โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากการสึกหรอและเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่เคลือบผิวข้อเข่าซึ่งทำหน้าที่ปกป้องและดูดซับแรงกระแทกภายในข้อเข่า หากกระดูกอ่อนนี้เสียหายเป็นพื้นที่กว้าง, กระดูกที่อยู่ใต้กระดูกอ่อนในข้อเข่าจะเสียดสีกันเองทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึด เดินลำบาก หรือบางรายก็เข่าผิดรูปโก่งงอ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทำให้เดินได้ลำบาก, ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดเข่าในขณะลุกนั่งหรือการขึ้นลงบันได

อาการเริ่มต้นของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • รู้สึกปวดเข่าขณะเดินหรือขึ้นลงบันได

เข่าบวม ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวข้อเข่าได้อย่างปกติ, รู้สึกตึงข้อเข่า, มีอาการข้อติดขัดเคลื่อนไหวไม่สะดวก

สาเหตุของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. พันธุกรรมและความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ขาหรือเข่าผิดรูป
  2. อายุและเพศ : ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้นในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป, ผู้ชายอายุ 55 ปีขึ้นไป และทั้งสองเพศเมื่ออายุ 65 ปี มีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมเท่าๆ กัน
  3. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก (มีดัชนีมวลกาย(BMI) มากกว่า 23 กก./ม2)
  4. การใช้ข้อเข่าอย่างหักโหมซ้ำ ๆ หรืออยู่ในบางท่าที่ต้องงอเข่ามากเกินไปเป็นเวลานานๆเช่น การคุกเข่า, นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ, นั่งขัดสมาธิ ซึ่งทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงกดสูงกว่าปกติ
  5. ประวัติการบาดเจ็บของข้อเข่าส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อเกิดข้อเข่าเสื่อม โดยอาจเป็นผลจาก การบาดเจ็บ ซึ่งถึงแม้ร่างกายจะมีการซ่อมแซมตัวเองหลังการบาดเจ็บแต่โครงสร้างข้อเข่าก็อาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม
  6. โรคที่มีการอักเสบของข้อเข่า เช่น รูมาตอยด์, เกาท์

การบรรเทาอาการโรคข้อเข่าเสื่อม

  1. ลดการใช้งานข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ การยืนหรือเดินนานมากเกินไปและการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
  2. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนักลง
  3. ใช้สนับพยุงเข่าในรายที่ปวดเข่ามากซึ่งจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับ, ลดอาการปวด,ทำให้เดินได้ดีขึ้น
  4. ในกรณีที่ปวดเข่าข้างเดียว, การใช้ไม้เท้าจะลดน้ำหนักที่กดลงบริเวณข้อเข่าได้มาก ให้ถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับเข่าที่ปวด เช่น ปวดเข่าซ้ายถือไม้เท้าข้างขวา
  5. ประคบอุ่นเพื่อลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า แต่กรณีที่มีเข่าบวมต้องใช้การประคบเย็น
  6. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าและต้นขาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงซึ่งจะช่วยพยุงข้อเข่าและลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีมีอาการปวดเข่าเรื้อรังมากกว่า 1-2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีออกกำลังกล้ามเนื้อเข่า

ขณะยืนหรือเดิน น้ำหนักจะถูกส่งมาที่กล้ามเนื้อต้นขาซึ่งทำหน้าที่พยุงข้อเข่า ถ้ากล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงก็จะ

สามารถรับน้ำหนักได้มาก ทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลงอาการปวดก็จะลดลง ถ้ากล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรงรับน้ำหนักได้น้อยทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้นอาการปวดก็จะมากขึ้น

ท่านั่ง

  • นั่งตัวตรงหลังพิงพนัก ให้ส่วนของเข่าทั้งสองข้างอยู่ที่ขอบของเก้าอี้พอดี ยกขาขวาขึ้นโดยกระดกข้อเท้าไว้ขณะยกเกร็งข้อเข่าด้วย นับ 1-10 ในใจ วางเท้าลงสลับขาทำข้างละ 10 ครั้ง

หมายเหตุ กรณีที่ปวดลดลงแล้วสามารถใช้ถุงทรายถ่วงเหนือข้อเท้าเล็กน้อยเพื่อเพิ่มน้ำหนักการออกกำลังกาย

ท่านอน

  • นอนหงายนอนหงายหนุนหมอนเหยียดขาสองข้างให้ตรงแล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบโดยยกทั้งขาจากข้อสะโพก ขณะยกเกร็งข้อเข่าและกระดกเท้าข้างนั้นขึ้นด้วย นับ 1-10 แล้ววางขาลง ทำข้างละ 10 ครั้ง
  • นอนหงายหนุนหมอนเหยียดขาสองข้างใช้หมอนเล็กๆหรือผ้าขนหนูม้วนรองใต้ต้นขาข้างหนึ่งแล้วยกขาส่วนล่างขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 1 คืบ โดยยกจากข้อเข่า ขณะยกเกร็งข้อเข่าและกระดกเท้าข้างนั้นขึ้นด้วย นับ 1-10 แล้ววางขาลง ทำข้างละ 10 ครั้ง
  • นอนคว่ำ -งอเข่า นอนคว่ำโดยให้ขาสองข้างเหยียดตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากข้อเข่า โดยหากพยายามพับข้อเข่าเข้ามาให้เท้าชิดสะโพกได้มากที่สุด เกร็งไว้ 5-10 วินาที แล้ววางขาลงลงทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง

หมายเหตุ กรณีที่ปวดลดลงแล้วสามารถใช้ถุงทรายถ่วงเหนือข้อเท้าเล็กน้อยเพื่อเพิ่มน้ำหนักการออกกำลังกาย

แพทย์ที่ดูแลจะเป็นผู้แนะนำและวางแผนการบริหารให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายท่าบริหารทั้งหมดที่ได้กล่าวมา จะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่ารวมทั้งต้นขาและน่องแข็งแรงและกระชับขึ้น สามารถทำได้วันละหลาย ๆ ครั้ง ไม่จำกัดเวลา

การได้ปฏิบัติตัวถูกต้องอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจะช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าและชะลอความเสื่อมของข้อเข่าได้ อาการปวดเข่าก็จะทุเลาลง

“ในรายที่ปวดเข่ามาก…ควรใช้สนับเข่าจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับลดอาการปวดลงได้มาก”

error: Content is protected !!