การสูญเสียฟันไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือจากโรค,หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อการเคี้ยวและการสบฟันทำให้ผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองและเจ็บ, ในระยะยาวจะส่งผลการสูญเสียมวลกระดูกขากรรไกร จึงมีการคิดค้นระบบรากฟันเทียม (Dental Implant system) เพื่อทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติ
รากเทียมประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ
- รากเทียม (Fixture) ทำมาจากไทเทเนียมมีลักษณะคล้ายรากฟันจริงซึ่งจะถูกผ่าตัดฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรและสามารถยึดติดกับเนื้อเยื่อได้อย่างแนบแน่นโดยไม่ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบหรือผลข้างเคียงใดๆ
- เดือยรับครอบฟัน (Abutment) : หลังจากผ่าตัดฝังรากเทียมบนกระดูกขากรรไกรแล้วจะต้องรอเวลาประมาณ 4-6 เดือนเพื่อให้รากเทียมยึดติดกับกระดูกขากรรไกรได้ดีก่อน หลังจากนั้นจึงจะใส่เดือยรับครอบฟันลงบนรากเทียมสำหรับสวมครอบฟัน
- ครอบฟัน (Crown) ทำมาจาก porcelain ให้มีรูปร่างลักษณะและสีเหมือนฟันธรรมชาติ ใช้สวมครอบลงบนเดือยรับครอบฟันทำให้ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวและมีการสบฟันปกติ
ข้อดีของรากฟันเทียม
- ทดแทนฟันแท้ที่สูญเสียไปโดยมีลักษณะและการใช้งานเหมือนธรรมชาติมากที่สุด
- ป้องกันการสูญเสียเนื้อฟันธรรมชาติของฟันข้างเคียงที่เหลืออยู่
- ในกรณีที่ใส่รากฟันเทียมเป็นฐานของฟันปลอมชนิดถอดได้, จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานและการยึดติดของฟันปลอม
- การฝังรากเทียมและใส่ครอบฟันเสร็จในครั้งเดียว ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาในการรักษาหลายครั้ง
- ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทันที
- ความรู้สึกในการใช้งานและลักษณะความสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ
- ไม่ต้องกรอฟันข้างเคียงเพื่อใส่สะพานฟัน
ข้อเสีย
- การทำรากฟันเทียมมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากต้นทุนค่าอุปกรณ์และเครื่องมือมีราคาสูงมาก แต่หากเปรียบเทียบในระยะยาวแล้วการทำรากฟันเทียมมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่ต่ำกว่าการใช้ฟันปลอมประเภทอื่นๆ
- ลักษณะความสวยงาม ในบางตำแหน่งเช่นฟันหน้าด้านบนการทำรากเทียมอาจทำให้ดูสวยงามได้ยากเมื่อเปรียบเทียบกับฟันปลอมชนิดติดแน่นประเภทอื่น โดยเฉพาะหากผู้ป่วยมีริมฝีปากค่อนข้างสั้นหรือยิ้มเห็นแนวเหงือกหรือมีเหงือกบาง
- ต้องมีการผ่าตัดและให้ยาระงับความรู้สึก
- ระยะเวลา: การทำรากเทียมจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 – 6 เดือน ถึงแม้จะมีบางระบบสามารถย่นระยะเวลาลงมาแล้วก็ตามแต่ก็มีหลายๆกรณีที่ยังต้องใช้ระยะเวลานาน ผู้ป่วยบางคนที่ใจร้อนอาจจะไม่ชอบก็จำเป็นต้องไปทำเป็นฟันปลอมประเภทอื่นต่อไป
- ความต้านทานต่อเชื้อโรค ถึงแม้รากเทียมจะมีลักษณะใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากแต่ก็มีความต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำกว่าจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาสุขอนามัยช่องปากให้ดีเพราะถ้ามีการติดเชื้อและอักเสบของกระดูกรอบๆรากฟันเทียมแล้วอัตราการละลายตัวของกระดูกจะเร็วกว่าและรุนแรงกว่าที่เกิดในฟันธรรมชาติ
ข้อจำกัด
- การทำรากฟันเทียมไม่สามารทำได้หากสภาพเหงือกหรือกระดูกขากรรไกรของผู้ป่วยไม่เหมาะสมหรือผู้ป่วยมีโรคทางระบบบางชนิดเช่น โรคเบาหวานที่ยังไม่ควบคุม เป็นต้น
ทางเลือกอื่นในการรักษา
- สะพานฟันติดแน่น
- ฟันปลอมชนิดถอดได้
ปัญหาที่อาจพบในการฝังรากฟันเทียม
- รากเทียมฟันไม่สามารถยึดติดกับกระดูกหลังจากการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม : เกิดจากการเจาะรูที่กระดูกขากรรไกรหลวมเกินไปทำให้รากเทียมไม่มีความเสถียรและมีการขยับทำให้เนื้อกระดูกจึงไม่มาเกาะตามที่ควรจะเป็นหรือเกิดจากภาวะกระดูกพรุนของผู้ป่วย
- เเหงือกร่นเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุด, เกิดจากการละลายตัวของกระดูกหลังจากฝังรากเทียมไป ถ้ามีอาการมากผู้ป่วยอาจต้องรับการผ่าตัดแก้ไข
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ โรงพยาบาลพระรามเก้า
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ แผนกทันตกรรม 21001-2
65-108
PI-NDT-03
01-2