฉีด หรือยาเบาหวานกลุ่ม sulfonyluria เช่น Daonil, Minidiab, Diamicron, Amaryl, และยา Novonorm ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Glinide
  •  ผู้ป่วยที่ควบคุมเบาหวานอย่างเข้มงวดมากโดยกำหนดระดับเป้าหมาย HbA1c และระดับน้ำตาลในเลือดที่ใกล้เคียงระดับปกติมาก
  • ผู้ป่วยที่เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยเฉพาะระดับรุนแรงหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่ไม่มีอาการเตือนเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรทำอย่างไร

แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย

ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่นวิงเวียน ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็ว 15 กรัม แล้วสังเกตอาหารหรือเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็วอีก 15 กรัม จนกว่าอาการจะหายไปหรือได้ค่าน้ำตาลมากกว่า 70 mg/dl หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแล้วให้รับประทานคาร์บไฮเดรตชนิดดูดซึมช้า เช่น ขนมปัง ผลไม้หรือข้าว เพื่อป้องกันน้ำตาลตกซ้ำ

ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว ปริมาณ 15 กรัม ตัวอย่างคาร์โบไฮเดรตดูดซึมช้า ปริมาณ 15 กรัม
ลูกอม 3 เม็ด
น้ำผลไม้ 1 กล่อง
น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
ขนมปัง 1 แผ่น
กล้วยหรือแอ๊ปเปิ้ล 1 ผล
โยเกิร์ต 200 กรัม
ข้าวต้มหรือโจ๊ก 1/2 ถ้วย

ผู้ป่วยหมดสติไม่รู้สึกตัว ให้ผู้ดูแลหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์โทร 1669 แจ้งเหตุฉุกเฉินผู้ป่วยหมดสติ

การป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำควรมีเครื่องตรวจระดับน้ำตาลด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ ผู้ป่วยควรพกลูกอมหรือน้ำผลไม้ติดตัวไว้รับประทานเมื่อเกิดอาการ


 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-10

English topic

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดหรือส่องกล้องทางเดินอาหารแบบผู้ป่วยนอก

การผ่าตัดหรือการส่องกล้องทางเดินอาหารซึ่งต่อไปในบทความนี้จะเรียกว่า “หัตถการ (procedure)” จะต้องมีการให้ยาที่ทำให้หลับเพื่อระงับความรู้สึกไม่ให้เจ็บปวด ในกรณีที่เป็นการทำหัตถการแบบผู้ป่วยนอกซึ่งผู้ป่วยมาจากบ้านเพื่อรับการทำหัตถการและเดินทางกลับบ้านเมื่อหัตถการเสร็จสิ้นและผู้ป่วยได้ผ่านระยะพักฟื้นเป็นเวลาสั้นๆ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อให้การผ่าตัดทำได้อย่างปลอดภัยและราบรื่นดังนี้

  1. อาบน้ำสระผมตัดเล็บให้สั้นภายใน 24 ชั่วโมงก่อนหัตถการเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ

2. งดน้ำและอาหารรวมถึงเครื่องดื่มทุกชนิดและยารับประทานอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนหัตถการ


3.เช้าวันทำหัตถการให้งดแต่งหน้าและควรล้างทำความสะอาดใบหน้าก่อนหัตถการเพื่อให้ไม่บดบังการสังเกตลักษณะสีผิวและการไหลเวียนเลือดของวิสัญญีแพทย์


4.งดใส่ขนตาปลอม, ผมปลอม หากมีการต่อผมชนิดติดด้วยคลิปโลหะต้องถอดออกก่อน ถ้าใช้สีทาเล็บต้องล้างออก ถ้าใส่เล็บปลอมต้องถอดออกก่อนหัตถการ

5.งดใส่เครื่องประดับทุกประเภทมาโรงพยาบาล อย่านำของมีค่ามาโรงพยาบาล

6.หากมีอุปกรณ์หรือเครื่องประดับที่เจาะร่างกาย เช่น เครื่องประดับโลหะที่ลิ้น สะดือ หรือโลหะที่สวมใส่ติดกับร่างกายเช่นพระเครื่องหรือตะกรุดต้องถอดออกเพื่อป้องกันการไหม้

7.หากมีฟันปลอมแบบถอดได้ เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ (เช่น Invisalign) ต้องถอดออกก่อนการทำหัตถการ (แนะนำว่าไม่ควรนำมาโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญหาย)

8.งดใส่เครื่องประดับทุกประเภทมาโรงพยาบาลและกรุณาไม่นำของมีค่าใดๆมาโรงพยาบาลเพื่อลดความกังวลของท่านและป้องกันความเสี่ยงต่อการสูญหาย


9. ห้ามสวมคอนแทคเลนส์ในวันทำหัตถการเนื่องจากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกระจกตาระหว่างกระบวนการให้ยาระงับความรู้สึก หากท่านมีปัญหาการมองเห็นให้สวมแว่นมาในวันหัตถการ


10. งดขับรถมาโรงพยาบาลเองในวันทำหัตถการ


11.ในวันทำหัตถการต้องมีผู้มาด้วยซึ่งสามารถดูแลช่วยเหลือและพาผู้ป่วยกลับบ้านได้



  • กรุณาแจ้งให้วิสัญญีแพทย์ทราบหากมีโรคประจำตัว, ยาที่ใช้ประจำ, การแพ้ยา, และปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในการผ่าตัดครั้งก่อนๆ(หากมี)
  • กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่หากท่านมีภาวะดังต่อไปนี้
    • อาการตาหลับไม่สนิทหรือเคยผ่าตัดดวงตามาก่อนเพื่อทำการป้องกันภาวะตาแห้งและกระจกตาถลอกระหว่างการระงับความรู้สึก
    • การหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือใช้เครื่องพยุงการหายใจระหว่างนอนหลับ (CPAP)
    • มีภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบปอดบวมก่อนทำหัตถการในระยะ 2 สัปดาห์

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ แผนกห้องพักฟื้น โรงพยาบาลพระรามเก้า
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อแผนกห้องพักฟื้น 12430

PI-PAU-04

เส้นฟอกเลือด (vascular access)

ผู้ป่วยที่มีไตวายเรื้อรังจำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดเป็นประจำซึ่งจะต้องมีช่องทางสำหรับต่อเครื่องฟอกเลือดเข้ากับระบบไหลเวียนเลือดของผู้ป่วย ช่องทางนี้เรียกว่า “เส้นฟอกเลือด (vascular access)”

ชนิดของเส้นฟอกเลือด (vascular access)

แบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆได้แก่

1.AV Fistula : ใช้หลอดเลือดดำของผู้ป่วยมาต่อเข้ากับเส้นเลือดแดงที่แขน

2.AV bridge graft : ใช้หลอดเลือดเทียมเชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำของผู้ป่วย

การดูแลหลังผ่าตัดใส่เส้นฟอกเลือด vascular access

1. รักษาความสะอาดและระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำหรือเปื้อนสกปรก  ทำแผล(wound dressing) ตามที่แพทย์สั่ง

2. สังเกตอาการผิดปกติบริเวณแผลผ่าตัด เช่น อาการอักเสบ, มีเลือดซึมออกมากหรือมีหนองรวมถึงอาการไข้สูง หากมีอาการผิดปกติใดๆให้รีบติดต่อแพทย์ที่ดูแลหรือมารพ.ทันที

3. เวลานอนยกแขนข้างที่ผ่าตัดให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อช่วยลดอาการบวม

4. อย่านอนทับแขนหรืองอแขนข้างที่ผ่าตัด

5. มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจสภาพเส้นฟอกไต(vascular access)หลังการผ่าตัด

6. เริ่มบริหารเส้นฟอกเลือดทันทีหลังผ่าตัด 3-4 วัน  หรือเมื่อหายปวดแผล 

1. บริหารแขนที่มีเส้นฟอกเลือด (vascular access)

ทำทุกวันโดยการบีบลูกบอลยางตามวิธีด้านล่าง ทำอย่างน้อยวันละ 400 – 500 ครั้ง หรือมากกว่านั้นได้เพื่อช่วยให้เส้นเลือด(vascular access) แข็งแรงและมีประสิทธิภาพดีขึ้น

2. สังเกตการไหลเวียนของเลือดในเส้น vascular access

โดยแนบหูของท่านที่บริเวณรอยแผลผ่าตัด จะได้ยินเสียงฟู่ๆคล้ายการไหลของน้ำในท่อ และให้ใช้มือคลำบริเวณรอยแผลผ่าตัดซึ่งจะสัมผัสการสั่นสะเทือนแบบเดียวกัน
หากฟังไม่ได้ยินเสียง, เสียงเบาลงหรือเปลี่ยนไป หรือมีเสียงดังตุ้บๆ แบบชีพจร ต้องรีบมารพ.ทันที


 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-NHD-11

โรคเบาหวาน

เบาหวานคือโรคที่ร่างกายมีสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากความบกพร่องในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน

การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยฮอร์โมนอินซูลิน

อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล)ที่รับประทานจะถูกย่อยโดยทางเดินอาหารกลายเป็นกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาสู่กระแสเลือด อินซูลินจะไปไปจับกับตัวรับอินซูลินที่ผิวเซลล์ต่างๆในร่างกายกระตุ้นให้เกิดกระบวนการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ทำให้ระดับกลูโคสในเลือดต่ำลง

กลุ่มโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น

เบาหวานชนิดที่ 1  พบได้น้อยกว่าชนิดที่สอง เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตั้งแต่อายุน้อย

เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยเกิดจากการที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน ทำให้แม้ว่ามีระดับอินซูลินในเลือดสูงก็ไม่สามารถจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ เบาหวานชนิดที่ 2 พบในผู้ใหญ่และสัมพันธ์กับโรคอ้วน ผู้ป่วยมักมีปัญหาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด, ความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ซึ่งมักเรียกกันว่า กลุ่มอาการเมตาบอลิค

เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) คือการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากสภาวะความทนน้ำตาลผิดปกติ (glucose intolerance) ที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์โดยผู้ป่วยไม่เคยเป็นมาก่อน มักพบในไตรมาสสามของการตั้งครรภ์และหายเองได้หลังคลอด

ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นหลักเนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยและก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของประชาชนทั่วไป

อาการของโรคเบาหวาน

อาการของโรคเบาหวานขึ้นกับระดับน้ำตาล ผู้ที่เป็นเบาหวานอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยถ้าระดับน้ำตาลสูงปานกลาง แต่หากระดับน้ำตาลขึ้นสูงมากผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • กระหายน้ำผิดปกติ
  • ปัสสาวะบ่อย
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ไม่ได้อดอาหาร
  • รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา
  • แผลหายช้าผิดปกติ
  • มีการติดเชื้อง่ายขึ้น

การดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้นได้อย่างไร

การดื้อต่ออินซูลินคือการที่ตับอ่อนสามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่างๆในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินในการนำกลูโคสเข้าเซลล์จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของเบาหวานชนิดที่สองคือโรคอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้วนที่มีไขมันในช่องท้องปริมาณมาก ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การรับประทานน้ำตาลและแป้งขัดขาวปริมาณมากเป็นประจำ, การมีประวัติเบาหวานในครอบครัว, การมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตแบบไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย, อายุมาก, การใช้ยาบางอย่างเช่น สเตียรอยด์, การนอนหลับที่ไม่เพียงพออย่างเรื้อรัง, การสูบบุหรี่

ผลระยะยาวของโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุม

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการแข็งตัวของเส้นเลือดหรือ atherosclerosis, มีการอักเสบในระดับเซลล์ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นเลือดซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่แสดงอาการใดในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเส้นเลือดเกิดการเสื่อมถึงระดับหนึ่ง ผู้ป่วยจะเกิดอาการจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายของเส้นเลือดทั่วร่างกาย ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมอง  ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดีมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากความเสื่อมของเส้นเลือดในสมอง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง
  2. เบาหวานขึ้นตา เกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดความเสื่อมของจอประสาทตา, มีเลือดออกในจอประสาทตาและมีการงอกใหม่ของเส้นเลือดทำให้การมองเห็นลดลงจนกระทั่งตาบอดในที่สุด คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานขึ้นตา
  3. โรคหลอดเลือดหัวใจ การเสื่อมของหลอดเลือดจากโรคเบาหวานทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงและหากอาการเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ
  4. ไตวายเรื้อรัง ไตเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กจำนวนมาก การมีระดับน้ำตาลสูงเรื้อรังจากเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีส่งผลให้เส้นเลือดที่ไตเสียหาย การทำงานของไตจะพร่องลงทีละน้อยจนในที่สุดผู้ป่วยจะเกิดภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระแก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวอย่างมากเนื่องจากผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายต้องมีการฟอกไตเป็นประจำสัปดาห์ละ 3 วันหรือการปลูกถ่ายไตซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คลิกที่นี่เพื่ออ่านเรื่องเบาหวานกับโรคไต
  5. การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยเฉพาะในเพศชายการเสื่อมของหลอดเลือดแดงจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังจะทำให้มีผลต่อการแข็งตัวขององคชาติ
  6. แผลที่เท้า เนื่องจากการเสื่อมของเส้นเลือดแดงส่วนปลายทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงนิ้วเท้าและฝ่าเท้าร่วมกับการที่ผู้ป่วยมีการชาปลายนิ้วมือนิ้วเท้าจากการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้ผู้ป่วยเป็นแผลที่เท้าได้ง่าย และแผลหายยาก ผู้ป่วยเบาหวานหลายรายจึงเป็นแผลเรื้อรังที่เท้าซึ่งในบางรายลุกลามไปสู่การติดเชื้อรุนแรงหรือการเน่าของแผลทำให้ต้องตัดขา

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า 
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 10351, 10352

PI-DMC-04

English topic

ความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง   หมายถึง ภาวะความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure)  ที่สูงกว่า 140  มม.ปรอท หรือมีระดับความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic blood pressure) สูงกว่า 90  มม.ปรอท โดยหากทำการวัดความดันโดยใช้เครื่องวัดความดันชนิดพกพาที่บ้าน จะใช้เกณฑ์ความดันสูงผิดปกติต่ำลงโดยใช้ความดันตัวบนที่มากกว่า 135 มม.ปรอท หรือ ความดันตัวล่างสูงกว่า 85 มม.ปรอท

การที่มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อการเสื่อมของระบบเส้นเลือดในร่างกาย และเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆตามมาได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ไตวายและจอตาเสื่อม ซึ่งเป็นผลจากการที่อวัยวะดังกล่าวต้องทนแรงดันสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน 

จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจของประชาชนไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง และหากสามารถควบคุมโรคความดันโลหิตสูงให้ได้ตามเป้าหมาย จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรได้ ปัญหาที่ส่งผลต่อการควบคุมโรคความดันโลหิตสูงได้ไม่ดี เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ผู้ที่เป็นโรคความดันสูงไม่เคยทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือตรวจพบความดันโลหิตสูงแต่ไม่ได้ตระหนักเนื่องจากผู้ที่ความดันสูงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ทำให้ไม่ได้รับการติดตามอาการหรือรักษาอย่างต่อเนื่อง และมักจะมาพบแพทย์อีกครั้งเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากความดันสูงเกินขึ้นแล้ว 

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อย และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ ดังนั้นการวัดความดันจึงเป็นสิ่งสำคัญแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติก็ตามเพื่อค้นหาผู้ที่มีความดันสูงและรับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น 

คำแนะนำในการวัดความดันโลหิต
1. งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย  หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ภายใน 30 นาทีก่อนที่จะวัดความดันโลหิตหากมีอาการปวดปัสสาวะควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อน ควรใช้เครื่องมือที่เชื่อถือได้ และควรตรวจสอบแถบพันแขนว่าเหมาะสมกับขนาดต้นแขน  

2. นั่งพักบนเก้าอี้ที่มีมีพนักพิง อย่างน้อย 5 นาที วางแขนข้างที่วัดความดันบนที่ราบ ต้นแขนที่พันสายวัดความดันอยู่ในระดับหัวใจ เท้าทั้งสองข้างวางราบบนพื้น ไม่ควรวัดความดันผ่านแขนเสื้อ ขณะวัดความดันไม่เกร็งแขนหรือกำมือและงดพูดคุย

3. ควรวัดความดันเลือดอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วงเช้า และ 2 ครั้งในช่วงเย็น โดยแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 1 นาที และบันทึกทุกค่าที่วัดได้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการติดตามการรักษา 

4. ในการประเมินผู้ป่วยครั้งแรกหรือในผู้ที่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงครั้งแรก แนะนำให้วัดความดันโลหิตที่แขนทั้งสองข้าง โดยค่าปกติความดันระหว่างแขนทั้งสองข้างจะต่างกันไม่เกิน 20/10 มม.ปรอท(ความดันตัวบนระหว่างแขนทั้งสองต่างกันไม่เกิน 20 มม.ปรอทและความดันตัวล่างไม่เกิน 10 มม.ปรอท) 

5. หากความดันตัวบนระหว่างแขนทั้ง 2 ข้างต่างกันมากกว่า 10 มม.ปรอท ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ ในการวัดความดันครั้งต่อไป แนะนำให้วันความดันโดยใช้แขนข้างที่ความดันสูงกว่า 

การจำแนกสภาวะความดันโลหิตในผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป

เกณฑ์SBP
มม.ปรอท
DBP
มม.ปรอท
ดีมาก (Optimal)<120และ<80
ปกติ (Normal)120-129และ/หรือ80-84
ปกติค่อนข้างสูง130-139และ/หรือ85-89
ความดันโลหิตสูงระดับ 1140-159และ/หรือ90-99
ความดันโลหิตสูงระดับ 2160-179และ/หรือ100-109
ความดันโลหิตสูงระดับ 3=> 180และ/หรือ=> 110
ความดันโลหิตสูงเฉพาะค่าบน=> 140และ<90
ข้อมูลโดยสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย 

หมายเหตุ :  

  1. หากความดันโลหิตสูงกว่า 180/110 มม.ปรอทถือว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน 
  1. เมื่อความรุนแรงของความดันตัวบน และ ความดันตัวล่างอยู่ในระดับต่างกัน ให้ถือระดับที่รุนแรงกว่าเป็นเกณฑ์ เช่น วัดความดันได้ 142 / 105 มม.ปรอท ให้นับเป็นภาวะความดันโลหิตสูงระยะที่ 2 
  1. High normal blood pressure (ระดับความดันโลหิตในเกณฑ์เกือบสูง) หมายถึง ค่าความดันโลหิตเฉลี่ยจากการตรวจครั้งแรกที่สถานพยาบาลมีค่าตั้งแต่ 130/80 มม.ปรอท ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 140/90 มม.ปรอทหากตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ 

หากพบว่ามีความดันโลหิตสูงควรทำอย่างไร 

1. คำแนะนำคือควรติดตามวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าระดับยังสูง ควรปรึกษาแพทย์ และไม่ควรประมาท เนื่องจากโรคความโลหิตดันสูงเป็นโรคที่รักษาได้ และเมื่อได้รับการรักษาที่ทันเวลา และถูกต้องจะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

2. สิ่งที่ท่านควรทราบคือระดับความดันโลหิตซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นค่าที่ปลอดภัยจากโรคแทรกซ้อนจะอยู่ในช่วงระดับ 120 / 80 มม.ปรอท แต่เนื่องจากระดับความดันโลหิตที่เป็นเป้าหมายในการรักษานั้นแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์ผู้ดูแลรักษาจะเป็นผู้พิจารณาให้ท่านเอง 

3. ระดับความดันโลหิตนั้นมีการขึ้นลงได้ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งจะเปลี่ยนตามกิจกรรมที่ทำ รวมถึงอารมณ์และความเครียด ดังนั้นการวัดความดันโลหิตที่แนะนำคือ ให้วัดช่วงที่หยุดพักจากกิจกรรมอื่นๆอย่างน้อย 5 นาที ในกรณีที่ใช้เครื่องวัดความดันชนิดอัตโนมัตินั้นเครื่องรุ่นใหม่พบว่ามีมาตรฐานดีและสามารถเชื่อถือได้ แต่ควรเลือกเครื่องวัดความดันชนิดวัดที่ต้นแขน (เนื่องจากเครื่องวัดความดันที่ข้อมืออาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้มากกว่า) โดยวัดอย่างน้อย 2 ครั้งให้ห่างกันประมาณ 1 นาที บันทึกค่าที่วัดได้ทั้งหมด เพื่อนำมาให้แพทย์ที่ดูแลทราบ และถึงแม้จะไม่มีอาการแสดง ก็ควรวัดความดันไว้เป็นประจำ 

4. เมื่อท่านต้องการลดระดับความดันโลหิต สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การปรับพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่เค็ม ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ การพักผ่อนให้เพียงพอ การควบคุมน้ำหนัก เป็นเวลา 3-6 เดือน แล้วลองติดตามวัดความดันโลหิตดู หากไม่ลดลงจึงจำเป็นต้องใช้ยายกเว้นในบางสภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงหรือมีโรคแทรกซ้อนซึ่งแพทย์อาจให้การรักษาด้วยยาในระยะแรกทันทีเพื่อความปลอดภัย 

5. ข้อพึงระวังคือเมื่อรักษาไประยะหนึ่ง ผู้ป่วยมักจะรู้สึกว่าไม่มีอาการผิดปกติจึงให้ไม่อยากทานยาต่อเนื่อง บางท่านลองลดยา หรือหยุดยาเอง ซึ่งการขาดยาทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ โรคหลอดเลือดสมอง จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนปรับยา 

สาเหตุของความดันโลหิตสูง 

  1. ความดันโลหิตสูงชนิดไม่มีสาเหตุ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงส่วนมากเป็นชนิดที่ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดและมักมีประวัติคนในครอบครัวมีความดันโลหิตสูง ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้พบได้ถึง ร้อยละ 90 และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 
  1. ความดันโลหิตสูงที่มีสาเหตุ และอาจจะรักษาให้หายได้โดยใช้ยาเฉพาะหรือการทำหัตถการชนิดพิเศษ โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นความดันสูงชนิดนี้ได้แก่ 
  1. ความดันสูงตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปในผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี หรือความดันสูงในเด็ก 
  1. ผู้ที่มีความดันสูงเฉียบพลัน หรือความดันที่สูงขึ้นผิดปกติจากค่าเดิม 
  1. ความดันโลหิตสูงที่ได้รับยามากกว่า 3 ชนิดแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันให้ได้ตามเกณฑ์ 
  1. ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปหรือมีความดันสูงแบบฉุกเฉิน 
  1. ความดันโลหิตสูงร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนในหลายอวัยวะ 
  1. อาการที่บ่งบอกถึงโรคทางต่อมไร้ท่อ หรือโรคไต 
  1. ความดันโลหิตสูงร่วมกับอาการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ 
  1. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวความดันโลหิตสูงจากสาเหตุที่แน่ชัด 
  1. ยาหรือสารเคมีบางชนิดสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงได้ เช่น ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยาลดน้ำมูก ยาลดน้ำหนัก สารเสพติด ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด ยารักษามะเร็งบางชนิด ยาแก้ปวดบางชนิด สมุนไพรบางชนิด ยาฆ่าเชื้อบางชนิด 
ช่วงอายุ  สาเหตุของความดันโลหิตสูง 
< 18 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ -โรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม 
19-40 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ 
41-65 ปี -ความผิดปกติของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต -ความผิดปกติของฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง -โรคนอนกรน -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ 
>65 ปี -โรคที่เกิดจากความผิดปกติของไต -ภาวะเส้นเลือดที่ไตตีบ -ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ 

การรักษาระดับความดันโลหิตให้ถึงเป้าหมายทำได้อย่างไร 

ารรักษาระดับความดันโลหิตให้ถึงเป้าหมายนั้นจะต้องควบคุมความดันโลหิตของท่านให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่ออวัยวะต่างๆในร่างกายซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ไต และตา ซึ่งจะส่งผลทำให้ท่านทุพพลภาพ ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จะเป็นชนิดไม่มีสาเหตุ (Essential hypertention) และไม่สามารถรักษาให้หายขาด ดังนั้นการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ดีต่อเนื่อง และควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆจึงเป็นวิธีเดียวที่สามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ 

“ความดันโลหิตสูงเพชฌฆาตเงียบ…น่ากลัวกว่าที่คิดเราสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนที่น่ากลัวเช่นอัมพาตและโรคหัวใจได้…หากท่านใส่ใจดูแลพบแพทย์สม่ำเสมอและรักษาให้ระดับความดันโลหิตอยู่ในเป้าหมายสำหรับระดับความดันโลหิตของท่านควรเป็นเท่าไหร่นั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ให้คำตอบแก่ท่านได้ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละท่านมีภาวะ หรือโรคประจำตัวต่างๆที่ส่งผลให้เป้าหมายความดันแตกต่างกันในแต่ละคน” 

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง 

  • การปรับพฤติกรรมให้ทำทุกรายแม้ในรายที่ยังไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะช่วยป้องกัน และชะลอการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ 
  • การให้ยาลดความดันโลหิต อาจจะไม่จำเป็นต้องรีบเริ่มยาทุกราย ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงบางรายอาจไม่ต้องใช้ยา หากสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

ตารางปรับพฤติกรรมในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง 

วิธีการ ข้อแนะนำ ประสิทธิภาพของการลด ความดันโลหิตตัวบน 
การลดน้ำหนัก ให้ดัชนีมวลกาย (Body mass index)  อยู่ในช่วง 18.5 – 23.0 สำหรับผู้ที่มีดัชนีมาลกายเกินเกณฑ์ การลดน้ำหนัก 1 กก.สามารถลดความดันได้ประมาณ 1 มม.ปรอท ˜ 5 มม.ปรอท 
ใช้ DASH diet (Dietary Approach to Stop Hypertention)* ให้รับประทานผัก,ผลไม้ที่ไม่หวานจัด,ธัญพืช ลดปริมาณไขมันในอาหาร โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ˜ 11 มม.ปรอท 
จำกัดเกลือในอาหาร – ลดการรับประทานเกลือโซเดียมให้น้อยกว่า 2.4 กรัมต่อวัน – ถ้าความดันโลหิตสูงมากหรือมีโรคประจำตัว ควรจำกัดโซเดียมไว้น้อยกว่า 1.5 กรัมต่อวัน ˜ 5/6 มม.ปรอท 
การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายแบบ Cardio  อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว (อย่างน้อย 5 วันต่ออาทิตย์ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน) ˜ 5 มม.ปรอท 
งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ – สำหรับผู้ชายให้จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 drink / วัน – สำหรับผู้หญิงให้จำกัดการดื่มไม่เกิน  1 drink / วัน ˜ 4 มม.ปรอท 
*สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ DASH diet สามารถค้นหาเพิ่มได้ที่ https://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/dash 

อาหารที่พึงระวัง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 

  • อาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น ของหมักดอง  อาหารกระป๋อง ไส้กรอก 
  • อาหารขบเคี้ยว บรรจุถุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น มันฝรั่งทอด ข้างเกรียบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 
  • เครื่องปรุงรส เช่น ซอสปรุงรส น้ำปลา เต้าเจี้ยว ซอสมะเขือเทศ เต้าหู้ยี้ น้ำมันหอย ซอสพริก กะปิ ปลาร้า ซุปก้อน ซุปผง น้ำพริกแกงสำเร็จ น้ำจิ้มและน้ำซุปชนิดต่างๆ 
  • สารปรุงแต่งต่างๆ ได้แก่ ผงชูรส ผงฟู สารกันบูด เนื่องจากอาหารเหล่านี้ มีโซเดียมสูงอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่น โซเดียมไนเตรท โซเดียมไนไตรท์ โซเดียมคลอไรด์ โซเดียมคาร์บอเนต  โมโนโซเดียมกลูตาเมท โซเดียมซัลเฟต เป็นต้น 

วิธีดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงโดยทั่วไปมีวิธีการดังนี้ 

  • ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ ไม่ควรหยุดรับประทานยาเอง 
  • ควรลดอาหารเค็ม ลดเกลือโซเดียม ไม่ควรรับประทานอาหารรสเค็มจัด เช่น ปลาเค็ม เนื่อเค็ม ไข่เค็ม ฯลฯ ทานอาหารรสจืดจะเป็นผลดี รวมทั้งไม่ควรรับประทานผงชูรส ยาธาตุน้ำแดง อาหารกระป๋อง เพราะมีเกลือโซเดียมสูงจะทำให้ความดันความโลหิตสูงขึ้น และยาที่ใช้รักษาจะได้ผลน้อยลง 
  • ควรลดอาหารพวกไขมัน เช่น อาหารมัน ของผัดของทอด ของใส่กะทิ ขาหมู หมูสามชั้น และอาหารพวกแป้งและพวกน้ำตาล เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว มัน เครื่องดื่ม ของหวาน ผลไม้หวาน 
  • แนะนำให้ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ โดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะลดน้ำหนักเร็วเกินไป และไม่ควรทานยาลดน้ำหนัก 
  • ควรงดดื่มสุรา และสูบบุหรี่ 
  • ควรออกกำลังกายแบบ Cardio เป็นประจำเช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เป็นต้น ค่อยๆ เริ่มทีละน้อยๆ  ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยออกกำลังกายประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ 
  • ควรทำจิตใจให้สบาย ลดความเครียดจากการทำงาน หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น ควรทำสมาธิบริหารจิต หรือสวดมนต์ภาวนาตามศาสนาที่ตนนับถือเพื่อทำจิตใจให้สงบเยือกเย็น 
  • สำหรับสตรีที่ทานยาคุมกำเนิด ควรเปลี่ยนไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆแทน เช่นการใช้ถุงยางอนามัย การใส่หวงคุมกำเนิดหรือการทำหมัน เป็นต้น 
  • สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง หรือทุก 3- 6 เดือน สำหรับผู้ที่อยู่ในระยะก่อนความดันโลหิตสูง 
  • ควรมาตรวจตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อดูอการแทรกซ้อนและผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น 
  • ในผู้ที่มีการนอนกรม หรือสงสัยภาวะทางเดินหายใจอุดตันระหว่างนอนหลับ (Sleep Apnea) แนะนำให้ตรวจ Sleep test เพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษาภาวะดังกล่าวไปพร้อมกันกับภาวะความดันโลหิตสูง 
  • คอยสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ตามัว ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ขาบวม ปัสสาวะไม่ออก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง เดินเซ หน้ามืด วิงเวียน ใจสั่น ถ้ามีอาการหรือไม่มั่นใจให้รีบมาปรึกษาแพทย์ทันที 
  • ถ้าผู้ป่วยวางแผนตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ให้มาปรึกษาแพทย์โดยเร็ว 

ยารักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วถึงเกณฑ์ต้องได้รับยาลดความดันโลหิต ควรรับประทานยาสม่ำเสมอและมาตรวจกับแพทย์ต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากหากควบคุมความดันได้ไม่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจวาย หัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง 

ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงมีหลายกลุ่ม ออกฤทธิ์ต่างๆกันไป บางชนิดเป็นยาขับปัสสาวะ บางชนิดเป็นยาชะลอการเต้นของหัวใจให้เต้นช้าลง บางชนิดเป็นยาขยายหลอดเลือด เนื่องจากยาลดความดันโลหิตมีหลายกลุ่มดังกล่าว แพทย์จึงจำเป็นต้องพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายๆไป  ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยาของผู้อื่น และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกิดขึ้นได้ โดยผู้ป่วยบางรายได้รับยาเพียงชนิดเดียวก็สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ดี และอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ผู้ป่วยบางรายต้องใช้ยา 2 ชนิด หรือมากกว่านั้น ในการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยามื้อละหลายเม็ด อย่ารู้สึกเบื่อเสียก่อน ขอให้ทานยาต่อเนื่องไปทุกวันและตรงเวลาเพื่อเป้าหมายลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดได้ 

หากลืมทานยาและนึกขึ้นได้เมื่อใกล้ยามื้อต่อไปให้ทานเพียงยามื้อนั้นพอ โดยห้ามทานยาเพิ่ม 2 เท่า หากรู้สึกไม่สะดวกที่จะกินยาหลายๆเม็ด หรือกังวลเรื่องผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อพิจารณาเลือกยาใหม่ถ้าเป็นไปได้ และหากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หน้ามืด วิงเวียน แขนขาอ่อนแรง ขาบวม หรือ สงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการ  

ความเข้าใจผิดของผู้ป่วยที่พบได้บ่อยคือ ผู้ป่วยมักเข้าใจว่าถ้าหากทานยาลดความดันติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดโรคไตวายซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะยาสมัยใหม่มีผลข้างเคียงที่น้อยมากโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์ซึ่งการที่ไม่ทานยา และปล่อยให้ความดันโลหิตสูงจะมีผลเสียมากกว่าทั้งกับไต หัวใจ และสมอง 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ 12300, 12377

PI-CVI-15

โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE)

ในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและสาเหตุของความพิการในลำดับต้นๆของประชากรในประเทศไทยทั้งที่จริงแล้วโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งที่ป้องกันและรักษาได้หากผู้ป่วยมารับการรักษากายในเวลาที่ทันท่วงที

โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

คนไทยมักรู้จักโรคหลอดเลือดสมองในชื่อของโรคอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ซึ่งเกิดได้จากสองสาเหตุคือ หลอดเลือดในสมองแตก หรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน ทั้งสองกรณีนี้จะทำให้เนื้อเยื่อสมองที่ถูกกระทบไม่ทำงาน เช่น ถ้ามีอาการในสมองบริเวณที่ควบคุมการขยับของแขนขาด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำให้แขนขาด้านนั้นขยับไม่ได้ ถ้าอาการเป็นถาวรก็จะเรียกว่าเป็นอัมพาต ถ้าเป็นชั่วคราวก็จะเรียกว่าอัมพฤกษ์นั้นเอง คล้ายๆอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Heart attack) แต่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Brain attack) แทน

โรคหลอดเลือดสมองมีอาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคหลอดเลือดในสมองจำง่ายๆด้วยตัวอักษรย่อ F.A.S.T.

  • F Face : ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่งอย่างฉับพลันหรือผู้ป่วยบางท่านอาจจะมีอาหารไหลออกจากปากระหว่างรับประทานอาหารหรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่งเนื่องจากไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าด้านที่มีอาการ
  • A Arms : ผู้ป่วยจะขยับแขนหรือขาไม่ได้โดยอาจจะเป็นเฉพาะแขนหรือขาหรือเป็นทั้งแขนและขาและส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้างขึ้น ถ้าแขนขาตกด้านใดด้านหนึ่งแสดงว่ามีความผิดปกติ
  • S Speech : ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด, พูดเหมือนลิ้นคับปากหรือบางคนมีอาการพูดไม่เป็นภาษา, หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง คนในครอบครัวอาจคิดว่าผู้ป่วยสับสน การทดสอบอาจชี้ให้ดูของง่ายๆในชีวิตประจำวันเช่น ปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไรหรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น
  • T Time : เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่สงสัยภาวะโรคหลอดเลือดสมองควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมองซึ่งจะเป็นมากขึ้นตามระยะเวลาที่นานขึ้น ในกรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบและมาถึงโรงพยาบาลภายในสี่ชั่วโมงครึ่ง แพทย์จะสามารถให้ยาเพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมอง ทำให้อาการของผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นปกติได้

ข้อสำคัญคือการเป็นโรคหลอดเลือดสมองไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทั้ง 3 อย่างของ F – A – S คืออาการหน้าเบี้ยว, แขนขาอ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง, หรืออาการพูดที่ผิดปกติ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเพียงแค่อย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 อย่างก็ให้สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น

1. หลอดเลือดในสมองตีบ (Ischemic stroke)

เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงในสมองทำให้เนื้อสมองส่วนนั้นๆขาดเลือดไปเลี้ยง  ซึ่งการอุดตันของหลอดเลือดแบ่งออกเป็น 

การอุดตันทีเกิดจากก้อนเลือดที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ (Thrombosis) ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากพยาธิสภาพของผนังเส้นเลือดเช่นหลอดเลือดแข็งตัวจากไขมันในผนังเส้นเลือด,หรือการอักเสบของเส้นเลือดหรือที่เรียกว่า vasculitis  ้.ผนังเส้นเลือดที่มีพยาธิสภาพเหล่านี้ง่ายต่อการเกิดรอยฉีกขาดซึ่งจะกลายเป็นจุดกระตุ้นทำให้มีการเกาะตัวของเกล็ดเลือดเกิดเป็นก้อนเลือด

กลไกการเกิดหลอดเลือดอุดตันจาก thrombosis

การอุดตันจากก้อนเลือดที่หลุดลอยมาจากส่วนอื่น (Embolism) เช่นเป็นก้อนเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจห้องบนขวาเนื่องจากผู้ป่วยมีหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (atrial fibrillation) หรือหลอดเลือดบริเวณลำคอที่มีภาวะหลอดเลือดแข็งตัว 

กลไกการเกิดหลอดเลือดอุดตันจาก embolism

2. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)

แบ่งออกเป็น

2.1 เลือดออกในเนื้อสมอง (Cerebral hemorrhage) ซึ่งมักเกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดตามอายุรวมกับความดันโลหิตสูงทำให้เส้นเลือดในสมองแตก

2.2 เลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) ซึ่งมักเกิดจากการที่มีหลอดเลือดโป่งพองผิดปกติในสมองอยู่เดิมแล้วเกิดการแตกขึ้นมาภายหลัง

สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คืออะไร

สมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) คือการที่ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลงทันทีแต่ต่อมาสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็วจึงไม่มีภาวะเนื้อสมองตาย อาการจะเป็นเหมือนโรคหลอดเลือดในสมองตีบแต่เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ 5-10 นาทีแล้วหายได้เองภายในเวลา 24 ชั่วโมง

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) มักจะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตามมาภายใน 7 วัน  ดังนั้นอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราวจึงควรมาพบแพทย์ทันทีที่มีอาการซึ่งได้แก่

– ปากเบี้ยว หรือชาบริเวณใบหน้า

– ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

– แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก

– วิงเวียนศีรษะและเดินเซ

– พูดอ้อแอ้, นึกคำศัพท์ไม่ได้, ฟังคำพูดไม่เข้าใจ

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมีอะไรบ้าง

ปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็น

1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่

– อายุ เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของเส้นเลือดก็จะเกิดมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เปรียบเหมือนท่อประปาในบ้านที่ใช้มานานก็จะมีการผุกร่อนและตะกรันเกาะภายในท่อ

– ผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

– ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือโรคหลอดเลือดในสมองแตกมาก่อน

2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่

  • โรคความดันโลหิตสูง เมื่อมีโรคความดันโลหิตสูงควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและรับประทานยาอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดก็ตาม เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงจะไปทำให้หลอดเลือดในสมองมีความเปราะมากขึ้นและมีโอกาสปริแตกได้ง่าย
  • โรคเบาหวาน ผู้ป่วยควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติ เพื่อชะลอความเสื่อมของหลอดเลือด
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว(Atrial fibrillation or atrial futter) มักจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและซึ่งอาจหลุดไปอุดเส้นเลือดในสมองได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบหัวใจห้องบนสั่นพริ้วรักษาโดยการให้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาด้วยการใช้คลื่นวิทยุ(Radiofrequency ablation) จี้ทำลายจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ผิดปกติหรือวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติภายในผนังห้องหัวใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้วควรได้รับยาละลายลิ่มเลือดอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • การสูบบุหรี่ : สารนิโคตินในบุหรี่จะเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญที่จะทำให้หลอดเลือดในสมองเปราะเกิดรอยปริแตกซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ง่ายกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่จัดและได้รับควันบุหรี่มือสองตลอดเวลาด้วย
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากทำให้ความดันโลหิตสูงและกระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว
  • การใช้สารเสพติดบางชนิดเช่นแอมเฟตามีน โคเคน ผู้ที่ใช้สารเสพติดเหล่านี้มักจะเกิดเลือดออกในสมองง่ายกว่าคนทั่วไปเนื่องจากสารเสพติดเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันได้ง่าย

เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องปฏิบัติอย่างไร

โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ข้อมูลสำคัญคือ”เวลา”ที่เริ่มเกิดอาการหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลาสี่ชั่วโมงครึ่งนับจากอาการเริ่มต้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่เรียกว่า rt-PA เพื่อละลายลิ่มเลือดในสมอง

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง,ให้ดำเนินการดังนี้

1. โทรศัพท์ติดต่อ1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและแจ้งอาการของผู้ป่วย, เวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ฯลฯ ทางศูนย์จะประสานงานส่งรถพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วยในทันทีเพื่อไปส่งยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด

2. หากผู้ป่วยมีโรคร่วม เช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งมียารักษาที่ใช้ประจำ ให้นำยาที่ใช้ไปโรงพยาบาลด้วย 

3. ไม่ควรให้ยาใดแก่ผู้ป่วยก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาลโดยเฉพาะยาลดความดันเพราะการที่ความดันโลหิตลดลงจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงไปอีก และยาเบาหวานเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงทำให้มีอาการสับสนหรือหมดสติซึ่งส่งผลให้การประเมินผู้ป่วยทำได้ยากขึ้น

4. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นก่อนถึงโรงพยาบาล. ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพราะอาจเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ้งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลและควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นซ้ำอีกแพทย์จะสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองทำได้อย่างไรและต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมบ้าง

ประวัติผู้ป่วย  – แพทย์จำเป็นจะต้องชักประวัติอาการของผู้ป่วยได้แก่เวลาที่เริ่มมีอาการหรือเวลาที่เห็นผู้ป่วยเป็นปกติครั้งล่าสุด , โรคร่วม, ยาที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ, ประวัติครอบครัว โดยหากผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติได้. แพทย์จำเป็นที่จะต้องชักประวัติจากญาติหรือผู้ที่เห็นเหตุการณ์

การตรวจร่างกาย – แพทย์จะตรวจสัญญาณชีพ(ความดันโลหิต ชีพจร, การหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย), ตรวจหัวใจและตรวจระบบประสาทโดยละเอียดได้แก่ การตรวจกำลังกล้ามเนื้อ, ตรวจประสาทสัมผัส, ตรวจการพูด, การฟัง, การตามคำสั่ง, การเดิน เป็นต้น

การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจทางรังสี – เพื่อแยกภาวะอื่นที่ไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมอง และเพื่อแยกโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองแตก,หรือหลอดเลือดในสมองตีบตัน ประกอบด้วยการตรวจต่อไปนี้

  • การเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล, ระดับเกลือแร่, การทำงานที่ผิดปกติของตับหรือไต เพื่อแยกโรคอื่นๆที่อาจทำให้อาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง
  • เอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจพื้นฐานเพื่อตรวจดูภาวะความผิดปกติของหัวใจและปอดซึ่งอาจเกิดร่วมด้วย
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ- เป็นการตรวจที่จำเป็นและสำคัญเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองอาจจะพบร่วมกับโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ส่วนโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นอาจหลุดไปในกระแสเลือดและเข้าไปอุดในเส้นเลือดสมองทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้
  • การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) เป็นการตรวจที่สามารถตรวจจับภาวะเลือดออกในเนื้อสมองได้ดี ใช้เวลาน้อยในการตรวจ แต่มีข้อเสียคือการตรวจจับภาวะสมองขาดเลือดทำได้ไม่ดีเท่าการตรวจ MRI และหากต้องการดูรายละเอียดของเส้นเลือดต้องทำการฉีดสีร่วมด้วย
  • การฉีดสีตรวจหลอดเลือดสมอง (Cerebral angiography) ทำโดยการใส่สายสวนเข้าเส้นเลือดแดงที่ขาหนีบเพื่อฉีดสารทึบแสงเพื่อตรวจดูลักษณะของหลอดเลือด ปัจจุบันการตรวจนี้ทำน้อยลงมากเนื่องจากมีการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์และ MRI มาแทนที่
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ฺMRI scan) สามารถตรวจหลอดเลือดสมองตีบระยะเฉียบพลันได้ภายใน 15 นาทีถึง 7 วัน โดยสามารถเห็นหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่ที่ตีบได้โดยไม่ต้องฉีดสารทึบแสง ข้อเสียของ MRI คือการตรวจใช้เวลานานและต้องใช้ความร่วมมือของผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดก็จะไม่สามารถตรวจด้วย MRI ได้ เช่น ผู้ป่วยที่กลัวที่แคบหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถนอนนิ่งไต้นาน ๆ หรือผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจที่ไม่รองรับ MRI 
  • อัลตร้าชาวด์หลอดเลือด (TCD transcranial doppler, Carotid duplex) เป็นการตรวจโดยใช้อัลตร้าชาวด์เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดในสมองและหลอดเลือดที่คอเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาในผู้ป่วยที่มีการตีบของหลอดเลือดที่ลำคอเพื่อประเมินความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดหลอดเลือด

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

  1. ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีความดันโลหิตที่มากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณารักษาโดยในบางรายอาจมีการใช้ยาลดความดันโลหิต ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดอาหารเค็ม, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กรณีที่แพทย์สั่งใช้ยาไม่ควรหยุดรับประทานยาลดความดันเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เป็นแล้วมักจะเป็นตลอดชีวิตและไม่ค่อยแสดงอาการจนกว่าจะมีภาวะวิกฤติเกิดขึ้น
  2. รับการตรวจระบบหัวใจอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อดูว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
  3. หยุดสูบบุหรี่
  4. ควบคุมน้ำหนักในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
  6. ตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
  7. งดการดื่มสุรา
  8. เลิกการใช้ยาเสพติด

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลัน

โรคหลอดเลือดสมองตีบสามารถรักษาให้หายเป็นปกติโดยที่ผู้ป่วยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาลภายในเวลา 4 1/2 ชั่วโมงนับจากเริ่มมีอาการ แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด(antithrombotic) rtPA (recombinant tissue plasminogen activator) เข้าทางหลอดเลือดดำ โดยยามีประสิทธิภาพในการสลายลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองได้ 30-50% ของผู้ป่วยซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่หรือมีความพิการน้อยมาก หลังจากการให้ยาผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) หรือหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke unit)  เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

กรณีที่เวลานับจากเริ่มเกิดอาการเกิน 4.5 ชั่วโมงไปแล้ว การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด Thrombolytic therapy ไม่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

การป้องกันการกลับเป็นซ้ำในกรณีที่เกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว

1.) จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2. ) การใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยากันการแข็งตัวของเลือด 

เนื่องจากลิ่มเลือดเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง การป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดจึงเป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันการเกิดโรคซ้ำ   ยาที่ใช้ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด แบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

อ่านรายละเอียดเรื่อง ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยที่การใช้ยาต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

  • จุดประสงค์ของการใช้ยากลุ่มนี้คือเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในระบบไหลเวียนเลือดเพื่อไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องรับยาไปตลอดชีวิต
  • ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาคือทำให้มีเลือดออกง่าย
    • หากมีอาการดังต่อไปนี้ ให้หยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
      • – เลือดออกตามไรฟัน, เลือดกำเดาไหล, มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง
      • – ประจำเดือนปริมาณมาก
      • – มีเลือดในเยื่อบุตา
      • – อาเจียนเป็นเลือด
      • – มีเลือดออกทางปัสสาวะ
      • – ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีคล้ำ
      • – มีเลือดออกทางเนื้อเยื่อ เช่น บาดแผลเลือดออกมาก
    • ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุและการกระทบกระเทือน เช่น การล้มกระแทกพื้นอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะภายใน
    • ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัด, ถอนฟันหรือทำหัตถการรุกล้ำที่จะต้องมีบาดแผล จะต้องแจ้งให้บุคลากรการแพทย์ทราบทุกครั้งว่ารับประทานยาต้านเกล็ดเลือดอยู่

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกอายุรกรรม

โรงพยาบาลพระรามเก้า  หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ12210, 12223 

PI-MED-41

error: Content is protected !!