ระยะหลังคลอด เป็นช่วงที่อวัยวะต่างๆโดยเฉพาะระบบการเจริญพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับสภาพเดิมเหมือนก่อนตั้งครรภ์ ใช้เวลาประมาณ 6 – 8 สัปดาห์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปได้เองโดยธรรมชาติ โดยมีวิธีการปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อหลังคลอด การตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น
การปฏิบัติระยะหลังคลอด
การพักผ่อน : ควรพักผ่อนมากๆ ใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดโดยควรพักผ่อนอยู่กับบ้าน งดทำงานหนักหรือออกแรง หลังจาก 2 สัปดาห์ไปแล้วสามารถทำงานบ้านที่ไม่ต้องออกแรงมากนักแล้วค่อยๆ เพิ่มการออกแรงขึ้นทีละน้อยจนเมื่อครบ 6 สัปดาห์ หลังคลอดคุณแม่ก็จะสามารถทำงานได้ตามปกติ
อาหาร : คุณแม่ในระยะหลังคลอดควรรับประทานอาหารที่มีคุณภาพสูงในปริมาณที่เพียงพอเพื่อส่งเสริมการผลิตน้ำนมและการปรับสภาพของร่างกาย อาหารที่มารดาควรรับประทานในระยะหลังคลอดได้แก่
- เนื้อสัตว์ หรือเต้าหู้และถั่วต่างๆซึ่งจะให้สารอาหารประเภทโปรตีน
- ไข่อย่างน้อยวันละ 1 ฟอง
- นมวันละ 2-3 แก้ว
- ผักและผลไม้หลากหลายชนิด
- ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว
อาหารที่ควรงดในระยะหลังคลอด คือ อาหารรสจัด ของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมารดาที่ให้นมบุตรไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเพราะยาบางชนิดสามารถผ่านทางน้ำนมได้และอาจมีผลต่อทารก
การรักษาความสะอาด
- อาบน้ำได้ตามปกติและตัดเล็บให้สั้นและรักษาให้สะอาด เสื้อผ้าต้องสะอาดอยู่เสมอ
- เต้านมและหัวนมควรล้างให้สะอาดขณะอาบน้ำและเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด(น้ำดื่ม)ก่อนและหลังให้นมบุตรทุกครั้งโดยเริ่มต้นเช็ดบริเวณหัวนมก่อนแล้ววนออกไปรอบส่วนของเต้านมที่สัมผัสกับปากของทารกในระหว่างการให้นม
คุณแม่หลังคลอดควรสวมยกทรงที่สะอาดและมีขนาดพอดีเพื่อพยุงเต้านมไว้เสมอ - การทำความสะอาดอวัยวะเพศ : ชำระล้างด้วยน้ำสบู่อ่อนและล้างตามด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งที่อาบน้ำและหลังการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ใส่ผ้าอนามัยและเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกครั้งที่รู้สึกชุ่ม ถ้าแผลฝีเย็บบวมหรืออักเสบ คุณควรพบแพทย์ทันที
อนามัยการเจริญพันธุ์
- เพศสัมพันธ์: คุณแม่หลังคลอดควรงดเพศสัมพันธ์ในระยะ 6 สัปดาห์แรกหลังคลอดหรือจนกว่าจะได้มาตรวจร่างกายภายหลังคลอดเรียบร้อยแล้ว
- ประจำเดือน : หากไม่ได้ให้นมบุตรจะมีประจำเดือนมาภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด หากให้นมบุตรโดยไม่เสริมนมขวดจะไม่มีประจำเดือนไปอย่างน้อย 6 เดือน
- การวางแผนครอบครัว : ควรเว้นระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์อย่างน้อย 2 ปี วิธีการคุมกำเนิดมีหลายวิธีซึ่งหากให้นมบุตรคุณแม่ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อใช้วิธีที่ไม่มีผลต่อการสร้างน้ำนมแม่
สุขภาพจิต
คุณแม่หลังคลอดควรทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ,ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากจนเกินไปเนื่องจากอาจมีผลต่อการสร้างน้ำนม หากคุณแม่รู้สึกว่ามีความเครียดที่มากเกินไป หรือมีอารมณ์เศร้าซึมผิดปกติควรปรึกษาจิตแพทย์
อาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์
- โดยปกติช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังคลอดจะมีตกขาวเป็นเลือดออกทางช่องคลอดประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะมีสีจางลงและค่อยๆหมดไปใน 4-6 สัปดาห์ ลักษณะที่ผิดปกติคือการเลือดออกปริมาณมากหรือมีตกขาวกลิ่นเหม็นหรือมีหนอง ซึ่งหากเกิดขึ้นคุณควรมาพบแพทย์
- เต้านมอักเสบ โดยปกติเต้านมอาจมีอาการคัดตึงจากน้ำนมได้แต่ไม่ควรมีลักษณะบวมแดงอักเสบหากสงสัยอาการที่ผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ แผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลพระรามเก้า
หมายเลขโทรศัพท์ 1270 ต่อ แผนกสูติ-นรีเวช 12570, 12579